วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558
วิธีการเข้าถึงพระนิพพานอารมณ์พระสกิทาคามี ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับวันนี้ก็จะขอนำเอาปฏิปทาในอนุสสติ 5 ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปฏิปทาของพระสกิทาคามี มาแนะนำแก่บรรดาท่านทั้งหลาย เพราะว่าการปฏิบัติในด้านอนุสสติ 5 ประการนี้ ก็รู้สึกว่าจะเป็นปฏิปทาที่ได้กำไรมาก หรือ ว่าจิตเริ่มต้น ก็เริ่มต้นด้วยปฏิปทาของพระโสดาบัน แต่ว่าท่านทั้งหลายถ้าประสงค์จะรู้รายละเอียดในอารมณ์ของจิต ก็จงพากันศึกษาในด้านของอานาปานุสสติกรรมฐานประกอบ ถ้าเราจะพูดกันให้ละเอียดจนครบทุกจุด มันก็จะเป็นการเปลืองทรัพย์สินของบรรดาท่านทั้งหลาย ฉะนั้นหากว่าท่านอยากรู้อารมณ์ละเอียด ก็หันเข้าไปดูอานาปานุสสติกรรมฐาน สำหรับจุดนี้ก็จะพูดโดยเฉพาะอนุสสติ 5 ประการ ได้ผ่านปฏิปทาของพระโสดาบัน หรือ อารมณ์ของพระโสดาบันมาแล้ว สำหรับพระสกิทาคามีก็คงมีอารมณ์อยู่ในสังโยชน์ 3 ประการ เช่นเดียวกับพระโสดาบัน แต่ทว่าพระโสดาบันที่ผ่านมานี่ องค์สมเด็จพระชินศรีกล่าวว่ามีอารมณ์ถึง 3 ชั้น นั้นก็คือ พระโสดาบันขั้นสัตตักขัตตุงเป็นชั้นที่ 1 และพระโสดาบันขั้นโกลังโกละเป็นชั้นที่ 2 พระโสดาบันเอกพิชีเป็นชั้นที่ 3 สำหรับพระโสดาบันขั้นเอกพิชีนี่ มีปฏิปทาคล้ายคลึงกับพระสกิทาคามี ฉะนั้นก่อนที่จะพูดถึงปฏิปทาถึงอารมณ์ของพระสกิทาคามี ซึ่งความจริงแล้วละสังโยชน์ได้ 3 เหมือนพระโสดาบัน แต่ทว่าอารมณ์ต่างกันอยู่นิดหน่อย ก่อนที่จะพูดเรื่องนั้นก็จะขอพูดระดับชั้นของจิตของพระโสดาบันเสียก่อน เพื่อความสะดวกแก่การจดจำ หรือ เพื่อความสะดวกแก่การกำหนดรู้ในจิตของท่าน สำหรับพระโสดาบันชั้น สัตตักขัตตุง ตอนนี้ท่านกล่าวว่ายังมีอารมณ์หยาบมาก ก็เหมือนกับเด็กที่จะสอนเดิน เหมือนกับคนเราที่เกิดมาแล้ว มีวัย 3 วัย คือ 1. ปฐมวัย คือ วัยระหว่างเด็กระหว่างหนุ่ม ตั้งแต่เด็กถึงหนุ่ม 2. มัชฌิมวัย คือ วัยกลางคน 3. ปัจฉิมวัย คือ วัยแก่ สำหรับพระโสดาบันก็เหมือนกัน ก็ต้องมีพระโสดาบันเด็กหรือหนุ่ม พระโสดาบันวัยกลางคน พระโสดาบันวัยแก่ แต่ไม่ใช่หมายถึงคนแก่ คือ อารมณ์จิตแก่ สำหรับพระโสดาบันวัยหนุ่มก็ได้แก่สัตตักขัตตุง พระโสดาบันสัตตักขัตตุงนี้ จิตก้าวจากโลกียชนเข้ามาเป็นโลกุตตรชนใหม่ ๆ คำว่าโลกีย์นี่ก็หมายความว่า คนที่มีอารมณ์พ้นโลก จำให้ดีนะครับ คำว่า เป็นผู้มีอารมณ์พ้นโลก คือ อำนาจของปุถุชนที่มีอารมณ์เต็มไปด้วยอกุศลพ้นไปเสียแล้ว คำว่าโลกไม่สามารถจะดึงท่านผู้นี้ให้กลับไปใหม่ เหลือแต่อารมณ์ที่ทรงธรรม ตั้งแต่ธรรมชั้นหยาบจะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นผู้มีธรรมละเอียด จนกระทั่งถึงที่สุด กล่าวคือ เป็นพระอรหันต์ เรื่องการถอยหลังลงไม่มีสำหรับพระโสดาบัน เพราะคำว่า พระโสดาบัน ท่านแปลว่า ผู้เข้าถึงกระแสพระนิพพาน เป็นผู้ที่มีความหวังได้จริง ๆ ว่าจะถึงพระนิพพาน ตอนนี้ก็มาพูดถึงพระโสดาบันเด็กกันเสียก่อน พระโสดาบันเด็กถึงพระโสดาบันหนุ่มสาว ที่เรียกกันว่า สัตตักขัตตุง อันดับนี้ถ้าทรงเป็นพระโสดาบันอย่างนี้ จะต้องเกิดเป็นคนกับเทวดาอีกอย่างละ 7 ชาติ และชาติที่ 7 จะได้เป็นอรหันต์ สำหรับ โกลังโกละ จะเกิดเป็นคนกับเทวดาสลับกันไปสลับกันมา 3 ชาติ ชาติที่ 3 ของมนุษย์ครบถ้วนเป็นพระอรหันต์ สำหรับ เอกพิชี จะเกิดเป็นเทวดา อีกครั้งเดียวแล้วมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็เป็นพระอรหันต์ เหมือนกับพระสกิทาคามี นี่จะเห็นว่าระดับของพระโสดาบันมีระดับไม่เสมอกัน ฉะนั้น ขอพูดถึงระดับพระโสดาบันขั้นต้น ที่เรียกกันว่า สัตตักขัตตุง ตอนนี้จิตของท่านยังเป็นพระโสดาบันใหม่ อารมณ์เนื่องด้วยโลกียะยังมีความสัมพันธ์กันอยู่ หรือว่า กำลังหนักคือ กลิ่นคาวจากโลกียะยังติดอยู่มาก ยังมีอารมณ์หนักหน่วงอยู่ในความโลภ ยังมีอารมณ์หนักหน่วงอยู่ในความโกรธและก็ยังมีอารมณ์หนักหน่วงอยู่ในความหลง คำว่า หนักหน่วงในที่นี้หมายความว่า อารมณ์รักในความสวยสดงดงาม เช่น รักรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัส ยังมีอยู่ในใจมาก ยังมีความต้องการในทรัพย์สินมาก ยังหนักอยู่ในอำนาจของความโกรธ ยังมีความหลงคือ ยังมีความพัวพันอยู่ในเหตุทั้ง 3 ประการ ตามที่กล่าวมาแล้ว รวมความว่าสมาธิจิตดีตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป แต่กำลังละสักกายทิฏฐิเบาเกินไป ตามที่ท่านกล่าวว่า พระโสดาบันมีอธิศีลคือ ศีลยิ่งแต่ว่าสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อย และอย่าลืมว่ามีความรักในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสก็จริงแหล่ แต่ทว่าไม่ยุ่งกับ กาเมสุมิจฉาจาร ไม่ละเมิดศีล จิตใจยังหนักหน่วงอยู่ในความโลภ คือ อยากจะรวยแต่ไม่คดโกงใคร แต่ยังติดรวยอยู่มาก จิตใจยังหนักหน่วงอยู่ในความโกรธ คือ อารมณ์โกรธยังเต็มตัว แต่ไม่ทำอันตรายใคร เพราะเกรงว่าศีลจะบกพร่อง อารมณ์ยังติดอยู่ในความหลง คือ ดึงในทรัพย์สิน ดึงในร่างกาย ยังไม่คลายการดึง ยังคิดว่านั่นเป็นเรานี่เป็นเรา แต่ทว่าไม่ลืมความตาย ตอนนี้เราจะแยกใจออกมาได้ยากเพราะจิตยังหยาบอยู่มาก แต่ทว่ามีขอบเขตจำกัดดีกว่าปุถุชน ที่ทำตนให้อยู่ในขอบเขตของศีล ถึงจะรักก็ไม่ละเมิดศีล จะหลงในทรัพย์สินทั้งหลายก็ตามก็จริงแหล่ แต่ทว่าไม่ลืมความตาย ไม่มีความประมาทในชีวิต อารมณ์จิตของพระโสดาบันขั้นสัตตักขัตตุงเป็นอย่างนี้ จึงต้องอบรมใจอีกถึง 7 ชั้น เป็นมนุษย์อีก 7 คราว ตายจากมนุษย์ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม พักร้อน พ้นจากกิจนั้นแล้วก็มาเกิดเป็นมนุษย์ สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้จนกว่าจะครบ 7 หน ในคราวเป็นมนุษย์จึงจะได้อรหัตผล สำหรับพระโสดาบันขั้น โกลังโกละ ขั้นโกลังโกละนี้ มีจิตเบา เบาเพราะว่าอำนาจสักกายทิฏฐิ ที่ใช้ปัญญาเข้าไปพิจารณาร่างกาย ว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว ธรรมส่วนหนึ่งมันก็เกิด ว่าร่างกายของคนเรานี่เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก นี่ปัญญาเริ่มเพิ่มขึ้นมาหน่อยหนึ่ง เพราะไม่เป็นชิ้นเป็นท่อนเป็นอัน เต็มไปด้วยความสกปรก แต่ทว่าอาศัยกำลังฌานที่เข้าไม่ถึงฌาน 4 อารมณ์ตอนนี้จึงยังไม่ปักนัก ก็ชักจะเริ่มมีความรังเกียจในร่างกายว่า ร่างกายนี้มีสภาพไม่ทรงตัวแน่ เกิดแล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตาย บางทีก็ตายแต่ความเป็นเด็กก็มี ฉะนั้น ถ้าหากว่าจิตใจของเราที่จะเข้าไปผูกพันร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี หรือ ทรัพย์สินทั้งหลายเหล่าอื่นก็ดี จะมุ่งคิดประทุษร้ายบุคคลอื่นใดก็ดี มันก็ไร้ประโยชน์ มันไม่มีอะไรเป็นคุณ มันก็มีแต่โทษ เพราะกายเราก็ตาย กายเขาก็ตาย เมื่อกายเราเป็นทุกข์ กายเขาเป็นทุกข์ เราต้องการให้เขาทุกข์ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ ไปทำให้เขาทุกข์ มันก็ซ้ำทุกข์เดิมของเขา เนื้อแท้จริงๆ เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว ก็เป็นอันว่าจิตดวงนี้มันสลับกันไป เพราะกำลังฌานยังไม่มั่นคง ผมมีความเข้าใจว่าท่านพระโสดาบันที่เข้าถึงโกลังโกละอารมณ์จิตของท่านผู้นี้ จะต้องมีกำลังสูงกว่าปฐมฌาน ธรรมปิติจะเกิดขึ้นกับท่านมาก เพราะความวุ่นวายน้อยลง ก็เพราะมีความเมตตากรุณาทั้ง 2 ประการสูงขึ้น จิตมีความเอิบอิ่มด้วยธรรมปีติ ตอนนี้อย่างเลวที่สุด จิตของท่านโกลังโกละก็ต้องตั้งอยู่ถึงขั้นทุติยฌาน ฌานที่ 2 หรือว่า ฌานที่ 3 ฉะนั้นจึงสมารถมีกำลังกดความรักในเพศ กดความโลภ กดความโกรธ กดความหลง ให้เบาบางลง จิตตั้งตรงมีอารมณ์ว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา แต่ทว่าอารมณ์เผลอก็ยังมีอยู่นิดหนึ่ง บางครั้งมันก็เข้าไปเกาะติดในสภาพรูป เสียง กลิ่น รส และ สัมผัส แต่ทว่าอารมณ์ศีลมั่นคงยิ่งขึ้น จึงไม่ละเมิดศีล สำหรับโลภะ ความโลภ ความอยากรวยยังอยากมีเงินใช้ แต่ทว่าใจจะลำพองตะเกียกตะกายเกินพอดีไม่มี เห็นว่าการประกอบอาชีพเพียงเท่านี้ เป็นที่เพียงพอของเรา การจะโกรธชาวบ้านชาวเมือง คิดประหัตประหารนั้นไม่มี ก็ยังมีความโกรธอยู่ แต่คิดว่านี่ไม่น่าจะทำให้เราไม่ชอบใจ แต่ทว่าอาศัยที่เขาเป็นคนจัญไร เป็นคนเลว เราก็ไม่น่าจะโกรธตอบ แต่ก็กว่าจะมีความรู้สึกได้ก็ต้องใช้กำลังใจนิดหน่อย เมื่อใจมีเหตุมีผลมากขึ้น สำหรับด้านความหลงคิดว่า ร่างกายจะทรงตัว มีความรู้สึกน้อยไปด้วยอำนาจปัญญาดี อย่างนี้ท่านเรียกว่า โกลังโกละ สำหรับท่าน เอกพิชี ตอนนี้ท่านทั้งหลายกำลังใจขั้นเอกพิชีนี่ ตามความรู้สึกของผม คิดว่า ท่านผู้นั้นต้องมีกำลังใจทรงฌาน 4 เพราะว่าอะไร เพราะวาสนาบารมีอารมณ์จิตละเอียดมาก ถึงกับว่าถ้าตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นพรหมหรือเทวดา หมดบุญวาสนาบารมีมาเกิดเป็นคนอีกครั้งเดียวก้เป็นอรหัตผลเหมือนกับพระสกิทาคามี ตอนนี้ท่านเรียกกันว่าพระโสดาบันละเอียด ฟังให้ดีนะ สำหรับนักปฏิบัติ ถ้าจิตของท่านเข้าถึงอุปจารสมาธิ อันมีอารมณ์เป็นทิพย์ ถ้าจะได้ยินเสียงของพระหรือ เทวดาหรือพรหม ที่เป็นพระอริยเจ้าตรัสว่า ท่านเวลานี้ท่านทรงอารมณ์เป็นพระโสดาบันละเอียดแล้ว ก็จงทราบว่าขณะนั้นท่านเป็นเอกพิชี อารมณ์ของเอกพิชีนี่ ที่ผมคิดว่า ท่านผู้นี้มีอารมณ์จิตของท่านเป็นผู้เข้าถึงฌาน 4 และก็ทรงฌาน 4 ได้ดีตามสมควร ก็เพราะว่าอารมณ์ของพระโสดาบันเข้าถึงขั้นเอกพิชีนี่ มีความรู้สึกพิเศษอยู่อย่างหนึ่งเอาเก็บไว้เป็นที่สังเกตว่า ความรู้สึกของพระโสดาบันขั้นเอกพิชี ยังเห็นคนสวย แล้วก็ยังเห็นความดีของทรัพย์สิน ยังรู้สึกมีความไม่พอใจ แต่ทว่ากำลังใจของท่าน ไอ้อารมณ์อย่างนี้มันน้อย ความรู้สึกอย่างหนึ่งมันเกิดขึ้นกับจิต ซึ่งซ้อนขึ้นมากับอุปสมานุสสติกรรมฐานนั่นก็คือคำว่า……ธรรมดา จุดนี้จุดธรรมดาเกิดขึ้นมาก เกิดอารมณ์กระทบขึ้นมา ก็รู้สึกว่านี่มันเป็นธรรมดาของโลก จิตเย็นทันที จะเห็นคนสวยสดงดงามเข้ามาถึง มองดูแล้วรู้สึกว่าเธอเป็นธรรมดา เราเป็นชายเห็นหญิงสาวสวยเราก็รู้สึกว่าธรรมดา ถ้าเป็นหญิงเห็นชายงามก็รู้สึกว่าธรรมดา ธรรมดาตรงไหนมองไปมันก็สวย ผิวสวยลักษณะทรวดทรงสวย เครื่องประดับสวย แต่ว่าธรรมดา ฉะนั้น อารมณ์ที่เกาะติดในกามฉันทะก็ดี ในความโลภในทรัพย์สินก็ดี ในความโกรธก็ดี ในความหลงก็ดี มันก็ติดอยู่แค่ผิว ๆ แค่หนังกำพร้านิดหนึ่ง จะว่าหนังกำพร้า หนังกำพร้าก็ไม่ติดมันอยู่แค่ปลายขน จิตกระทบจิตถูกเข้าหน่อยมันก็หล่น มองหน้าเขาว่าคนนี้เป็นนางงามประจำชาติ แต่มองปราดลงไปรู้สึกว่าเธอสวยชั่วขณะอารมณ์จิตเดียวสัก 1 วินาที ใจนี้มันจะคลายสลายความสวย จิตมันจะแทงทะลุเข้าไปถึงภายในของร่างกาย หรือว่าผิวพรรณทั้งหลายเหล่านี้ จะมีความเข้าใจว่ามันเต็มไปด้วยความสกปรก ไม่ทรงอยู่ในความสะอาด สำหรับทรัพย์สินทั้งหลาย มองแล้วก็รู้สึกว่าดีมีใช้มีกิน แต่ทว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อชีวิตมันสิ้นก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ การเพ่งเล็งถึงโทษของบุคคลผู้ทำให้เกิดความช้ำใจ ก็ไม่ได้มองเห็นประโยชน์อะไรว่ามันจะเป็นคุณ เห็นว่าคนที่ทำใจเราให้สะเทือนใจนั้นมันเป็นความเข้าใจผิดของบุคคลทั้งหลายนั้น และมันก็เป็นภารกิจคือ ความชั่วของเราที่อยากเกิดมาในโลก เป็นอันว่าความรู้สึกธรรมดาเกิดขึ้นกับใจของพระโสดาบันขั้นนี้ จำให้ดีนะครับ เรื่องอารมณ์นี้ต้องจำให้ดี จะได้รู้ตัวว่าเวลานี้เรามาถึงไหน ไม่ยังงั้นเดี๋ยวก็ดำน้ำกันเรื่อยไปหรือว่าคล้าย ๆ กับเอาผ้าดำมาผูกตามันไม่เกิดประโยชน์ เป็นอันว่าจุดนี้แหละเป็นจุดของพระโสดาบันขั้นเอกพิชี ต่อไปนี้ก็พูดกันถึงในด้าน สกิทาคามี ตอนถึงพระสกิทาคามีนี่ อารมณ์สบายเสียแล้ว เพราะย่ำต๊อกมาจากเอกพิชีหมด ระดับคุณค่าของเอกพิชีพระโสดาบันขั้นเอดพิชีกับพระสกิทาคามีมีค่าเท่ากัน นั่นก็คือ เกิดเป็นเทวดา พรหม 1 ชาติ และก็มาเกิดเป็นมนุษย์เป็นอรหันต์เลย ง่ายนิดเดียว มีค่าเท่ากันเหมือนกัน จะมีอะไรต่างกันตรงไหน แต่ทว่าสำหรับพระสกิทาคามีนี่ มีปัญญาละเอียดขึ้นกว่าพระโสดาบันหน่อยหนึ่ง สำหรับเรื่องศีลนี้ไม่ต้องพูดกัน มั่นคงมาตั้งแต่สัตตักขัตตุง ตอนนี้ทั้งเอกพิชีและสกิทาคามีนี้ เพราะอาศัยอารมณ์ละเอียดมาจากเอกพิชี จึงใช้ปัญญาที่มีความหลักแหลม เพราะอาศัยจิตทรงฌาน 4 คำว่าฌาน 4 มาจากไหน ก็มาจากการพิจารณาขันธ์ 5 พิจารณาศีล พิจารณาโทษของความรัก พิจารณาโทษของความโลภ พิจารณาโทษของความโกรธ พิจารณาโทษของความหลง เมื่อจิตมีอารมณ์เงียบเยือกเย็นลง จิตก็ก้าวเข้าไปสู่ถึงฌานสมาบัติทีละน้อยละน้อย โดยที่ไม่ต้องไปนั่งฝึกให้มันมีอาการเคร่งเครียด อารมณ์สมาธิกับวิปัสสนาญาณคือ ใช้อารมณ์พิจารณาสังโยชน์ 3 ประการ หรือโดยเฉพาะพิจารณาโทษของความรักในระหว่างเพศ การมีคู่ครอง เห็นว่า รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ หาสาระประโยชน์ไม่ได้ ไม่มีการทรงตัว และประการที่ 2 ทรัพย์สินทั้งหลาย ไม่มีใครสามารถจะแบกจากโลกอื่นได้ ตาย…ทำเสียเกือบตาย เหน็ดเหนื่อยเกือบตาย ตายแล้วก็หมดสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์ที่จะครอง แม้แต่ร่างกาย เรื่องของความโกระนี้ไซร้เป็นปัจจัยยั่วให้เกิดความทุกข์ ไม่มีความสุข ไม่มีความปรารถนา และก็เป็นอันว่า ถ้าจิตเราจะหลงร่างกายกายานี้ มันก็ไม่เป็นประโยชน์ มันก็จะถูกทำลายอยู่ทุกขณะ ในที่สุดก็สลายตัวไป อารมณ์รักในกายมันก็เบา รักกายเรามันเบารักกายคนอื่นก็เบา เห็นโทษของการครองคู่ อยู่ด้วยกันในฐานะสามีภรรยา ตอนนี้ระวังให้ดีนะ ถ้ามีสามีภรรยาและก็บางทีเขาคิดว่านอกใจเขา นาน ๆ จะมีความรู้สึกสักครั้ง แล้วก็หายเร็ว นี่เป็นเรื่องของพระสกิทาคามี พระสกิทาคามีมีอารมณ์ละเอียดจิตเข้าถึงฌาน 4 เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือ รูปสวยไม่จริง ปัญญามาก เสียงเพราะไม่จริง รสอร่อยก็ไม่จริง กลิ่นหอมก็ไม่จริง สัมผัสที่เกิดประโยชน์ก็ไม่จริง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้สร้างความอิ่ม มันสร้างความหิว มาในด้านของความโกรธก็ไม่มีความหมาย จะยึดถือร่างกายก็ไร้ประโยชน์ แต่ว่าจิตระวังมีจิตตัวหนึ่ง ที่เขาเรียกว่ากิเลสที่เป็นอนุสัย ท่านที่มีกำลังใจเข้าถึงพระสกิทาคามีนี่ เห็นโทษของกามคุณมาก เห็นโทษของความโลภมาก เห็นโทษของความโกรธมาก เห็นโทษของขันธ์ 5 มาก จนกระทั่งมีอารมณ์ละเอียด ดับสนิท ความคิดจะรักในระหว่างเพศไม่มี เฉย ๆ แล้วก็ความโลภโมโทสัน อยากจะร่ำรวยมันไม่มี เฉย ๆ สบาย ๆ และความโกรธคิดประทุษร้ายเขาไม่มี มันจะเป็นยังไงก็ช่าง ด่าก็ช่าง ว่าก็ช่าง เฉย ๆ สบาย ถ้าจิตจะติดกายติดใจของเรามันไม่มี มันไม่มีเป็นส่วนมาก แต่บางขณะมันมีเพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งหมดที่กล่าวมานี่ มันเป็นอนุสัย มันมีความละเอียดคล้ายกับตะกอน น้ำที่มีตะกอน ถ้าเอาสารส้มไปแกว่งมันไปนอนอยู่ในตุ่ม ตะกอนมันขุ่นก็จริงแหล่ แต่ทว่ามันไม่มากวนน้ำ น้ำใสสะอาดใจโปร่ง ตะกอนเหล่านั้นเหมือนกิเลส ใจเหมือนกับน้ำที่ถูกสารส้มแกว่งแล้ว แต่ทว่าในบางขณะที่จิตมีอารมณ์ละเอียด มีจิตสบายมีอารมณ์เป็นสุขไม่ว้าวุ่นกับอะไร บางครั้งความรู้สึกความพอใจในเพศ ความพอใจในทรัพย์สิน คิดว่าใครเขาว่าเราประทุษร้ายให้เราเจ็บใจ มันเกิดขึ้นมานิดหนึ่ง มันกระตุ้นจิตขึ้นมานิดกหนึ่ง แล้วก็สลายตัวไปโดยฉับพลันอย่างนี้เป็นอาการของพระสกิทาคามี เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับเวลาที่จะพูดกันมันก็หมดเสียแล้ว หวังว่าบรรดาท่านทั้งหลายคงมีความเข้าใจ เพราะมันเป็นของไม่ยาก ต่อแต่นี้ไปขอสาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จงตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าเวลานั้นท่านจะเห็นว่าเป็นการสมควรสำหรับท่าน สวัสดี .
วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558
ผู้สละโลก พระราหุลเถระเจ้า พระมหากัปปินะเถระเจ้าประวัติพระมหากัปปินเถระ เอตทัคคมหาสาวกผู้โอวาทภิกษุ การที่ท่านพระมหากัปปินเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้โอวาทภิกษุนั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ โดยอัตถุปปัตติเหตุ คือเหตุเกิดเรื่อง ด้วยพระมหาสาวกองค์นั้น ได้แสดงความสามารถออกมาให้ปรากฏในเรื่องการทำให้พระสมณะ ๑,๐๐๐ รูปดำรงอยู่ ในพระอรหัต ด้วยโอวาทเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้ บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า แม้พระเถระรูปนี้ ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้ว ในพระพุทธเจ้าพระ องค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้มากในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตระ ท่านได้บังเกิดในหังสวดีนคร บรรลุนิติภาวะแล้ว เป็นผู้พิพากษาอยู่ในพระนคร เมื่อกำลังฟังพระธรรมเทศนา ในสำนักของพระศาสดา ได้มองเห็นภิกษุรูปหนึ่ง ที่พระศาสดาทรงสถาปนา ไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้กล่าวสอนภิกษุแล้ว เราได้ฟังแล้วเกิดปีติโสมนัส นิมนต์ พระตถาคตพร้อมด้วยศิษย์ ให้เสวยและฉันแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น ครั้งนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า จงดูมหาอำมาตย์ผู้แกล้วกล้าในการตัดสิน หมอบอยู่แทบเท้าของเรา มีใจสูงด้วยปิติ มีวรรณะ นัยน์ตาและหน้าผ่องใส มีบริวารเป็นอันมาก ทำราชการ มียศใหญ่ มหาอำมาตย์นี้เขาปรารถนาตำแหน่งภิกษุ ผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ เพราะด้วยการบริจาคบิณฑบาตนี้ และด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ เขาจักไม่เข้าถึงทุคติเลยตลอดแสนกัป จักเสวยความเป็นผู้มีโชคดีในหมู่ทวยเทพ และจักเสวยความเป็น ใหญ่ในหมู่มนุษย์ ในแสนกัปแต่กัปนี้ พระศาสดามีพระนามชื่อว่าโคดม ทรงสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มหาอำมาตย์นี้ จักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นสาวกของพระศาสดามีนามชื่อว่ากัปปินะ จักบรรลุถึงนิพพาน บุรพกรรมในสมัยว่างจากพระพุทธเจ้า เขาได้กระทำกุศลกรรมไว้ในมนุษยโลกนั้น จนตลอดชีวิตแล้วท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ได้มาบังเกิดในเรือนของท่านหัวหน้าช่างหูก ในหมู่บ้านช่างหูกแห่งหนึ่ง ในที่อันไม่ไกลจากกรุงสาวัตถีนัก พระปัจเจกพุทธเจ้าทูลขอหัตถกรรมทำเสนาสนะ ในคราวนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าประมาณ ๑,๐๐๐ องค์ อยู่ที่ภูเขาหิมวันต์ ๘ เดือน เวลาจะเข้าพรรษาก็มาอยู่ในชนบท ๔ เดือน พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ครั้งแรกก็ลงมาในที่อันไม่ไกลจากกรุงพาราณสีแล้ว ส่งพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ ไปพบพระราชายังพระราชวังด้วยคำว่า พวกท่านจงขอหัตถกรรมเพื่อก่อสร้างเสนาสนะ ดังนี้ ก็ในคราวนั้นได้มีพระราชพิธีวัปปมงคล (พืชมงคล) พระราชา นั้นได้ทรงทราบว่านัยว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมา จึงเสด็จออกมาถาม ถึงเหตุที่ท่านพากันมาแล้ว ตรัสว่า ท่านผู้เจริญ วันนี้ไม่มีโอกาส พรุ่งนี้เป็น พระราชพิธีวัปปมงคลของโยม วันที่ ๓ โยมจักทำกิจให้ดังนี้แล้ว ไม่นิมนต์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เสด็จเข้าไปแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายพากันหลีกไปด้วยกล่าวว่า พวกเราจักเข้าไปยังหมู่บ้านอื่น ดังนี้ พวกบ้านช่างหูกทำบุญ ในสมัยนั้น ภริยาของหัวหน้าช่างหูก เดินทางไปยังกรุงพาราณสี ด้วยหน้าที่การงานบางอย่าง ได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นเข้า จึงเอ่ย ถามว่า พระคุณเจ้ามาในกาลอันมิใช่เวลาเพื่อต้องการอะไรเจ้าคะ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นได้เล่าเรื่องแต่ต้นให้ฟังแล้ว หญิงผู้สมบูรณ์ด้วยศรัทธาถึง พร้อมด้วยปัญญา พอได้ฟังเรื่องนั้นแล้ว จึงกราบเรียนนิมนต์ว่า ท่านเจ้าขา พรุ่งนี้นิมนต์รับภิกษาของพวกดิฉันนะเจ้าคะ พระปัจเจกพุทธเจ้า กล่าวว่า โยมน้องหญิง พวกอาตมภาพมีด้วยกันมากองค์ หญิงนั้นถามว่า มีกี่องค์พระคุณเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า มีประมาณ ๑,๐๐๐ องค์น้องหญิง หญิงคนนั้น กราบเรียนว่า ท่านเจ้าขา ในหมู่บ้านของพวกดิฉันนี้ ก็มีคนอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ คนเช่นกัน คนคนหนึ่งจะถวายภิกษุแก่ภิกษุองค์หนึ่ง ขอนิมนต์ท่านจงรับภิกษาเถิด ดิฉันคนเดียว จักให้ช่างก่อสร้างที่อยู่สำหรับพระคุณเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายรับนิมนต์แล้ว หญิงคนนั้น เข้าไปยังหมู่บ้านโฆษณาป่าวร้องว่า แม่พ่อทั้งหลายเอย ฉันได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าประมาณ ๑,๐๐๐ องค์ได้นิมนต์ท่านไว้แล้ว พวกท่านจงช่วยกันตระเตรียมที่สำหรับพระคุณเจ้าทั้งหลายด้วย และจงช่วยกันตระเตรียมข้าวยาคูและภัตรเป็นต้นด้วย ดังนี้แล้ว ให้คนช่วยกันก่อสร้างมณฑปในท่ามกลางหมู่บ้าน ให้ปูลาดอาสนะทั้งหลายไว้ พอถึงวันรุ่งขึ้น จึงนิมนต์ให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งแล้ว อังคาสด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีต ในเวลาเสร็จภัตรกิจ ได้พาผู้หญิงทั้งหมดในหมู่บ้านนั้นมา ได้ไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายพร้อมกับผู้หญิงเหล่านั้น นิมนต์ให้ท่านรับปฏิญญา เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดไตรมาสแล้ว จึงได้ป่าวร้องในหมู่บ้านอีกว่า แม่และพ่อทั้งหลาย บุรุษคนหนึ่งๆ จากตระกูลหนึ่งๆ (คัดเอาผู้ชายบ้านละคน) ให้ถือมีดและขวานเป็นต้น เข้าป่าไปนำทัพพสัมภาระมาแล้ว จงสร้างที่อยู่ ถวายสำหรับพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายเถิด พวกชาวบ้านได้ฟังคำของนางนั้น แล้ว แต่ละคนก็สร้างบรรณศาลาคนละหลัง ทำงานก่อสร้างทั้งคืนทั้งวัน จน บรรณศาลา ๑,๐๐๐ หลังเสร็จเรียบร้อยแล้ว กราบเรียนพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ซึ่งเข้าไปอยู่ในบรรณศาลาของตนของตนว่า เราจักบำรุงท่านโดยความเคารพ เราจักบำรุงท่านโดยความเคารพแล้ว จึงได้พากันบำรุง พอถึงเวลาออกพรรษาแล้ว ภริยาหัวหน้าช่างหูกคนนั้น จึงกล่าวว่า พวกท่านจงตระเตรียม ผ้าจีวรสาฎก ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้อยู่จำพรรษาแล้ว ในบรรณศาลาของตนของตนเถิด แล้วช่วยตระเตรียมเสร็จแล้ว จึงได้ช่วยกันถวายผ้าจีวร มีค่า ๑,๐๐๐ แด่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ละ ๑ ผืน ออกพรรษาแล้วพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ทำอนุโมทนาแล้วก็หลีกไป แม้พวกชาวบ้านที่ทำบุญกรรม นี้แล้ว จุติจากอัตภาพนั้น ได้ไปบังเกิดในดาวดึงสเทวโลก ได้เป็นผู้ชื่อว่า คณเทวดา.เทวดาเหล่านั้น ได้เสวยทิพยสมบัติในดาวดึงสเทวโลกนั้นแล้ว บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ได้พากันมาบังเกิดในบ้านเรือนของพวกคหบดี หัวหน้าช่างหูกในกาลก่อน ได้มาเกิดเป็นลูกชายของหัวหน้าคหบดี แม้ภริยาของหัวหน้าช่างหูกในกาลก่อน ก็ได้มาเกิดเป็นลูกสาวของหัวหน้าคหบดีคนหนึ่ง พวกภริยาของช่างหูกที่เหลือในกาลก่อน ได้มาเกิดเป็นพวกลูกสาวของคหบดีที่เหลือทั้งหลาย หญิงเหล่านั้นทั้งหมดเมื่อเจริญวัยแล้ว เมื่อจะแต่งงานมีเหย้าเรือน ต่างก็แต่งงานกับคู่ของตนในกาลก่อน คหบดีถวายมหาทาน ภายหลังวันหนึ่ง เมื่อมีการป่าวประกาศให้ ไปฟังธรรมที่พระวิหาร พวกคหบดีเหล่านั้นทั้งหมดได้ทราบว่า พระศาสดาจักทรงแสดงธรรม จึงได้ไปยังพระวิหารพร้อมกับภริยาเพื่อฟังธรรม ในขณะที่คนเหล่านั้นเข้าไปยังท่ามกลางพระวิหาร ฝนก็ตกลงมา พวกคนที่รู้จักมักคุ้นกับพระหรือมีญาติที่เป็นสามเณรเป็นต้น ต่างก็เข้าไปยังที่พักของพระและสามเณรที่คุ้นเคยเป็นญาติกันเหล่านั้น เพื่อหลบฝน แต่คหบดีเหล่านั้น ไม่อาจจะเข้าไปในที่แห่งใดแห่งหนึ่งได้ เพราะไม่มีพระภิกษุสามเณรที่รู้จักหรือเป็นญาติเช่นนั้นเลย จึงได้ยืนอยู่กลางฝนนั้น หัวหน้าคหบดีเหล่านั้นกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย จงดูอาการอันน่าอับอายของพวกเรา ธรรมดา กุลบุตรทั้งหลาย ละอายด้วยเหตุเช่นนี้ ก็สมควรแล้ว พวกคหบดีจึงถามว่า พวกเราจะทำอย่างไรดีนาย หัวหน้าจึงพูดว่า พวกเราถึงซึ่งการอันน่าอายนี้ เพราะไม่มีที่อยู่สำหรับผู้คุ้นเคยกัน พวกเราทั้งหมดจักรวบรวมทรัพย์สร้างบริเวณ พวกคหบดีจึงพูดว่า ดีละนาย หัวหน้าคหบดีจึงได้ให้ทรัพย์พันหนึ่ง คนที่เหลือได้ให้ทรัพย์คนละห้าร้อย พวกผู้หญิงได้ให้ทรัพย์คนละสองร้อยห้าสิบ คหบดีเหล่านั้นนำทรัพย์นั้นมาแล้ว มอบให้ช่างสร้างปราสาท เรียงรายไป ๑,๐๐๐ หลัง ได้ชื่อว่าเป็นบริเวณกว้างขวางเพื่อเป็นที่ประทับสำหรับพระศาสดา เพราะค่าที่การก่อสร้างนั้นใหญ่ไป เมื่อทรัพย์ที่บริจาคไปนั้นไม่เพียงพอ จึงได้ช่วยกันออกให้อีกครึ่งหนึ่งของจำนวนทรัพย์ที่ได้บริจาคให้แล้วในครั้งก่อน เมื่อบริเวณสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ก็ทำการฉลองพระวิหาร ได้ถวายมหาทานแต่ ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ตลอด ๗ วันแล้ว จัดแจงผ้าจีวรสำหรับ ภิกษุ ๒,๐๐๐ องค์ ภรรยาของกุฎุมพีถวายดอกอังกาบ ส่วนภริยาของหัวหน้าคหบดี คิดว่า เราจักไม่ทำให้เสมอกับพวกเขา แต่จะทำให้ยิ่งไปกว่าพวกเขาคือ จักบูชาพระศาสดา ดังนี้แล้ว จึงถือเอาผอบบรรจุดอกอโนชา (ดอกอังกาบ) พร้อมกับผ้าสาฎก มีมูลค่า ๑,๐๐๐ ซึ่งมีสีดุจดอกอโนชาแล้ว เอาดอกอโนชาบูชาพระศาสดา วางผ้าสาฎกนั้นไว้ใกล้บาทมูลของพระศาสดา ได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ขอให้สรีระของข้าพระองค์จงมีสีคล้ายดอกอโนชา ในที่ที่ ข้าพระองค์เกิดแล้วเกิดแล้วเถิด และจงมีชื่อว่า อโนชา ดังนี้เถิด พระศาสดา ได้ทรงกระทำอนุโมทนาด้วยพระดำรัสว่า จงสำเร็จดังปรารถนาเถิด คนเหล่านั้นแม้ทั้งหมดดำรงอยู่จนตลอดอายุแล้ว จุติจากอัตภาพนั้นได้ไปบังเกิด ในเทวโลก ท่องเที่ยวไปในเทวโลก และมนุษยโลก ตลอดพุทธันดรหนึ่ง กำเนิดเป็นพระเจ้ามหากัปปินะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า ในพุทธบาทกาลนี้ เทวดาเหล่านั้น จุติจากเทวโลกแล้ว ผู้เป็นหัวหน้าคหบดี ได้บังเกิดในราชตระกูลในกุกกุฏวดีนคร บรรลุนิติภาวะแล้ว ได้เป็นพระเจ้ามหากัปปินะ คนที่เหลือได้ไปบังเกิดในตระกูลอำมาตย์ทั้งหมด ภริยาของหัวหน้าคหบดีได้บังเกิดในราชตระกูล ในมัททรัฐสาคลนคร พระ นางได้มีพระสรีระงามมีสีดุจดอกอโนชาทีเดียว ด้วยเหตุนั้นพระชนกพระชนนี จึงได้ทรงขนานพระนามของพระนางว่า อโนชา นั่นแล พระนางทรงเจริญวัย แล้ว ก็อภิเษกเป็นพระมเหษีของพระเจ้ามหากัปปินะ ได้มีพระนามปรากฏว่า อโนชาเทวี พวกผู้หญิงที่เหลือ ก็ได้ไปบังเกิดในตระกูลพวกอำมาตย์ เมื่อเจริญวัย แล้ว ได้แต่งงานกับบุตรอำมาตย์เหล่านั้นแล คนเหล่านั้นทั้งหมด ก็ได้เสวยสมบัติเช่นกับสมบัติของพระราชา ในกาลใด พระเจ้าแผ่นดินทรงประดับด้วยเครื่องทรงอลังการพร้อมสรรพ เสด็จขึ้นหลังพญาช้างเที่ยวไป แม้ในกาลนั้น คนเหล่านั้นก็เที่ยวไปอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อพระราชาพระองค์นั้น เสด็จเที่ยวไปด้วยม้าหรือด้วยรถ ถึงพวกอำมาตย์เหล่านั้นก็เที่ยวไปอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะกำลังแห่งบุญเป็นอันมากที่ได้ทำไว้ร่วมกันอย่างนั้น พวกอำมาตย์เหล่านั้นจึงได้เสวยสมบัติอย่างเดียวกันกับพระราชาแล ก็พระราชามีม้า ๕ ตัวคือม้าชื่อว่า วาละ วาลวาหนะ ปุปผะ ปุปผวาหนะ และม้าชื่อว่า สุปัตตะ ในบรรดาม้า ๕ ตัวเหล่านั้น พระราชาย่อมทรงม้าชื่อว่าสุปัตตะด้วยพระองค์เอง ส่วนม้าอีก ๔ ตัวนอกนี้ได้พระราชทานแก่พวกคนขี่ม้าทั้งหลาย เพื่อใช้นำข่าวสารมา พระราชาให้พวกคนเหล่านั้นบริโภคแต่เช้าตรู่แล้ว ทรงส่งพวกเขาไปด้วยพระราชดำรัสว่า พวกท่านจงเที่ยวไปในระยะทาง ๒ โยชน์ หรือ ๓ โยชน์ แล้วสืบเสาะฟังว่า พระพุทธเจ้า พระธรรมหรือ ว่าพระสงฆ์ อุบัติขึ้นแล้ว จงนำข่าวมาบอกแก่เรา คนเหล่านั้นออกจากประตูทั้ง ๔ ทิศแล้ว เที่ยวไปได้ ๒ - ๓ โยชน์ ไม่ได้รับข่าวสาร อะไรๆ เลย จึงกลับมา พระราชาได้ข่าวพระรัตนตรัยจากพ่อค้า วันต่อมา พระราชาเสด็จขึ้นม้าสุปัตตะ ทรงมีอำมาตย์พันคนเป็นบริวาร กำลังเสด็จไปยังพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นพวกพ่อค้าประมาณ ๕๐๐ คน ผู้ซึ่งมีร่างกายอิดโรยเหนื่อยอ่อนกำลังเข้าไปยังพระนคร จึงทรงดำริว่า พวกพ่อค้าเหล่านี้ อิดโรเหนื่อยอ่อนเพราะเดินทางไกล เราจักได้ฟังข่าวสารอันเจริญอย่างหนึ่งจากสำนักของพวกพ่อค้าเหล่านี้เป็นแน่ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้อำมาตย์ไปเรียกพวกพ่อค้าเหล่านั้นมาแล้ว ตรัส ถามว่า พวกเธอมาจากเมืองไหน พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมุติเทพ นครหนึ่งนามว่าสาวัตถีมีอยู่ไกลจากที่นี้ไปอีก ๒๐๐ โยชน์ พวกข้าพระองค์มาจากพระนครนั้น พระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามว่า มีข่าวสาร อะไรเกิดขึ้นในประเทศถิ่นที่อยู่ของพวกเธอบ้างเล่า พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพข่าวสารอะไรอย่างอื่นไม่มี นอกจากข่าวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นเท่านั้น พระเจ้าข้า ในขณะนั้นนั่นเอง ด้วยมหาปีติที่บังเกิดจากข่าวที่ทรงได้ยินว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระราชาไม่ทรงอาจจะกำหนดอะไรๆ ได้ทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง แล้วตรัสถามอีกว่า พูดอะไรนะพ่อคุณ พวกพ่อค้าก็กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วพระเจ้าข้า พระราชาทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง แม้ ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ ก็เหมือนครั้งแรกนั่นแล แล้วตรัสถามเป็นครั้งที่ ๔ ว่า พูดอะไรนะพ่อคุณ เมื่อพวกพ่อค้ากราบทูลว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระเจ้าข้า จึงตรัสว่า พ่อค้า เพราะการที่ได้ฟังข่าวสารอันเป็นสุข เราจะ ให้ทรัพย์ ๑ แสนแก่พวกเธอ แล้วตรัสถามว่า ข่าวสารอะไรแม้ที่นอกเหนือ ไปกว่านี้ยังมีอีกไหมพ่อคุณ พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ มีพระธรรมอุบัติขึ้นแล้วพระเจ้าข้า พระราชาทรงสดับถ้อยคำแม้นั้นแล้ว ทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่งตลอด ๓ วาระเหมือนนัยก่อนนั่นแล ในวาระที่ ๔ เมื่อพวกพ่อค้ากราบทูลว่า พระธรรมอุบัติขึ้นแล้ว ตรัสว่า แม้ในวาระนี้ เราก็จะให้ ทรัพย์ ๑ แสนแก่พวกเธอ แล้วตรัสถามว่า ข่าวสารอะไรแม้ที่นอกเหนือไปกว่านี้ ก็ยังมีอีกไหมพ่อคุณ พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ มีพระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้ว พระราชาทรงสดับถ้อยคำแม้นั้นแล้ว ทรงนิ่งเงียบไปครู่ หนึ่งตลอด ๓ วาระเหมือนอย่างครั้งก่อนนั้นแล ในวาระที่ ๔ เมื่อพวกพ่อค้ากราบทูลว่า พระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้ว ตรัสว่า แม้ในครั้งนี้เราจะให้ทรัพย์ ๑ แสน แก่พวกเธอ แล้วทรงทอดพระเนตรดูอำมาตย์พันคน ตรัสถามว่า พ่อคุณ พวกเราจักทำอย่างไร พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์จักทำอย่างไร พระราชาตรัสว่า พ่อคุณเราได้สดับว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระธรรมทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระสงฆ์ทรงอุบัติขึ้นแล้ว เราจักไม่หวนกลับไปอีก เราจักไปบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าไปในสำนักของพระองค์ พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ แม้พวกข้าพระองค์ ก็จักบวชกับพระองค์ พระราชาออกผนวชพร้อมกับอำมาตย์ พระราชาทรงให้พวกอาลักษณ์จารึกพระอักษรลงในพระสุพรรณบัฏ พระราชทานแก่พวกพ่อค้าแล้วตรัสว่า พวกเธอจงมอบพระสุพรรณบัฏนี้แด่พระราชเทวีพระนามว่าอโนชา พระราชเทวีนั้นจักพระราชทานทรัพย์จำนวน ๓ แสนแก่พวกเธอ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเธอพึงกราบทูลกะพระราชเทวีนั้นว่า ทราบว่าพระราชาทรงมอบราชสมบัติแด่พระองค์ ขอพระองค์จงเสวยสมบัติตามความสบายเถิด ก็ถ้าว่าพระนางตรัสถามว่า พระราชาของพวกท่านเสด็จไปที่ไหนเสีย พวกท่านพึงกราบทูลว่า พระราชาตรัสว่า เราจักบวชอุทิศพระศาสดา แล้วก็เสด็จไปแล้ว แม้พวกอำมาตย์ก็ส่งข่าวสารไปยังภรรยาของตนเช่นนั้นเหมือนกัน พระราชาทรงส่งพวกพ่อค้าไปแล้ว ก็เสด็จขึ้นม้า มีอำมาตย์พันคนติดตามแวดล้อม เสด็จออกไปในขณะนั้นเอง แม้พระศาสดา ในเวลาเช้ามืดวันนั้น ทรงตรวจดูสัตวโลก ได้ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้ามหากัปปินะพร้อมด้วยบริวาร ทรงพระดำริว่า พระเจ้ามหากัปปินะพระองค์นี้ ได้ทรงทราบข่าวจากสำนักของพวกพ่อค้าว่า พระ รัตนตรัยอุบัติขึ้นแล้ว จึงทรงเอาทรัพย์ ๓ แสน บูชาถ้อยคำของพวกพ่อค้าเหล่านั้นแล้ว ทรงละพระราชสมบัติ ทรงมีอำมาตย์พันคนแวดล้อมแล้ว ทรงมีพระประสงค์จะบวชอุทิศเรา พรุ่งนี้จักเสด็จออก พระราชาพระองค์นั้นพร้อมทั้งบริวารจักได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ เราจักกระทำการต้อนรับ ดังนี้ ในวันรุ่งขึ้น เมื่อจะเสด็จไปต้อนรับพระราชาผู้แม้จะครอบครองบ้านเมืองเล็ก แต่ก็ทรงกระทำคล้ายกับว่าเสด็จไปต้อนรับพระเจ้าจักรพรรดิฉะนั้น พระองค์เอง ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จไปต้อนรับสิ้นระยะทาง ๑๒๐ โยชน์ ทรงประทับนั่งเปล่งพระพุทธรัศมีมีวรรณะ ๖ ประการ ณ ควงไม้นิโครธ ใกล้ กับฝั่งแม่น้ำจันทภาคา แม้พระราชาเสด็จมาถึงแม่น้ำสายหนึ่ง ก็ตรัสถามว่า แม่น้ำสายนี้ ชื่ออะไร พวกอำมาตย์ก็กราบทูลว่า แม่น้ำสายนี้ชื่อว่าปรัจฉา พระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามว่า พ่อคุณ แม่น้ำสายนี้มีขนาดประมาณเท่าไร พวกอำมาตย์กราบทูลว่า แม่น้ำสายนี้ลึก ๑ คาวุต กว้าง ๒ คาวุต พระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามว่า ก็ในที่นี้มีเรือหรือแพบ้างไหม พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ไม่มีพระเจ้าข้า พระราชาตรัสว่า เมื่อเรามัวห่วงถึงพาหนะมีเรือเป็นต้น ชาติ คือความเกิด ย่อมนำเข้าไปหาชราความแก่ และชราความแก่ย่อมนำเข้าไปหา มรณะความตาย เราเป็นผู้ไม่มีความสงสัย ออกเดินทางมาแล้ว ก็เพื่ออุทิศพระรัตนตรัย ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยนั้น ขอน้ำนี้ จงอย่าได้เป็นเหมือนน้ำแก่เราเลย แล้วทรงระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ระลึกถึงพระพุทธ คุณว่า อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระ ภาคเจ้าผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ดังนี้ เมื่อพระราชาพร้อมด้วยบริวาร กับ ม้า ๑,๐๐๐ ตัว เสด็จไปบนหลังน้ำ ม้าสินธพทั้งหลายวิ่งไปบนหลังน้ำคล้าย กับว่าวิ่งไปบนหลังแผ่นหินดาดฉะนั้น ม้าทุกตัวเปียกแค่ปลายกีบเท่านั้น พระราชาพระองค์นั้น ทรงข้ามแม่น้ำนั้นแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปข้างหน้า ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำอีกสายหนึ่ง ตรัสถามว่า แม่น้ำสายนี้ชื่อ อะไร พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ชื่อว่านีลวาหา พระเจ้าข้า พระราชาตรัสถาม ว่า แม่น้ำสายนี้มีขนาดประมาณเท่าไร พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ทั้งส่วนลึกทั้ง ส่วนกว้างมีขนาดประมาณครึ่งโยชน์พระเจ้าข้า พระราชาทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำนั้นแล้ว ก็ทรงอนุสรณ์ระลึกถึงพระธรรมคุณว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ดังนี้แล้วก็เสด็จไปได้ พอเสด็จพระราช ดำเนินล่วงพ้นแม่น้ำนั้นไปแล้ว พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำอื่นอีก ตรัสถามว่า แม่น้ำสายนี้ ชื่ออะไร พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ชื่อว่า จันทภาคา พระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามว่า แม่น้ำสายนี้มีขนาดประมาณเท่าไร พวก อำมาตย์กราบทูลว่า ทั้งส่วนลึกทั้งส่วนกว้างมีขนาดโยชน์หนึ่งพอดีพระเจ้าข้า พระราชาได้ทอด พระเนตรเห็นแม่น้ำนั้นแล้ว ก็ทรงอนุสรณ์ระลึกถึงพระสังฆคุณว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้ แล้วเสด็จไปได้ พอเสด็จพระราชดำเนินล่วงพ้นแม่น้ำแม้นั้นไปได้ พระราชาและอำมาตย์ได้บรรลุคุณวิเศษ พระราชา ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรัศมีพรรณะ ๖ ประการ แผ่ซ่านออกจากพระสรีระของพระศาสดา สว่างไสวรอดออกจากกิ่งค่าคบและใบของต้นนิโครธ แล้ว ทรงพระดำริว่า แสงสว่างนี้ มิใช่แสงสว่างของพระจันทร์ มิใช่แสงสว่างของพระอาทิตย์ มิใช่แสงสว่างของเทวดา มาร พรหม ครุฑ และนาค อย่างใดอย่างหนึ่งเลย เราเดินทางมาเพื่ออุทิศพระศาสดา เห็นทีจักได้พบเห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเป็นแน่ ในบัดดลนั้นเองพระราชาองค์นั้น ก็เสด็จลงจากหลังม้า น้อมพระสรีระเข้าไปเฝ้าพระศาสดาตามแนวแสงแห่งพระ รัศมี ได้เสด็จเข้าไปภายในพระพุทธรัศมี พระราชาองค์นั้น ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ก็ประทับนั่ง ณ สถานที่ อันสมควรข้างหน้าพร้อมกับอำมาตย์พันคน พระศาสดา ตรัสอนุปุพพีกถา แก่คนเหล่านั้น พอจบพระธรรมเทศนา พระราชาพร้อมกับบริวารก็ดำรงอยู่ ในโสดาปัตติผล ลำดับนั้น ชนทั้งหมดลุกขึ้นแล้ว ทูลขอบวช พระศาสดาทรงพิจารณาว่า บาตรและจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ จักมาบังเกิดแก่กุลบุตรเหล่านี้หรือไม่หนอ ก็ทรงทราบว่า กุลบุตรเหล่านี้ได้เคยถวายจีวรพันผืนแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าพันองค์ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ได้ถวายจีวร สองหมื่นผืน แด่ภิกษุสองหมื่นองค์ การมาแห่งบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ จึงไม่เป็นเหตุอัศจรรย์แก่กุลบุตรเหล่านี้เลย ดังนี้แล้ว ทรงเหยียดพระหัตถ์ขวาตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเกิด จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด ในขณะนั้นเอง ภิกษุเหล่านั้นก็ได้ทรงบริขาร ๘ เป็นคล้ายดังพระเถระที่มีพรรษาตั้ง ๖๐ พรรษาฉะนั้น ภิกษุเหล่านั้นเหาะขึ้นสู่เวหาส แล้ว ก็กลับลงมาถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรด้านหนึ่ง พระนางอโนชาเทวีเสด็จออกผนวช ฝ่ายพวกพ่อค้าเหล่านั้น เดินทางไปยังกรุงราชคฤห์แล้ว กราบทูล ข่าวสารที่พระราชาส่งไปถวายแต่พระเทวีให้ทรงทราบ เมื่อพระราชเทวี ตรัสว่า จงเข้ามา จึงเข้าไปยืน ณ ที่สมควรด้านหนึ่ง ทีนั้นพระราชเทวีจึง ตรัสถามพวกพ่อค้าเหล่านั้นว่า พ่อคุณ เพราะเหตุไรจึงเดินมาทางนี่ พวกพ่อค้าจึงกราบทูลว่า พระราชาทรงส่งพวกข้าพระพุทธเจ้ามาเฝ้าพระองค์ นัยว่า พระองค์จะพระราชทานทรัพย์ ๓ แสน แก่พวกข้าพระองค์ พระราชเทวี ตรัสว่า พนาย ! พวกท่านพูดมากไปแล้ว พวกท่านทำประโยชน์อะไรในสำนักของพระราชา พระราชาทรงเลื่อมใสในเรื่องอะไร จึงรับสั่งให้พระราชทานทรัพย์ถึงเพียงนี้ แก่พวกท่าน พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี พวกข้าพระองค์มิได้กระทำเรื่องอะไรอย่างอื่นเลย เพียงแต่แจ้งข่าวสารอย่าง หนึ่งให้ทรงทราบเท่านั้น พระราชเทวีตรัสถามว่า พ่อคุณ อาจพอที่จะบอกข่าวสารนั้นแม้แก่เราบ้างได้หรือ พวกพ่อค้ากราบทูลว่า อาจ พระเจ้าข้า แต่พวกข้าพระบาทไม่อาจกราบทูลข่าวนี้ ด้วยทั้งปากที่ไม่สะอาด พระเจ้าข้า แล้วบ้วนปากด้วยสุวรรณภิงคาร กราบทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก แม้พระราชเทวี พระองค์นั้น พอได้สดับคำนั้น แล้ว เป็นผู้มีพระเสรีระอันปีติถูกต้องแล้วไม่อาจจะกำหนดอะไรๆ ได้ถึง ๓ ครั้ง ในครั้งที่ ๔ ได้ทรงสดับว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว จึงตรัสว่า พ่อคุณในเพราะบทนี้ พระราชาทรงพระราชทานทรัพย์ให้พ่อเท่าไร พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ๑ แสนพระเจ้าข้า พระราชเทวีตรัสว่า พ่อคุณ พระราชา พระราชทานทรัพย์ ๑ แสนแก่พวกท่าน เพราะได้สดับข่าวสารถึงขนาดนี้ นับว่าทรงกระทำไม่สมควรเลย เราจะให้ทรัพย์ ๓ แสน ในเพราะบรรณาการอันยากแค้นของเรา แก่พวกท่าน พวกท่านได้กราบทูลเรื่องอะไรอย่างอื่น อีกหรือไม่ พวกพ่อค้าเหล่านั้น กราบทูลถึงข่าวสาร ๒ อย่างแม้นอกนี้ให้ ทรงทราบว่า เรื่องนี้ และเรื่องนี้ พระราชเทวี ไม่อาจกำหนดอะไรๆ ได้ตลอด ๓ วาระ เหมือนกับนัยที่กล่าวแล้วในตอนแรกนั่นแล ทุกๆ ครั้งที่ ๔ ได้พระราชทานทรัพย์ครั้งละ ๓ แสน รวมความว่า พวกพ่อค้าเหล่านั้น ได้รับทรัพย์ทั้งหมดไปถึง ๑๒ แสน ลำดับนั้น พระราชเทวีจึงตรัสถามพวกพ่อค้าเหล่านั้นว่า พ่อคุณ พระราชาเสด็จไปที่ไหนเล่า พวกพ่อค้าจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวี พระราชา ตรัสว่า เราจักบวชอุทิศพระศาสดาแล้วก็เสด็จไป พระราชเทวี ตรัสถามว่า ข่าวสารอะไรที่พระราชาพระองค์นั้น ได้มอบแก่เรามีไหม พวกพ่อค้ากราบ ทูลว่า นัยว่าทรงสละมอบความเป็นใหญ่ทั้งหมดแด่พระองค์ นัยว่าพระองค์จึงเสวยสมบัติตามความสุขสำราญเกิด พระราชเทวี ตรัสถามว่า พวก อำมาตย์ไปไหนเสียเล่าพ่อคุณ พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี แม้พวกอำมาตย์เหล่านั้นก็พูดว่า พวกเราจักบวชกับพระราชาแล้วไปแล้ว พระราชเทวีพระองค์นั้น จึงรับสั่งเรียกหาพวกภรรยาของอำมาตย์เหล่านั้นมาแล้ว ตรัสว่า แม่คุณ สามีของพวกเจ้าสั่งไว้ว่า พวกเราจักบวชกับพระราชา แล้วก็พากันไปแล้ว พวกเจ้าจักทำอะไร พวกภรรยาของอำมาตย์เหล่านั้นจึงทูลถามว่า ข้าแต่พระราชเทวี ข่าวสารอะไร ที่พวกสามีส่งฝากมาถึงพวกหม่อมฉัน พระราชเทวีตรัสว่า ได้ทราบว่า พวกอำมาตย์เหล่านั้นได้สละมอบสมบัติของตนแก่พวกเธอ ได้ทราบว่า พวกเธอจงบริโภคสมบัติตามสบายเถิด พวกภรรยาของอำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระราชเทวี พวกเราจักกระทำอย่างไรดีเล่า พระราชเทวีตรัสว่า เบื้องแรก พระราชาของพวกเรา พระองค์นั้นดำรงอยู่ในหนทาง เอาทรัพย์ ๓ แสนบูชาพระรัตนตรัยแล้ว ลงพระราชสมบัติที่คล้ายกับก้อนเขฬะ ออกไปได้ด้วยตั้งพระราชหฤทัยว่า เราจักบวช แม้เราได้สดับข่าวสารของพระรัตนตรัย ก็นำเอาทรัพย์ ๙ แสน บูชาพระรัตนตรัยนั้นแล้ว ก็ขึ้นชื่อว่าสมบัตินั้น มิใช่จะเป็นทุกข์แด่พระราชา อย่างเดียวเท่านั้น ย่อมเป็นทุกข์แม้แก่เราเหมือนกัน ใครจักคุกเข่าลงที่พื้นดิน แล้วอ้าปากรับก้อนเขฬะที่พระราชาถ่มแล้วเล่า เราไม่มีความต้องการสมบัติ เราจักบวชอุทิศพระศาสดา พวกภรรยาของพวกอำมาตย์เหล่านั้น กราบทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี ถึงพวกข้าพระองค์ ก็จักบวชพร้อมพระองค์ พระราชเทวีตรัสว่า ถ้าพวกเจ้าอาจสามารถ ก็นับว่าเป็นการดี พวกภรรยาของพวกอำมาตย์เหล่านั้น กราบทูลว่า พวกข้าพระองค์ อาจสามารถ พระเจ้าข้า พระราชเทวีตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นพวกเจ้าจงมา แล้วรับสั่งให้ตระเตรียมรถ พันคันเสร็จแล้วก็เสด็จขึ้นรถ เสด็จออกไปพร้อมกับพวกภรรยาของอำมาตย์ เหล่านั้น ในระหว่างทางได้ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำสายแรก ได้ตรัสถาม เหมือนอย่างที่พระราชาตรัสถามครั้งแรกเช่นกัน ได้ทรงสดับความเป็นไปทั้งหมดแล้ว จึงตรัสว่า พวกเธอจงแลดูหนทางที่พระราชาเสด็จไปแล้วซิ เมื่อพวกภรรยาของอำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า พวกหม่อมฉันมองไม่เห็นรอยเท้าของม้าสินธพเลย แล้วตรัสว่า พระราชาทรงกระทำสัจกิริยาว่า เราเป็นผู้ออกไปเพื่ออุทิศพระรัตนตรัยแล้ว ทรงระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย จึงจักเสด็จไปแล้ว แม้เราออกมา ก็เพื่ออุทิศพระรัตนตรัย ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย รถพันคันก็แล่นไปได้ แม่น้ำได้เป็นเช่นกับแผ่นหินดาด รถทุกคันเปียกเพียงแค่ขอบล้อเท่านั้นแล แม่น้ำอีก ๒ สายนอกนี้พระนางและ ทุกคนก็ได้ข้ามไปแล้ว ด้วยอุบายวิธีนี้นั่นแล พระนางอโนชาเทวี และบริวารได้บรรลุโสดาปัตติผล พระศาสดา ได้ทรงทราบว่าหญิงเหล่านั้นมาแล้ว ก็ทรงดำริว่า สตรีเหล่านี้เห็นสามีของตน เกิดฉันทราคะ ก็จะพึงทำอันตรายต่อมรรคผล ทั้งไม่อาจฟังธรรมได้ จึงทรงอธิษฐาน โดยวิธีการที่พวกเขาจะไม่เห็นกันและกันได้ แม้พระราชเทวีกำลังเสด็จมา ได้ทอดพระเนตรเห็นพระรัศมี ซึ่งแผ่ซ่านออกจากพระสรีระของพระศาสดาแล้ว ก็ได้ทรงจินตนาการเช่นเดียวกับพระเจ้ามหากัปปินะเหมือนกัน แล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวาย บังคมประทับยืนอยู่ ณ สถานที่อันสมควรข้างหนึ่งแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้ามหากัปปินะ เสด็จออกเพื่ออุทิศองค์ (บัดนี้) พระเจ้ามหากัปปินะพระองค์นั้น ประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ขอพระองค์จงแสดง พระราชาพระองค์นั้นให้ปรากฏแกพวกหม่อมฉันเถิดพระเจ้าข้า พระศาสดา ตรัสว่า เชิญพวกเธอนั่งก่อนเถอะ พวกเธอจักได้พบเห็นพระราชาพระองค์ นั้นในที่นี้แหละ หญิงเหล่านั้นแม้ทั้งหมดร่าเริงดีใจพูดกันว่า นัยว่าพวกเรา นั่งแล้วในที่นี้แหละ จักได้พบเห็นพวกสามีของพวกเราแน่ ดังนี้ จึงนั่งแล้ว พระศาสดาได้ตรัสแสดงอนุปุพพีกถา แก่หญิงทั้งหมด ในเวลาจบเทศนา พระนางอโนชาเทวี ได้บรรลุโสดาปัตติผลพร้อมกับหญิงเหล่านั้น พระมหากัปปินะเถระพร้อมด้วยพระบริวาร ได้สดับพระธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรง แสดงแก่หญิงเหล่านั้นแล้ว ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ในขณะนั้น พระศาสดาได้ทรงแสดงให้หญิงเหล่านั้นเห็นภิกษุเหล่านั้นได้ เมื่อหญิงเหล่านั้นได้เห็นภิกษุเหล่านั้นแล้ว ก็ได้กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วเรียนว่า ท่านผู้เจริญ กิจแห่งบรรพชิตของ ท่านถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา ยืน ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลขอบรรพชา ในขณะที่หญิงเหล่านั้น กล่าวคำขอบรรพชาอย่างนี้พระศาสดา ได้ทรงดำริถึงการมาของนางอุบลวรรณเถรี ในบัดดลที่พระศาสดาทรงดำริ แล้วเท่านั้น นางอุบลวรรณเถรีนั้น ก็เหาะมาโดยทางอากาศ รับเอาหญิงเหล่านั้นทั้งหมดนำไปยังสำนักภิกษุณีโดยทางอากาศแล้ว จึงให้บรรพชา ไม่นานเท่าไรนักหญิงเหล่านั้นทั้งหมด ก็ได้บรรลุพระอรหัต พระศาสดาได้ทรงพาภิกษุพันรูปไปยังพระเชตวันวิหารโดยทางอากาศ พระเถระเปล่งอุทานปรารภความสุข ครั้งนั้น ท่านพระมหากัปปินะเถระ บรรลุพระอรหัตผลแล้ว รู้ว่ากิจตนถึงที่สุดแล้ว ก็เป็นผู้ขวนขวายน้อย ทำเวลาให้ล่วงไปด้วยสุขในผลสมาบัติ อยู่ป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า อโห สุขํ อโห สุขํ (โอ สุขจริง โอ สุขจริง) ภิกษุทั้งหลายเกิดพูดกันขึ้นว่า ท่านพระกัปปินเถระ ระลึกถึงสุขในราชสมบัติ จึงเปล่งอุทานเช่นนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันไปกราบทูลพระตถาคต ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหากัปปินะ เที่ยวเปล่งอุทานว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’ ท่านเห็น จะกล่าวปรารภความสุขในราชสมบัติของตน พระศาสดารับสั่งให้เรียกพระมหากัปปินะนั้นมาแล้ว ตรัสถามท่านว่า “กัปปินะ ได้ยินว่า เธอเปล่งอุทานปรารภสุขในกาม สุขในราชสมบัติ จริงหรือ?” พระมหากัปปินะทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงทราบ การเปล่งหรือไม่เปล่งปรารภกามสุขและรัชสุขนั้นของข้าพระองค์” พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราย่อมเปล่งอุทาน ปรารภสุขในกาม สุขในราชสมบัติหามิได้ ก็แต่ว่า ความเอิบอิ่มใน ธรรม ย่อมเกิดขึ้นแก่บุตรของเรา บุตรของเรานั้นย่อมเปล่งอุทาน อย่างนั้น เพราะปรารภอมตมหานิพพาน” ดังนี้แล้วเมื่อจะทรงสืบอนุสนธิ แสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า: “บุคคลผู้เอิบอิ่มในธรรม มีใจผ่องใส ย่อมอยู่เป็นสุข บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้วทุกเมื่อ” พระเถระดำริจะไม่ทำอุโบสถ ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะพักอยู่ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน เขต พระนครราชคฤห์ คราวหนึ่ง ท่านไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้น อย่างนี้ว่า เราควรไปทำอุโบสถ หรือไม่ควรไป ควรไปทำสังฆกรรม หรือไม่ควรไป โดยที่แท้ เราเป็นผู้หมดจดแล้วด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านพระมหากัปปินะด้วยพระทัยของพระองค์ แล้วได้ทรงหายพระองค์ไปในคิชฌกูฏบรรพต มาปรากฏอยู่ตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน แล้วพระองค์ประทับนั่งเหนือพุทธอาสนะที่เขาจัด ถวาย ฝ่ายท่านพระมหากัปปินะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคำนี้กะท่านพระมหากัปปินะผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูกร กัปปินะ เธอไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เราควรไปทำ อุโบสถ หรือไม่ควรไป ควรไปทำสังฆกรรม หรือไม่ควรไป โดยที่แท้ เราเป็นผู้หมดจดแล้ว ด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง ดังนี้มิใช่หรือ? ท่านพระมหากัปปินะทูลรับว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ทั้งหลาย ถ้าพวกเธอไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่ นับถือ ไม่บูชา ซึ่งอุโบสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ซึ่งอุโบสถ ดูกรพราหมณ์ เธอจงไปทำอุโบสถ จะไม่ไปไม่ได้ จงไปทำสังฆกรรม จะไม่ไปไม่ได้ ท่านพระมหากัปปินะรับสนองพระพุทธพจน์ว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านพระมหากัปปินะเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วได้ทรงหายพระองค์ไปในที่ตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิ มฤคทายวัน มาปรากฏ ณ คิชฌกูฏบรรพต โดยรวดเร็ว เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขน ที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ต่อมาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพวกภิกษุทั้งพันรูป ผู้เป็นอันเตวาสิกของท่านมหากัปปินะนั้นว่า ภิกษุทั้งหลาย กัปปินะ อาจารย์ของเธอแสดงธรรมแก่ภิกษุ ทั้งหลายบ้างไหม? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า อาจารย์ของข้าพระองค์มิได้แสดงธรรมเลย ท่านเป็นผู้ขวนขวายน้อย ประกอบความเพียรอยู่ด้วยความสุขในทิฏฐธรรมอยู่ ไม่ยอมให้แม้เพียงแต่โอวาทแก่ ใคร ๆ ดังนี้ พระศาสดา จึงทรงให้เรียกหาพระเถระมาแล้ว ตรัสถามว่า กัปปินะ ได้ยินว่า เธอ ไม่ยอมให้แม้เพียงโอวาทแก่พวกอันเตวาสิก จริงหรือ? พระเถระกราบทูล ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า จริง พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ เธออย่าทำอย่างนั้น ตั้งแต่วันนี้ไป เธอจงแสดงธรรมแก่ พวกภิกษุผู้เข้าไปหาแล้ว พระเถระรับพระดำรัสพระศาสดา ด้วย เศียรเกล้าว่า ดีละ พระพุทธเจ้า จากนั้นท่านจึงทำให้พระสมณะ ๑,๐๐๐ รูปดำรงอยู่ ในพระอรหัต ด้วยโอวาทเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระ ศาสดาเมื่อจะตั้งตำแหน่งพระเถระผู้สาวกของพระองค์ ตามลำดับ จึงทรง ตั้งเธอไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย พระเถระร่วมโปรดนางเปรตผู้เป็นอดีตมารดาพระสารีบุตร วันหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอนุรุทธะ และท่านพระกัปปินะ ได้อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ไม่ไกลแต่กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ในกรุงพาราณสี มีพราหมณ์คนหนึ่ง เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เป็นดุจบ่อที่ดื่มกินของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ได้ให้สิ่งของมีข้าว น้ำ ผ้า และที่นอนเป็นต้น และเมื่อจะให้ ย่อมปฏิบัติตามความพอใจทุกอย่าง ตามลำดับของการให้มีน้ำล้างเท้า และ ผ้าเช็ดเท้าเป็นต้น ตามเวลาและตามความเหมาะสมแก่คนผู้มาถึง แล้ว ๆ ในเวลาก่อนอาหารได้อังคาสภิกษุทั้งหลายด้วยข้าวและ น้ำเป็นต้น โดยเคารพ วันหนึ่งเมื่อพราหมณ์นั้นจะไปธุระยังถิ่นอื่นจึงกล่าวกะภรรยาว่า นางผู้เจริญ เธอจงทำทานตามวิธีที่เราเคยทำ อย่าทำให้ทานนั้นเสื่อมเสีย จงหมั่นดำรงไว้โดยเคารพ ภรรยารับคำแล้ว พอสามีหลีกไปเท่านั้น ก็เลิกวิธีที่พราหมณ์นั้นเคยทำเพื่อภิกษุทั้งหลาย เป็นอันดับแรก แต่เมื่อคนเดินทางเข้าไปเพื่ออยู่อาศัย ก็แสดงศาลาที่เก่าที่ทอดทิ้ง ไว้หลังเรือนด้วยคำว่า พวกท่านจงอยู่ที่ศาลานี้ เมื่อคนเดินทาง มาในที่นั้นเพื่อต้องการข้าวและน้ำเป็นต้น ก็กล่าวว่า จงกินคูถ ดื่มมูตร ดื่มโลหิต กินมันสมองของมารดาท่าน แล้วจึงระบุชื่อ ของสิ่งที่ไม่สะอาด น่าเกลียด แล้วถ่มน้ำลาย สมัยต่อมา เมื่อนางสิ้นชีวิตแล้ว ด้วยผลกรรมที่ทำไว้ ก็ไปบังเกิดเป็นเปรต เสวยทุกข์อันเหมาะสมแก่วจีทุจริตของตน นางเปรตนั้นเมื่อหวนระลึกถึงความสัมพันธ์กันในชาติก่อน มีความประสงค์จะมายังสำนักของท่านพระสารีบุตร จึงมาถึงประตูวิหาร เทวดาผู้สิงอยู่ที่ประตูวิหารของท่านพระสารีบุตรนั้น จึงได้ห้ามนางเข้าวิหาร ด้วยความที่นางเปรตนั้นได้เคยเป็นมารดาของพระเถระ ในชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาตินี้ เพราะฉะนั้น นางจึงกล่าวว่า ดิฉันเป็นมารดาของ พระผู้เป็นเจ้าสารีบุตรเถระ ในชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาติ ขอท่านจงให้ดิฉันเข้าประตูเพื่อเยี่ยมพระเถระเถิด เทวดาได้ฟังดังนั้นจึงอนุญาตให้นางเข้าไป นางครั้นเข้าไปแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สุดที่จงกรม แล้วแสดงตนแก่พระเถระ พระเถระครั้นได้เห็นนางเปรตนั้น จึงถามด้วยใจอันความกรุณา ท่านเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียดซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูก่อนนางผู้ซูบผอม มีแต่ซี่โครง ท่านเป็นใครหรือ จึงมายืนอยู่ในที่นี้ นางเปรตนั้นเมื่อพระเถระถาม จึงได้กล่าวว่า เมื่อก่อนดิฉันเป็นมารดาของท่าน ในชาติก่อน ๆ ดิฉันเข้าถึงเปตวิสัย เพียบพร้อมไปด้วยความหิว และความกระหาย เมื่อถูกความหิวครอบงำ ย่อมกินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ที่เขาถ่มทิ้ง และกินมันเหลวของซากศพ ที่เขาเผาที่เชิงตะกอน กินโลหิตของพวกหญิงที่คลอดบุตร และโลหิตของพวกบุรุษที่ถูกตัดมือ เท้า และศีรษะที่เป็นแผล กินเนื้อ เอ็น และข้อมือข้อเท้าเป็นต้นของชายหญิง กินหนองและเลือดของปศุสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีที่เร้น ไม่มีที่อยู่อาศัยนอนบนเตียงของคนตายที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ลูกเอ๋ย ขอลูกจงให้ทานแล้วอุทิศส่วนบุญแก่เราบ้างไฉนหนอแม่จึงจะพ้นจากการกินหนองและเลือด ท่านพระสารีบุตรเถระ ได้สดับดังนั้นแล้ว ในวันที่สอง จึงเรียกพระเถระ ๓ รูป มีท่านพระมหาโมคคัลลานะเถระ ท่านพระอนุรุทธะและท่านพระกัปปินะมา ท่านพร้อมด้วยพระเถระเหล่านั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้ไปถึงพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาเห็นพระเถระแล้ว จึงถามถึงเหตุแห่งการมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้ทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา พระราชารับสั่งให้เรียก อำมาตย์แล้วทรงพระบัญชาว่า ท่านจงสร้างกุฎี ๔ หลังในที่นี้อันสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ อันวิจิตร ไม่ไกลแต่เมือง เมื่อกุฎีสำเร็จแล้ว จึงให้ตระเตรียมพลีกรรมทั้งหมด เข้าไปตั้งข้าวน้ำและผ้าเป็นต้น และเครื่องบริขารทุกอย่างที่สมควรแก่ภิกษุสงฆ์ที่มาจากทิศ ทั้ง ๔ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วมอบถวายสิ่งทั้งหมดนั้น แด่พระสารีบุตรเถระ ลำดับนั้น พระเถระได้ถวายสิ่งทั้งหมดนั้น แด่ภิกษุสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน อุทิศแก่นางเปรตนั้น นางเปรตนั้น ได้อนุโมทนาส่วนบุญนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง ในวันต่อมา ก็ได้เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ไหว้แล้ว ยืนอยู่ พระเถระสอบถามนางเปรตนั้น นางเปรตนั้น ได้แจ้ง เหตุที่ตนเข้าถึงความเป็นเปรต และเข้าถึงความเป็นเทวดาแก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเถระ ได้กราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกระทำเรื่องนั้น ให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุแล้ว ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้เข้าถึง พร้อมแล้ว เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชน ฉะนั้นแล พระพุทธองค์ทรงแสดงพระเถระเป็นตัวอย่าง พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัปปินะ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านมหากัปปินะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ครั้นแล้วได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย เห็นความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายของภิกษุนั้นหรือหนอ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใดข้าพระองค์ทั้งหลาย เห็นท่านผู้มีอายุนั้นนั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ หรือนั่งในที่ลับรูปเดียว ในเวลานั้น ข้าพระองค์ทั้ง หลายมิได้เห็นความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายของท่านผู้มีอายุนั้นเลย พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสมาธิใด ภิกษุนั้นได้สมาธินั้นตามความปรารถนาได้ โดยไม่ยากไม่ลำบาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความ หวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ กระทำให้มากซึ่งสมาธิ เป็น ไฉน? เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้ มากแล้วอย่างไร ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่ง จิตก็ดี ย่อมไม่มี? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้ บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า .............ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อ อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ความไหวหรือความเอนเอียง แห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี. พระผู้มีพระภาคสรรเสริญพระเถระ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯ พระผู้มีพระภาค ได้ทอดพระเนตรเห็น ท่านพระมหากัปปินะผู้มาแต่ไกล แล้วจึงเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นภิกษุที่กำลังมานั่นหรือไม่ เป็นผู้ขาวโปร่ง จมูกโด่ง ฯ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า ฯ พระผู้มีพระภาค. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั่นแลมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก แต่เธอไม่ได้สมาบัติที่เธอไม่เคยเข้าง่ายนัก เธอกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ พระผู้มีพระภาค ผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปซึ่งต่อมาได้นำมาแปลงเป็นบทสวดชื่อว่า พุทธมงคลคาถา ดังนี้ พุทฺธมงฺคลคาถา (สรภัญญะ) ๏ ทิวา ต|ปติ อา|ทิจฺโจ ๏ พระอาทิตย์แผดแสงในกลางวัน รตฺ|ติมาภา|ติ จนฺทิมา พระจันทร์สว่างในกลางคืน สนฺ|นทฺโธ ขตฺ|ติโย ตปติ กษัตริย์ทรงเครื่องรบย่อมงามสง่า ฌายี ต|ปติ พฺราหฺ|มโณ พราหมณ์ผู้เพ่งฌานย่อมรุ่งเรือง อถ สพฺ|พมโห|รตฺตึ ส่วนพระพุทธเจ้าไพโรจน์ด้วยพระเดช พุทฺโธ ต|ปติ เต|ชสา ฯ ตลอดกลางวันและกลางคืน เอเต|น สจฺ|จวชฺเชน ด้วยการกล่าวความสัตย์นี้ สุวตฺ|ถิ โห|ตุ สพฺ|พทา ขอความสวัสดีจงมีทุกเมื่อ พระพุทธองค์และพระอรหันต์ ๔ ทิศ ทรมาน พกพรหม สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พรหมองค์หนึ่ง ชื่อพกพรหม เกิดทิฏฐิคือความเห็นผิดว่า สมณะหรือพราหมณ์ ที่จะมาในพรหมโลกนี้ได้ไม่มีเลย พรหมนี้อุปบัติครั้งเมื่อยังไม่มีพระพุทธเจ้า บวชเป็นฤาษี กระทำกสิณบริกรรมและทำ สมาบัติให้เกิด ไม่เสื่อมฌาน ทำกาละแล้ว บังเกิดในพรหมโลกชั้นเวหัปผลาใน ภูมิจตุตถฌาน มีอายุอยู่ ๕๐๐ กัป เขาดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นเวหัปผลาใน ตลอดอายุขัย ช่วงเวลาที่เกิดภายหลัง เจริญตติยฌานให้ประณีต บังเกิดในพรหมโลกชั้นสุภกิณหะ มีอายุ ๖๔ กัป พกพรหมนั้นรู้กรรมที่ตนทำและสถานที่ที่ตนเกิดในปฐมกาลเกิดครั้งแรก แต่เมื่อกาลล่วงไป ๆ ลืมกรรมและสถานที่ทั้ง ๒ เสีย จึงเกิดสัสสตทิฏฐิ คิดว่าฐานะของพรหมนั้นเที่ยง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพรหมนั้นด้วยพระทัยแล้ว ทรงหายไปจากพระวิหารเชตวันไปปรากฏในพรหมโลกนั้น ทรงนั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น ทรงเข้าเตโชธาตุกสิณ ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดเช่นนี้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ท่านได้เห็นด้วยจักษุทิพย์ ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทับนั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนพรหมนั้น เข้าเตโชธาตุกสิณอยู่ จึงได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลกในเบื้องทิศบูรพา นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ โดยทำนองเดียวกัน ท่านพระมหากัสสปะได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลกในเบื้องทิศใต้ นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ ท่านพระมหากัปปินะได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลกในเบื้องทิศตะวันตก นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ ท่านพระอนุรุทธะได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลกในเบื้องทิศเหนือ นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกะพรหมนั้นด้วย คาถาว่า ดูก่อนผู้มีอายุ แม้วันนี้ ท่านก็ยังมีความเห็นผิดอยู่เหมือนเมื่อก่อน ท่านยังจะเห็นอยู่หรือว่าบนพรหมโลกมีแสงสว่างพวยพุ่งออกได้เอง. พรหมกล่าวว่า พระคุณเจ้าผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นผิดเหมือนเมื่อก่อน ที่ว่าข้าพเจ้าเห็นแสงสว่างพวยพุ่งไปเองในพรหมโลก ไฉนในวันนี้ข้าพเจ้าจะพึงกล่าวว่า "เราเป็นผู้เที่ยงเป็นผู้ยั่งยืน" ดังนี้เล่า ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำพรหมนั้นให้สลดใจแล้ว ได้หายไปในพรหมโลกนั้น ปรากฏในพระวิหารเชตวันเหมือนบุรุษมี กำลัง ฯ ล ฯ ฉะนั้น ลำดับนั้นแล พรหมนั้นได้เรียกพรหมปาริสัชชะ พรหมพวกรับใช้องค์หนึ่งมาสั่งว่า ท่านจงเข้าไปถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้องค์อื่น ๆ ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เหมือนกับ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระกัสสปะ ท่านพระกัปปินะ และท่าน พระอนุรุทธะ ยังมีอยู่หรือ เมื่อพรหมปาริสัชชะนั้นไปถามพระมหาโมคคัลลานะตามที่ได้รับคำสั่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้กล่าวกะพรหมปาริสัชชะนั้นว่า พระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพได้วิชชา ๓ บรรลุอิทธิญาณ ฉลาดในเจโตปริยาญาณยังมีอยู่เป็นอันมาก. ลำดับนั้นแล พรหมปาริสัชชะนั้นจึงได้กล่าวกะพกพรหมตามที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้บอก เมื่อ พกพรหม ได้ทราบเช่นนั้นนั้นมีใจยินดี ชื่นชมภาษิตของท่านพระมหาโมคคัลลานะนั้น ฉะนี้แล
ผู้สละโลก ปลดแอกพระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะ ครูบางรูปแสดงธรรมแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอย่อมเข้าใจอรรถเข้าใจธรรม ในธรรมนั้นตามที่พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้อยู่ในฐานะครูแสดงแก่ เธอ เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์ แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีการสงบแล้ว ย่อมได้ เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติ ข้อที่ ๑ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ.
แค่นี้ก็ปางตายแล้วพระเจ้าข้าธาตุรู้ไม่ใช่พระนิพพานนะ แต่ธาตุรู้ไปเห็นพระนิพพาน นี้ต้องแยกให้ออก มันยังทวนเข้ามาไม่ถึงธาตุรู้ ถ้าสติปัญญาเราพอนะ เรารู้เลยจิตมันแส่ส่ายออกทางตาหูจมูกลิ้นกายมีแต่ทุกข์จิตไม่แส่ส่าย พอจิตไม่แส่ส่ายจิตก็หลุดออกจากกามภูมิ เข้ารูปภูมิหรืออรูปภูมิ เข้าเองเลยเพราะงั้นพวกเราหัดเจริญสติไปเรื่อย พอศีลสมาธิปัญญา สติสมาธิปัญญาแก่รอบนะจิตจะหมดความหลงไหลรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งหลายมาดึงดูดจิตไหลไปไม่ได้แล้ว อย่างน้อยก็ชั่วขณะ ชั่วขณะเท่านั้นแหละ ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ เพราะงั้นถึงเราจะเจริญสติเจริญปัญญาโดยเข้าฌานไม่เป็น ถึงนาทีสุดท้ายที่จะเกิดอริยมรรคอริยผลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรคเนี่ย จิตจะเข้าฌานของเค้าเอง ยกเว้นคนซึ่งเดินปัญญาอยู่ในฌาน เวลาที่จะเกิดอริยมรรคไม่ต้องถอยออกมาอยู่ในโลกก่อนนะไม่ต้องกลับมาอยู่กามภูมิก่อนนะ จิตเค้าจะตัดอยู่ข้างในได้เลย นี่เป็นพวกหนึ่งแต่รวมความก็คืออริยมรรคไม่เกิดอยู่ในจิตที่อยู่ในกามอย่างพวกเราอริยมรรคจะต้องเกิดอยู่ในรูปภูมิหรืออรูปภูมินะ จะเกิดอยู่ตรงนั้น ไปล้างกันตรงนั้นจิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เอง
วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558
จริงๆไม่มีเราหรอกเป็นภาพลวงตาทั้งหมดเลย นั่นแหละคือภูมิธรรมของพระโสดาบันจิตจำสภาวะธรรมได้หน้าที่เราต้องฝึกสติให้เร็วขึ้น เร็ว เร็วมากขึ้นๆ จนใจไหว...แว้บ.รู้ทัน. ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ว่าไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ เพราะงั้นถึงเราจะเจริญสติเจริญปัญญาโดยเข้าฌานไม่เป็น ถึงนาทีสุดท้ายที่จะเกิดอริยมรรคอริยผลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรคเนี่ย จิตจะเข้าฌานของเค้าเอง ยกเว้นคนซึ่งเดินปัญญาอยู่ในฌาน เวลาที่จะเกิดอริยมรรคไม่ต้องถอยออกมาอยู่ในโลกก่อนนะ ไม่ต้องกลับมาอยู่กามภูมิก่อนนะ จิตเค้าจะตัดอยู่ข้างในได้เลย นี่เป็นพวกหนึ่ง แต่รวมความก็คืออริยมรรคไม่เกิดอยู่ในจิตที่อยู่ในกามอย่างพวกเรา อริยมรรคจะต้องเกิดอยู่ในรูปภูมิหรืออรูปภูมินะ จะเกิดอยู่ตรงนั้น ไปล้างกันตรงนั้น จิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะ ไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เอง เพราะมันไม่แส่ส่ายออกไปที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ไม่แส่ส่ายไปในความคิด ก็หยุดลงที่จิตดวงเดียว สติหยั่งลงที่จิต จิตตั้งมั่นอยู่ที่จิต เพราะงั้นสมาธินี่เต็มสมบูรณ์แล้ว ตั้งมั่นอยู่ที่จิต สติสมบูรณ์แล้ว ระลึกอยู่ที่จิต ปัญญาสมบูรณ์แล้ว เห็นความเป็นจริงทุกสิ่งที่อย่างที่เคลื่อนไหวอยู่ในจิตนะ ตรงนี้แหละจิตจะไหวตัวขึ้นมาสองสามขณะ คือปรุงขึ้นมานะแต่ไม่รู้ว่าคิดอะไร ไม่รู้ว่าปรุงอะไร มีความปรุงแต่งเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ว่าปรุงอะไร จะเห็นแต่ว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดับไป จะเห็นอย่างนี้เอง เห็นเอง ถัดจากนั้นนะจิตจะรู้เลยมันไม่มีสาระอะไร จิตมันจืดนะ มันไม่เอาอีกแล้ว ก็แค่เห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้น พอเห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้นสองสามขณะ ความเห็นกลางอย่างแท้จริงเลย รู้อย่างเป็นกลางอย่างแท้จริงไม่ปรุงต่อนะ จิตจะวาง พอมันวางแล้วมันจะทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ วางจิตแล้วทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ ธาตุรู้ก็จิตนั่นแหละ มันเป็นจิตอีกอย่างหนึ่ง พอจิตดวงเก่ามันดับไป จิตที่อยู่ในภพภูมิต่างๆมันดับไป มันทวนกระแสเข้าหาจิตที่เหนือภพเหนือภูมิ ทวนกระแสเข้ามา ขณะที่มันปล่อยวางจิตดวงเดิมนะ แล้วก็ทวนเข้ามาแต่ยังไม่ถึงธาตุรู้นะ คาบลูกคาบดอก ไม่ได้เกาะขันธ์แล้วนะ แต่ก็ยังเข้ามาไม่ถึงตัวธาตุรู้ ไม่ถึงอมตะธาตุอมตะธรรม ไม่ถึงพระนิพพาน ธาตุรู้ไม่ใช่พระนิพพานนะ แต่ธาตุรู้ไปเห็นพระนิพพาน ต้องแยกให้ออก มันยังทวนไม่ถึงธาตุรู้ ไม่ใช่ปุถุชน ไม่ใช่พระอริยะ ทำไมไม่ใช่ปุถุชน เพราะมันปล่อยขันธ์แล้ว ขันธ์สุดท้ายที่มันปล่อยก็คือจิต ไม่ใช่พระอริยะ เพราะยังไม่เข้ามาถึงธาตุรู้ ไม่เข้าถึงพระนิพพาน ตัวธาตุรู้นั่นแหละเป็นตัวไปเห็นพระนิพพาน ตรงนี้นะเรียกว่าโคตรภูญาณ ญาณข้ามโคตร มีปัญญาข้ามโคตร ข้ามโคตรจากโคตรไหนมาสู่โคตรไหน? จากโคตรของปุถุชนมาสู่โคตรของอริยชน เพราะงั้นบรรลุมรรคผลแล้วเปลี่ยนโคตรนะ ข้ามจากสกุลของปุถุชน ข้ามมาสู่อริยวงศ์อริยโคตร เรียกญาณข้ามโคตร ไม่ใช่ปุถุชนนะ กำลังข้ามอยู่ ไม่ใช่พระอริยะ มีอยู่ขณะจิตเดียวแหละที่คาบลูกคาบดอกประหลาดอยู่อย่างนี้ ข้ามมา ทวนเข้ามาถึงจิตแท้ ถึงธาตุรู้แท้ๆ ธรรมธาตุ ตัวนี้อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น อาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตอยู่ถูกอริยมรรคแหวกออกทำลายออก ก็ล้างกิเลส ล้างในพริบตาเดียว ในขณะเดียว วับเดียวเลย ขาดเลย มันคล้ายๆเปิดสวิตซ์ไฟ ปั๊บ สว่างวุ๊บเดียวความมืดหายไปเลย ในพริบตานั้นเลย จากนั้นนะจะเห็นพระนิพพานอีกสองสามขณะ เห็นไม่เท่ากันหรอก บางคนเห็นสองขณะ บางคนเห็นสามขณะถ้าพวกอินทรีย์กล้ามากๆก็เห็นสามขณะ พวกอินทรีย์ยังไม่กล้ามากก็เห็นสองขณะนะ งั้นพระอริยะในภูมิธรรมอันเดียวกันระดับเดียวกัน ความรู้ความเข้าใจไม่เท่ากัน ความแตกฉานอะไรนี้ไม่เท่ากันเห็นพระนิพพานแล้วก็รู้ว่านิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตา นิพพานไม่เคยหายไปไหน อยู่ต่อหน้าต่อตานี่แหละ แต่โง่เองไม่เห็น ทำไมไม่เห็น? มัวแต่เห็นแต่กาม มัวแต่เห็นรูปภพ มัวแต่เห็นอรูปภพ จิตไม่รู้จักปล่อย ตรงที่เค้าปล่อยน่ะเค้าข้าม เค้าทิ้งแล้ว ตรงโคตรภูญาณที่จิตข้ามโคตร ข้ามจากปุถุชนมาเป็นพระอริยะ ข้ามตรงนี้มันทิ้งหมดเลยนะ มันทิ้งกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ ทิ้งหมดเลย ข้ามมาสู่อริยภูมิ โลกุตรภูมิ ข้ามเอง พวกเราก็มีหน้าที่ภาวนาให้มันพอเท่านั้นแหละนะ ถ้ามันพอเมื่อไหร่มันก็ข้ามโคตรไป เปลี่ยนสกุลไม่ใช่นามสกุลเดิม โดยสมมุติบัญญัติก็เป็นนามสกุลเดิม โดยปรมัตถ์แท้ๆก็ไม่ใช่แล้ว ก็มาเป็นลูกพระพุทธเจ้า ..งั้นเราภาวนานะ ค่อยหัดไปเรื่อย,,,หาสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อย..คิดว่าถ้าเราฝึกได้ดีเต็มที่แล้ววันหนึ่งจิตเราจะดีถาวร สุขถาวร สงบถาวร เพราะคิดว่าจิตเป็นเรานั่นแหละคิดจะทำให้มันดีให้ได้ คิดจะทำให้มันสุขให้ได้ คิดจะทำให้มันสงบให้ได้ ดีชั่วคราว สุขชั่วคราว สงบชั่วคราว ก็ไม่พอใจ จะเอาถาวร สุดท้าย พากเพียรแทบล้มแทบตายก็พบว่าดีก็ชั่วคราว สุขก็ชั่วคราว สงบก็ชั่วคราว จิตผู้รู้ก็ชั่วคราว อะไรๆก็ชั่วคราวหมดเลย ไม่เห็นมีตรงไหนเลยที่มันจะถาวรได้ จิตยอมรับความจริงตรงนี้ได้ จิตก็หมดแรงดิ้นนะ จะดิ้นไปทำไมล่ะ ดิ้นหาดี หาสุข หาสงบ ดิ้นยังไงก็ไม่มี มีก็มีชั่วคราวเดี๋ยวก็หายไปอีก นี่จิตจะหยุดแรงดิ้น หมดแรงดิ้น จิตที่แรงดิ้นเพราะว่าดิ้นมาสุดขีดแล้วนะ สติก็สุดขีดแล้ว สมาธิก็สุดขีดแล้ว ปัญญาก็สุดขีดแล้ว สติสุดขีดก็คือ ไม่เจตนาจะรู้ ก็รู้..รู้..รู้ทั้งวันเลย รู้ทั้งคืนด้วย สมาธิก็จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้อยู่อย่างนี้ ไม่เป็นผู้หลงนะ อย่างมากก็หลงแว๊บๆ ก็กลับมาเป็นผู้รู้อย่างรวดเร็ว จะทำสมาธิให้มากกว่านี้ก็ไม่รู้จะทำยังไง จะทำสติให้มากกว่านี้ก็ไม่รู้จะทำยังไง จะเจริญปัญญาให้มากกว่านี้ก็ไม่รู้จะทำยังไงนะ มันจนมุมไปหมดเลย คือ สติก็ทำมาจนไม่รู้จะทำยังไงแล้ว สมาธิก็ทำจนไม่รู้จะทำยังไง ปัญญาก็ไม่รู้จะพลิกแพลงไปพิจารณาอะไรอีกต่อไปแล้ว เนี่ยจิตถ้าภาวนามาสุดขีดนะมันจะเข้ามาสู่ภาวะแห่งความจนมุม มันจะหยุดแรงดิ้น มันจะหมดความอยากว่าทำยังไงจะพ้นทุกข์ได้ ทำยังไงจะสุขถาวร ทำยังไงจะดีถาวร ทำยังไงจะสงบถาวร เพราะมันดิ้นมาจนสุดฤทธิ์สุดเดชแล้ว ก็ไม่รู้จะทำยังไง ทำไม่ได้สักที พอจิตหมดแรงดิ้นนะ จิตก็สักว่ารู้ว่าเห็น ตรงนี้แหละสักว่ารู้ว่าเห็นขึ้นมา อย่างที่พวกเราพูดว่าสักว่ารู้ว่าเห็น ไม่จริงหรอก ไม่ยอมสักว่ารู้ว่าเห็นหรอก มีแต่ว่าทำยังไงจะดีกว่านี้อีก ทำยังไงดี ทำยังไงจะดี ทำยังไงจะถูก รู้สึกไหมแต่ละวัน นักปฏิบัติตื่นนอนก็คิดวันนี้จะทำยังไงดี คิดอย่างนี้แหละนะ จนกระทั่งมันสุดสติสุดปัญญา ทำยังไงมันก็ดีกว่านี้ไปไม่ได้แล้ว ยอมรับสภาพมัน จิตหมดแรงดิ้น จิตหมดความปรุงแต่ง หมดแรงดิ้นรน พอจิตไม่มีความปรุงแต่ง ไม่มีความดิ้นรน อยู่ตรงนี้ช่วงหนึ่งนะ พอจิตหมดแรงดิ้นก็ไม่ปรุง อะไรเกิดขึ้นก็แค่รู้ อะไรเกิดขึ้นก็แค่รู้ ไม่ปรุงต่อ จิตก็เรียกว่าจิตเข้าถึงความเป็นอนุโลม อนุโลมญาณ หมายถึงว่าอะไรเกิดขึ้นก็คล้อยตามมันไป คล้อยตามนี่ไม่ใชหลงตามมันไป ก็แค่เห็นนะ เออ ก็มีขึ้นมา เออ หายไป ก็แค่นั้นเองนะ ไม่ต่อต้าน ไม่หลงตามไป ยอมรับ มันมาก็มา มันไปก็ไป นี่จิตมีอุเบกขาอย่างแท้จริงเลยนะ คล้อยตามทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เห็นแต่ความจริง ทุกอย่างมาแล้วก็ไปมาแล้วก็ไป นี่จิตเห็นอยู่แค่นี้เอง นี่ถ้าจิต สติ สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา บุญบารมีอะไรแก่รอบแล้วนะ จิตหยุดความปรุงแต่งแล้วมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ รวมเอง ทำไมมันรวมเข้าอัปปนาสมาธิได้เอง เพราะว่าจิตไม่ไหลไปตามกาม ฌานมันจะเกิดเอง โดยธรรมชาติของจิตนี่ต้องเวียนอยู่ในภพ ภพที่จิตเวียนอยู่ได้มี ๓ ภพเท่านั้น หนึ่ง กามาวจรภพ ภพที่เวียนไปในกาม คือหาอารมณ์เพลิดเพลินไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพลินไปเรื่อย พวกเราจิตหมุนอยู่ติ้วๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย นึกออกไหม อันนี้แหละเรียกว่ากามภพ เรียกให้เต็มยศนะเรียก กามาวจรภูมิ ใจก็ไปเวียนอย่างนี้ ถ้าหลุดออกจากกามภพนะ ก็เข้าไป รูปภพ หรือว่า รูปภูมิ ก็คือเข้าไปสงบอยู่กับการรู้รูป เช่นรู้ลมหายใจ แล้วจิตไม่เอาแล้วโลกข้างนอก อารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่เห็นจะมีสาระอะไร จิตมารวมลงที่อารมณ์ภายในอันเดียว อาจจะมารู้ลมหายใจอยู่อันเดียว รู้ร่างกายอยู่อันเดียว มาเพ่งรูปอยู่อันเดียว เพ่งดวงกสิณ ดวงนิมิตอยู่อันเดียว จิตเพ่งรูปอยู่เรียกว่ารูปภูมิ ถ้าจิตไม่อยู่ในกามภูมิ ไม่อยู่ในรูปภูมิ จิตก็ต้องเข้า อรูปภูมิ ทิ้งรูปไปแล้วไปอยู่กับนามธรรม เช่นไปอยู่กับความว่าง จิตอยู่ในความว่าง อยู่กับความไม่มีอะไรเลย เพราะงั้นที่เค้าสอนภาวนา บางคนสอนภาวนาให้ไปอยู่ในความว่าง อันนั้นเพี้ยนนะ ไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า มันก็เป็นอรูปภูมิ เป็นภูมิอีกภูมิหนึ่ง เป็นภพอีกภพหนึ่งเท่านั้นเอง งั้นถ้าสติปัญญาเราพอนะ เรารู้เลยจิตมันแส่ส่ายออกทางตาหูจมูกลิ้นกายมีแต่ทุกข์ จิตไม่แส่ส่าย พอจิตไม่แส่ส่ายจิตก็หลุดออกจากกามภูมิ เข้ารูปภูมิหรืออรูปภูมิ เข้าเองเลย เพราะงั้นพวกเราหัดเจริญสติไปเรื่อย พอศีลสมาธิปัญญา สติสมาธิปัญญาแก่รอบนะ จิตจะหมดความหลงไหลรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งหลายมาดึงดูดจิตไหลไปไม่ได้แล้ว อย่างน้อยก็ชั่วขณะ ชั่วขณะเท่านั้นแหละ ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ เพราะงั้นถึงเราจะเจริญสติเจริญปัญญาโดยเข้าฌานไม่เป็น ถึงนาทีสุดท้ายที่จะเกิดอริยมรรคอริยผลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรคเนี่ย จิตจะเข้าฌานของเค้าเอง ยกเว้นคนซึ่งเดินปัญญาอยู่ในฌาน เวลาที่จะเกิดอริยมรรคไม่ต้องถอยออกมาอยู่ในโลกก่อนนะ ไม่ต้องกลับมาอยู่กามภูมิก่อนนะ จิตเค้าจะตัดอยู่ข้างในได้เลย นี่เป็นพวกหนึ่ง แต่รวมความก็คืออริยมรรคไม่เกิดอยู่ในจิตที่อยู่ในกามอย่างพวกเรา อริยมรรคจะต้องเกิดอยู่ในรูปภูมิหรืออรูปภูมินะ จะเกิดอยู่ตรงนั้น ไปล้างกันตรงนั้น จิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะ ไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เอง เพราะมันไม่แส่ส่ายออกไปที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ไม่แส่ส่ายไปในความคิด ก็หยุดลงที่จิตดวงเดียว สติหยั่งลงที่จิต จิตตั้งมั่นอยู่ที่จิต เพราะงั้นสมาธินี่เต็มสมบูรณ์แล้ว ตั้งมั่นอยู่ที่จิต สติสมบูรณ์แล้ว ระลึกอยู่ที่จิต ปัญญาสมบูรณ์แล้ว เห็นความเป็นจริงทุกสิ่งที่อย่างที่เคลื่อนไหวอยู่ในจิตนะ ตรงนี้แหละจิตจะไหวตัวขึ้นมาสองสามขณะ คือปรุงขึ้นมานะแต่ไม่รู้ว่าคิดอะไร ไม่รู้ว่าปรุงอะไร มีความปรุงแต่งเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ว่าปรุงอะไร จะเห็นแต่ว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดับไป จะเห็นอย่างนี้เอง เห็นเอง ถัดจากนั้นนะจิตจะรู้เลยมันไม่มีสาระอะไร จิตมันจืดนะ มันไม่เอาอีกแล้ว ถ้าสติปัญญาเราพอนะ เรารู้เลยจิตมันแส่ส่ายออกทางตาหูจมูกลิ้นกายมีแต่ทุกข์ จิตไม่แส่ส่าย พอจิตไม่แส่ส่ายจิตก็หลุดออกจากกามภูมิ เข้ารูปภูมิหรืออรูปภูมิ เข้าเองเลย เพราะงั้นพวกเราหัดเจริญสติไปเรื่อย พอศีลสมาธิปัญญา สติสมาธิปัญญาแก่รอบนะ จิตจะหมดความหลงไหลรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งหลายมาดึงดูดจิตไหลไปไม่ได้แล้ว อย่างน้อยก็ชั่วขณะ ชั่วขณะเท่านั้นแหละ ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ เพราะงั้นถึงเราจะเจริญสติเจริญปัญญาโดยเข้าฌานไม่เป็น ถึงนาทีสุดท้ายที่จะเกิดอริยมรรคอริยผลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรคเนี่ย จิตจะเข้าฌานของเค้าเอง ยกเว้นคนซึ่งเดินปัญญาอยู่ในฌาน เวลาที่จะเกิดอริยมรรคไม่ต้องถอยออกมาอยู่ในโลกก่อนนะ ไม่ต้องกลับมาอยู่กามภูมิก่อนนะ จิตเค้าจะตัดอยู่ข้างในได้เลย นี่เป็นพวกหนึ่ง แต่รวมความก็คืออริยมรรคไม่เกิดอยู่ในจิตที่อยู่ในกามอย่างพวกเรา อริยมรรคจะต้องเกิดอยู่ในรูปภูมิหรืออรูปภูมินะ จะเกิดอยู่ตรงนั้น ไปล้างกันตรงนั้นจิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เอง............. ...................................................................................................................................... เราเห็นตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ฉันใด เราก็เห็นจิตวิ่งไปวิ่งมาได้ฉันนั้น นี่เป็นความหลงผิด นี่เป็นภาพลวงตาเท่านั้นเอง แท้จริงจิตก็เกิดดับ เกิดดับเหมือนการ์ตูนทีละรูป ทีละรูป นั่นเอง แต่ว่าสติปัญญาของคนทั่วไปซึ่งไม่เคยฝึกฝนไม่สามารถเห็นได้ ก็จะรู้สึกว่าจิตเที่ยง ถ้าเราสามารถเห็นว่าจิตเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไปเรื่อยๆ ไม่นาน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เราจะเห็นความจริงว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราที่แท้จริงไม่มี มันมีแต่ของเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ถ้าเมื่อไรวันใดเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานะ ทุกอย่างในโลกนี้จะไม่ใช่ตัวเราแล้ว ร่างกายมันไม่ใช่เราตั้งแต่เริ่มหัดเจริญสติแล้ว พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะเห็นเลยว่าร่างกายมันอยู่ต่างหากแล้ว เหลือแต่จิตอันเดียวนี่แหละรู้สึกว่าวิ่งไปวิ่งมา การเจริญสติจนเห็นจิตเกิดดับเกิดดับ เกิดที่ตาแล้วดับ เกิดที่หูแล้วดับ เกิดที่ใจแล้วดับ ก็คือสันตติขาด การที่สันตติขาดนี่แหละคือวิปัสสนาที่แท้จริง ถ้าสันตติยังไม่ขาดยังไม่ใช่วิปัสสนาที่แท้จริง เราต้องค่อยๆ ดูไป ฝึกไปเรื่อยๆ พอสันตติขาดแล้วจะสั่นสะเทือนขึ้นมาเลย บางคนรู้สึกกลัว บางคนรู้สึกเบื่อ บางคนรู้สึกโหวงๆ ตัวเราหายไปแล้ว โหวงๆ เวิ้งว้างหาที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ บางคนเบื่อจิบจิตจับใจเลย เบื่อสุขเบื่อทุกข์ เบื่อทุกอย่าง เบื่อสามี เบื่อภรรยา แต่เบื่ออย่างนี้ไม่ใช่เบื่อด้วยกิเลส มันเบื่อด้วยสติด้วยปัญญา เห็นทุกอย่างไม่มีสาระเลย ไม่มีตัวมีตนอะไร ใจมันจะเบื่อไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างเลย เบื่อสุขกับทุกข์เท่าๆ กัน เบื่อดีกับชั่วเท่าๆ กัน เบื่อหยาบกับละเอียดเท่าๆ กัน เบื่อภายในกับภายนอกเท่าๆ กัน จิตก็หมดแรงดิ้น ไม่ดิ้นรนค้นคว้า บางคนกลัว กลัวมากๆ เลยนะ พอภาวนามาจนเห็นว่าตัวเราไม่มี กลัวเพราะรู้สึกว่าตัวเราหายไปแล้ว ตกอกตกใจขึ้นมา เมื่อสภาวะอันนี้เกิดขึ้นแล้วให้มีสติรู้ทันเข้าไป สภาวะอันนี้ก็เช่นเดียวกับความโกรธความหลงที่เคยเห็นมานั่นเอง คือเกิดแล้วก็ดับเช่นเดียวกัน พอดับไปแล้วใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เราก็ดูกายดูใจของเราต่อไป จิตมันจะค่อยเข้าใจความเป็นจริงมากขึ้นๆ มันจะเห็นเลยว่าความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว โลภโกรธหลงก็ชั่วคราว ฟุ้งซ่านหดหู่ดีใจเสียใจทั้งหมดนี้ชั่วคราวหมดเลย จะเห็นว่าสิ่งใดเกิดแล้วก็ดับไป ทุกอย่างชั่วคราวหมดเลย พอจิตมันยอมรับความจริงว่าทุกอย่างเป็นของชั่วคราว จิตจะหมดแรงดิ้น จิตจะหมดการดิ้นรนค้นคว้าเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ หมดแรงดิ้นรนค้นคว้าที่จะหลีกหนีอารมณ์ที่ไม่พอใจ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางที่แท้จริง ความเป็นกลางเพราะปัญญานี่แหละเป็นความเป็นกลางที่สำคัญมาก ปัญญาตัวนี้เรียกว่า “ สังขารุเปกขาญาณ ” เห็นสุขกับทุกข์มันเท่ากัน นรกกับสวรรค์มันก็เท่ากัน ไม่กลัวนะ หมดความดิ้นรน จิตมันรู้ตื่นแล้วก็เป็นกลาง สักว่ารู้ สักว่าเห็น มันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าเทียมกัน สุขกับทุกข์เท่ากัน มีความสุขเกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ มีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ เมื่อสักว่า สักว่า แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะหมดการดิ้นรนของจิต หมดความปรุงแต่งของจิต จิตจะค่อยๆ ปรุงน้อยลงๆ ถึงจุดหนึ่งหยุดปั๊บลงไป ตรงหยุดปั๊บลงไปนี่จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิโดยสมาธิโดยอัตโนมัติเลย เมื่อรวมเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว ตรงนี้จะไม่คิดไม่นึกอะไรแล้ว จะเห็นสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) เกิดดับขึ้นภายใน ๒-๓ ขณะ ใจนี้สักว่ารู้สักว่าเห็นอย่างแท้จริง ไม่มีกระทั่งความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ สักนิดเดียวเลย ถัดจากนั้น จิตจะวางการรู้สภาวะทบทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ พอทวนกระแสเข้าถึงธาตุรู้แล้วอริยมรรคจะแหวกอาสวะกิเลสทั้งหลายหรือสังโยชน์ทั้งหลาย อาสวะที่ห่อหุ้มจิตอยู่ สังโยชน์ที่แทรกอยู่ในจิตจะถูกทำลายออกไป ตรงกระบวนการทำลายล้างนี่ ๑ ขณะเท่านั้น พอขาดสะบั้นลงแล้ว ตรงนี้เราจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ตรงนี้เป็นผลแล้ว เป็นโลกุตรผลนะ ตรงที่เกิดอริยมรรคเรียกว่าโลกุตตรเหตุ มรรคเป็นเหตุ ผลเป็นผล ตรงที่เห็นเป็นผลนี่จะเห็นไม่เท่ากัน พวกที่สติปัญญาแก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๓ ครั้ง ๓ ขณะ พวกที่ยังไม่แก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะ ถัดจากนั้นจิตจะถอยออกมากลับสู่โลกภายนอกนี้ พอกลับมาสู่โลกภายนอก มันจะทวนกลับเข้าไปพิจารณาใหม่ว่าเมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น มันจะรู้เลยว่ากิเลสตัวไหนหายไปแล้ว กิเลสตัวไหนยังเหลืออยู่ รู้ว่ายังมีงานต้องทำอีก แต่ถ้าตัดครั้งที่สี่เป็นพระอรหันต์นะ มันทวนวับเข้าไป มันจะเห็นนิพพานชัดเจนเลย ไม่มีกิเลสอะไรให้ต้องลดละอีกแล้ว มันไม่มีกิเลสเหลือ จะเห็นนิพพานล้วนๆ เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เราต้องเชื่อพ่อแม่ เราต้องรู้กายรู้ใจของเราไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราจะได้มรดกของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้หอบเอานิพพานแล้วหายไปไหน นิพพานยังอยู่เต็มโลกเต็มบริบูรณ์อยู่นี่แหละ คนมีบุญวาสนามีปัญญาแก่รอบ เจริญวิปัสสนาแก่รอบแล้วก็จะได้รับ นี่รางวัลสูงสุดของชีวิตอยู่ตรงนี้ ชีวิตที่เหลือเป็นชีวิตที่อิสระโปร่งเบา ปราศจากความอยาก ความยึดและความดิ้นรนปรุงแต่ง ไม่มีความทุกข์หรือสิ่งใดครอบงำจิตได้อีกแล้ว แนวทางการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา จากพระธรรมเทศนาของ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ๑ . โอกาสทองของชีวิต พวกเรามีบุญวาสนา ได้เกิดในแผ่นดินซึ่งศาสนาพุทธยังดำรงอยู่ หลักธรรมแท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าสอนยังได้รับการถ่ายทอดอยู่ เราได้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ได้พบสัตบุรุษ แล้วมีศรัทธาสนใจที่จะศึกษา ยากมากนะที่จะมีสภาวะอย่างนี้ ธรรมะของพระพุทธเจ้ากระจ่าง แจ่มแจ้ง พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง และต้องเห็นผลเร็วด้วย ใครๆ ไปเรียนธรรมะจากพระพุทธเจ้าแล้วถึงอุทานบอก “ แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า เหมือนเปิดของคว่ำให้หงาย ” ง่าย คว่ำๆ อยู่ จับหงาย มันยากเหรอ ธรรมะของพระพุทธเจ้า งดงามในเบื้องต้น คือชี้ทางให้เราเดินไปได้ งดงามในท่ามกลาง คือมีเหตุผลสมบูรณ์ อย่างนี้ถูก อย่างนี้ผิด พิสูจน์ได้ด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา งดงามในที่สุด คือ เราละกิเลสได้จริงๆ ความทุกข์ตกหายไปได้จริงๆ เป็นลำดับๆไป ศาสนาพุทธสอนให้เราเรียนรู้ตัวเอง สิ่งที่เรียกว่าตัวเราคือกายกับใจ ท่านสอนว่า ถ้าเรารักสิ่งใด เราจะทุกข์เพราะสิ่งนั้น สิ่งที่เรารักที่สุดคือตัวเอง คือกายกับใจ ทำไมรัก เพราะเรารู้สึกว่านำความสุขมาให้ อย่างเช่นเรารักตา เรากลัวตาบอด เพราะว่า ตาทำให้เราเห็นของสวยๆ ถ้าตาเห็นแต่ของน่าเกลียดน่ากลัว เราคงไม่อยากมีตา หูก็ทำให้ได้ยินเสียงดีๆ ถ้าได้ยินแต่เสียงไม่อยากฟัง เราก็คงไม่อยากมีหู อายตนะทั้งหลาย ตาหูจมูกลิ้นกายใจมันทำให้เราเชื่อมต่อเข้ากับโลกภายนอกได้ ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นของดี นำความสุขมาให้ แต่ตอนนำความทุกข์มาให้ เราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ไป อย่างน้อยมันก็ยังมีความสุขกระเส็นกระสายให้หวังเล่นๆ มีชีวิตอยู่ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ หวังอะไร หวังจะสุขถาวร หวังจะดีถาวร หวังจะสงบถาวร แต่ความจริงคือ ทุกอย่างชั่วคราว นี่เราหวังลมๆ แล้งๆ หวังสิ่งซึ่งไม่มีจริง หวังอย่างนั้นก็นำความทุกข์มาให้ หวังแล้วก็ไม่มีทางสมหวัง แต่ถ้าเรารู้ลงในกายในใจ มันไม่ใช่ของดีของวิเศษ กายนี้ใจนี้เป็นแต่ตัวทุกข์ พอเห็นอย่างนี้แจ่มแจ้งนะ มันจะวาง ไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจ เมื่อไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจ จะยึดอะไรอีก ไม่มีแล้ว เพราะสิ่งที่ยึดมากที่สุดคือกายกับใจ ระหว่างกายกับใจก็ยึดใจมากกว่ากาย วัตถุประสงค์ของเราชาวพุทธก็คือ ต้องพ้นทุกข์ พ้นทุกข์ก็คือนิพพานนั่นเอง คือพ้นจากความยึดถือกายยึดถือใจ เพราะกายกับใจคือตัวทุกข์ เรามีเป้าหมายอยู่ ๔ เป้าหมาย เป้าหมายที่ ๑ เป็นพระโสดาบัน คือผู้ที่ละความเห็นผิดว่ามีตัวเรา เห็นความจริงแล้วว่าตัวตนที่แท้จริง ตัวตนที่ถาวรนั้นไม่มี มีศีลบริบูรณ์ มีสมาธิ และปัญญาเล็กน้อย เป้าหมายที่ ๒ เป็นพระสกิทาคามี มีสติที่รวดเร็วในการรู้สึกตัว จนกิเลสตัณหาอ่อนกำลังลงไป มีสมาธิปานกลาง มีปัญญาเล็กน้อย เป้าหมายที่ ๓ เป็นพระอนาคามี สามารถปล่อยวางความยึดถือกายได้ จึงพ้นจากกามและปฏิฆะ มีสมาธิสมบูรณ์ มีปัญญาปานกลาง เป้าหมายที่ ๔ เป็นพระอรหันต์ มีศีล สมาธิ และปัญญาสมบูรณ์ สามารถปล่อยวางความยึดถือใจได้ ก็จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ศาสนาพุทธ คือตัวสัมมาทิฏฐิ คือความรู้ถูกความเข้าใจถูกในสภาวธรรม (รูปธรรมและนามธรรม) จนกระทั่งปล่อยวางความยึดถือสภาวธรรมทั้งปวงได้ ซึ่งก็คือ ความรู้แจ้งอริยสัจ อริยสัจมีทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็เป็นอันละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา เมื่อใจเข้าถึงความจริง ยอมรับความจริงแล้ว มันจะไม่ทุกข์ อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญมากเลย ลึกซึ้งที่สุด ถ้าไม่รู้แจ้งอริยสัจ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด วนเวียนอยู่ในความทุกข์ไปเรื่อยๆ พ้นไม่ได้หรอก อริยสัจเป็นความจริงของบรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลาย ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านเหล่านี้เห็นความจริงของโลก ของชีวิต ของจักรวาล หน้าที่ของชาวพุทธคือหน้าที่เรียน ฉะนั้นชาวพุทธเป็นนักเรียนนะ เราต้องเรียนธรรมะ เพื่อวันหนึ่งเราจะได้รู้แจ้งธรรมะของพระอริยเจ้า เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งของพระอริยเจ้า อริยสัจตัวที่หนึ่งชื่อว่าทุกข์ ทุกข์ในอริยสัจแปลว่ากายกับใจ รูปกับนาม เรารู้สึกไหมว่ากายเป็นทุกข์ใจเป็นทุกข์ เราไม่รู้สึกหรอก เรารู้สึกว่ากายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง จิตนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง ตราบใดที่ยังเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง มันจะไม่ยอมปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจหรอก เพราะมันยังมีทางเลือกที่จะให้กายให้ใจเป็นสุข ยังรักอยู่ ยังหวงแหนอยู่ ยังหาทางดิ้นรนให้กายให้ใจมีความสุขอยู่ เมื่อไม่รู้แจ้งในธรรมะของพระอริยเจ้า ไม่แจ้งอริยสัจ ไม่รู้ว่ากายกับใจเป็นตัวทุกข์ จะไม่สามารถปล่อยวางความยึดถือกายความยึดถือใจได้ ยังรักมัน ยังหวงแหนมัน เมื่อรักมันหวงแหนมันนะ สมุทัยก็จะเกิดขึ้น สมุทัยคือตัณหา หมายถึงความอยาก อยากอะไร อยากให้กายมีความสุข อยากให้กายพ้นทุกข์ อยากให้จิตใจมีความสุข อยากให้จิตใจพ้นทุกข์ นี่ความอยากนี้แหละคือตัวตัณหา ถ้าตัณหาเกิดขึ้นแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นอีก มันจะเกิดทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา เบื้องต้นนะ กายกับใจเป็นตัวทุกข์ อันนี้เราไม่เห็นหรอก แต่ว่าเบื้องปลายนี่ ทันทีที่เกิดความอยาก อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์ จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เมื่อเกิดความอยากขึ้นเมื่อไร จิตจะดิ้นรนเมื่อนั้น เมื่อจิตดิ้นรนเมื่อไร จิตจะมีความทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา กายกับใจเป็นตัวทุกข์อยู่แล้วนะ พอเกิดตัณหา เกิดอุปาทานคือความยึดถือ ก็เกิดภพคือการดิ้นรนทำงานของจิต ความทุกข์ก็จะเกิดซ้ำซ้อนขึ้นที่จิตอีกชั้นหนึ่ง เมื่อไม่รู้ทุกข์นะ มันก็เกิดสมุทัย จิตใจก็ดิ้นรนปรุงแต่ง นิโรธก็ไม่ปรากฏ นิโรธคือนิพพาน นิพพานคือสภาวะซึ่งพ้นจากความปรุงแต่ง สภาวะซึ่งพ้นจากตัณหา สภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง มีชื่อเป็นภาษาแขกว่า วิสังขาร สภาวะที่พ้นจากตัณหามีชื่อว่าวิราคะ อันนี้เป็นชื่อของนิพพานทั้งสิ้นเลยนะ เมื่อจิตยังดิ้นรนค้นคว้า จิตยังมีความอยากมีความยึดถืออยู่ นิพพานไม่ปรากฏ ความพ้นทุกข์ไม่มี เพราะยังวนเวียนยึดถือขันธ์อยู่ ต่อเมื่อไรรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยถูกละอัตโนมัติ นิโรธแจ้งอัตโนมัติ อริยมรรคก็เกิดอัตโนมัติเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้เพียงบอกว่าให้เรารู้แจ้งอริยสัจเท่านั้น แต่ท่านบอกวิธีที่จะทำให้เรารู้แจ้งอริยสัจด้วย คือให้รู้ทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งนะ สมุทัยดับเอง นิโรธปรากฏเอง อริยมรรคเกิดขึ้นเอง หากรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันทำกิจของอริยสัจทั้ง ๔ เสร็จสิ้นในขณะเดียวกัน วิธีรู้ทุกข์ที่ท่านสอนก็คือ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือการเห็นอย่างวิเศษ คือเห็นความจริงของกายของใจว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา บังคับไม่ได้ ๒ . พระพุทธเจ้าสอนอะไร บทเรียนที่พระพุทธเจ้าสอนให้พวกเราศึกษานั้นมี ๓ บท คือ บทเรียนที่ ๑ ชื่อว่า สีลสิกขา คือเรียนเรื่องศีล หมายถึงว่าทำอย่างไรจิตของเราจะเป็นธรรมดาๆ จิตใจของเราจะไม่ถูกกิเลสชั่วหยาบครอบงำจนกระทั่งทำความผิด ล้นออกมาทางกายทางวาจา ถ้าเรามีสติคอยรู้ทันจิตใจของเราอยู่เรื่อยๆ กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ไม่ผิดศีลหรอก เช่น ถ้าเรามีสติเรื่อยๆ นะ ตามองเห็นรูป จิตเรายินดียินร้ายขึ้นมา เรารู้ทัน ความยินดียินร้ายก็คืออภิชฌาโทมนัส หรือราคะนั่นเองก็ครอบงำจิตไม่ได้ จิตก็ไม่ทำผิดศีล อย่างเห็นสาวสวยนะ ชอบเขารักเขา มีสติรู้ทันจิตของตัวเอง ว่านี่มีราคะเกิดขึ้น ราคะจะดับไป ก็ไม่ไปหลอกไปลวงอะไรเขาแล้ว ไม่ทำผิดศีล โกรธเขาขึ้นมา อยากฆ่าเขา มีสติรู้ทันลงไปที่ใจของตัวเองที่กำลังโกรธอยู่ พอมีสติรู้ทันนะ ความโกรธก็ครอบงำจิตใจไม่ได้ มันก็ไม่ฆ่าใคร ไม่ตีใคร ไม่ด่าใคร ถ้าเรามีสติอยู่ ศีลจะเกิดขึ้น จิตใจเราจะเป็นปกติธรรมดา แต่ถ้ายังไม่มีศีลที่เกิดจากการสำรวมอินทรีย์ ที่เรียกว่า อินทรียสังวรศีล อย่างนี้ก็มีศีลธรรมดาไปก่อน ให้ตั้งใจรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ตามโอกาสนะ ฉะนั้น ศีลถือเป็นปัจจัยของสมาธิ เป็นพื้นฐานทำให้ทำสมาธิได้ง่าย บทเรียนที่ ๒ ชื่อว่า จิตตสิกขา ชื่อมันก็บอกแล้วว่าเรียนเรื่องจิต เราจะเรียนให้รู้ความจริงว่าจิตชนิดไหนเป็นกุศล จิตชนิดไหนเป็นอกุศล จิตที่เป็นกุศลก็มีหลายแบบ เป็นกุศลทั่วๆ ไป ที่อยู่กับโลก หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลที่ใช้ทำสมถะ หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลที่จะใช้ทำวิปัสสนา เราต้องเรียนไปจนกระทั่งเรารู้ความจริง จิตที่เป็นมหากุศล จิตที่ใช้ทำวิปัสสนาจริงๆ มันจะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุต คือประกอบด้วยปัญญา อสังขาริกังคือเกิดขึ้นเอง ต้องเป็นจิตที่เกิดเองถึงจะมีกำลังกล้า ฉะนั้นเราต้องรู้ไปนะ ต้องเรียนว่าทำอย่างไรเราจะเกิดจิตซึ่งมีกำลังกุศลแก่กล้า ทำอย่างไรสติจะเกิดได้เอง เราต้องรู้ว่าสติเกิดจากอะไร สติเกิดจากถิรสัญญา แปลว่าการที่จิตจำสภาวธรรมได้แม่นยำ ในพระอภิธรรมจะบอกว่า การที่จิตจำสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) ได้แม่นยำ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ หลวงพ่อจะสอนให้หัดดูสภาวะ เช่น ร่างกายเคลื่อนไหว คอยรู้สึก หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก คู้รู้สึก เหยียดรู้สึก พองรู้สึก ยุบรู้สึก เป็นสุขเป็นทุกข์ รู้สึก โลภโกรธหลงขึ้นมา ไม่โลภไม่โกรธไม่หลงขึ้นมา คอยรู้สึก รู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจ รู้สึกไปเรื่อยๆ ทีแรกยังไม่มีสติหรอก คอยตามรู้สึกไปเรื่อยๆ ตามรู้ไปเรื่อย ร่างกายเคลื่อนไหวนะ เผลอเคลื่อนไหวไปก่อนแล้วรู้สึกตัว อ้าวเมื่อกี้เผลอไปเคลื่อนไหว ; โลภไปก่อน แล้วรู้สึกตัว อ้าวเมื่อกี้เผลอไปโลภ ;ใจลอยไปคิดก่อน แล้วรู้สึกตัว รู้ว่าเอ้อเมื่อกี้หลงไปคิดแล้ว การที่จิตมันเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดมันจะจำสภาวะได้ พอมันจำสภาวะได้นะ ต่อไปสติจะเกิดเองโดยไม่ต้องจูงใจให้เกิด สติ คือความระลึกได้ถึงความมีอยู่ของกาย ระลึกได้ถึงความมีอยู่ของใจ การที่จิตมันเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดมันจะจำสภาวะได้ พอมันจำสภาวะได้นะ ต่อไปสติจะเกิดเองโดยไม่ต้องจูงใจให้เกิด สติ คือความระลึกได้ถึงความมีอยู่ของกาย ระลึกได้ถึงความมีอยู่ของใจ สติที่เกิดจากการจงใจทำให้เกิด สติอย่างนี้ใช้ไม่ได้จริงในการทำวิปัสสนา แต่ใช้ทำสมถะได้ เช่น เราจะรู้ลมหายใจ เราก็กำหนดจิตเอาไว้กับลมหายใจ ไม่ให้ลืมลมหายใจเลย เราจะดูท้องพองยุบ เรากำหนดจิตจ่อลงไปที่ท้อง ไม่ให้ลืมท้องเลย เราจะเดินจงกรมยกเท้าย่างเท้า เราเอาสติจ่อลงไปที่เท้า ไม่ขาดสติเลย เท้ากระดิกกิ๊กๆๆๆ รู้หมด จะหยิบขวดน้ำนี่ กิ๊กๆๆๆ เห็นเหมือนรูปการ์ตูนนะ เห็นรูปมันดับ วับๆๆๆ ไป ใจมันจ่ออยู่ที่รูปนี่ สติอย่างนี้ จะรู้สึกว่าเกิดได้ทั้งวัน พวกเราลืมไปอย่างหนึ่งว่า สติหรือกุศลที่เกิดซ้ำๆๆๆ ได้นานๆ จะเกิดในฌานจิต คือเกิดกับจิตที่เพ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่สติที่จะใช้ทำวิปัสสนาอะไรหรอก สติที่เกิดจากการกำหนดไม่ใช่วิปัสสนา ถ้าเรากำหนดใส่ตัวอารมณ์ (สิ่งที่ถูกรู้) เมื่อไหร่จะเป็นสมถะ เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน ถ้าเมื่อไรเรามีสติเพ่งใส่ตัวอารมณ์ เมื่อนั้นเป็นสมถกัมมัฏฐาน จำเอาไว้นะ กระทั่งการเพ่งรูปเพ่งนามก็เป็นสมถกัมมัฏฐาน ต้องเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามถึงจะเป็นวิปัสสนา การจะเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามได้ จิตจะต้องตั้งมั่น ตัวนี้แหละคือตัวสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูเท่านั้นเอง วิธีทำให้เกิดสัมมาสมาธิทำได้หลายอย่าง วิธีที่หนึ่ง ทำฌานจนถึงฌานที่สอง พอถึงฌานที่สอง จิตมันจะตั้งมั่นออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดูในทางตำราจะเรียกว่ามีเอโกทิภาวะ คือภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง คือภาวะของจิตผู้รู้นั่นเอง จิตจะตั้งตัวรู้ขึ้นมา พอเราออกจากฌานแล้วนะ ตัวรู้นี้ยังทรงอยู่ มันจะเห็นทันทีเลยว่า ร่างกายที่ยืนเดินนั่งนอนนี้ไม่ใช่ตัวเรา เห็นทันที เห็นไหม เกิดปัญญาทันที เห็นไตรลักษณ์ทันทีเลย ร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่นี่มันไม่ใช่เราหรอก มันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู มีใครรู้สึกว่าพัดนี้เป็นตัวเราไหม (หลวงพ่อชูพัดให้ดู) ไม่มี เพราะอะไร เพราะมันเป็นของถูกรู้ถูกดู มันอยู่ห่างๆ นึกออกไหม ส่วนร่างกายเรานี่ ถ้าจิตของเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะรู้สึกทันทีว่าร่างกายอยู่ห่างๆ จิตมันแยกออกมา เรียกว่าแยกรูปกับนามออกจากกัน การแยกรูปกับนามออกจากกันนี่มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ทันทีที่แยกออกไป ใจตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เห็นอยู่ทันทีเลยว่า ร่างกายหายใจ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายพองยุบ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายยืนเดินนั่งนอน จิตเป็นคนรู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง จิตเป็นคนรู้ มันแยกออกมาต่างหาก มันจะเกิดปัญญาทันทีเลย เห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายนี้เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุเท่านั้น นี่คือการเจริญปัญญา เรียกว่า ปัญญาสิกขา คือบทเรียนที่ ๓ ส่วนจิตก็สักว่ารู้ สักว่าเห็น จะเห็นเลยว่ากิเลสมันผ่านมาผ่านไป เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้านไปเท่านั้นเอง ไม่เกี่ยวกับเรา อย่างนี้มันผ่านมาแวบแล้วหายไปเลย ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา วิธีที่สอง สำหรับคนที่ทำฌานไม่ได้ ไม่เป็นไร หัดรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยววันหนึ่งมันจะเกิดสมาธิขึ้นมา สมาธิชนิดนี้ ชื่อขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิคือสมาธิชั่วขณะ ฟังดูแล้วกิ๊กก๊อกนะ กระจอกงอกง่อย แหมใครๆ ก็อยากได้อัปปนาสมาธิ แต่ส่วนมากไม่ถึงอัปปนาสมาธิหรอก ฉะนั้นถ้าเราทำอัปปนาสมาธิไม่ได้ ก็ให้เรามีสติดูจิตดูใจของเราไปเรื่อย จิตไหลไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา มันจะค่อยๆ แยกตัวออกมาจากอารมณ์ เช่น จิตมันใจลอย จิตมันไปคิด พอเรารู้ทันนะ จิตมันก็ตื่นขึ้นมาแวบหนึ่ง เราจะเห็นเลยว่าความคิดนั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิต จิตมันโลภขึ้นมา พอเรามีสติรู้ว่าจิตโลภ เราจะเห็นเลยว่าความโลภเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิต แยกออกจากกันนะ เราโกรธขึ้นมา พอเรามีสติรู้ทันปั๊บ เราจะเห็นเลยว่าความโกรธเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิต นี่มันแยกออกมา จิตซึ่งเป็นผู้รู้อารมณ์มันจะตั้งขึ้นมา แต่มันอยู่ชั่วขณะนะ เดี๋ยวมันก็ไหลไปอีก ไม่เหมือนคนที่ทรงฌาน จะอยู่นาน นี่เรามีสมาธิชนิดนี้แหละพอแล้ว แต่ถ้าใครมีบุญวาสนา ทำอัปปนาสมาธิได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าฝืน มันจะกลายเป็นอัปลักษณ์สมาธิ พระพุทธเจ้าสอนว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนที่ไม่ได้ สดับ (หมายถึงคนที่ไม่ได้ฟังธรรมของท่านหรือของพระอริยเจ้า) สามารถเห็นว่ากายไม่ใช่ตัวเรา แต่ไม่สามารถเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา ” มีแต่คำสอนในอริยวินัย ในธรรมะของท่านนี้เท่านั้นที่ทำให้เห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเราได้ เพราะการที่จะเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานี่ยาก เนื่องจากเรายึดถือมานาน เราสำคัญมั่นหมายมานานว่าจิตเป็นตัวเรา พวกเราลองวัดใจตัวเองอย่างซื่อสัตย์นะ ลองวัดใจตัวเองดู เรารู้สึกไหมว่าร่างกายนี้มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ร่างกายของเราเดี๋ยวนี้กับร่างกายของเราตอนเด็กๆ นี่คนละคนกัน รู้สึกไหม มันไม่เหมือนเดิมนะ ร่างกายของเราเดี๋ยวนี้กับตอนวัยรุ่นก็ไม่เหมือนกันใช่ไหม ถ้าอายุขนาดหลวงพ่อ ร่างกายสมัยกลางๆ คนกับตอนนี้ไม่เหมือนกันแล้ว นี่เรารู้ได้ ร่างกายมันไม่เหมือนเดิม แต่เรารู้สึกไหมว่าในร่างกายที่แปรปรวนนี้ มีความรู้สึกว่ามีเราอยู่คนหนึ่ง เราคนนี้กับเราตอนเด็กๆ ยังเป็นเราคนเดิม นี่เราจะสำคัญมั่นหมายว่ามีเราอยู่คนหนึ่ง นั่นคือเราสำคัญว่าจิตคือตัวเรา อันนี้แหละจิตเป็นเราอยู่ ยากมากที่จะเห็นว่าจิตนี้ไม่ใช่เรา ถ้าเมื่อใดเห็นและยอมรับด้วยปัญญาว่าจิตไม่ใช่เรา วันนั้นจะได้พระโสดาบัน จำเอาไว้นะ วิธีที่จะให้เห็นว่าจิตไม่ใช่เรานะ รู้สึกตัวเรื่อยๆ ก่อน เห็นกายไม่ใช่เรา เห็นเวทนา (ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ) ไม่ใช่เรา เห็นจิตตสังขารคือกุศลและอกุศลทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา เป็นของถูกรู้ถูกดูทั้งหมดเลย ต่อมาสังเกตจิตใจ ไม่ต้องรีบสังเกตนะ ฟังหลวงพ่อพูด แล้ววันหนึ่งจิตมันจะไปสังเกตเอง อย่าไปจงใจสังเกต ถ้าจงใจดูจะไม่เจอ ค่อยๆ รู้สึกไป เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้ถูกรู้ใช่ไหม เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้คิดรู้สึกไหม ต้องหัดรู้ตัวจนชำนาญนะ จะรู้จักว่า อ้อ นี่จิตมันรู้ขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวจิตมันก็หลงไปคิด เดี๋ยวจิตมันก็รู้ เดี๋ยวจิตมันก็หลงไปคิด นี่ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปเราจะเห็นว่าจิตนี้มันไม่เที่ยง แรกๆ ก็แค่รู้สึกตัวเอาไว้ ร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก อันนี้จะทำให้เกิดสติอัตโนมัติ จิตมันจำสภาวะของร่างกายของจิตใจได้แล้วสติเกิดเอง เพราะฉะนั้นร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก พอสติจริงๆ เกิดขึ้นมาเองนี่ จิตมันจะตั้งมั่นอัตโนมัติ ตั้งมั่นขึ้นมาชั่วขณะ พอจิตมันตั้งมั่นชั่วขณะจะมีความรู้สึกว่าร่างกายอยู่ห่างๆ จิตอยู่ห่างๆ จิตกับร่างกายห่างกัน จิตกับเวทนาอยู่ห่างๆ กัน จิตกับสังขาร เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ห่างๆ กัน เราอย่าไปคิดว่าจิตมีดวงเดียวเที่ยววิ่งไปวิ่งมา ที่จริงจิตเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว จนเกิดภาพลวงตาว่าจิตมีดวงเดียว เที่ยววิ่งไปวิ่งมาเหมือนภาพการ์ตูน ซึ่งแต่ละภาพไม่มีความเคลื่อนไหว แต่พอภาพเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว จึงเกิดภาพลวงตาว่าตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ ความจริงจิตนั้นเกิดดับตลอดเวลา จิตไม่ได้เที่ยงนะในขณะที่พวกเราเห็นว่าจิตเที่ยง จิตของเราวันนี้กับจิตของเราตอนเด็กๆ ยังเป็นคนเดิมอยู่เลย จิตของเราวันนี้กับจิตปีหน้าก็คนเดิมอีก จิตของเราเดี๋ยวนี้กับชาติหน้าก็คนเดิมอีก ฉะนั้นบางคนเลยต้องเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เพราะว่ามันเป็นคนเดิม แต่ก็ต้องเลี้ยงนะ ไม่ใช่บอกว่าไม่ต้องทำความดี คอยฝึกไปนะ วันหนึ่งก็จะเห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา เวทนาคือความสุขความทุกข์ไม่ใช่เรา จิตตสังขารไม่ใช่เรา ตัวจิตแท้ๆ ที่เป็นผู้รู้นะ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง เกิดดับเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ตัวเราที่เที่ยงๆ หรอก ตัวเราที่เที่ยงๆ ไม่มี วันใดที่จิตมันเดินปัญญาแก่รอบถึงขนาดนี้แล้ว จิตมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ รวมเองนะ แล้วเกิดอริยมรรคขึ้น โสดาปัตติมรรคจะตัดความเห็นผิดว่ามีตัวเราออกไป พอถอยออกมาจากโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล แล้วกลับมาสู่โลกมนุษย์นี่ เวลาเราดูเข้ามาในจิตใจตัวเองจะไม่มีแม้แต่เงาของความรู้สึกว่ามีตัวเรา เงาก็ไม่มีนะ ถ้าขาดด้วยอริยมรรคแล้ว จะไม่มีความรู้สึกเป็นตัวเราโผล่ขึ้นมาอีกเลย ผู้ใดเห็นว่ากายไม่ใช่เรา จิตใจไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มี นั่นแหละคือภูมิธรรมของพระโสดาบัน ถัดจากนั้นก็มารู้กายรู้ใจต่อไปอีก พระโสดาบันกับปุถุชนก็ภาวนาอย่างเดียวกันนั่นแหละ คือรู้กายรู้ใจเรื่อยๆ ไป รู้ไปอีก รู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนวันหนึ่งมันรู้แจ้งลึกซึ้งขึ้นมาอีก กิเลสตัณหาก็อ่อนกำลังลงไป เรียกว่า พระสกิทาคามี รู้ลงไปอีกภายในใจนะ สติปัญญามันจะขมวดเข้ามาเรียนรู้กายเป็นหลักเลย รู้ลงไป รู้ลงไป กายมันของหยาบ มันดูง่าย ดูไปๆ แล้วละง่าย จะเห็นเลยว่ากายนี้มันเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ วันใดที่เห็นว่ากายเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ก็หมดความยึดถือกาย ก็จะหมดความกลุ้มใจเพราะต้องกระทบอารมณ์ทางกาย กระทั่งกายเรายังไม่ยึดถือเลย เราจะไปยึดถืออารมณ์ที่กระทบทางกายทำไม ที่เรายึดถือร่างกายอยู่ เพราะว่าร่างกายนี้เป็นช่องทางให้เรากระทบอารมณ์ที่น่าเพลิดเพลิน อย่างเรามีตาอยู่ใช่ไหม เราก็ได้ดูรูปสวยๆ อย่างมีหูก็ได้ฟังเสียงไพเราะๆ เสียงดีๆ อย่างมีจมูกได้กลิ่นหอมอยู่ นี่เรารักร่างกายเพราะมันเอาของดีมาให้เรา เรารู้สึกว่ามันดี แต่ถ้าวันหนึ่งเราเห็นกายนี้ทุกข์ล้วนๆ เลย เราก็จะไม่หลงไปในรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะที่มากระทบตาหูจมูกลิ้นกายนี่ จิตมันจะไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย มันพ้นจากความยินดียินร้ายในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เรียกว่ามันพ้นจากกามและปฏิฆะ พระอนาคามีละกามและปฏิฆะได้เพราะไม่ยึดกาย หมดความยึดกายเพราะเห็นความจริงว่ากายนี้ทุกข์ล้วนๆ เห็นอย่างนี้ อย่างไรก็ตาม นักปฏิบัติที่ชำนาญในการดูจิต สามารถมีสติตามรู้จิตจนเห็นความจริงว่า เมื่อใดจิตมีความอยาก เมื่อใดจิตมีความยึดถืออารมณ์ต่างๆ เมื่อนั้นจิตจะทุกข์ เมื่อใดจิตพ้นจากความอยากและความยึดถืออารมณ์ จิตจะไม่ทุกข์ พอเห็นแจ้งอย่างนี้ จิตก็ไม่ยึดถือในกายและกามคุณอารมณ์ จิตพ้นจากกามและปฏิฆะ เป็นพระอนาคามีได้เช่นกัน ทีนี้พอฝึกจนถึงขั้นพระอนาคามี สมาธิจะบริบูรณ์ จิตตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ทั้งวันเลย จะรู้สึกว่าตัวผู้รู้นี่แหละเป็นของดีของวิเศษเป็นที่พึ่งที่อาศัย ถ้าเราอยู่กับตัวผู้รู้นี่เราไม่ทุกข์ ถ้าเราเป็นตัวผู้หลงเมื่อไรถึงจะทุกข์ ฉะนั้นจิตนี้ดีนะ จิตตัวผู้รู้นี่ดี ใจมันจะยึดตัวดีนี้ไว้ ไม่ปล่อยวางจิตต่อเมื่อวันใดมีสติปัญญาแก่รอบจริงๆ เห็นว่าตัวจิตนั้นแหละกลายเป็นตัวทุกข์ให้เราดู มันพลิกของมันเองนะ มันพลิกให้เราดูเอง อยู่ๆ จะไปนึกเอาว่าตัวจิตผู้รู้เป็นตัวทุกข์ มันนึกไม่ออกหรอก เพราะไม่เคยเห็น ต้องมีสติมีปัญญาแก่กล้าพอ มันจะพลิกตัวให้ดูว่ามันทุกข์ล้วนๆ ไม่มีอะไรทุกข์เท่านี้อีกแล้ว อย่างบางคนบอกว่าอกหักทุกข์มาก ตัวจิตผู้รู้นี่ถึงไม่อกหักมันก็ทุกข์ มันทุกข์ยิ่งกว่านั้นอีก มันทุกข์จนเรามีความรู้สึกว่า ถ้าเรารู้มันต่อไป เราจะตายแล้ว อกหักเฉยๆ เรารู้ว่าอกหักไม่ตายนะ อกหักแล้วกำลังกลุ้มใจอยู่ เสียอกเสียใจอยู่ ถ้าเรารู้ว่าเสียอกเสียใจอยู่หายเลย แต่ตัวผู้รู้เวลามันกลายเป็นตัวทุกข์ให้ดูนี่ ยิ่งรู้มันยิ่งทุกข์ ยิ่งรู้มันยิ่งทุกข์ ทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกข์เหมือนจะตายเลย ทุกข์เหมือนไม่ตายก็บ้า นี่ใจมันต้องเห็นทุกข์นะถึงจะยอมวาง ผู้ที่ปล่อยวางจิตได้เรียกว่าพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่านิพพานอยู่ฟากตาย ไม่ภาวนากันจนถึงขีดสุดจริงๆ ไม่ยอมปล่อยวางจิตหรอกเพราะเราหวง ๓ . วิธีเจริญวิปัสสนา ถ้าเราจะทำวิปัสสนาให้ถูกต้อง ขั้นแรก เราต้องรู้สึกกายรู้สึกใจให้ได้ก่อน เพราะ วิปัสสนาคือ “ การมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงลงเป็นปัจจุบัน ” ต้องรู้สึกกายรู้สึกใจให้เป็นขั้นที่สอง “ ต้องสามารถปล่อยให้กายให้ใจเขาทำงาน แสดงไตรลักษณ์ได้ ” การหัดให้มีสติ ก็คือหัดรู้สึกตัว ศัตรูของความรู้สึกตัว ก็คือความหลง ความเผลอนั่นแหละ เผลอไปรู้ เผลอไปฟัง เผลอไปคิด (คือขาดสติ) ศัตรูอีกอย่างหนึ่งก็คือการเพ่งร่างกาย เพ่งจิตใจ (คือบังคับกายบังคับใจ) ซึ่งทำให้กายใจถูกแทรกแซง และแสดงไตรลักษณ์ให้เห็นได้ยาก ถ้าเมื่อไรเรารู้ทันจิตใจของตัวเอง เราก็จะไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด เราจะตื่นขึ้นมา ซึ่งเป็นต้นทางที่จะทำให้เราเดินวิปัสสนาได้ พอตื่นขึ้นมาแล้วก็มีเงื่อนไขอีกอย่างเดียวเท่านั้นเอง คือมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมา เราจะเห็นกายตามความเป็นจริง เห็นจิตใจตามความเป็นจริง คือเห็นไตรลักษณ์ ทำวิปัสสนาหรือเจริญปัญญาได้ ความตื่น ซึ่งทำให้เราหลุดออกจากโลกของความคิด เราหลุดออกจากโลกของความฝัน แล้วมาอยู่ในโลกของความเป็นจริงได้ นี่จึงเป็นต้นทางของการเจริญปัญญา สิ่งที่ผู้ปฏิบัติส่วนหนึ่งขาดอย่างแสนสาหัสเลยนะ คือสัมมาสมาธิ ส่วนใหญ่เราไม่มีสัมมาสมาธิ มีแต่มิจฉาสมาธิ แล้วแยกไม่ออกด้วยว่าอะไรคือสัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิจะไม่มีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ จำไว้นะ ในพระอภิธรรมสอนเอาไว้ว่า “ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ” “ ปัญญา คือการเห็นกายเห็นใจเป็นไตรลักษณ์ ” สัมมาสมาธิไม่เหมือนมิจฉาสมาธิ จิตทุกๆ ดวงมีสมาธิ จำเอาไว้นะ กระทั่งจิตอกุศลก็มีสมาธินะ แต่สัมมาสมาธินี่เกิดยากที่สุด ทำอย่างไรจิตของเราจะตั้งมั่น จิตของคนส่วนใหญ่ที่ว่ามีสมาธิน่ะ เป็นจิตที่เข้าไปตั้งแช่อยู่ที่ตัวอารมณ์ (สิ่งที่ถูกรู้) ไม่ใช่ตั้งมั่นในการรู้อารมณ์ ยกตัวอย่าง เอ้า พวกเราดูพระพุทธรูป ตั้งใจดูนะ ตั้งใจดู รู้สึกจดจ่ออยู่ที่พระ แล้วรู้สึกไหมว่าใจเราไหลไปอยู่ที่พระ เราดูพระรู้เรื่องใช่ไหม เรามีสติ สติเราจับอยู่ที่พระ ใจเรามีสมาธิ ใจเราไปแช่อยู่ที่พระ อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสัมมาสมาธิ เวลาที่เรามีมิจฉาสมาธิ จิตมันจะเคลื่อนไป จิตมันจะไหลลงไปนิ่งๆ อยู่ที่อารมณ์อันใดอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลารู้ลมหายใจ จิตจะไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ ไปรู้ท้องพองยุบ จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง ไปเดินจงกรม ยกเท้าย่างเท้า จิตไหลไปอยู่ที่เท้า ขยับมือทำจังหวะเคลื่อนไหว จิตไหลไปอยู่ที่มือ นี่จิตหลงไป จิตไหลไป อย่างนี้เรียกว่ามิจฉาสมาธิ จะไม่เกิดปัญญา เกิดแต่สมถะนะ นิ่งๆ ไปได้อย่างนั้นแหละ หน้าที่ของเราก็คือพยายามรู้สึกตัวไป อาจจะมีเครื่องอยู่อะไรสักอันหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้ติดเพ่งรุนแรงมาก่อนนะ รู้อะไรสักอย่างขึ้นมาเป็นตัวตั้ง (วิหารธรรม) เช่น พุทโธ หรืออานาปานสติ สมมุติว่าบางคนท่องพุทโธ เอาพุทโธเป็นตัวตั้ง พุทโธแล้วไม่ใช่บังคับจิตให้ไปอยู่ที่พุทโธ พุทโธแล้วจิตไปอยู่ที่พุทโธนี่ก็รู้ จิตหนีไปที่อื่นก็รู้ พุทโธแล้วก็รู้ทันจิต เห็นจิตหนีไปหนีมา เห็นจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตร้าย พุทโธเอาไว้เป็นตัวตั้งเพื่อจะดูจิต ทีนี้จะเกิดปัญญา จิตต้องตั้งมั่นขึ้นมา ต้องรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เป็นคนดู ไม่เผลอไป ไม่ไหลไป ตั้งมั่นอยู่ แต่มีเงื่อนไข ต้องตั้งมั่นอย่างสบายด้วย ตั้งมั่นแบบเบาๆ แบบอ่อนโยน แบบคล่องแคล่วว่องไว แบบไม่ได้ถูกกิเลสครอบงำ ถ้าตั้งแบบแข็งๆ นี่ไม่ใช่ ตั้งแล้วหนักๆ นี่ไม่ใช่ ตั้งแล้วเครียดๆ นี่ไม่ใช่ จิตที่เป็นสัมมาสมาธิมีความเบา มีความนุ่มนวลอ่อนโยน มีความคล่องแคล่วว่องไว มีความซื่อตรงในการรู้อารมณ์ทั้งหลาย ความโลภเกิดขึ้นก็เห็นความโลภเกิดขึ้น เห็นเหมือนกับคนเดินผ่านหน้าบ้าน ความโกรธเกิดขึ้นนะ เห็นความโกรธผ่านมา เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้าน เห็นใจลอยไป ดูเหมือนเห็นคนอื่นใจลอย ใจมันแค่ตั้งมั่นเป็นคนตามรู้ตามดูเรื่อยๆ มันรู้อย่างสบายๆ รู้อย่างมีความสุข สัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต ถ้าถามว่าจิตตั้งมั่น ตั้งอยู่ที่ไหน แล้วตอบว่าตั้งที่ลมหายใจ อันนั้นไม่ใช่ตั้งมั่น จิตตั้งมั่น ต้องตั้งมั่นในการรู้ลมหายใจ จิตอยู่ต่างหาก ลมหายใจอยู่นี่ กายกับจิตมันแยกออกจากกัน จิตตั้งมั่น เวลาเห็นกิเลสจะเห็นกิเลสอยู่ห่างๆ จิตอยู่ต่างหาก แยกออกจากกัน เวลารู้กาย เห็นกายอยู่ห่างๆ จิตแยกออกมา กายกับจิตมีช่องว่างมาคั่น มีระยะห่างในความรู้สึก ไม่ใช่รวมเป็นเนื้อเดียวเดียวกัน อย่างคนที่ไปรู้ลมหายใจ แล้วจิตไหลไปอยู่ที่ลม นี่ไม่มีช่องว่าง จิตกับลมหายใจรวมเป็นเนื้อเดียวกัน อันนี้เป็นการเพ่งอารมณ์ เป็นสมถะ ถ้าจิตตั้งมั่น จิตมันจะแยกออกมาต่างหาก มันเห็นร่างกายหายใจ เหมือนดูคนอื่นหายใจเลย ถ้าพูดภาษาง่ายๆ ตามสภาวะที่เห็นจริงๆ ก็คือ มันเหมือนจิตอยู่ต่างหาก ร่างกายอยู่ต่างหาก กายกับจิตมันแยกกัน มีระยะห่าง มีช่องว่างมาคั่น แต่ไม่ใช่การถอดจิตออกจากร่างนะ มันเป็นการแยกออกโดยความรู้สึกเท่านั้น บางทีจิตก็ถลำวิ่งเข้าไปหากาย บางทีจิตถลำวิ่งไปที่อื่นก็ได้ จิตถลำไปแล้วก็ให้รู้ทัน แล้วจิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาใหม่ จิตที่ตั้งมั่นแล้วจะรู้สึกขึ้นมา พอรู้สึกขึ้นมา มันจะเห็นเลยว่าร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่นี่ไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นทันที แล้วจะเห็นทันทีเลยว่าเวทนา (ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ) ที่ปรากฏอยู่นี้ไม่ใช่ตัวเรา เวทนาไม่ใช่เราเพราะอะไรเพราะเวทนามันแยกออกไปห่างๆ อย่างพวกเรารู้สึกไหม มีใครรู้สึกไหมว่า พัดอันนี้เป็นตัวเรา ไม่มีใช่ไหม เพราะมันอยู่ห่างๆ นึกออกไหม เมื่อจิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้วเกิดสติปัญญา เราจะเห็นเลยว่ามือนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา มันอยู่ห่างๆ ร่างกายอยู่ตรงนี้เลยนี่ อยู่ห่างๆ หมดเลย จิตมันอยู่ต่างหาก จิตมันเป็นคนดู มันจะเห็นตลอดเวลาเลย เห็นได้ทันทีเลยว่า ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา จิตของคนส่วนใหญ่ไม่ตั้งมั่นหรอก จิตส่วนใหญ่ไหลตามอารมณ์ไปเรื่อยๆ ถ้าไหลตามอารมณ์สะเปะสะปะไปเรื่อยๆ เรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน ถ้าไหลไปแล้ว ไปแช่นิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว เขาเรียกว่าการเพ่ง ฉะนั้น สิ่งที่ผิดที่ทำให้เราเจริญวิปัสสนาไม่ได้ก็เลยมีสองอันที่หลวงพ่อบอกว่าเผลอกับเพ่งนั่นเอง เผลอนี่คือจิตมันจับอารมณ์นี้ จับอารมณ์นั้น จับอารมณ์โน้น เปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ สะเปะสะปะไปเรื่อยๆ ดูไม่ทันหรอก เลอะเทอะเปรอะเปื้อนไป อะไรเกิดขึ้นไม่รู้เลย จับอันโน้นที จับอันนี้ที คล้ายๆ ลิงโหนต้นไม้ต้นนั้นต้นนี้นะ ถ้าไหลไปนี้ที ไหลไปโน้นที เรียกว่าฟุ้งซ่าน เรียกว่าหลงไป เรียกว่าเผลอไป อีกอันหนึ่ง จิตถลำไปไหลไป ไหลเหมือนกันนะ แต่ไหลไปอยู่กับสิ่งสิ่งเดียว เหมือนทาร์ซานไปเกาะนิ่งๆ หรือลิงไปเกาะต้นไม้นิ่งๆ ไม่กระโดดไปไหน อันนี้แหละสมถะ นี่แหละเพ่ง มันจะไม่มีปัญญาเกิดขึ้น ถ้าเมื่อไรจิตไม่หลงไป แล้วก็ไม่ได้เพ่งเอาไว้ นั่นแหละ ทางสายกลางอยู่ตรงนั้น ทำอย่างไรเราจะเดินเข้าสู่ทางสายกลางได้ โดยมีจิตซึ่งไม่ได้เผลอไป แล้วก็ไม่ได้เพ่งเอาไว้ วิธีง่ายๆ เลย ขั้นแรกนะ ถ้าเพ่งอยู่ เลิกไปก่อน คนไหนติดสมถะให้เลิกไปก่อน เลิกปฏิบัติไปชั่วครั้งชั่วคราวก่อน เสร็จแล้วก็คอยรู้ทันเวลาจิตเผลอไป จิตไหลไป เผลอไปทางตา เช่น ไหลไปดูพระพุทธรูป เผลอไปทางหู ได้ยินไหม ระฆังดัง รู้สึกไหม ไปตั้งใจฟังระฆังปุ๊บนี่ ได้ยินเสียงระฆัง ลืมกายลืมใจแล้ว เผลอไปทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ เผลอได้ทั้งหมดนั่นแหละ ถ้าเมื่อไรเผลอไป ใจก็ไม่ตั้งมั่น แต่มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง ถ้ามันเผลอแล้วเรารู้ว่าเผลอนะ จิตจะตั้งมั่นพอดีเลย แต่ถ้าเพ่งแล้วรู้ว่าเพ่งนะ จิตไม่ตั้งมั่นหรอก จิตก็ยังเพ่งอยู่ เพราะอะไร เพราะจิตที่เผลอไปฟุ้งซ่านไปเป็นจิตอกุศล ทันทีที่เรารู้ทัน จิตอกุศลจะดับทันที จะเกิดจิตที่ตั้งมั่นในฉับพลันนั้น ส่วนจิตที่เพ่ง ไม่ใช่จิตอกุศลนะ จิตที่เพ่งเป็นจิตที่ทำสมถะ เป็นจิตที่เป็นกุศล เป็นความปรุงแต่งฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้นเราไปรู้อยู่ก็ไม่จำเป็นต้องดับหรอก เว้นแต่ว่าเราจะเลิกเพ่ง การทำจิตให้ตั้งมั่นมีหลายแบบ เพราะคนมีหลากหลาย เช่น บางคนทำฌานได้จนเกิดจิต “ ผู้รู้ ” ที่เรียกว่า “ เอโกทิภาวะ ” เช่น การทำอานาปานสติ หายใจไปแล้วมีสติระลึกรู้ลมหายใจ โดยเอาลมหายใจเป็นอารมณ์ ตัวลมหายใจเรียกว่าบริกรรมนิมิต ดูลมหายใจไปเล่นๆ ดูสบายๆ อย่าไปเป็น อย่าไปเค้นจิต อย่าไปบังคับจิตให้สงบ จิตไม่ชอบให้ใครบังคับนะ ถ้าเราบังคับมันจะเครียด มันจะไม่สงบหรอก ให้รู้เล่นๆ ไป ลมหายใจนี้เป็นบริกรรมนิมิต ลมจะสั้นขึ้นๆ ทีแรกหายใจลงไปถึงท้อง จากนั้นลมจะเบาๆ เหมือนหายใจสั้นๆ เหลือแค่ปลายจมูก ต่อจากนั้นลมจะเปลี่ยนเป็นแสงสว่าง แล้วรวมเป็นดวงสว่างขึ้นมา ถึงจุดนี้ให้เราเปลี่ยนอารมณ์กัมมัฏฐาน เราไม่ได้ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์แล้ว เราใช้ดวงที่มีความสว่างนี้เป็นอารมณ์แทน ดวงนี้เรียกว่าอุคคหนิมิต ดูไปเรื่อยจะเป็นปฏิภาคนิมิต ย่อได้ ขยายได้ มีความสุข มีปีติแล้วมีสติรู้ทันอยู่ที่ใจของเราเอง จนกระทั่งใจมันวางนิมิต ไม่มีวิตกถึงนิมิต ไม่มีวิจารถึงนิมิต ไม่เคล้าไม่เคลีย ไม่นึกถึง ไม่ยกขึ้นมา จะมีภาวะแห่งความรู้ “ ตัวผู้รู้ ” จะเด่นขึ้นมาเรียกว่า “ เอโกทิภาวะ ” คือสมาธิที่มีใจตั้งมั่นขึ้นมาเป็นหนึ่ง ไม่ตรึกตรองในอารมณ์ เวลาเราออกจากสมาธิแล้ว ตัวเอโกทิภาวะยังอยู่ จะประคองรักษาจิตเอาไว้เองโดยที่เราไม่ต้องรักษา จิตจะเป็นผู้รู้ขึ้นมา แล้วจะเห็นเลยว่าร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู นี่คือวิธีทำเต็มรูปแบบ คนรุ่นนี้ทำยาก วันหนึ่งๆ มีแต่ความฟุ้งซ่าน ก็ต้องทำอีกแบบหนึ่ง บางคนทำฌานไม่ได้ แต่อยากให้มีจิตที่ตั้งมั่นเป็น “ ผู้รู้ ” ก็ให้นั่งหายใจไป หรือนั่งดูท้องพองยุบไป ขยับมือทำจังหวะก็ได้ แล้วค่อยๆ ดูไป ร่างกายมันเคลื่อนไหว มีใจเป็นคนดู หรือให้รู้อิริยาบถ ๔ ให้เห็นเลยว่าร่างกายมันมีใจเป็นคนรู้ ร่างกายมันเดินมีใจเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจออก หายใจเข้า มีใจเป็นคนรู้ไปเรื่อย คอยรู้สึก รู้ไปรู้ไปมันจะแยกกายกับใจออกจากกัน มีตัว “ ผู้รู้ ” ขึ้นมา ถ้าหัดรู้ด้วยวิธีนี้จะแยกได้ไม่นาน อีกพวกหนึ่ง ถ้าฝึกให้มีจิต “ ผู้รู้ ” ไม่ได้ ก็ให้หัดเจริญสติในชีวิตประจำวันนี้แหละ เวลาจิตไหลไปหลงไปแล้วรู้ ถึงรู้จุดหนึ่ง ก็เห็นเหมือนกันว่าร่างกายก็แยกจากจิตได้ ถ้าฝึกแบบไม่มีตัว “ ผู้รู้ ” ให้หัดรู้สึกๆ ไปเรื่อยๆ แล้วมันไประลึกได้เองเวลาใจมันตั้งมั่นขึ้นมาโดยไม่มีเจตนาจะตั้งมั่น ทำไมใจถึงตั้งมั่น ก็เพราะสติไปรู้ทันนิวรณ์ขึ้นมา จิตจะตั้งมั่น แต่ตั้งแวบเดียว นี่เราฝึกอย่างนี้ก็ได้ การรู้ทันนิวรณ์ก็คือ เมื่อจิตมีกามฉันท์ (พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย อารมณ์ทางใจ) จิตพยายามก็รู้ จิตสงสัยก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ไปเรื่อย เมื่อไรนิวรณ์เกิดขึ้นแล้วสติไปรู้ นิวรณ์จะดับ เพราะนิวรณ์เป็นกิเลสเกิดร่วมกับสติไม่ได้ พอนิวรณ์ดับ จิตก็มีสมาธิขึ้นมาเอง เพราะศัตรูของสมาธิก็คือนิวรณ์นั่นแหละ เมื่อใจของเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมาได้ เราจะถอดถอนตัวเองออกจากตัวเอง มันเหมือนมีอีกคนหนึ่งเป็นคนดูขึ้นมา ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตใจเป็นของถูกรู้ถูกดู ความสุข ความทุกข์ กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย เป็นของถูกรู้ถูกดู กระทั่งร่างกายก็เป็นของถูกรู้ถูกดู สิ่งใดที่เราเห็นได้ก็ไม่ใช่เราใช่ไหม มันเป็นของที่จิตไปรู้เข้า นี่เราจะค่อยๆ แยกขันธ์คือกายกับใจออกไปนะ การเจริญปัญญาเริ่มต้นด้วยการแยกขันธ์ออกไป พอเรารู้สึกตัวเป็นแล้ว เราจะเห็นสิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี่กระจายออกเป็นกองๆ เรียกว่ากระจายออกไปเป็นขันธ์ๆ แต่ละส่วนๆ ที่กระจายออกไปนั้นไม่มีตัวเรา แต่ถ้าขันธ์ทั้งหลายมารวมตัวอยู่ด้วยกัน เราจะเกิดความสำคัญมั่นหมายขึ้นมาว่านี่เป็นตัวเรา ถ้ามีตัวเราก็มีเราแก่ เราเจ็บ เราตาย มีเราสมหวัง มีเราผิดหวัง มีเราพลัดพรากจากสิ่งที่รัก มีเราไปเจอสิ่งที่ไม่รัก มันก็มีความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าเห็นความจริงว่าตัวเราไม่มี คราวนี้ไม่มีใครแก่ใครเจ็บใครตาย ร่างกายมันแก่ ร่างกายมันเจ็บ ร่างกายมันตาย ไม่ใช่เราแก่ ไม่ใช่เราเจ็บ ไม่ใช่เราตายอีกต่อไปแล้ว ส่วนจิตใจก็เกิดดับตลอดเวลา เดี๋ยวคิดดีเดี๋ยวคิดร้าย เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวโลภเดี๋ยวโกรธเดี๋ยวหลง เดี๋ยววิ่งไปที่ตา เดี๋ยววิ่งไปที่หู เดี๋ยววิ่งไปคิด ทำงานของเขาเอง เขาเกิดดับตลอดเวลา เขาไม่ใช่ตัวเรา นี่ดูอย่างนี้นะ ดูลงในกายเห็นกายไม่ใช่เรา ดูลงไปที่จิตใจเห็นจิตใจไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มีหรอก แต่ละอัน แต่ละขันธ์นี่ พอขันธ์กระจายตัวออกไปแล้ว จะเห็นว่าขันธ์แต่ละขันธ์ไม่ใช่เราแล้ว ขันธ์ก็เป็นแค่ขันธ์เท่านั้นเอง ถ้าเราเจริญสติมากเข้าๆ จนจิตตื่น จะเห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู มันเป็นของที่จิตไปรู้เข้า มันแยกออกไปจากจิต กายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง จะเห็นเลยว่าร่างกายที่เคลื่อนไหวยืนเดินนั่งนอนนี่ เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นว่าเวทนาคือความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์รู้สึกเฉยๆ เป็นแค่สิ่งแปลกปลอมเข้ามา อยู่ห่างๆ มันไม่ใช่จิตด้วย แล้วมันก็ไม่ใช่กายด้วย ถ้ามีสติปัญญาแก่รอบกว่านี้จะเห็นเลยว่า จิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับไป จิตเกิดที่หูแล้วก็ดับไป จิตเกิดที่ใจไปคิดไปนึกแล้วก็ดับไป จิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นอกุศลเป็นจิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วก็ดับ จิตหดหู่เกิดขึ้นแล้วก็ดับ นี่จะเห็นอย่างนี้ การที่เห็นมันเกิดแล้วมันดับ มันเกิดแล้วมันดับ ขาดออกไปเป็นท่อนๆ ไม่ใช่จิตดวงเดียวตั้งแต่เกิดจนตาย แต่จะเห็นจิตขาดเป็นท่อนๆๆ นะ เป็นดวงๆ ไป เห็นอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อให้เห็นว่ามันไม่ใช่อันเดิม จิตที่รู้สึกตัวก็ดวงหนึ่ง จิตที่หลงไปคิดก็ดวงหนึ่ง จิตที่รู้สึกตัวก็ดวงหนึ่ง จิตที่เพ่งอยู่ก็ดวงหนึ่ง คนละดวงกัน ถ้าเราเห็นจิตขาดเป็นดวงๆ เรียกว่า สันตติขาด สันตติคือความสืบเนื่อง สันตตินี่แหละสร้างภาพลวงตาขึ้นมา ถ้าสันตติขาดเราก็จะเห็นของจริง ยกตัวอย่างเหมือนเราดูการ์ตูน เราเห็นว่าตัวการ์ตูนอย่างโดเรม่อน อิ๊คคิวซังมันเดินได้ใช่ไหม วิ่งได้กระโดดได้ ทำท่าโน้นทำท่านี้ได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมันคือรูปที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเลย แต่ละรูปแต่ละรูปมาต่อกัน รูปนี้เกิดแล้วก็ดับ จิตมันจำเอาไว้ อาศัยสัญญาใช่ไหม สัญญาที่หลวงพ่อว่ามันวิปลาสน่ะ อาศัยสัญญาจำรูป รูปแรกมันอยู่ตรงนี้ อีกรูปหนึ่งมันมาอยู่ตรงนี้ นี่อาศัยสัญญานะ มันจำได้ว่าแต่ก่อนอยู่ตรงนี้ แล้วเดี๋ยวนี้มาอยู่ตรงนี้ มันจะรู้สึกเหมือนมันเคลื่อนไหวได้ เราเห็นตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ฉันใด เราก็เห็นจิตวิ่งไปวิ่งมาได้ฉันนั้น นี่เป็นความหลงผิด นี่เป็นภาพลวงตาเท่านั้นเอง แท้จริงจิตก็เกิดดับ เกิดดับเหมือนการ์ตูนทีละรูป ทีละรูป นั่นเอง แต่ว่าสติปัญญาของคนทั่วไปซึ่งไม่เคยฝึกฝนไม่สามารถเห็นได้ ก็จะรู้สึกว่าจิตเที่ยง ถ้าเราสามารถเห็นว่าจิตเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไปเรื่อยๆ ไม่นาน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เราจะเห็นความจริงว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราที่แท้จริงไม่มี มันมีแต่ของเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ถ้าเมื่อไรวันใดเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานะ ทุกอย่างในโลกนี้จะไม่ใช่ตัวเราแล้ว ร่างกายมันไม่ใช่เราตั้งแต่เริ่มหัดเจริญสติแล้ว พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะเห็นเลยว่าร่างกายมันอยู่ต่างหากแล้ว เหลือแต่จิตอันเดียวนี่แหละรู้สึกว่าวิ่งไปวิ่งมา การเจริญสติจนเห็นจิตเกิดดับเกิดดับ เกิดที่ตาแล้วดับ เกิดที่หูแล้วดับ เกิดที่ใจแล้วดับ ก็คือสันตติขาด การที่สันตติขาดนี่แหละคือวิปัสสนาที่แท้จริง ถ้าสันตติยังไม่ขาดยังไม่ใช่วิปัสสนาที่แท้จริง เราต้องค่อยๆ ดูไป ฝึกไปเรื่อยๆ พอสันตติขาดแล้วจะสั่นสะเทือนขึ้นมาเลย บางคนรู้สึกกลัว บางคนรู้สึกเบื่อ บางคนรู้สึกโหวงๆ ตัวเราหายไปแล้ว โหวงๆ เวิ้งว้างหาที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ บางคนเบื่อจิบจิตจับใจเลย เบื่อสุขเบื่อทุกข์ เบื่อทุกอย่าง เบื่อสามี เบื่อภรรยา แต่เบื่ออย่างนี้ไม่ใช่เบื่อด้วยกิเลส มันเบื่อด้วยสติด้วยปัญญา เห็นทุกอย่างไม่มีสาระเลย ไม่มีตัวมีตนอะไร ใจมันจะเบื่อไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างเลย เบื่อสุขกับทุกข์เท่าๆ กัน เบื่อดีกับชั่วเท่าๆ กัน เบื่อหยาบกับละเอียดเท่าๆ กัน เบื่อภายในกับภายนอกเท่าๆ กัน จิตก็หมดแรงดิ้น ไม่ดิ้นรนค้นคว้า บางคนกลัว กลัวมากๆ เลยนะ พอภาวนามาจนเห็นว่าตัวเราไม่มี กลัวเพราะรู้สึกว่าตัวเราหายไปแล้ว ตกอกตกใจขึ้นมา เมื่อสภาวะอันนี้เกิดขึ้นแล้วให้มีสติรู้ทันเข้าไป สภาวะอันนี้ก็เช่นเดียวกับความโกรธความหลงที่เคยเห็นมานั่นเอง คือเกิดแล้วก็ดับเช่นเดียวกัน พอดับไปแล้วใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เราก็ดูกายดูใจของเราต่อไป จิตมันจะค่อยเข้าใจความเป็นจริงมากขึ้นๆ มันจะเห็นเลยว่าความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว โลภโกรธหลงก็ชั่วคราว ฟุ้งซ่านหดหู่ดีใจเสียใจทั้งหมดนี้ชั่วคราวหมดเลย จะเห็นว่าสิ่งใดเกิดแล้วก็ดับไป ทุกอย่างชั่วคราวหมดเลย พอจิตมันยอมรับความจริงว่าทุกอย่างเป็นของชั่วคราว จิตจะหมดแรงดิ้น จิตจะหมดการดิ้นรนค้นคว้าเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ หมดแรงดิ้นรนค้นคว้าที่จะหลีกหนีอารมณ์ที่ไม่พอใจ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางที่แท้จริง ความเป็นกลางเพราะปัญญานี่แหละเป็นความเป็นกลางที่สำคัญมาก ปัญญาตัวนี้เรียกว่า “ สังขารุเปกขาญาณ ” เห็นสุขกับทุกข์มันเท่ากัน นรกกับสวรรค์มันก็เท่ากัน ไม่กลัวนะ หมดความดิ้นรน จิตมันรู้ตื่นแล้วก็เป็นกลาง สักว่ารู้ สักว่าเห็น มันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าเทียมกัน สุขกับทุกข์เท่ากัน มีความสุขเกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ มีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ เมื่อสักว่า สักว่า แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะหมดการดิ้นรนของจิต หมดความปรุงแต่งของจิต จิตจะค่อยๆ ปรุงน้อยลงๆ ถึงจุดหนึ่งหยุดปั๊บลงไป ตรงหยุดปั๊บลงไปนี่จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิโดยสมาธิโดยอัตโนมัติเลย เมื่อรวมเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว ตรงนี้จะไม่คิดไม่นึกอะไรแล้ว จะเห็นสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) เกิดดับขึ้นภายใน ๒-๓ ขณะ ใจนี้สักว่ารู้สักว่าเห็นอย่างแท้จริง ไม่มีกระทั่งความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ สักนิดเดียวเลย ถัดจากนั้น จิตจะวางการรู้สภาวะทบทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ พอทวนกระแสเข้าถึงธาตุรู้แล้วอริยมรรคจะแหวกอาสวะกิเลสทั้งหลายหรือสังโยชน์ทั้งหลาย อาสวะที่ห่อหุ้มจิตอยู่ สังโยชน์ที่แทรกอยู่ในจิตจะถูกทำลายออกไป ตรงกระบวนการทำลายล้างนี่ ๑ ขณะเท่านั้น พอขาดสะบั้นลงแล้ว ตรงนี้เราจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ตรงนี้เป็นผลแล้ว เป็นโลกุตรผลนะ ตรงที่เกิดอริยมรรคเรียกว่าโลกุตตรเหตุ มรรคเป็นเหตุ ผลเป็นผล ตรงที่เห็นเป็นผลนี่จะเห็นไม่เท่ากัน พวกที่สติปัญญาแก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๓ ครั้ง ๓ ขณะ พวกที่ยังไม่แก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะ ถัดจากนั้นจิตจะถอยออกมากลับสู่โลกภายนอกนี้ พอกลับมาสู่โลกภายนอก มันจะทวนกลับเข้าไปพิจารณาใหม่ว่าเมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น มันจะรู้เลยว่ากิเลสตัวไหนหายไปแล้ว กิเลสตัวไหนยังเหลืออยู่ รู้ว่ายังมีงานต้องทำอีก แต่ถ้าตัดครั้งที่สี่เป็นพระอรหันต์นะ มันทวนวับเข้าไป มันจะเห็นนิพพานชัดเจนเลย ไม่มีกิเลสอะไรให้ต้องลดละอีกแล้ว มันไม่มีกิเลสเหลือ จะเห็นนิพพานล้วนๆ เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เราต้องเชื่อพ่อแม่ เราต้องรู้กายรู้ใจของเราไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราจะได้มรดกของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้หอบเอานิพพานแล้วหายไปไหน นิพพานยังอยู่เต็มโลกเต็มบริบูรณ์อยู่นี่แหละ คนมีบุญวาสนามีปัญญาแก่รอบ เจริญวิปัสสนาแก่รอบแล้วก็จะได้รับ นี่รางวัลสูงสุดของชีวิตอยู่ตรงนี้ ชีวิตที่เหลือเป็นชีวิตที่อิสระโปร่งเบา ปราศจากความอยาก ความยึดและความดิ้นรนปรุงแต่ง ไม่มีความทุกข์หรือสิ่งใดครอบงำจิตได้อีกแล้ว ๔ . การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เมื่อเรียนหลักการภาวนาเข้าใจแล้วก็ต้องลงมือปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เราอย่าไปวาดภาพการปฏิบัติธรรม การทำวิปัสสนา หรือการภาวนาว่าต้องไปนั่งหลับหูหลับตา ตัวที่สำคัญที่สุดเลยคือมีสติในชีวิตประจำวันนี่แหละ กิเลสเกิดขึ้นมาตอนไหนก็รู้มันไปตรงนั้น นั่นเรียกว่าภาวนาแล้ว ร่างกายเคลื่อนไหวแล้วรู้สึกอยู่ก็เรียกว่าภาวนาแล้ว จิตใจทำงานไปแล้ว เรารู้เท่าทันอยู่ก็เรียกว่าภาวนาแล้ว เวลาเราทำงานก็ขยันทำงานไป ทำงานแล้วยังมีเวลาเหลือ เราก็คอยรู้กายรู้ใจของเราไป หรือเราทำงานแล้วเกิดเครียดขึ้นมา แวบขึ้นมา เรารู้ทันความเครียด นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว เราทำงาน เราจะรีบให้เสร็จเร็วๆ คนโทรศัพท์มากวน เราโมโหก็รู้ว่าโมโห นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว เห็นไหม ทำงานไป ถึงเวลาพักจะไปกินข้าว ดีใจ รู้ว่าดีใจ นี่ก็ปฏิบัติแล้ว เดินไปกินข้าว ลงมาจากตึก เดินไป เห็นร่างกายเดินอยู่ ใจเราเป็นแค่คนดู นี่ก็ปฏิบัติแล้ว ไปถึงร้านอาหาร ดูอาหารนั่นก็น่ากิน นี่ก็น่ากิน วันนี้หิวเป็นพิเศษ อะไรๆ น่ากินไปหมดเลย ตะกละ ลังเลๆ เห็นเลย ใจกำลังลังเลว่าจะกินอะไรดี บางวันดูจนหัวแถวท้ายแถวหมดทุกร้านแล้ว ไม่มีอะไรน่ากินเลย ชักหงุดหงิด เอ๊ แม่ค้าแถวนี้ทำไมไม่มีพัฒนาการ ขาด innovation (นวัตกรรม) ห่วยแตก โหลยโท่ย แล้วแต่จะด่านะ ถ้าหิวมากก็ด่ามากหน่อยเพราะขาดสติ เราก็รู้ทันใจของเราไปเรื่อย นี่แหละก็ปฏิบัติแล้วใช่ไหม เราจะไปห้องน้ำ เกิดฉุกเฉิน จะต้องรีบเข้าห้องน้ำด่วน พุ่งพรวดเข้าไปถึงห้องน้ำ ห้องน้ำเต็มทุกห้องเลย วิ่งไปอีกที่หนึ่ง อ้าวก็เต็มอีก ใจเราทุรนทุรายเต็มที่แล้ว เพราะว่าศัตรูมารอที่ประตูถ้ำแล้ว สู้มันไม่ไหวแล้ว นี่ทุรนทุรายขึ้นมา กลุ้มอกกลุ้มใจขึ้นมา รู้ทันมันเข้าไป ถึงจะปวดท้อง แต่ใจไม่ปวดไปด้วยหรอก นี่เขาเรียกว่าภาวนา นี่พอเราคอยรู้ทันใจของเราไปเรื่อย แต่ละขณะๆ นี่แหละคือการปฏิบัติ รู้ไปอย่างนี้นะ ไม่นานเราก็จะเห็นความจริง จิตใจของเราไม่คงที่หรอก จิตใจของเราเดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ เดี๋ยวก็ดีขึ้นมา เดี๋ยวก็มีความร่าเริงเบิกบานในธรรมะขึ้นมา เดี๋ยวก็เป็นอธรรม เห็นไหม เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง เราไม่ได้ไปฝึกเป็นยอดมนุษย์ เราฝึกเป็นคนธรรมดานี่แหละ ฝึกอยู่ในชีวิตธรรมดาจนเห็นความจริงว่า ธรรมดาของกายนี้เป็นอย่างนี้ ธรรมดาของใจเป็นอย่างนี้ พอเห็นธรรมดาแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับกายกับใจ ไม่เดือดร้อนแล้ว จะแก่ก็ธรรมดา จะเจ็บก็ธรรมดา จะตายก็ธรรมดา จะพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็ธรรมดา เจอสิ่งที่ไม่รักก็ธรรมดา จะสมหวัง จะผิดหวัง มันเรื่องธรรมดาไปหมด เพราะกายนี้ใจนี้เราเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยอะไรไม่ได้จริงหรอก ต่อไปอะไรเกิดขึ้นในชีวิต มันจะรู้สึกเหมือนกับเป็นเรื่องที่เกิดกับคนอื่น แล้วถ้าไม่มีตัวเรา ใครเป็นผู้ทำกรรม ก็ขันธ์น่ะสิมันทำกรรม ขันธ์มันทำของมันเอง ใครเป็นคนรับผลกรรม ขันธ์น่ะสิมันรับผลกรรม ไม่ใช่เรารับผลกรรม มีการกระทำกรรม แต่ไม่มีเราผู้กระทำกรรม มีผู้รับผลกรรม แต่ไม่มีเราผู้รับผลกรรม ถ้าสติปัญญาแก่รอบนะ เห็นขันธ์มันทำ เราไม่ได้ทำ คราวนี้สิ่งที่ขันธ์ทำจะกลายเป็นกิริยาล้วนๆ เลย เราไม่ได้ทำเสียแล้ว นี่ค่อยเรียนนะ เรียนลงไปจนเห็นเลยว่าตัวเราไม่มี ถ้าตัวเราไม่มีแล้วใครจะทุกข์ ตัวเราไม่มีแล้วใครจะทุกข์ก็เรื่องของมันสิ ถามว่าใครทุกข์ ก็ขันธ์มันทุกข์ กายมันทุกข์ใจมันทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ เราพ้นทุกข์ได้เพราะการรู้ที่ถูกต้อง คือพ้นได้ด้วยปัญญา ส่วนคุณธรรมอื่นๆ เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ศีล เป็นเพียงตัวสนับสนุนเกื้อกูลเท่านั้น ในสังสารวัฏที่ยาวนานนี่ การที่จะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบและได้ฟังธรรมเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเลย วันเวลาที่มีพระพุทธเจ้า มีศาสนาพุทธนี้สั้นมาก โอกาสที่ได้เรียนธรรมะมีไม่มาก มีน้อย ค่อยรู้สึก รู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจไป อย่าให้เสียโอกาสไปวันหนึ่งๆ โดยเปล่าประโยชน์
จิตจำสภาวะธรรมได้จิตจำสภาวะธรรมได้หน้าที่เราต้องฝึกสติให้เร็วขึ้น เร็ว เร็วมากขึ้นๆ จนใจไหว...แว้บ.รู้ทัน. ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ว่าไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ เพราะงั้นถึงเราจะเจริญสติเจริญปัญญาโดยเข้าฌานไม่เป็น ถึงนาทีสุดท้ายที่จะเกิดอริยมรรคอริยผลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรคเนี่ย จิตจะเข้าฌานของเค้าเอง ยกเว้นคนซึ่งเดินปัญญาอยู่ในฌาน เวลาที่จะเกิดอริยมรรคไม่ต้องถอยออกมาอยู่ในโลกก่อนนะ ไม่ต้องกลับมาอยู่กามภูมิก่อนนะ จิตเค้าจะตัดอยู่ข้างในได้เลย นี่เป็นพวกหนึ่ง แต่รวมความก็คืออริยมรรคไม่เกิดอยู่ในจิตที่อยู่ในกามอย่างพวกเรา อริยมรรคจะต้องเกิดอยู่ในรูปภูมิหรืออรูปภูมินะ จะเกิดอยู่ตรงนั้น ไปล้างกันตรงนั้น จิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะ ไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เอง เพราะมันไม่แส่ส่ายออกไปที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ไม่แส่ส่ายไปในความคิด ก็หยุดลงที่จิตดวงเดียว สติหยั่งลงที่จิต จิตตั้งมั่นอยู่ที่จิต เพราะงั้นสมาธินี่เต็มสมบูรณ์แล้ว ตั้งมั่นอยู่ที่จิต สติสมบูรณ์แล้ว ระลึกอยู่ที่จิต ปัญญาสมบูรณ์แล้ว เห็นความเป็นจริงทุกสิ่งที่อย่างที่เคลื่อนไหวอยู่ในจิตนะ ตรงนี้แหละจิตจะไหวตัวขึ้นมาสองสามขณะ คือปรุงขึ้นมานะแต่ไม่รู้ว่าคิดอะไร ไม่รู้ว่าปรุงอะไร มีความปรุงแต่งเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ว่าปรุงอะไร จะเห็นแต่ว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดับไป จะเห็นอย่างนี้เอง เห็นเอง ถัดจากนั้นนะจิตจะรู้เลยมันไม่มีสาระอะไร จิตมันจืดนะ มันไม่เอาอีกแล้ว ก็แค่เห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้น พอเห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้นสองสามขณะ ความเห็นกลางอย่างแท้จริงเลย รู้อย่างเป็นกลางอย่างแท้จริงไม่ปรุงต่อนะ จิตจะวาง พอมันวางแล้วมันจะทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ วางจิตแล้วทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ ธาตุรู้ก็จิตนั่นแหละ มันเป็นจิตอีกอย่างหนึ่ง พอจิตดวงเก่ามันดับไป จิตที่อยู่ในภพภูมิต่างๆมันดับไป มันทวนกระแสเข้าหาจิตที่เหนือภพเหนือภูมิ ทวนกระแสเข้ามา ขณะที่มันปล่อยวางจิตดวงเดิมนะ แล้วก็ทวนเข้ามาแต่ยังไม่ถึงธาตุรู้นะ คาบลูกคาบดอก ไม่ได้เกาะขันธ์แล้วนะ แต่ก็ยังเข้ามาไม่ถึงตัวธาตุรู้ ไม่ถึงอมตะธาตุอมตะธรรม ไม่ถึงพระนิพพาน ธาตุรู้ไม่ใช่พระนิพพานนะ แต่ธาตุรู้ไปเห็นพระนิพพาน ต้องแยกให้ออก มันยังทวนไม่ถึงธาตุรู้ ไม่ใช่ปุถุชน ไม่ใช่พระอริยะ ทำไมไม่ใช่ปุถุชน เพราะมันปล่อยขันธ์แล้ว ขันธ์สุดท้ายที่มันปล่อยก็คือจิต ไม่ใช่พระอริยะ เพราะยังไม่เข้ามาถึงธาตุรู้ ไม่เข้าถึงพระนิพพาน ตัวธาตุรู้นั่นแหละเป็นตัวไปเห็นพระนิพพาน ตรงนี้นะเรียกว่าโคตรภูญาณ ญาณข้ามโคตร มีปัญญาข้ามโคตร ข้ามโคตรจากโคตรไหนมาสู่โคตรไหน? จากโคตรของปุถุชนมาสู่โคตรของอริยชน เพราะงั้นบรรลุมรรคผลแล้วเปลี่ยนโคตรนะ ข้ามจากสกุลของปุถุชน ข้ามมาสู่อริยวงศ์อริยโคตร เรียกญาณข้ามโคตร ไม่ใช่ปุถุชนนะ กำลังข้ามอยู่ ไม่ใช่พระอริยะ มีอยู่ขณะจิตเดียวแหละที่คาบลูกคาบดอกประหลาดอยู่อย่างนี้ ข้ามมา ทวนเข้ามาถึงจิตแท้ ถึงธาตุรู้แท้ๆ ธรรมธาตุ ตัวนี้อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น อาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตอยู่ถูกอริยมรรคแหวกออกทำลายออก ก็ล้างกิเลส ล้างในพริบตาเดียว ในขณะเดียว วับเดียวเลย ขาดเลย มันคล้ายๆเปิดสวิตซ์ไฟ ปั๊บ สว่างวุ๊บเดียวความมืดหายไปเลย ในพริบตานั้นเลย จากนั้นนะจะเห็นพระนิพพานอีกสองสามขณะ เห็นไม่เท่ากันหรอก บางคนเห็นสองขณะ บางคนเห็นสามขณะถ้าพวกอินทรีย์กล้ามากๆก็เห็นสามขณะ พวกอินทรีย์ยังไม่กล้ามากก็เห็นสองขณะนะ งั้นพระอริยะในภูมิธรรมอันเดียวกันระดับเดียวกัน ความรู้ความเข้าใจไม่เท่ากัน ความแตกฉานอะไรนี้ไม่เท่ากันเห็นพระนิพพานแล้วก็รู้ว่านิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตา นิพพานไม่เคยหายไปไหน อยู่ต่อหน้าต่อตานี่แหละ แต่โง่เองไม่เห็น ทำไมไม่เห็น? มัวแต่เห็นแต่กาม มัวแต่เห็นรูปภพ มัวแต่เห็นอรูปภพ จิตไม่รู้จักปล่อย ตรงที่เค้าปล่อยน่ะเค้าข้าม เค้าทิ้งแล้ว ตรงโคตรภูญาณที่จิตข้ามโคตร ข้ามจากปุถุชนมาเป็นพระอริยะ ข้ามตรงนี้มันทิ้งหมดเลยนะ มันทิ้งกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ ทิ้งหมดเลย ข้ามมาสู่อริยภูมิ โลกุตรภูมิ ข้ามเอง พวกเราก็มีหน้าที่ภาวนาให้มันพอเท่านั้นแหละนะ ถ้ามันพอเมื่อไหร่มันก็ข้ามโคตรไป เปลี่ยนสกุลไม่ใช่นามสกุลเดิม โดยสมมุติบัญญัติก็เป็นนามสกุลเดิม โดยปรมัตถ์แท้ๆก็ไม่ใช่แล้ว ก็มาเป็นลูกพระพุทธเจ้า ..งั้นเราภาวนานะ ค่อยหัดไปเรื่อย,,,หาสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อย..คิดว่าถ้าเราฝึกได้ดีเต็มที่แล้ววันหนึ่งจิตเราจะดีถาวร สุขถาวร สงบถาวร เพราะคิดว่าจิตเป็นเรานั่นแหละคิดจะทำให้มันดีให้ได้ คิดจะทำให้มันสุขให้ได้ คิดจะทำให้มันสงบให้ได้ ดีชั่วคราว สุขชั่วคราว สงบชั่วคราว ก็ไม่พอใจ จะเอาถาวร สุดท้าย พากเพียรแทบล้มแทบตายก็พบว่าดีก็ชั่วคราว สุขก็ชั่วคราว สงบก็ชั่วคราว จิตผู้รู้ก็ชั่วคราว อะไรๆก็ชั่วคราวหมดเลย ไม่เห็นมีตรงไหนเลยที่มันจะถาวรได้ จิตยอมรับความจริงตรงนี้ได้ จิตก็หมดแรงดิ้นนะ จะดิ้นไปทำไมล่ะ ดิ้นหาดี หาสุข หาสงบ ดิ้นยังไงก็ไม่มี มีก็มีชั่วคราวเดี๋ยวก็หายไปอีก นี่จิตจะหยุดแรงดิ้น หมดแรงดิ้น จิตที่แรงดิ้นเพราะว่าดิ้นมาสุดขีดแล้วนะ สติก็สุดขีดแล้ว สมาธิก็สุดขีดแล้ว ปัญญาก็สุดขีดแล้ว สติสุดขีดก็คือ ไม่เจตนาจะรู้ ก็รู้..รู้..รู้ทั้งวันเลย รู้ทั้งคืนด้วย สมาธิก็จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้อยู่อย่างนี้ ไม่เป็นผู้หลงนะ อย่างมากก็หลงแว๊บๆ ก็กลับมาเป็นผู้รู้อย่างรวดเร็ว จะทำสมาธิให้มากกว่านี้ก็ไม่รู้จะทำยังไง จะทำสติให้มากกว่านี้ก็ไม่รู้จะทำยังไง จะเจริญปัญญาให้มากกว่านี้ก็ไม่รู้จะทำยังไงนะ มันจนมุมไปหมดเลย คือ สติก็ทำมาจนไม่รู้จะทำยังไงแล้ว สมาธิก็ทำจนไม่รู้จะทำยังไง ปัญญาก็ไม่รู้จะพลิกแพลงไปพิจารณาอะไรอีกต่อไปแล้ว เนี่ยจิตถ้าภาวนามาสุดขีดนะมันจะเข้ามาสู่ภาวะแห่งความจนมุม มันจะหยุดแรงดิ้น มันจะหมดความอยากว่าทำยังไงจะพ้นทุกข์ได้ ทำยังไงจะสุขถาวร ทำยังไงจะดีถาวร ทำยังไงจะสงบถาวร เพราะมันดิ้นมาจนสุดฤทธิ์สุดเดชแล้ว ก็ไม่รู้จะทำยังไง ทำไม่ได้สักที พอจิตหมดแรงดิ้นนะ จิตก็สักว่ารู้ว่าเห็น ตรงนี้แหละสักว่ารู้ว่าเห็นขึ้นมา อย่างที่พวกเราพูดว่าสักว่ารู้ว่าเห็น ไม่จริงหรอก ไม่ยอมสักว่ารู้ว่าเห็นหรอก มีแต่ว่าทำยังไงจะดีกว่านี้อีก ทำยังไงดี ทำยังไงจะดี ทำยังไงจะถูก รู้สึกไหมแต่ละวัน นักปฏิบัติตื่นนอนก็คิดวันนี้จะทำยังไงดี คิดอย่างนี้แหละนะ จนกระทั่งมันสุดสติสุดปัญญา ทำยังไงมันก็ดีกว่านี้ไปไม่ได้แล้ว ยอมรับสภาพมัน จิตหมดแรงดิ้น จิตหมดความปรุงแต่ง หมดแรงดิ้นรน พอจิตไม่มีความปรุงแต่ง ไม่มีความดิ้นรน อยู่ตรงนี้ช่วงหนึ่งนะ พอจิตหมดแรงดิ้นก็ไม่ปรุง อะไรเกิดขึ้นก็แค่รู้ อะไรเกิดขึ้นก็แค่รู้ ไม่ปรุงต่อ จิตก็เรียกว่าจิตเข้าถึงความเป็นอนุโลม อนุโลมญาณ หมายถึงว่าอะไรเกิดขึ้นก็คล้อยตามมันไป คล้อยตามนี่ไม่ใชหลงตามมันไป ก็แค่เห็นนะ เออ ก็มีขึ้นมา เออ หายไป ก็แค่นั้นเองนะ ไม่ต่อต้าน ไม่หลงตามไป ยอมรับ มันมาก็มา มันไปก็ไป นี่จิตมีอุเบกขาอย่างแท้จริงเลยนะ คล้อยตามทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เห็นแต่ความจริง ทุกอย่างมาแล้วก็ไปมาแล้วก็ไป นี่จิตเห็นอยู่แค่นี้เอง นี่ถ้าจิต สติ สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา บุญบารมีอะไรแก่รอบแล้วนะ จิตหยุดความปรุงแต่งแล้วมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ รวมเอง ทำไมมันรวมเข้าอัปปนาสมาธิได้เอง เพราะว่าจิตไม่ไหลไปตามกาม ฌานมันจะเกิดเอง โดยธรรมชาติของจิตนี่ต้องเวียนอยู่ในภพ ภพที่จิตเวียนอยู่ได้มี ๓ ภพเท่านั้น หนึ่ง กามาวจรภพ ภพที่เวียนไปในกาม คือหาอารมณ์เพลิดเพลินไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพลินไปเรื่อย พวกเราจิตหมุนอยู่ติ้วๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย นึกออกไหม อันนี้แหละเรียกว่ากามภพ เรียกให้เต็มยศนะเรียก กามาวจรภูมิ ใจก็ไปเวียนอย่างนี้ ถ้าหลุดออกจากกามภพนะ ก็เข้าไป รูปภพ หรือว่า รูปภูมิ ก็คือเข้าไปสงบอยู่กับการรู้รูป เช่นรู้ลมหายใจ แล้วจิตไม่เอาแล้วโลกข้างนอก อารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่เห็นจะมีสาระอะไร จิตมารวมลงที่อารมณ์ภายในอันเดียว อาจจะมารู้ลมหายใจอยู่อันเดียว รู้ร่างกายอยู่อันเดียว มาเพ่งรูปอยู่อันเดียว เพ่งดวงกสิณ ดวงนิมิตอยู่อันเดียว จิตเพ่งรูปอยู่เรียกว่ารูปภูมิ ถ้าจิตไม่อยู่ในกามภูมิ ไม่อยู่ในรูปภูมิ จิตก็ต้องเข้า อรูปภูมิ ทิ้งรูปไปแล้วไปอยู่กับนามธรรม เช่นไปอยู่กับความว่าง จิตอยู่ในความว่าง อยู่กับความไม่มีอะไรเลย เพราะงั้นที่เค้าสอนภาวนา บางคนสอนภาวนาให้ไปอยู่ในความว่าง อันนั้นเพี้ยนนะ ไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า มันก็เป็นอรูปภูมิ เป็นภูมิอีกภูมิหนึ่ง เป็นภพอีกภพหนึ่งเท่านั้นเอง งั้นถ้าสติปัญญาเราพอนะ เรารู้เลยจิตมันแส่ส่ายออกทางตาหูจมูกลิ้นกายมีแต่ทุกข์ จิตไม่แส่ส่าย พอจิตไม่แส่ส่ายจิตก็หลุดออกจากกามภูมิ เข้ารูปภูมิหรืออรูปภูมิ เข้าเองเลย เพราะงั้นพวกเราหัดเจริญสติไปเรื่อย พอศีลสมาธิปัญญา สติสมาธิปัญญาแก่รอบนะ จิตจะหมดความหลงไหลรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งหลายมาดึงดูดจิตไหลไปไม่ได้แล้ว อย่างน้อยก็ชั่วขณะ ชั่วขณะเท่านั้นแหละ ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ เพราะงั้นถึงเราจะเจริญสติเจริญปัญญาโดยเข้าฌานไม่เป็น ถึงนาทีสุดท้ายที่จะเกิดอริยมรรคอริยผลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรคเนี่ย จิตจะเข้าฌานของเค้าเอง ยกเว้นคนซึ่งเดินปัญญาอยู่ในฌาน เวลาที่จะเกิดอริยมรรคไม่ต้องถอยออกมาอยู่ในโลกก่อนนะ ไม่ต้องกลับมาอยู่กามภูมิก่อนนะ จิตเค้าจะตัดอยู่ข้างในได้เลย นี่เป็นพวกหนึ่ง แต่รวมความก็คืออริยมรรคไม่เกิดอยู่ในจิตที่อยู่ในกามอย่างพวกเรา อริยมรรคจะต้องเกิดอยู่ในรูปภูมิหรืออรูปภูมินะ จะเกิดอยู่ตรงนั้น ไปล้างกันตรงนั้น จิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะ ไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เอง เพราะมันไม่แส่ส่ายออกไปที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ไม่แส่ส่ายไปในความคิด ก็หยุดลงที่จิตดวงเดียว สติหยั่งลงที่จิต จิตตั้งมั่นอยู่ที่จิต เพราะงั้นสมาธินี่เต็มสมบูรณ์แล้ว ตั้งมั่นอยู่ที่จิต สติสมบูรณ์แล้ว ระลึกอยู่ที่จิต ปัญญาสมบูรณ์แล้ว เห็นความเป็นจริงทุกสิ่งที่อย่างที่เคลื่อนไหวอยู่ในจิตนะ ตรงนี้แหละจิตจะไหวตัวขึ้นมาสองสามขณะ คือปรุงขึ้นมานะแต่ไม่รู้ว่าคิดอะไร ไม่รู้ว่าปรุงอะไร มีความปรุงแต่งเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ว่าปรุงอะไร จะเห็นแต่ว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดับไป จะเห็นอย่างนี้เอง เห็นเอง ถัดจากนั้นนะจิตจะรู้เลยมันไม่มีสาระอะไร จิตมันจืดนะ มันไม่เอาอีกแล้ว ถ้าสติปัญญาเราพอนะ เรารู้เลยจิตมันแส่ส่ายออกทางตาหูจมูกลิ้นกายมีแต่ทุกข์ จิตไม่แส่ส่าย พอจิตไม่แส่ส่ายจิตก็หลุดออกจากกามภูมิ เข้ารูปภูมิหรืออรูปภูมิ เข้าเองเลย เพราะงั้นพวกเราหัดเจริญสติไปเรื่อย พอศีลสมาธิปัญญา สติสมาธิปัญญาแก่รอบนะ จิตจะหมดความหลงไหลรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งหลายมาดึงดูดจิตไหลไปไม่ได้แล้ว อย่างน้อยก็ชั่วขณะ ชั่วขณะเท่านั้นแหละ ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ เพราะงั้นถึงเราจะเจริญสติเจริญปัญญาโดยเข้าฌานไม่เป็น ถึงนาทีสุดท้ายที่จะเกิดอริยมรรคอริยผลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรคเนี่ย จิตจะเข้าฌานของเค้าเอง ยกเว้นคนซึ่งเดินปัญญาอยู่ในฌาน เวลาที่จะเกิดอริยมรรคไม่ต้องถอยออกมาอยู่ในโลกก่อนนะ ไม่ต้องกลับมาอยู่กามภูมิก่อนนะ จิตเค้าจะตัดอยู่ข้างในได้เลย นี่เป็นพวกหนึ่ง แต่รวมความก็คืออริยมรรคไม่เกิดอยู่ในจิตที่อยู่ในกามอย่างพวกเรา อริยมรรคจะต้องเกิดอยู่ในรูปภูมิหรืออรูปภูมินะ จะเกิดอยู่ตรงนั้น ไปล้างกันตรงนั้นจิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เอง............. ...................................................................................................................................... เราเห็นตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ฉันใด เราก็เห็นจิตวิ่งไปวิ่งมาได้ฉันนั้น นี่เป็นความหลงผิด นี่เป็นภาพลวงตาเท่านั้นเอง แท้จริงจิตก็เกิดดับ เกิดดับเหมือนการ์ตูนทีละรูป ทีละรูป นั่นเอง แต่ว่าสติปัญญาของคนทั่วไปซึ่งไม่เคยฝึกฝนไม่สามารถเห็นได้ ก็จะรู้สึกว่าจิตเที่ยง ถ้าเราสามารถเห็นว่าจิตเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไปเรื่อยๆ ไม่นาน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เราจะเห็นความจริงว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราที่แท้จริงไม่มี มันมีแต่ของเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ถ้าเมื่อไรวันใดเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานะ ทุกอย่างในโลกนี้จะไม่ใช่ตัวเราแล้ว ร่างกายมันไม่ใช่เราตั้งแต่เริ่มหัดเจริญสติแล้ว พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะเห็นเลยว่าร่างกายมันอยู่ต่างหากแล้ว เหลือแต่จิตอันเดียวนี่แหละรู้สึกว่าวิ่งไปวิ่งมา การเจริญสติจนเห็นจิตเกิดดับเกิดดับ เกิดที่ตาแล้วดับ เกิดที่หูแล้วดับ เกิดที่ใจแล้วดับ ก็คือสันตติขาด การที่สันตติขาดนี่แหละคือวิปัสสนาที่แท้จริง ถ้าสันตติยังไม่ขาดยังไม่ใช่วิปัสสนาที่แท้จริง เราต้องค่อยๆ ดูไป ฝึกไปเรื่อยๆ พอสันตติขาดแล้วจะสั่นสะเทือนขึ้นมาเลย บางคนรู้สึกกลัว บางคนรู้สึกเบื่อ บางคนรู้สึกโหวงๆ ตัวเราหายไปแล้ว โหวงๆ เวิ้งว้างหาที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ บางคนเบื่อจิบจิตจับใจเลย เบื่อสุขเบื่อทุกข์ เบื่อทุกอย่าง เบื่อสามี เบื่อภรรยา แต่เบื่ออย่างนี้ไม่ใช่เบื่อด้วยกิเลส มันเบื่อด้วยสติด้วยปัญญา เห็นทุกอย่างไม่มีสาระเลย ไม่มีตัวมีตนอะไร ใจมันจะเบื่อไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างเลย เบื่อสุขกับทุกข์เท่าๆ กัน เบื่อดีกับชั่วเท่าๆ กัน เบื่อหยาบกับละเอียดเท่าๆ กัน เบื่อภายในกับภายนอกเท่าๆ กัน จิตก็หมดแรงดิ้น ไม่ดิ้นรนค้นคว้า บางคนกลัว กลัวมากๆ เลยนะ พอภาวนามาจนเห็นว่าตัวเราไม่มี กลัวเพราะรู้สึกว่าตัวเราหายไปแล้ว ตกอกตกใจขึ้นมา เมื่อสภาวะอันนี้เกิดขึ้นแล้วให้มีสติรู้ทันเข้าไป สภาวะอันนี้ก็เช่นเดียวกับความโกรธความหลงที่เคยเห็นมานั่นเอง คือเกิดแล้วก็ดับเช่นเดียวกัน พอดับไปแล้วใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เราก็ดูกายดูใจของเราต่อไป จิตมันจะค่อยเข้าใจความเป็นจริงมากขึ้นๆ มันจะเห็นเลยว่าความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว โลภโกรธหลงก็ชั่วคราว ฟุ้งซ่านหดหู่ดีใจเสียใจทั้งหมดนี้ชั่วคราวหมดเลย จะเห็นว่าสิ่งใดเกิดแล้วก็ดับไป ทุกอย่างชั่วคราวหมดเลย พอจิตมันยอมรับความจริงว่าทุกอย่างเป็นของชั่วคราว จิตจะหมดแรงดิ้น จิตจะหมดการดิ้นรนค้นคว้าเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ หมดแรงดิ้นรนค้นคว้าที่จะหลีกหนีอารมณ์ที่ไม่พอใจ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางที่แท้จริง ความเป็นกลางเพราะปัญญานี่แหละเป็นความเป็นกลางที่สำคัญมาก ปัญญาตัวนี้เรียกว่า “ สังขารุเปกขาญาณ ” เห็นสุขกับทุกข์มันเท่ากัน นรกกับสวรรค์มันก็เท่ากัน ไม่กลัวนะ หมดความดิ้นรน จิตมันรู้ตื่นแล้วก็เป็นกลาง สักว่ารู้ สักว่าเห็น มันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าเทียมกัน สุขกับทุกข์เท่ากัน มีความสุขเกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ มีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ เมื่อสักว่า สักว่า แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะหมดการดิ้นรนของจิต หมดความปรุงแต่งของจิต จิตจะค่อยๆ ปรุงน้อยลงๆ ถึงจุดหนึ่งหยุดปั๊บลงไป ตรงหยุดปั๊บลงไปนี่จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิโดยสมาธิโดยอัตโนมัติเลย เมื่อรวมเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว ตรงนี้จะไม่คิดไม่นึกอะไรแล้ว จะเห็นสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) เกิดดับขึ้นภายใน ๒-๓ ขณะ ใจนี้สักว่ารู้สักว่าเห็นอย่างแท้จริง ไม่มีกระทั่งความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ สักนิดเดียวเลย ถัดจากนั้น จิตจะวางการรู้สภาวะทบทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ พอทวนกระแสเข้าถึงธาตุรู้แล้วอริยมรรคจะแหวกอาสวะกิเลสทั้งหลายหรือสังโยชน์ทั้งหลาย อาสวะที่ห่อหุ้มจิตอยู่ สังโยชน์ที่แทรกอยู่ในจิตจะถูกทำลายออกไป ตรงกระบวนการทำลายล้างนี่ ๑ ขณะเท่านั้น พอขาดสะบั้นลงแล้ว ตรงนี้เราจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ตรงนี้เป็นผลแล้ว เป็นโลกุตรผลนะ ตรงที่เกิดอริยมรรคเรียกว่าโลกุตตรเหตุ มรรคเป็นเหตุ ผลเป็นผล ตรงที่เห็นเป็นผลนี่จะเห็นไม่เท่ากัน พวกที่สติปัญญาแก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๓ ครั้ง ๓ ขณะ พวกที่ยังไม่แก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะ ถัดจากนั้นจิตจะถอยออกมากลับสู่โลกภายนอกนี้ พอกลับมาสู่โลกภายนอก มันจะทวนกลับเข้าไปพิจารณาใหม่ว่าเมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น มันจะรู้เลยว่ากิเลสตัวไหนหายไปแล้ว กิเลสตัวไหนยังเหลืออยู่ รู้ว่ายังมีงานต้องทำอีก แต่ถ้าตัดครั้งที่สี่เป็นพระอรหันต์นะ มันทวนวับเข้าไป มันจะเห็นนิพพานชัดเจนเลย ไม่มีกิเลสอะไรให้ต้องลดละอีกแล้ว มันไม่มีกิเลสเหลือ จะเห็นนิพพานล้วนๆ เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เราต้องเชื่อพ่อแม่ เราต้องรู้กายรู้ใจของเราไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราจะได้มรดกของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้หอบเอานิพพานแล้วหายไปไหน นิพพานยังอยู่เต็มโลกเต็มบริบูรณ์อยู่นี่แหละ คนมีบุญวาสนามีปัญญาแก่รอบ เจริญวิปัสสนาแก่รอบแล้วก็จะได้รับ นี่รางวัลสูงสุดของชีวิตอยู่ตรงนี้ ชีวิตที่เหลือเป็นชีวิตที่อิสระโปร่งเบา ปราศจากความอยาก ความยึดและความดิ้นรนปรุงแต่ง ไม่มีความทุกข์หรือสิ่งใดครอบงำจิตได้อีกแล้ว แนวทางการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา จากพระธรรมเทศนาของ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ๑ . โอกาสทองของชีวิต พวกเรามีบุญวาสนา ได้เกิดในแผ่นดินซึ่งศาสนาพุทธยังดำรงอยู่ หลักธรรมแท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าสอนยังได้รับการถ่ายทอดอยู่ เราได้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ได้พบสัตบุรุษ แล้วมีศรัทธาสนใจที่จะศึกษา ยากมากนะที่จะมีสภาวะอย่างนี้ ธรรมะของพระพุทธเจ้ากระจ่าง แจ่มแจ้ง พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง และต้องเห็นผลเร็วด้วย ใครๆ ไปเรียนธรรมะจากพระพุทธเจ้าแล้วถึงอุทานบอก “ แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า เหมือนเปิดของคว่ำให้หงาย ” ง่าย คว่ำๆ อยู่ จับหงาย มันยากเหรอ ธรรมะของพระพุทธเจ้า งดงามในเบื้องต้น คือชี้ทางให้เราเดินไปได้ งดงามในท่ามกลาง คือมีเหตุผลสมบูรณ์ อย่างนี้ถูก อย่างนี้ผิด พิสูจน์ได้ด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา งดงามในที่สุด คือ เราละกิเลสได้จริงๆ ความทุกข์ตกหายไปได้จริงๆ เป็นลำดับๆไป ศาสนาพุทธสอนให้เราเรียนรู้ตัวเอง สิ่งที่เรียกว่าตัวเราคือกายกับใจ ท่านสอนว่า ถ้าเรารักสิ่งใด เราจะทุกข์เพราะสิ่งนั้น สิ่งที่เรารักที่สุดคือตัวเอง คือกายกับใจ ทำไมรัก เพราะเรารู้สึกว่านำความสุขมาให้ อย่างเช่นเรารักตา เรากลัวตาบอด เพราะว่า ตาทำให้เราเห็นของสวยๆ ถ้าตาเห็นแต่ของน่าเกลียดน่ากลัว เราคงไม่อยากมีตา หูก็ทำให้ได้ยินเสียงดีๆ ถ้าได้ยินแต่เสียงไม่อยากฟัง เราก็คงไม่อยากมีหู อายตนะทั้งหลาย ตาหูจมูกลิ้นกายใจมันทำให้เราเชื่อมต่อเข้ากับโลกภายนอกได้ ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นของดี นำความสุขมาให้ แต่ตอนนำความทุกข์มาให้ เราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ไป อย่างน้อยมันก็ยังมีความสุขกระเส็นกระสายให้หวังเล่นๆ มีชีวิตอยู่ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ หวังอะไร หวังจะสุขถาวร หวังจะดีถาวร หวังจะสงบถาวร แต่ความจริงคือ ทุกอย่างชั่วคราว นี่เราหวังลมๆ แล้งๆ หวังสิ่งซึ่งไม่มีจริง หวังอย่างนั้นก็นำความทุกข์มาให้ หวังแล้วก็ไม่มีทางสมหวัง แต่ถ้าเรารู้ลงในกายในใจ มันไม่ใช่ของดีของวิเศษ กายนี้ใจนี้เป็นแต่ตัวทุกข์ พอเห็นอย่างนี้แจ่มแจ้งนะ มันจะวาง ไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจ เมื่อไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจ จะยึดอะไรอีก ไม่มีแล้ว เพราะสิ่งที่ยึดมากที่สุดคือกายกับใจ ระหว่างกายกับใจก็ยึดใจมากกว่ากาย วัตถุประสงค์ของเราชาวพุทธก็คือ ต้องพ้นทุกข์ พ้นทุกข์ก็คือนิพพานนั่นเอง คือพ้นจากความยึดถือกายยึดถือใจ เพราะกายกับใจคือตัวทุกข์ เรามีเป้าหมายอยู่ ๔ เป้าหมาย เป้าหมายที่ ๑ เป็นพระโสดาบัน คือผู้ที่ละความเห็นผิดว่ามีตัวเรา เห็นความจริงแล้วว่าตัวตนที่แท้จริง ตัวตนที่ถาวรนั้นไม่มี มีศีลบริบูรณ์ มีสมาธิ และปัญญาเล็กน้อย เป้าหมายที่ ๒ เป็นพระสกิทาคามี มีสติที่รวดเร็วในการรู้สึกตัว จนกิเลสตัณหาอ่อนกำลังลงไป มีสมาธิปานกลาง มีปัญญาเล็กน้อย เป้าหมายที่ ๓ เป็นพระอนาคามี สามารถปล่อยวางความยึดถือกายได้ จึงพ้นจากกามและปฏิฆะ มีสมาธิสมบูรณ์ มีปัญญาปานกลาง เป้าหมายที่ ๔ เป็นพระอรหันต์ มีศีล สมาธิ และปัญญาสมบูรณ์ สามารถปล่อยวางความยึดถือใจได้ ก็จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ศาสนาพุทธ คือตัวสัมมาทิฏฐิ คือความรู้ถูกความเข้าใจถูกในสภาวธรรม (รูปธรรมและนามธรรม) จนกระทั่งปล่อยวางความยึดถือสภาวธรรมทั้งปวงได้ ซึ่งก็คือ ความรู้แจ้งอริยสัจ อริยสัจมีทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็เป็นอันละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา เมื่อใจเข้าถึงความจริง ยอมรับความจริงแล้ว มันจะไม่ทุกข์ อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญมากเลย ลึกซึ้งที่สุด ถ้าไม่รู้แจ้งอริยสัจ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด วนเวียนอยู่ในความทุกข์ไปเรื่อยๆ พ้นไม่ได้หรอก อริยสัจเป็นความจริงของบรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลาย ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านเหล่านี้เห็นความจริงของโลก ของชีวิต ของจักรวาล หน้าที่ของชาวพุทธคือหน้าที่เรียน ฉะนั้นชาวพุทธเป็นนักเรียนนะ เราต้องเรียนธรรมะ เพื่อวันหนึ่งเราจะได้รู้แจ้งธรรมะของพระอริยเจ้า เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งของพระอริยเจ้า อริยสัจตัวที่หนึ่งชื่อว่าทุกข์ ทุกข์ในอริยสัจแปลว่ากายกับใจ รูปกับนาม เรารู้สึกไหมว่ากายเป็นทุกข์ใจเป็นทุกข์ เราไม่รู้สึกหรอก เรารู้สึกว่ากายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง จิตนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง ตราบใดที่ยังเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง มันจะไม่ยอมปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจหรอก เพราะมันยังมีทางเลือกที่จะให้กายให้ใจเป็นสุข ยังรักอยู่ ยังหวงแหนอยู่ ยังหาทางดิ้นรนให้กายให้ใจมีความสุขอยู่ เมื่อไม่รู้แจ้งในธรรมะของพระอริยเจ้า ไม่แจ้งอริยสัจ ไม่รู้ว่ากายกับใจเป็นตัวทุกข์ จะไม่สามารถปล่อยวางความยึดถือกายความยึดถือใจได้ ยังรักมัน ยังหวงแหนมัน เมื่อรักมันหวงแหนมันนะ สมุทัยก็จะเกิดขึ้น สมุทัยคือตัณหา หมายถึงความอยาก อยากอะไร อยากให้กายมีความสุข อยากให้กายพ้นทุกข์ อยากให้จิตใจมีความสุข อยากให้จิตใจพ้นทุกข์ นี่ความอยากนี้แหละคือตัวตัณหา ถ้าตัณหาเกิดขึ้นแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นอีก มันจะเกิดทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา เบื้องต้นนะ กายกับใจเป็นตัวทุกข์ อันนี้เราไม่เห็นหรอก แต่ว่าเบื้องปลายนี่ ทันทีที่เกิดความอยาก อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์ จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เมื่อเกิดความอยากขึ้นเมื่อไร จิตจะดิ้นรนเมื่อนั้น เมื่อจิตดิ้นรนเมื่อไร จิตจะมีความทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา กายกับใจเป็นตัวทุกข์อยู่แล้วนะ พอเกิดตัณหา เกิดอุปาทานคือความยึดถือ ก็เกิดภพคือการดิ้นรนทำงานของจิต ความทุกข์ก็จะเกิดซ้ำซ้อนขึ้นที่จิตอีกชั้นหนึ่ง เมื่อไม่รู้ทุกข์นะ มันก็เกิดสมุทัย จิตใจก็ดิ้นรนปรุงแต่ง นิโรธก็ไม่ปรากฏ นิโรธคือนิพพาน นิพพานคือสภาวะซึ่งพ้นจากความปรุงแต่ง สภาวะซึ่งพ้นจากตัณหา สภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง มีชื่อเป็นภาษาแขกว่า วิสังขาร สภาวะที่พ้นจากตัณหามีชื่อว่าวิราคะ อันนี้เป็นชื่อของนิพพานทั้งสิ้นเลยนะ เมื่อจิตยังดิ้นรนค้นคว้า จิตยังมีความอยากมีความยึดถืออยู่ นิพพานไม่ปรากฏ ความพ้นทุกข์ไม่มี เพราะยังวนเวียนยึดถือขันธ์อยู่ ต่อเมื่อไรรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยถูกละอัตโนมัติ นิโรธแจ้งอัตโนมัติ อริยมรรคก็เกิดอัตโนมัติเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้เพียงบอกว่าให้เรารู้แจ้งอริยสัจเท่านั้น แต่ท่านบอกวิธีที่จะทำให้เรารู้แจ้งอริยสัจด้วย คือให้รู้ทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งนะ สมุทัยดับเอง นิโรธปรากฏเอง อริยมรรคเกิดขึ้นเอง หากรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันทำกิจของอริยสัจทั้ง ๔ เสร็จสิ้นในขณะเดียวกัน วิธีรู้ทุกข์ที่ท่านสอนก็คือ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือการเห็นอย่างวิเศษ คือเห็นความจริงของกายของใจว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา บังคับไม่ได้ ๒ . พระพุทธเจ้าสอนอะไร บทเรียนที่พระพุทธเจ้าสอนให้พวกเราศึกษานั้นมี ๓ บท คือ บทเรียนที่ ๑ ชื่อว่า สีลสิกขา คือเรียนเรื่องศีล หมายถึงว่าทำอย่างไรจิตของเราจะเป็นธรรมดาๆ จิตใจของเราจะไม่ถูกกิเลสชั่วหยาบครอบงำจนกระทั่งทำความผิด ล้นออกมาทางกายทางวาจา ถ้าเรามีสติคอยรู้ทันจิตใจของเราอยู่เรื่อยๆ กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ไม่ผิดศีลหรอก เช่น ถ้าเรามีสติเรื่อยๆ นะ ตามองเห็นรูป จิตเรายินดียินร้ายขึ้นมา เรารู้ทัน ความยินดียินร้ายก็คืออภิชฌาโทมนัส หรือราคะนั่นเองก็ครอบงำจิตไม่ได้ จิตก็ไม่ทำผิดศีล อย่างเห็นสาวสวยนะ ชอบเขารักเขา มีสติรู้ทันจิตของตัวเอง ว่านี่มีราคะเกิดขึ้น ราคะจะดับไป ก็ไม่ไปหลอกไปลวงอะไรเขาแล้ว ไม่ทำผิดศีล โกรธเขาขึ้นมา อยากฆ่าเขา มีสติรู้ทันลงไปที่ใจของตัวเองที่กำลังโกรธอยู่ พอมีสติรู้ทันนะ ความโกรธก็ครอบงำจิตใจไม่ได้ มันก็ไม่ฆ่าใคร ไม่ตีใคร ไม่ด่าใคร ถ้าเรามีสติอยู่ ศีลจะเกิดขึ้น จิตใจเราจะเป็นปกติธรรมดา แต่ถ้ายังไม่มีศีลที่เกิดจากการสำรวมอินทรีย์ ที่เรียกว่า อินทรียสังวรศีล อย่างนี้ก็มีศีลธรรมดาไปก่อน ให้ตั้งใจรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ตามโอกาสนะ ฉะนั้น ศีลถือเป็นปัจจัยของสมาธิ เป็นพื้นฐานทำให้ทำสมาธิได้ง่าย บทเรียนที่ ๒ ชื่อว่า จิตตสิกขา ชื่อมันก็บอกแล้วว่าเรียนเรื่องจิต เราจะเรียนให้รู้ความจริงว่าจิตชนิดไหนเป็นกุศล จิตชนิดไหนเป็นอกุศล จิตที่เป็นกุศลก็มีหลายแบบ เป็นกุศลทั่วๆ ไป ที่อยู่กับโลก หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลที่ใช้ทำสมถะ หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลที่จะใช้ทำวิปัสสนา เราต้องเรียนไปจนกระทั่งเรารู้ความจริง จิตที่เป็นมหากุศล จิตที่ใช้ทำวิปัสสนาจริงๆ มันจะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุต คือประกอบด้วยปัญญา อสังขาริกังคือเกิดขึ้นเอง ต้องเป็นจิตที่เกิดเองถึงจะมีกำลังกล้า ฉะนั้นเราต้องรู้ไปนะ ต้องเรียนว่าทำอย่างไรเราจะเกิดจิตซึ่งมีกำลังกุศลแก่กล้า ทำอย่างไรสติจะเกิดได้เอง เราต้องรู้ว่าสติเกิดจากอะไร สติเกิดจากถิรสัญญา แปลว่าการที่จิตจำสภาวธรรมได้แม่นยำ ในพระอภิธรรมจะบอกว่า การที่จิตจำสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) ได้แม่นยำ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ หลวงพ่อจะสอนให้หัดดูสภาวะ เช่น ร่างกายเคลื่อนไหว คอยรู้สึก หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก คู้รู้สึก เหยียดรู้สึก พองรู้สึก ยุบรู้สึก เป็นสุขเป็นทุกข์ รู้สึก โลภโกรธหลงขึ้นมา ไม่โลภไม่โกรธไม่หลงขึ้นมา คอยรู้สึก รู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจ รู้สึกไปเรื่อยๆ ทีแรกยังไม่มีสติหรอก คอยตามรู้สึกไปเรื่อยๆ ตามรู้ไปเรื่อย ร่างกายเคลื่อนไหวนะ เผลอเคลื่อนไหวไปก่อนแล้วรู้สึกตัว อ้าวเมื่อกี้เผลอไปเคลื่อนไหว ; โลภไปก่อน แล้วรู้สึกตัว อ้าวเมื่อกี้เผลอไปโลภ ;ใจลอยไปคิดก่อน แล้วรู้สึกตัว รู้ว่าเอ้อเมื่อกี้หลงไปคิดแล้ว การที่จิตมันเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดมันจะจำสภาวะได้ พอมันจำสภาวะได้นะ ต่อไปสติจะเกิดเองโดยไม่ต้องจูงใจให้เกิด สติ คือความระลึกได้ถึงความมีอยู่ของกาย ระลึกได้ถึงความมีอยู่ของใจ การที่จิตมันเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดมันจะจำสภาวะได้ พอมันจำสภาวะได้นะ ต่อไปสติจะเกิดเองโดยไม่ต้องจูงใจให้เกิด สติ คือความระลึกได้ถึงความมีอยู่ของกาย ระลึกได้ถึงความมีอยู่ของใจ สติที่เกิดจากการจงใจทำให้เกิด สติอย่างนี้ใช้ไม่ได้จริงในการทำวิปัสสนา แต่ใช้ทำสมถะได้ เช่น เราจะรู้ลมหายใจ เราก็กำหนดจิตเอาไว้กับลมหายใจ ไม่ให้ลืมลมหายใจเลย เราจะดูท้องพองยุบ เรากำหนดจิตจ่อลงไปที่ท้อง ไม่ให้ลืมท้องเลย เราจะเดินจงกรมยกเท้าย่างเท้า เราเอาสติจ่อลงไปที่เท้า ไม่ขาดสติเลย เท้ากระดิกกิ๊กๆๆๆ รู้หมด จะหยิบขวดน้ำนี่ กิ๊กๆๆๆ เห็นเหมือนรูปการ์ตูนนะ เห็นรูปมันดับ วับๆๆๆ ไป ใจมันจ่ออยู่ที่รูปนี่ สติอย่างนี้ จะรู้สึกว่าเกิดได้ทั้งวัน พวกเราลืมไปอย่างหนึ่งว่า สติหรือกุศลที่เกิดซ้ำๆๆๆ ได้นานๆ จะเกิดในฌานจิต คือเกิดกับจิตที่เพ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่สติที่จะใช้ทำวิปัสสนาอะไรหรอก สติที่เกิดจากการกำหนดไม่ใช่วิปัสสนา ถ้าเรากำหนดใส่ตัวอารมณ์ (สิ่งที่ถูกรู้) เมื่อไหร่จะเป็นสมถะ เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน ถ้าเมื่อไรเรามีสติเพ่งใส่ตัวอารมณ์ เมื่อนั้นเป็นสมถกัมมัฏฐาน จำเอาไว้นะ กระทั่งการเพ่งรูปเพ่งนามก็เป็นสมถกัมมัฏฐาน ต้องเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามถึงจะเป็นวิปัสสนา การจะเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามได้ จิตจะต้องตั้งมั่น ตัวนี้แหละคือตัวสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูเท่านั้นเอง วิธีทำให้เกิดสัมมาสมาธิทำได้หลายอย่าง วิธีที่หนึ่ง ทำฌานจนถึงฌานที่สอง พอถึงฌานที่สอง จิตมันจะตั้งมั่นออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดูในทางตำราจะเรียกว่ามีเอโกทิภาวะ คือภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง คือภาวะของจิตผู้รู้นั่นเอง จิตจะตั้งตัวรู้ขึ้นมา พอเราออกจากฌานแล้วนะ ตัวรู้นี้ยังทรงอยู่ มันจะเห็นทันทีเลยว่า ร่างกายที่ยืนเดินนั่งนอนนี้ไม่ใช่ตัวเรา เห็นทันที เห็นไหม เกิดปัญญาทันที เห็นไตรลักษณ์ทันทีเลย ร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่นี่มันไม่ใช่เราหรอก มันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู มีใครรู้สึกว่าพัดนี้เป็นตัวเราไหม (หลวงพ่อชูพัดให้ดู) ไม่มี เพราะอะไร เพราะมันเป็นของถูกรู้ถูกดู มันอยู่ห่างๆ นึกออกไหม ส่วนร่างกายเรานี่ ถ้าจิตของเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะรู้สึกทันทีว่าร่างกายอยู่ห่างๆ จิตมันแยกออกมา เรียกว่าแยกรูปกับนามออกจากกัน การแยกรูปกับนามออกจากกันนี่มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ทันทีที่แยกออกไป ใจตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เห็นอยู่ทันทีเลยว่า ร่างกายหายใจ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายพองยุบ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายยืนเดินนั่งนอน จิตเป็นคนรู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง จิตเป็นคนรู้ มันแยกออกมาต่างหาก มันจะเกิดปัญญาทันทีเลย เห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายนี้เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุเท่านั้น นี่คือการเจริญปัญญา เรียกว่า ปัญญาสิกขา คือบทเรียนที่ ๓ ส่วนจิตก็สักว่ารู้ สักว่าเห็น จะเห็นเลยว่ากิเลสมันผ่านมาผ่านไป เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้านไปเท่านั้นเอง ไม่เกี่ยวกับเรา อย่างนี้มันผ่านมาแวบแล้วหายไปเลย ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา วิธีที่สอง สำหรับคนที่ทำฌานไม่ได้ ไม่เป็นไร หัดรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยววันหนึ่งมันจะเกิดสมาธิขึ้นมา สมาธิชนิดนี้ ชื่อขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิคือสมาธิชั่วขณะ ฟังดูแล้วกิ๊กก๊อกนะ กระจอกงอกง่อย แหมใครๆ ก็อยากได้อัปปนาสมาธิ แต่ส่วนมากไม่ถึงอัปปนาสมาธิหรอก ฉะนั้นถ้าเราทำอัปปนาสมาธิไม่ได้ ก็ให้เรามีสติดูจิตดูใจของเราไปเรื่อย จิตไหลไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา มันจะค่อยๆ แยกตัวออกมาจากอารมณ์ เช่น จิตมันใจลอย จิตมันไปคิด พอเรารู้ทันนะ จิตมันก็ตื่นขึ้นมาแวบหนึ่ง เราจะเห็นเลยว่าความคิดนั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิต จิตมันโลภขึ้นมา พอเรามีสติรู้ว่าจิตโลภ เราจะเห็นเลยว่าความโลภเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิต แยกออกจากกันนะ เราโกรธขึ้นมา พอเรามีสติรู้ทันปั๊บ เราจะเห็นเลยว่าความโกรธเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิต นี่มันแยกออกมา จิตซึ่งเป็นผู้รู้อารมณ์มันจะตั้งขึ้นมา แต่มันอยู่ชั่วขณะนะ เดี๋ยวมันก็ไหลไปอีก ไม่เหมือนคนที่ทรงฌาน จะอยู่นาน นี่เรามีสมาธิชนิดนี้แหละพอแล้ว แต่ถ้าใครมีบุญวาสนา ทำอัปปนาสมาธิได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าฝืน มันจะกลายเป็นอัปลักษณ์สมาธิ พระพุทธเจ้าสอนว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนที่ไม่ได้ สดับ (หมายถึงคนที่ไม่ได้ฟังธรรมของท่านหรือของพระอริยเจ้า) สามารถเห็นว่ากายไม่ใช่ตัวเรา แต่ไม่สามารถเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา ” มีแต่คำสอนในอริยวินัย ในธรรมะของท่านนี้เท่านั้นที่ทำให้เห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเราได้ เพราะการที่จะเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานี่ยาก เนื่องจากเรายึดถือมานาน เราสำคัญมั่นหมายมานานว่าจิตเป็นตัวเรา พวกเราลองวัดใจตัวเองอย่างซื่อสัตย์นะ ลองวัดใจตัวเองดู เรารู้สึกไหมว่าร่างกายนี้มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ร่างกายของเราเดี๋ยวนี้กับร่างกายของเราตอนเด็กๆ นี่คนละคนกัน รู้สึกไหม มันไม่เหมือนเดิมนะ ร่างกายของเราเดี๋ยวนี้กับตอนวัยรุ่นก็ไม่เหมือนกันใช่ไหม ถ้าอายุขนาดหลวงพ่อ ร่างกายสมัยกลางๆ คนกับตอนนี้ไม่เหมือนกันแล้ว นี่เรารู้ได้ ร่างกายมันไม่เหมือนเดิม แต่เรารู้สึกไหมว่าในร่างกายที่แปรปรวนนี้ มีความรู้สึกว่ามีเราอยู่คนหนึ่ง เราคนนี้กับเราตอนเด็กๆ ยังเป็นเราคนเดิม นี่เราจะสำคัญมั่นหมายว่ามีเราอยู่คนหนึ่ง นั่นคือเราสำคัญว่าจิตคือตัวเรา อันนี้แหละจิตเป็นเราอยู่ ยากมากที่จะเห็นว่าจิตนี้ไม่ใช่เรา ถ้าเมื่อใดเห็นและยอมรับด้วยปัญญาว่าจิตไม่ใช่เรา วันนั้นจะได้พระโสดาบัน จำเอาไว้นะ วิธีที่จะให้เห็นว่าจิตไม่ใช่เรานะ รู้สึกตัวเรื่อยๆ ก่อน เห็นกายไม่ใช่เรา เห็นเวทนา (ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ) ไม่ใช่เรา เห็นจิตตสังขารคือกุศลและอกุศลทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา เป็นของถูกรู้ถูกดูทั้งหมดเลย ต่อมาสังเกตจิตใจ ไม่ต้องรีบสังเกตนะ ฟังหลวงพ่อพูด แล้ววันหนึ่งจิตมันจะไปสังเกตเอง อย่าไปจงใจสังเกต ถ้าจงใจดูจะไม่เจอ ค่อยๆ รู้สึกไป เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้ถูกรู้ใช่ไหม เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้คิดรู้สึกไหม ต้องหัดรู้ตัวจนชำนาญนะ จะรู้จักว่า อ้อ นี่จิตมันรู้ขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวจิตมันก็หลงไปคิด เดี๋ยวจิตมันก็รู้ เดี๋ยวจิตมันก็หลงไปคิด นี่ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปเราจะเห็นว่าจิตนี้มันไม่เที่ยง แรกๆ ก็แค่รู้สึกตัวเอาไว้ ร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก อันนี้จะทำให้เกิดสติอัตโนมัติ จิตมันจำสภาวะของร่างกายของจิตใจได้แล้วสติเกิดเอง เพราะฉะนั้นร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก พอสติจริงๆ เกิดขึ้นมาเองนี่ จิตมันจะตั้งมั่นอัตโนมัติ ตั้งมั่นขึ้นมาชั่วขณะ พอจิตมันตั้งมั่นชั่วขณะจะมีความรู้สึกว่าร่างกายอยู่ห่างๆ จิตอยู่ห่างๆ จิตกับร่างกายห่างกัน จิตกับเวทนาอยู่ห่างๆ กัน จิตกับสังขาร เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ห่างๆ กัน เราอย่าไปคิดว่าจิตมีดวงเดียวเที่ยววิ่งไปวิ่งมา ที่จริงจิตเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว จนเกิดภาพลวงตาว่าจิตมีดวงเดียว เที่ยววิ่งไปวิ่งมาเหมือนภาพการ์ตูน ซึ่งแต่ละภาพไม่มีความเคลื่อนไหว แต่พอภาพเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว จึงเกิดภาพลวงตาว่าตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ ความจริงจิตนั้นเกิดดับตลอดเวลา จิตไม่ได้เที่ยงนะในขณะที่พวกเราเห็นว่าจิตเที่ยง จิตของเราวันนี้กับจิตของเราตอนเด็กๆ ยังเป็นคนเดิมอยู่เลย จิตของเราวันนี้กับจิตปีหน้าก็คนเดิมอีก จิตของเราเดี๋ยวนี้กับชาติหน้าก็คนเดิมอีก ฉะนั้นบางคนเลยต้องเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เพราะว่ามันเป็นคนเดิม แต่ก็ต้องเลี้ยงนะ ไม่ใช่บอกว่าไม่ต้องทำความดี คอยฝึกไปนะ วันหนึ่งก็จะเห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา เวทนาคือความสุขความทุกข์ไม่ใช่เรา จิตตสังขารไม่ใช่เรา ตัวจิตแท้ๆ ที่เป็นผู้รู้นะ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง เกิดดับเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ตัวเราที่เที่ยงๆ หรอก ตัวเราที่เที่ยงๆ ไม่มี วันใดที่จิตมันเดินปัญญาแก่รอบถึงขนาดนี้แล้ว จิตมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ รวมเองนะ แล้วเกิดอริยมรรคขึ้น โสดาปัตติมรรคจะตัดความเห็นผิดว่ามีตัวเราออกไป พอถอยออกมาจากโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล แล้วกลับมาสู่โลกมนุษย์นี่ เวลาเราดูเข้ามาในจิตใจตัวเองจะไม่มีแม้แต่เงาของความรู้สึกว่ามีตัวเรา เงาก็ไม่มีนะ ถ้าขาดด้วยอริยมรรคแล้ว จะไม่มีความรู้สึกเป็นตัวเราโผล่ขึ้นมาอีกเลย ผู้ใดเห็นว่ากายไม่ใช่เรา จิตใจไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มี นั่นแหละคือภูมิธรรมของพระโสดาบัน ถัดจากนั้นก็มารู้กายรู้ใจต่อไปอีก พระโสดาบันกับปุถุชนก็ภาวนาอย่างเดียวกันนั่นแหละ คือรู้กายรู้ใจเรื่อยๆ ไป รู้ไปอีก รู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนวันหนึ่งมันรู้แจ้งลึกซึ้งขึ้นมาอีก กิเลสตัณหาก็อ่อนกำลังลงไป เรียกว่า พระสกิทาคามี รู้ลงไปอีกภายในใจนะ สติปัญญามันจะขมวดเข้ามาเรียนรู้กายเป็นหลักเลย รู้ลงไป รู้ลงไป กายมันของหยาบ มันดูง่าย ดูไปๆ แล้วละง่าย จะเห็นเลยว่ากายนี้มันเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ วันใดที่เห็นว่ากายเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ก็หมดความยึดถือกาย ก็จะหมดความกลุ้มใจเพราะต้องกระทบอารมณ์ทางกาย กระทั่งกายเรายังไม่ยึดถือเลย เราจะไปยึดถืออารมณ์ที่กระทบทางกายทำไม ที่เรายึดถือร่างกายอยู่ เพราะว่าร่างกายนี้เป็นช่องทางให้เรากระทบอารมณ์ที่น่าเพลิดเพลิน อย่างเรามีตาอยู่ใช่ไหม เราก็ได้ดูรูปสวยๆ อย่างมีหูก็ได้ฟังเสียงไพเราะๆ เสียงดีๆ อย่างมีจมูกได้กลิ่นหอมอยู่ นี่เรารักร่างกายเพราะมันเอาของดีมาให้เรา เรารู้สึกว่ามันดี แต่ถ้าวันหนึ่งเราเห็นกายนี้ทุกข์ล้วนๆ เลย เราก็จะไม่หลงไปในรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะที่มากระทบตาหูจมูกลิ้นกายนี่ จิตมันจะไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย มันพ้นจากความยินดียินร้ายในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เรียกว่ามันพ้นจากกามและปฏิฆะ พระอนาคามีละกามและปฏิฆะได้เพราะไม่ยึดกาย หมดความยึดกายเพราะเห็นความจริงว่ากายนี้ทุกข์ล้วนๆ เห็นอย่างนี้ อย่างไรก็ตาม นักปฏิบัติที่ชำนาญในการดูจิต สามารถมีสติตามรู้จิตจนเห็นความจริงว่า เมื่อใดจิตมีความอยาก เมื่อใดจิตมีความยึดถืออารมณ์ต่างๆ เมื่อนั้นจิตจะทุกข์ เมื่อใดจิตพ้นจากความอยากและความยึดถืออารมณ์ จิตจะไม่ทุกข์ พอเห็นแจ้งอย่างนี้ จิตก็ไม่ยึดถือในกายและกามคุณอารมณ์ จิตพ้นจากกามและปฏิฆะ เป็นพระอนาคามีได้เช่นกัน ทีนี้พอฝึกจนถึงขั้นพระอนาคามี สมาธิจะบริบูรณ์ จิตตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ทั้งวันเลย จะรู้สึกว่าตัวผู้รู้นี่แหละเป็นของดีของวิเศษเป็นที่พึ่งที่อาศัย ถ้าเราอยู่กับตัวผู้รู้นี่เราไม่ทุกข์ ถ้าเราเป็นตัวผู้หลงเมื่อไรถึงจะทุกข์ ฉะนั้นจิตนี้ดีนะ จิตตัวผู้รู้นี่ดี ใจมันจะยึดตัวดีนี้ไว้ ไม่ปล่อยวางจิตต่อเมื่อวันใดมีสติปัญญาแก่รอบจริงๆ เห็นว่าตัวจิตนั้นแหละกลายเป็นตัวทุกข์ให้เราดู มันพลิกของมันเองนะ มันพลิกให้เราดูเอง อยู่ๆ จะไปนึกเอาว่าตัวจิตผู้รู้เป็นตัวทุกข์ มันนึกไม่ออกหรอก เพราะไม่เคยเห็น ต้องมีสติมีปัญญาแก่กล้าพอ มันจะพลิกตัวให้ดูว่ามันทุกข์ล้วนๆ ไม่มีอะไรทุกข์เท่านี้อีกแล้ว อย่างบางคนบอกว่าอกหักทุกข์มาก ตัวจิตผู้รู้นี่ถึงไม่อกหักมันก็ทุกข์ มันทุกข์ยิ่งกว่านั้นอีก มันทุกข์จนเรามีความรู้สึกว่า ถ้าเรารู้มันต่อไป เราจะตายแล้ว อกหักเฉยๆ เรารู้ว่าอกหักไม่ตายนะ อกหักแล้วกำลังกลุ้มใจอยู่ เสียอกเสียใจอยู่ ถ้าเรารู้ว่าเสียอกเสียใจอยู่หายเลย แต่ตัวผู้รู้เวลามันกลายเป็นตัวทุกข์ให้ดูนี่ ยิ่งรู้มันยิ่งทุกข์ ยิ่งรู้มันยิ่งทุกข์ ทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกข์เหมือนจะตายเลย ทุกข์เหมือนไม่ตายก็บ้า นี่ใจมันต้องเห็นทุกข์นะถึงจะยอมวาง ผู้ที่ปล่อยวางจิตได้เรียกว่าพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่านิพพานอยู่ฟากตาย ไม่ภาวนากันจนถึงขีดสุดจริงๆ ไม่ยอมปล่อยวางจิตหรอกเพราะเราหวง ๓ . วิธีเจริญวิปัสสนา ถ้าเราจะทำวิปัสสนาให้ถูกต้อง ขั้นแรก เราต้องรู้สึกกายรู้สึกใจให้ได้ก่อน เพราะ วิปัสสนาคือ “ การมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงลงเป็นปัจจุบัน ” ต้องรู้สึกกายรู้สึกใจให้เป็นขั้นที่สอง “ ต้องสามารถปล่อยให้กายให้ใจเขาทำงาน แสดงไตรลักษณ์ได้ ” การหัดให้มีสติ ก็คือหัดรู้สึกตัว ศัตรูของความรู้สึกตัว ก็คือความหลง ความเผลอนั่นแหละ เผลอไปรู้ เผลอไปฟัง เผลอไปคิด (คือขาดสติ) ศัตรูอีกอย่างหนึ่งก็คือการเพ่งร่างกาย เพ่งจิตใจ (คือบังคับกายบังคับใจ) ซึ่งทำให้กายใจถูกแทรกแซง และแสดงไตรลักษณ์ให้เห็นได้ยาก ถ้าเมื่อไรเรารู้ทันจิตใจของตัวเอง เราก็จะไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด เราจะตื่นขึ้นมา ซึ่งเป็นต้นทางที่จะทำให้เราเดินวิปัสสนาได้ พอตื่นขึ้นมาแล้วก็มีเงื่อนไขอีกอย่างเดียวเท่านั้นเอง คือมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมา เราจะเห็นกายตามความเป็นจริง เห็นจิตใจตามความเป็นจริง คือเห็นไตรลักษณ์ ทำวิปัสสนาหรือเจริญปัญญาได้ ความตื่น ซึ่งทำให้เราหลุดออกจากโลกของความคิด เราหลุดออกจากโลกของความฝัน แล้วมาอยู่ในโลกของความเป็นจริงได้ นี่จึงเป็นต้นทางของการเจริญปัญญา สิ่งที่ผู้ปฏิบัติส่วนหนึ่งขาดอย่างแสนสาหัสเลยนะ คือสัมมาสมาธิ ส่วนใหญ่เราไม่มีสัมมาสมาธิ มีแต่มิจฉาสมาธิ แล้วแยกไม่ออกด้วยว่าอะไรคือสัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิจะไม่มีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ จำไว้นะ ในพระอภิธรรมสอนเอาไว้ว่า “ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ” “ ปัญญา คือการเห็นกายเห็นใจเป็นไตรลักษณ์ ” สัมมาสมาธิไม่เหมือนมิจฉาสมาธิ จิตทุกๆ ดวงมีสมาธิ จำเอาไว้นะ กระทั่งจิตอกุศลก็มีสมาธินะ แต่สัมมาสมาธินี่เกิดยากที่สุด ทำอย่างไรจิตของเราจะตั้งมั่น จิตของคนส่วนใหญ่ที่ว่ามีสมาธิน่ะ เป็นจิตที่เข้าไปตั้งแช่อยู่ที่ตัวอารมณ์ (สิ่งที่ถูกรู้) ไม่ใช่ตั้งมั่นในการรู้อารมณ์ ยกตัวอย่าง เอ้า พวกเราดูพระพุทธรูป ตั้งใจดูนะ ตั้งใจดู รู้สึกจดจ่ออยู่ที่พระ แล้วรู้สึกไหมว่าใจเราไหลไปอยู่ที่พระ เราดูพระรู้เรื่องใช่ไหม เรามีสติ สติเราจับอยู่ที่พระ ใจเรามีสมาธิ ใจเราไปแช่อยู่ที่พระ อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสัมมาสมาธิ เวลาที่เรามีมิจฉาสมาธิ จิตมันจะเคลื่อนไป จิตมันจะไหลลงไปนิ่งๆ อยู่ที่อารมณ์อันใดอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลารู้ลมหายใจ จิตจะไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ ไปรู้ท้องพองยุบ จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง ไปเดินจงกรม ยกเท้าย่างเท้า จิตไหลไปอยู่ที่เท้า ขยับมือทำจังหวะเคลื่อนไหว จิตไหลไปอยู่ที่มือ นี่จิตหลงไป จิตไหลไป อย่างนี้เรียกว่ามิจฉาสมาธิ จะไม่เกิดปัญญา เกิดแต่สมถะนะ นิ่งๆ ไปได้อย่างนั้นแหละ หน้าที่ของเราก็คือพยายามรู้สึกตัวไป อาจจะมีเครื่องอยู่อะไรสักอันหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้ติดเพ่งรุนแรงมาก่อนนะ รู้อะไรสักอย่างขึ้นมาเป็นตัวตั้ง (วิหารธรรม) เช่น พุทโธ หรืออานาปานสติ สมมุติว่าบางคนท่องพุทโธ เอาพุทโธเป็นตัวตั้ง พุทโธแล้วไม่ใช่บังคับจิตให้ไปอยู่ที่พุทโธ พุทโธแล้วจิตไปอยู่ที่พุทโธนี่ก็รู้ จิตหนีไปที่อื่นก็รู้ พุทโธแล้วก็รู้ทันจิต เห็นจิตหนีไปหนีมา เห็นจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตร้าย พุทโธเอาไว้เป็นตัวตั้งเพื่อจะดูจิต ทีนี้จะเกิดปัญญา จิตต้องตั้งมั่นขึ้นมา ต้องรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เป็นคนดู ไม่เผลอไป ไม่ไหลไป ตั้งมั่นอยู่ แต่มีเงื่อนไข ต้องตั้งมั่นอย่างสบายด้วย ตั้งมั่นแบบเบาๆ แบบอ่อนโยน แบบคล่องแคล่วว่องไว แบบไม่ได้ถูกกิเลสครอบงำ ถ้าตั้งแบบแข็งๆ นี่ไม่ใช่ ตั้งแล้วหนักๆ นี่ไม่ใช่ ตั้งแล้วเครียดๆ นี่ไม่ใช่ จิตที่เป็นสัมมาสมาธิมีความเบา มีความนุ่มนวลอ่อนโยน มีความคล่องแคล่วว่องไว มีความซื่อตรงในการรู้อารมณ์ทั้งหลาย ความโลภเกิดขึ้นก็เห็นความโลภเกิดขึ้น เห็นเหมือนกับคนเดินผ่านหน้าบ้าน ความโกรธเกิดขึ้นนะ เห็นความโกรธผ่านมา เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้าน เห็นใจลอยไป ดูเหมือนเห็นคนอื่นใจลอย ใจมันแค่ตั้งมั่นเป็นคนตามรู้ตามดูเรื่อยๆ มันรู้อย่างสบายๆ รู้อย่างมีความสุข สัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต ถ้าถามว่าจิตตั้งมั่น ตั้งอยู่ที่ไหน แล้วตอบว่าตั้งที่ลมหายใจ อันนั้นไม่ใช่ตั้งมั่น จิตตั้งมั่น ต้องตั้งมั่นในการรู้ลมหายใจ จิตอยู่ต่างหาก ลมหายใจอยู่นี่ กายกับจิตมันแยกออกจากกัน จิตตั้งมั่น เวลาเห็นกิเลสจะเห็นกิเลสอยู่ห่างๆ จิตอยู่ต่างหาก แยกออกจากกัน เวลารู้กาย เห็นกายอยู่ห่างๆ จิตแยกออกมา กายกับจิตมีช่องว่างมาคั่น มีระยะห่างในความรู้สึก ไม่ใช่รวมเป็นเนื้อเดียวเดียวกัน อย่างคนที่ไปรู้ลมหายใจ แล้วจิตไหลไปอยู่ที่ลม นี่ไม่มีช่องว่าง จิตกับลมหายใจรวมเป็นเนื้อเดียวกัน อันนี้เป็นการเพ่งอารมณ์ เป็นสมถะ ถ้าจิตตั้งมั่น จิตมันจะแยกออกมาต่างหาก มันเห็นร่างกายหายใจ เหมือนดูคนอื่นหายใจเลย ถ้าพูดภาษาง่ายๆ ตามสภาวะที่เห็นจริงๆ ก็คือ มันเหมือนจิตอยู่ต่างหาก ร่างกายอยู่ต่างหาก กายกับจิตมันแยกกัน มีระยะห่าง มีช่องว่างมาคั่น แต่ไม่ใช่การถอดจิตออกจากร่างนะ มันเป็นการแยกออกโดยความรู้สึกเท่านั้น บางทีจิตก็ถลำวิ่งเข้าไปหากาย บางทีจิตถลำวิ่งไปที่อื่นก็ได้ จิตถลำไปแล้วก็ให้รู้ทัน แล้วจิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาใหม่ จิตที่ตั้งมั่นแล้วจะรู้สึกขึ้นมา พอรู้สึกขึ้นมา มันจะเห็นเลยว่าร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่นี่ไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นทันที แล้วจะเห็นทันทีเลยว่าเวทนา (ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ) ที่ปรากฏอยู่นี้ไม่ใช่ตัวเรา เวทนาไม่ใช่เราเพราะอะไรเพราะเวทนามันแยกออกไปห่างๆ อย่างพวกเรารู้สึกไหม มีใครรู้สึกไหมว่า พัดอันนี้เป็นตัวเรา ไม่มีใช่ไหม เพราะมันอยู่ห่างๆ นึกออกไหม เมื่อจิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้วเกิดสติปัญญา เราจะเห็นเลยว่ามือนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา มันอยู่ห่างๆ ร่างกายอยู่ตรงนี้เลยนี่ อยู่ห่างๆ หมดเลย จิตมันอยู่ต่างหาก จิตมันเป็นคนดู มันจะเห็นตลอดเวลาเลย เห็นได้ทันทีเลยว่า ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา จิตของคนส่วนใหญ่ไม่ตั้งมั่นหรอก จิตส่วนใหญ่ไหลตามอารมณ์ไปเรื่อยๆ ถ้าไหลตามอารมณ์สะเปะสะปะไปเรื่อยๆ เรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน ถ้าไหลไปแล้ว ไปแช่นิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว เขาเรียกว่าการเพ่ง ฉะนั้น สิ่งที่ผิดที่ทำให้เราเจริญวิปัสสนาไม่ได้ก็เลยมีสองอันที่หลวงพ่อบอกว่าเผลอกับเพ่งนั่นเอง เผลอนี่คือจิตมันจับอารมณ์นี้ จับอารมณ์นั้น จับอารมณ์โน้น เปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ สะเปะสะปะไปเรื่อยๆ ดูไม่ทันหรอก เลอะเทอะเปรอะเปื้อนไป อะไรเกิดขึ้นไม่รู้เลย จับอันโน้นที จับอันนี้ที คล้ายๆ ลิงโหนต้นไม้ต้นนั้นต้นนี้นะ ถ้าไหลไปนี้ที ไหลไปโน้นที เรียกว่าฟุ้งซ่าน เรียกว่าหลงไป เรียกว่าเผลอไป อีกอันหนึ่ง จิตถลำไปไหลไป ไหลเหมือนกันนะ แต่ไหลไปอยู่กับสิ่งสิ่งเดียว เหมือนทาร์ซานไปเกาะนิ่งๆ หรือลิงไปเกาะต้นไม้นิ่งๆ ไม่กระโดดไปไหน อันนี้แหละสมถะ นี่แหละเพ่ง มันจะไม่มีปัญญาเกิดขึ้น ถ้าเมื่อไรจิตไม่หลงไป แล้วก็ไม่ได้เพ่งเอาไว้ นั่นแหละ ทางสายกลางอยู่ตรงนั้น ทำอย่างไรเราจะเดินเข้าสู่ทางสายกลางได้ โดยมีจิตซึ่งไม่ได้เผลอไป แล้วก็ไม่ได้เพ่งเอาไว้ วิธีง่ายๆ เลย ขั้นแรกนะ ถ้าเพ่งอยู่ เลิกไปก่อน คนไหนติดสมถะให้เลิกไปก่อน เลิกปฏิบัติไปชั่วครั้งชั่วคราวก่อน เสร็จแล้วก็คอยรู้ทันเวลาจิตเผลอไป จิตไหลไป เผลอไปทางตา เช่น ไหลไปดูพระพุทธรูป เผลอไปทางหู ได้ยินไหม ระฆังดัง รู้สึกไหม ไปตั้งใจฟังระฆังปุ๊บนี่ ได้ยินเสียงระฆัง ลืมกายลืมใจแล้ว เผลอไปทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ เผลอได้ทั้งหมดนั่นแหละ ถ้าเมื่อไรเผลอไป ใจก็ไม่ตั้งมั่น แต่มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง ถ้ามันเผลอแล้วเรารู้ว่าเผลอนะ จิตจะตั้งมั่นพอดีเลย แต่ถ้าเพ่งแล้วรู้ว่าเพ่งนะ จิตไม่ตั้งมั่นหรอก จิตก็ยังเพ่งอยู่ เพราะอะไร เพราะจิตที่เผลอไปฟุ้งซ่านไปเป็นจิตอกุศล ทันทีที่เรารู้ทัน จิตอกุศลจะดับทันที จะเกิดจิตที่ตั้งมั่นในฉับพลันนั้น ส่วนจิตที่เพ่ง ไม่ใช่จิตอกุศลนะ จิตที่เพ่งเป็นจิตที่ทำสมถะ เป็นจิตที่เป็นกุศล เป็นความปรุงแต่งฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้นเราไปรู้อยู่ก็ไม่จำเป็นต้องดับหรอก เว้นแต่ว่าเราจะเลิกเพ่ง การทำจิตให้ตั้งมั่นมีหลายแบบ เพราะคนมีหลากหลาย เช่น บางคนทำฌานได้จนเกิดจิต “ ผู้รู้ ” ที่เรียกว่า “ เอโกทิภาวะ ” เช่น การทำอานาปานสติ หายใจไปแล้วมีสติระลึกรู้ลมหายใจ โดยเอาลมหายใจเป็นอารมณ์ ตัวลมหายใจเรียกว่าบริกรรมนิมิต ดูลมหายใจไปเล่นๆ ดูสบายๆ อย่าไปเป็น อย่าไปเค้นจิต อย่าไปบังคับจิตให้สงบ จิตไม่ชอบให้ใครบังคับนะ ถ้าเราบังคับมันจะเครียด มันจะไม่สงบหรอก ให้รู้เล่นๆ ไป ลมหายใจนี้เป็นบริกรรมนิมิต ลมจะสั้นขึ้นๆ ทีแรกหายใจลงไปถึงท้อง จากนั้นลมจะเบาๆ เหมือนหายใจสั้นๆ เหลือแค่ปลายจมูก ต่อจากนั้นลมจะเปลี่ยนเป็นแสงสว่าง แล้วรวมเป็นดวงสว่างขึ้นมา ถึงจุดนี้ให้เราเปลี่ยนอารมณ์กัมมัฏฐาน เราไม่ได้ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์แล้ว เราใช้ดวงที่มีความสว่างนี้เป็นอารมณ์แทน ดวงนี้เรียกว่าอุคคหนิมิต ดูไปเรื่อยจะเป็นปฏิภาคนิมิต ย่อได้ ขยายได้ มีความสุข มีปีติแล้วมีสติรู้ทันอยู่ที่ใจของเราเอง จนกระทั่งใจมันวางนิมิต ไม่มีวิตกถึงนิมิต ไม่มีวิจารถึงนิมิต ไม่เคล้าไม่เคลีย ไม่นึกถึง ไม่ยกขึ้นมา จะมีภาวะแห่งความรู้ “ ตัวผู้รู้ ” จะเด่นขึ้นมาเรียกว่า “ เอโกทิภาวะ ” คือสมาธิที่มีใจตั้งมั่นขึ้นมาเป็นหนึ่ง ไม่ตรึกตรองในอารมณ์ เวลาเราออกจากสมาธิแล้ว ตัวเอโกทิภาวะยังอยู่ จะประคองรักษาจิตเอาไว้เองโดยที่เราไม่ต้องรักษา จิตจะเป็นผู้รู้ขึ้นมา แล้วจะเห็นเลยว่าร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู นี่คือวิธีทำเต็มรูปแบบ คนรุ่นนี้ทำยาก วันหนึ่งๆ มีแต่ความฟุ้งซ่าน ก็ต้องทำอีกแบบหนึ่ง บางคนทำฌานไม่ได้ แต่อยากให้มีจิตที่ตั้งมั่นเป็น “ ผู้รู้ ” ก็ให้นั่งหายใจไป หรือนั่งดูท้องพองยุบไป ขยับมือทำจังหวะก็ได้ แล้วค่อยๆ ดูไป ร่างกายมันเคลื่อนไหว มีใจเป็นคนดู หรือให้รู้อิริยาบถ ๔ ให้เห็นเลยว่าร่างกายมันมีใจเป็นคนรู้ ร่างกายมันเดินมีใจเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจออก หายใจเข้า มีใจเป็นคนรู้ไปเรื่อย คอยรู้สึก รู้ไปรู้ไปมันจะแยกกายกับใจออกจากกัน มีตัว “ ผู้รู้ ” ขึ้นมา ถ้าหัดรู้ด้วยวิธีนี้จะแยกได้ไม่นาน อีกพวกหนึ่ง ถ้าฝึกให้มีจิต “ ผู้รู้ ” ไม่ได้ ก็ให้หัดเจริญสติในชีวิตประจำวันนี้แหละ เวลาจิตไหลไปหลงไปแล้วรู้ ถึงรู้จุดหนึ่ง ก็เห็นเหมือนกันว่าร่างกายก็แยกจากจิตได้ ถ้าฝึกแบบไม่มีตัว “ ผู้รู้ ” ให้หัดรู้สึกๆ ไปเรื่อยๆ แล้วมันไประลึกได้เองเวลาใจมันตั้งมั่นขึ้นมาโดยไม่มีเจตนาจะตั้งมั่น ทำไมใจถึงตั้งมั่น ก็เพราะสติไปรู้ทันนิวรณ์ขึ้นมา จิตจะตั้งมั่น แต่ตั้งแวบเดียว นี่เราฝึกอย่างนี้ก็ได้ การรู้ทันนิวรณ์ก็คือ เมื่อจิตมีกามฉันท์ (พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย อารมณ์ทางใจ) จิตพยายามก็รู้ จิตสงสัยก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ไปเรื่อย เมื่อไรนิวรณ์เกิดขึ้นแล้วสติไปรู้ นิวรณ์จะดับ เพราะนิวรณ์เป็นกิเลสเกิดร่วมกับสติไม่ได้ พอนิวรณ์ดับ จิตก็มีสมาธิขึ้นมาเอง เพราะศัตรูของสมาธิก็คือนิวรณ์นั่นแหละ เมื่อใจของเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมาได้ เราจะถอดถอนตัวเองออกจากตัวเอง มันเหมือนมีอีกคนหนึ่งเป็นคนดูขึ้นมา ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตใจเป็นของถูกรู้ถูกดู ความสุข ความทุกข์ กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย เป็นของถูกรู้ถูกดู กระทั่งร่างกายก็เป็นของถูกรู้ถูกดู สิ่งใดที่เราเห็นได้ก็ไม่ใช่เราใช่ไหม มันเป็นของที่จิตไปรู้เข้า นี่เราจะค่อยๆ แยกขันธ์คือกายกับใจออกไปนะ การเจริญปัญญาเริ่มต้นด้วยการแยกขันธ์ออกไป พอเรารู้สึกตัวเป็นแล้ว เราจะเห็นสิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี่กระจายออกเป็นกองๆ เรียกว่ากระจายออกไปเป็นขันธ์ๆ แต่ละส่วนๆ ที่กระจายออกไปนั้นไม่มีตัวเรา แต่ถ้าขันธ์ทั้งหลายมารวมตัวอยู่ด้วยกัน เราจะเกิดความสำคัญมั่นหมายขึ้นมาว่านี่เป็นตัวเรา ถ้ามีตัวเราก็มีเราแก่ เราเจ็บ เราตาย มีเราสมหวัง มีเราผิดหวัง มีเราพลัดพรากจากสิ่งที่รัก มีเราไปเจอสิ่งที่ไม่รัก มันก็มีความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าเห็นความจริงว่าตัวเราไม่มี คราวนี้ไม่มีใครแก่ใครเจ็บใครตาย ร่างกายมันแก่ ร่างกายมันเจ็บ ร่างกายมันตาย ไม่ใช่เราแก่ ไม่ใช่เราเจ็บ ไม่ใช่เราตายอีกต่อไปแล้ว ส่วนจิตใจก็เกิดดับตลอดเวลา เดี๋ยวคิดดีเดี๋ยวคิดร้าย เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวโลภเดี๋ยวโกรธเดี๋ยวหลง เดี๋ยววิ่งไปที่ตา เดี๋ยววิ่งไปที่หู เดี๋ยววิ่งไปคิด ทำงานของเขาเอง เขาเกิดดับตลอดเวลา เขาไม่ใช่ตัวเรา นี่ดูอย่างนี้นะ ดูลงในกายเห็นกายไม่ใช่เรา ดูลงไปที่จิตใจเห็นจิตใจไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มีหรอก แต่ละอัน แต่ละขันธ์นี่ พอขันธ์กระจายตัวออกไปแล้ว จะเห็นว่าขันธ์แต่ละขันธ์ไม่ใช่เราแล้ว ขันธ์ก็เป็นแค่ขันธ์เท่านั้นเอง ถ้าเราเจริญสติมากเข้าๆ จนจิตตื่น จะเห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู มันเป็นของที่จิตไปรู้เข้า มันแยกออกไปจากจิต กายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง จะเห็นเลยว่าร่างกายที่เคลื่อนไหวยืนเดินนั่งนอนนี่ เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นว่าเวทนาคือความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์รู้สึกเฉยๆ เป็นแค่สิ่งแปลกปลอมเข้ามา อยู่ห่างๆ มันไม่ใช่จิตด้วย แล้วมันก็ไม่ใช่กายด้วย ถ้ามีสติปัญญาแก่รอบกว่านี้จะเห็นเลยว่า จิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับไป จิตเกิดที่หูแล้วก็ดับไป จิตเกิดที่ใจไปคิดไปนึกแล้วก็ดับไป จิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นอกุศลเป็นจิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วก็ดับ จิตหดหู่เกิดขึ้นแล้วก็ดับ นี่จะเห็นอย่างนี้ การที่เห็นมันเกิดแล้วมันดับ มันเกิดแล้วมันดับ ขาดออกไปเป็นท่อนๆ ไม่ใช่จิตดวงเดียวตั้งแต่เกิดจนตาย แต่จะเห็นจิตขาดเป็นท่อนๆๆ นะ เป็นดวงๆ ไป เห็นอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อให้เห็นว่ามันไม่ใช่อันเดิม จิตที่รู้สึกตัวก็ดวงหนึ่ง จิตที่หลงไปคิดก็ดวงหนึ่ง จิตที่รู้สึกตัวก็ดวงหนึ่ง จิตที่เพ่งอยู่ก็ดวงหนึ่ง คนละดวงกัน ถ้าเราเห็นจิตขาดเป็นดวงๆ เรียกว่า สันตติขาด สันตติคือความสืบเนื่อง สันตตินี่แหละสร้างภาพลวงตาขึ้นมา ถ้าสันตติขาดเราก็จะเห็นของจริง ยกตัวอย่างเหมือนเราดูการ์ตูน เราเห็นว่าตัวการ์ตูนอย่างโดเรม่อน อิ๊คคิวซังมันเดินได้ใช่ไหม วิ่งได้กระโดดได้ ทำท่าโน้นทำท่านี้ได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมันคือรูปที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเลย แต่ละรูปแต่ละรูปมาต่อกัน รูปนี้เกิดแล้วก็ดับ จิตมันจำเอาไว้ อาศัยสัญญาใช่ไหม สัญญาที่หลวงพ่อว่ามันวิปลาสน่ะ อาศัยสัญญาจำรูป รูปแรกมันอยู่ตรงนี้ อีกรูปหนึ่งมันมาอยู่ตรงนี้ นี่อาศัยสัญญานะ มันจำได้ว่าแต่ก่อนอยู่ตรงนี้ แล้วเดี๋ยวนี้มาอยู่ตรงนี้ มันจะรู้สึกเหมือนมันเคลื่อนไหวได้ เราเห็นตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ฉันใด เราก็เห็นจิตวิ่งไปวิ่งมาได้ฉันนั้น นี่เป็นความหลงผิด นี่เป็นภาพลวงตาเท่านั้นเอง แท้จริงจิตก็เกิดดับ เกิดดับเหมือนการ์ตูนทีละรูป ทีละรูป นั่นเอง แต่ว่าสติปัญญาของคนทั่วไปซึ่งไม่เคยฝึกฝนไม่สามารถเห็นได้ ก็จะรู้สึกว่าจิตเที่ยง ถ้าเราสามารถเห็นว่าจิตเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไปเรื่อยๆ ไม่นาน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เราจะเห็นความจริงว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราที่แท้จริงไม่มี มันมีแต่ของเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ถ้าเมื่อไรวันใดเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานะ ทุกอย่างในโลกนี้จะไม่ใช่ตัวเราแล้ว ร่างกายมันไม่ใช่เราตั้งแต่เริ่มหัดเจริญสติแล้ว พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะเห็นเลยว่าร่างกายมันอยู่ต่างหากแล้ว เหลือแต่จิตอันเดียวนี่แหละรู้สึกว่าวิ่งไปวิ่งมา การเจริญสติจนเห็นจิตเกิดดับเกิดดับ เกิดที่ตาแล้วดับ เกิดที่หูแล้วดับ เกิดที่ใจแล้วดับ ก็คือสันตติขาด การที่สันตติขาดนี่แหละคือวิปัสสนาที่แท้จริง ถ้าสันตติยังไม่ขาดยังไม่ใช่วิปัสสนาที่แท้จริง เราต้องค่อยๆ ดูไป ฝึกไปเรื่อยๆ พอสันตติขาดแล้วจะสั่นสะเทือนขึ้นมาเลย บางคนรู้สึกกลัว บางคนรู้สึกเบื่อ บางคนรู้สึกโหวงๆ ตัวเราหายไปแล้ว โหวงๆ เวิ้งว้างหาที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ บางคนเบื่อจิบจิตจับใจเลย เบื่อสุขเบื่อทุกข์ เบื่อทุกอย่าง เบื่อสามี เบื่อภรรยา แต่เบื่ออย่างนี้ไม่ใช่เบื่อด้วยกิเลส มันเบื่อด้วยสติด้วยปัญญา เห็นทุกอย่างไม่มีสาระเลย ไม่มีตัวมีตนอะไร ใจมันจะเบื่อไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างเลย เบื่อสุขกับทุกข์เท่าๆ กัน เบื่อดีกับชั่วเท่าๆ กัน เบื่อหยาบกับละเอียดเท่าๆ กัน เบื่อภายในกับภายนอกเท่าๆ กัน จิตก็หมดแรงดิ้น ไม่ดิ้นรนค้นคว้า บางคนกลัว กลัวมากๆ เลยนะ พอภาวนามาจนเห็นว่าตัวเราไม่มี กลัวเพราะรู้สึกว่าตัวเราหายไปแล้ว ตกอกตกใจขึ้นมา เมื่อสภาวะอันนี้เกิดขึ้นแล้วให้มีสติรู้ทันเข้าไป สภาวะอันนี้ก็เช่นเดียวกับความโกรธความหลงที่เคยเห็นมานั่นเอง คือเกิดแล้วก็ดับเช่นเดียวกัน พอดับไปแล้วใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เราก็ดูกายดูใจของเราต่อไป จิตมันจะค่อยเข้าใจความเป็นจริงมากขึ้นๆ มันจะเห็นเลยว่าความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว โลภโกรธหลงก็ชั่วคราว ฟุ้งซ่านหดหู่ดีใจเสียใจทั้งหมดนี้ชั่วคราวหมดเลย จะเห็นว่าสิ่งใดเกิดแล้วก็ดับไป ทุกอย่างชั่วคราวหมดเลย พอจิตมันยอมรับความจริงว่าทุกอย่างเป็นของชั่วคราว จิตจะหมดแรงดิ้น จิตจะหมดการดิ้นรนค้นคว้าเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ หมดแรงดิ้นรนค้นคว้าที่จะหลีกหนีอารมณ์ที่ไม่พอใจ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางที่แท้จริง ความเป็นกลางเพราะปัญญานี่แหละเป็นความเป็นกลางที่สำคัญมาก ปัญญาตัวนี้เรียกว่า “ สังขารุเปกขาญาณ ” เห็นสุขกับทุกข์มันเท่ากัน นรกกับสวรรค์มันก็เท่ากัน ไม่กลัวนะ หมดความดิ้นรน จิตมันรู้ตื่นแล้วก็เป็นกลาง สักว่ารู้ สักว่าเห็น มันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าเทียมกัน สุขกับทุกข์เท่ากัน มีความสุขเกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ มีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ เมื่อสักว่า สักว่า แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะหมดการดิ้นรนของจิต หมดความปรุงแต่งของจิต จิตจะค่อยๆ ปรุงน้อยลงๆ ถึงจุดหนึ่งหยุดปั๊บลงไป ตรงหยุดปั๊บลงไปนี่จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิโดยสมาธิโดยอัตโนมัติเลย เมื่อรวมเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว ตรงนี้จะไม่คิดไม่นึกอะไรแล้ว จะเห็นสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) เกิดดับขึ้นภายใน ๒-๓ ขณะ ใจนี้สักว่ารู้สักว่าเห็นอย่างแท้จริง ไม่มีกระทั่งความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ สักนิดเดียวเลย ถัดจากนั้น จิตจะวางการรู้สภาวะทบทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ พอทวนกระแสเข้าถึงธาตุรู้แล้วอริยมรรคจะแหวกอาสวะกิเลสทั้งหลายหรือสังโยชน์ทั้งหลาย อาสวะที่ห่อหุ้มจิตอยู่ สังโยชน์ที่แทรกอยู่ในจิตจะถูกทำลายออกไป ตรงกระบวนการทำลายล้างนี่ ๑ ขณะเท่านั้น พอขาดสะบั้นลงแล้ว ตรงนี้เราจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ตรงนี้เป็นผลแล้ว เป็นโลกุตรผลนะ ตรงที่เกิดอริยมรรคเรียกว่าโลกุตตรเหตุ มรรคเป็นเหตุ ผลเป็นผล ตรงที่เห็นเป็นผลนี่จะเห็นไม่เท่ากัน พวกที่สติปัญญาแก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๓ ครั้ง ๓ ขณะ พวกที่ยังไม่แก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะ ถัดจากนั้นจิตจะถอยออกมากลับสู่โลกภายนอกนี้ พอกลับมาสู่โลกภายนอก มันจะทวนกลับเข้าไปพิจารณาใหม่ว่าเมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น มันจะรู้เลยว่ากิเลสตัวไหนหายไปแล้ว กิเลสตัวไหนยังเหลืออยู่ รู้ว่ายังมีงานต้องทำอีก แต่ถ้าตัดครั้งที่สี่เป็นพระอรหันต์นะ มันทวนวับเข้าไป มันจะเห็นนิพพานชัดเจนเลย ไม่มีกิเลสอะไรให้ต้องลดละอีกแล้ว มันไม่มีกิเลสเหลือ จะเห็นนิพพานล้วนๆ เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เราต้องเชื่อพ่อแม่ เราต้องรู้กายรู้ใจของเราไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราจะได้มรดกของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้หอบเอานิพพานแล้วหายไปไหน นิพพานยังอยู่เต็มโลกเต็มบริบูรณ์อยู่นี่แหละ คนมีบุญวาสนามีปัญญาแก่รอบ เจริญวิปัสสนาแก่รอบแล้วก็จะได้รับ นี่รางวัลสูงสุดของชีวิตอยู่ตรงนี้ ชีวิตที่เหลือเป็นชีวิตที่อิสระโปร่งเบา ปราศจากความอยาก ความยึดและความดิ้นรนปรุงแต่ง ไม่มีความทุกข์หรือสิ่งใดครอบงำจิตได้อีกแล้ว ๔ . การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เมื่อเรียนหลักการภาวนาเข้าใจแล้วก็ต้องลงมือปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เราอย่าไปวาดภาพการปฏิบัติธรรม การทำวิปัสสนา หรือการภาวนาว่าต้องไปนั่งหลับหูหลับตา ตัวที่สำคัญที่สุดเลยคือมีสติในชีวิตประจำวันนี่แหละ กิเลสเกิดขึ้นมาตอนไหนก็รู้มันไปตรงนั้น นั่นเรียกว่าภาวนาแล้ว ร่างกายเคลื่อนไหวแล้วรู้สึกอยู่ก็เรียกว่าภาวนาแล้ว จิตใจทำงานไปแล้ว เรารู้เท่าทันอยู่ก็เรียกว่าภาวนาแล้ว เวลาเราทำงานก็ขยันทำงานไป ทำงานแล้วยังมีเวลาเหลือ เราก็คอยรู้กายรู้ใจของเราไป หรือเราทำงานแล้วเกิดเครียดขึ้นมา แวบขึ้นมา เรารู้ทันความเครียด นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว เราทำงาน เราจะรีบให้เสร็จเร็วๆ คนโทรศัพท์มากวน เราโมโหก็รู้ว่าโมโห นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว เห็นไหม ทำงานไป ถึงเวลาพักจะไปกินข้าว ดีใจ รู้ว่าดีใจ นี่ก็ปฏิบัติแล้ว เดินไปกินข้าว ลงมาจากตึก เดินไป เห็นร่างกายเดินอยู่ ใจเราเป็นแค่คนดู นี่ก็ปฏิบัติแล้ว ไปถึงร้านอาหาร ดูอาหารนั่นก็น่ากิน นี่ก็น่ากิน วันนี้หิวเป็นพิเศษ อะไรๆ น่ากินไปหมดเลย ตะกละ ลังเลๆ เห็นเลย ใจกำลังลังเลว่าจะกินอะไรดี บางวันดูจนหัวแถวท้ายแถวหมดทุกร้านแล้ว ไม่มีอะไรน่ากินเลย ชักหงุดหงิด เอ๊ แม่ค้าแถวนี้ทำไมไม่มีพัฒนาการ ขาด innovation (นวัตกรรม) ห่วยแตก โหลยโท่ย แล้วแต่จะด่านะ ถ้าหิวมากก็ด่ามากหน่อยเพราะขาดสติ เราก็รู้ทันใจของเราไปเรื่อย นี่แหละก็ปฏิบัติแล้วใช่ไหม เราจะไปห้องน้ำ เกิดฉุกเฉิน จะต้องรีบเข้าห้องน้ำด่วน พุ่งพรวดเข้าไปถึงห้องน้ำ ห้องน้ำเต็มทุกห้องเลย วิ่งไปอีกที่หนึ่ง อ้าวก็เต็มอีก ใจเราทุรนทุรายเต็มที่แล้ว เพราะว่าศัตรูมารอที่ประตูถ้ำแล้ว สู้มันไม่ไหวแล้ว นี่ทุรนทุรายขึ้นมา กลุ้มอกกลุ้มใจขึ้นมา รู้ทันมันเข้าไป ถึงจะปวดท้อง แต่ใจไม่ปวดไปด้วยหรอก นี่เขาเรียกว่าภาวนา นี่พอเราคอยรู้ทันใจของเราไปเรื่อย แต่ละขณะๆ นี่แหละคือการปฏิบัติ รู้ไปอย่างนี้นะ ไม่นานเราก็จะเห็นความจริง จิตใจของเราไม่คงที่หรอก จิตใจของเราเดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ เดี๋ยวก็ดีขึ้นมา เดี๋ยวก็มีความร่าเริงเบิกบานในธรรมะขึ้นมา เดี๋ยวก็เป็นอธรรม เห็นไหม เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง เราไม่ได้ไปฝึกเป็นยอดมนุษย์ เราฝึกเป็นคนธรรมดานี่แหละ ฝึกอยู่ในชีวิตธรรมดาจนเห็นความจริงว่า ธรรมดาของกายนี้เป็นอย่างนี้ ธรรมดาของใจเป็นอย่างนี้ พอเห็นธรรมดาแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับกายกับใจ ไม่เดือดร้อนแล้ว จะแก่ก็ธรรมดา จะเจ็บก็ธรรมดา จะตายก็ธรรมดา จะพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็ธรรมดา เจอสิ่งที่ไม่รักก็ธรรมดา จะสมหวัง จะผิดหวัง มันเรื่องธรรมดาไปหมด เพราะกายนี้ใจนี้เราเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยอะไรไม่ได้จริงหรอก ต่อไปอะไรเกิดขึ้นในชีวิต มันจะรู้สึกเหมือนกับเป็นเรื่องที่เกิดกับคนอื่น แล้วถ้าไม่มีตัวเรา ใครเป็นผู้ทำกรรม ก็ขันธ์น่ะสิมันทำกรรม ขันธ์มันทำของมันเอง ใครเป็นคนรับผลกรรม ขันธ์น่ะสิมันรับผลกรรม ไม่ใช่เรารับผลกรรม มีการกระทำกรรม แต่ไม่มีเราผู้กระทำกรรม มีผู้รับผลกรรม แต่ไม่มีเราผู้รับผลกรรม ถ้าสติปัญญาแก่รอบนะ เห็นขันธ์มันทำ เราไม่ได้ทำ คราวนี้สิ่งที่ขันธ์ทำจะกลายเป็นกิริยาล้วนๆ เลย เราไม่ได้ทำเสียแล้ว นี่ค่อยเรียนนะ เรียนลงไปจนเห็นเลยว่าตัวเราไม่มี ถ้าตัวเราไม่มีแล้วใครจะทุกข์ ตัวเราไม่มีแล้วใครจะทุกข์ก็เรื่องของมันสิ ถามว่าใครทุกข์ ก็ขันธ์มันทุกข์ กายมันทุกข์ใจมันทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ เราพ้นทุกข์ได้เพราะการรู้ที่ถูกต้อง คือพ้นได้ด้วยปัญญา ส่วนคุณธรรมอื่นๆ เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ศีล เป็นเพียงตัวสนับสนุนเกื้อกูลเท่านั้น ในสังสารวัฏที่ยาวนานนี่ การที่จะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบและได้ฟังธรรมเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเลย วันเวลาที่มีพระพุทธเจ้า มีศาสนาพุทธนี้สั้นมาก โอกาสที่ได้เรียนธรรมะมีไม่มาก มีน้อย ค่อยรู้สึก รู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจไป อย่าให้เสียโอกาสไปวันหนึ่งๆ โดยเปล่าประโยชน์
ทางของพระพระพุทธเจ้าแนวทางการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา จากพระธรรมเทศนาของ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ๑ . โอกาสทองของชีวิต พวกเรามีบุญวาสนา ได้เกิดในแผ่นดินซึ่งศาสนาพุทธยังดำรงอยู่ หลักธรรมแท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าสอนยังได้รับการถ่ายทอดอยู่ เราได้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ได้พบสัตบุรุษ แล้วมีศรัทธาสนใจที่จะศึกษา ยากมากนะที่จะมีสภาวะอย่างนี้ ธรรมะของพระพุทธเจ้ากระจ่าง แจ่มแจ้ง พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง และต้องเห็นผลเร็วด้วย ใครๆ ไปเรียนธรรมะจากพระพุทธเจ้าแล้วถึงอุทานบอก “ แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า เหมือนเปิดของคว่ำให้หงาย ” ง่าย คว่ำๆ อยู่ จับหงาย มันยากเหรอ ธรรมะของพระพุทธเจ้า งดงามในเบื้องต้น คือชี้ทางให้เราเดินไปได้ งดงามในท่ามกลาง คือมีเหตุผลสมบูรณ์ อย่างนี้ถูก อย่างนี้ผิด พิสูจน์ได้ด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา งดงามในที่สุด คือ เราละกิเลสได้จริงๆ ความทุกข์ตกหายไปได้จริงๆ เป็นลำดับๆไป ศาสนาพุทธสอนให้เราเรียนรู้ตัวเอง สิ่งที่เรียกว่าตัวเราคือกายกับใจ ท่านสอนว่า ถ้าเรารักสิ่งใด เราจะทุกข์เพราะสิ่งนั้น สิ่งที่เรารักที่สุดคือตัวเอง คือกายกับใจ ทำไมรัก เพราะเรารู้สึกว่านำความสุขมาให้ อย่างเช่นเรารักตา เรากลัวตาบอด เพราะว่า ตาทำให้เราเห็นของสวยๆ ถ้าตาเห็นแต่ของน่าเกลียดน่ากลัว เราคงไม่อยากมีตา หูก็ทำให้ได้ยินเสียงดีๆ ถ้าได้ยินแต่เสียงไม่อยากฟัง เราก็คงไม่อยากมีหู อายตนะทั้งหลาย ตาหูจมูกลิ้นกายใจมันทำให้เราเชื่อมต่อเข้ากับโลกภายนอกได้ ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นของดี นำความสุขมาให้ แต่ตอนนำความทุกข์มาให้ เราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ไป อย่างน้อยมันก็ยังมีความสุขกระเส็นกระสายให้หวังเล่นๆ มีชีวิตอยู่ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ หวังอะไร หวังจะสุขถาวร หวังจะดีถาวร หวังจะสงบถาวร แต่ความจริงคือ ทุกอย่างชั่วคราว นี่เราหวังลมๆ แล้งๆ หวังสิ่งซึ่งไม่มีจริง หวังอย่างนั้นก็นำความทุกข์มาให้ หวังแล้วก็ไม่มีทางสมหวัง แต่ถ้าเรารู้ลงในกายในใจ มันไม่ใช่ของดีของวิเศษ กายนี้ใจนี้เป็นแต่ตัวทุกข์ พอเห็นอย่างนี้แจ่มแจ้งนะ มันจะวาง ไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจ เมื่อไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจ จะยึดอะไรอีก ไม่มีแล้ว เพราะสิ่งที่ยึดมากที่สุดคือกายกับใจ ระหว่างกายกับใจก็ยึดใจมากกว่ากาย วัตถุประสงค์ของเราชาวพุทธก็คือ ต้องพ้นทุกข์ พ้นทุกข์ก็คือนิพพานนั่นเอง คือพ้นจากความยึดถือกายยึดถือใจ เพราะกายกับใจคือตัวทุกข์ เรามีเป้าหมายอยู่ ๔ เป้าหมาย เป้าหมายที่ ๑ เป็นพระโสดาบัน คือผู้ที่ละความเห็นผิดว่ามีตัวเรา เห็นความจริงแล้วว่าตัวตนที่แท้จริง ตัวตนที่ถาวรนั้นไม่มี มีศีลบริบูรณ์ มีสมาธิ และปัญญาเล็กน้อย เป้าหมายที่ ๒ เป็นพระสกิทาคามี มีสติที่รวดเร็วในการรู้สึกตัว จนกิเลสตัณหาอ่อนกำลังลงไป มีสมาธิปานกลาง มีปัญญาเล็กน้อย เป้าหมายที่ ๓ เป็นพระอนาคามี สามารถปล่อยวางความยึดถือกายได้ จึงพ้นจากกามและปฏิฆะ มีสมาธิสมบูรณ์ มีปัญญาปานกลาง เป้าหมายที่ ๔ เป็นพระอรหันต์ มีศีล สมาธิ และปัญญาสมบูรณ์ สามารถปล่อยวางความยึดถือใจได้ ก็จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ศาสนาพุทธ คือตัวสัมมาทิฏฐิ คือความรู้ถูกความเข้าใจถูกในสภาวธรรม (รูปธรรมและนามธรรม) จนกระทั่งปล่อยวางความยึดถือสภาวธรรมทั้งปวงได้ ซึ่งก็คือ ความรู้แจ้งอริยสัจ อริยสัจมีทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็เป็นอันละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา เมื่อใจเข้าถึงความจริง ยอมรับความจริงแล้ว มันจะไม่ทุกข์ อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญมากเลย ลึกซึ้งที่สุด ถ้าไม่รู้แจ้งอริยสัจ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด วนเวียนอยู่ในความทุกข์ไปเรื่อยๆ พ้นไม่ได้หรอก อริยสัจเป็นความจริงของบรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลาย ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านเหล่านี้เห็นความจริงของโลก ของชีวิต ของจักรวาล หน้าที่ของชาวพุทธคือหน้าที่เรียน ฉะนั้นชาวพุทธเป็นนักเรียนนะ เราต้องเรียนธรรมะ เพื่อวันหนึ่งเราจะได้รู้แจ้งธรรมะของพระอริยเจ้า เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งของพระอริยเจ้า อริยสัจตัวที่หนึ่งชื่อว่าทุกข์ ทุกข์ในอริยสัจแปลว่ากายกับใจ รูปกับนาม เรารู้สึกไหมว่ากายเป็นทุกข์ใจเป็นทุกข์ เราไม่รู้สึกหรอก เรารู้สึกว่ากายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง จิตนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง ตราบใดที่ยังเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง มันจะไม่ยอมปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจหรอก เพราะมันยังมีทางเลือกที่จะให้กายให้ใจเป็นสุข ยังรักอยู่ ยังหวงแหนอยู่ ยังหาทางดิ้นรนให้กายให้ใจมีความสุขอยู่ เมื่อไม่รู้แจ้งในธรรมะของพระอริยเจ้า ไม่แจ้งอริยสัจ ไม่รู้ว่ากายกับใจเป็นตัวทุกข์ จะไม่สามารถปล่อยวางความยึดถือกายความยึดถือใจได้ ยังรักมัน ยังหวงแหนมัน เมื่อรักมันหวงแหนมันนะ สมุทัยก็จะเกิดขึ้น สมุทัยคือตัณหา หมายถึงความอยาก อยากอะไร อยากให้กายมีความสุข อยากให้กายพ้นทุกข์ อยากให้จิตใจมีความสุข อยากให้จิตใจพ้นทุกข์ นี่ความอยากนี้แหละคือตัวตัณหา ถ้าตัณหาเกิดขึ้นแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นอีก มันจะเกิดทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา เบื้องต้นนะ กายกับใจเป็นตัวทุกข์ อันนี้เราไม่เห็นหรอก แต่ว่าเบื้องปลายนี่ ทันทีที่เกิดความอยาก อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์ จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เมื่อเกิดความอยากขึ้นเมื่อไร จิตจะดิ้นรนเมื่อนั้น เมื่อจิตดิ้นรนเมื่อไร จิตจะมีความทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา กายกับใจเป็นตัวทุกข์อยู่แล้วนะ พอเกิดตัณหา เกิดอุปาทานคือความยึดถือ ก็เกิดภพคือการดิ้นรนทำงานของจิต ความทุกข์ก็จะเกิดซ้ำซ้อนขึ้นที่จิตอีกชั้นหนึ่ง เมื่อไม่รู้ทุกข์นะ มันก็เกิดสมุทัย จิตใจก็ดิ้นรนปรุงแต่ง นิโรธก็ไม่ปรากฏ นิโรธคือนิพพาน นิพพานคือสภาวะซึ่งพ้นจากความปรุงแต่ง สภาวะซึ่งพ้นจากตัณหา สภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง มีชื่อเป็นภาษาแขกว่า วิสังขาร สภาวะที่พ้นจากตัณหามีชื่อว่าวิราคะ อันนี้เป็นชื่อของนิพพานทั้งสิ้นเลยนะ เมื่อจิตยังดิ้นรนค้นคว้า จิตยังมีความอยากมีความยึดถืออยู่ นิพพานไม่ปรากฏ ความพ้นทุกข์ไม่มี เพราะยังวนเวียนยึดถือขันธ์อยู่ ต่อเมื่อไรรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยถูกละอัตโนมัติ นิโรธแจ้งอัตโนมัติ อริยมรรคก็เกิดอัตโนมัติเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้เพียงบอกว่าให้เรารู้แจ้งอริยสัจเท่านั้น แต่ท่านบอกวิธีที่จะทำให้เรารู้แจ้งอริยสัจด้วย คือให้รู้ทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งนะ สมุทัยดับเอง นิโรธปรากฏเอง อริยมรรคเกิดขึ้นเอง หากรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันทำกิจของอริยสัจทั้ง ๔ เสร็จสิ้นในขณะเดียวกัน วิธีรู้ทุกข์ที่ท่านสอนก็คือ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือการเห็นอย่างวิเศษ คือเห็นความจริงของกายของใจว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา บังคับไม่ได้ ๒ . พระพุทธเจ้าสอนอะไร บทเรียนที่พระพุทธเจ้าสอนให้พวกเราศึกษานั้นมี ๓ บท คือ บทเรียนที่ ๑ ชื่อว่า สีลสิกขา คือเรียนเรื่องศีล หมายถึงว่าทำอย่างไรจิตของเราจะเป็นธรรมดาๆ จิตใจของเราจะไม่ถูกกิเลสชั่วหยาบครอบงำจนกระทั่งทำความผิด ล้นออกมาทางกายทางวาจา ถ้าเรามีสติคอยรู้ทันจิตใจของเราอยู่เรื่อยๆ กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ไม่ผิดศีลหรอก เช่น ถ้าเรามีสติเรื่อยๆ นะ ตามองเห็นรูป จิตเรายินดียินร้ายขึ้นมา เรารู้ทัน ความยินดียินร้ายก็คืออภิชฌาโทมนัส หรือราคะนั่นเองก็ครอบงำจิตไม่ได้ จิตก็ไม่ทำผิดศีล อย่างเห็นสาวสวยนะ ชอบเขารักเขา มีสติรู้ทันจิตของตัวเอง ว่านี่มีราคะเกิดขึ้น ราคะจะดับไป ก็ไม่ไปหลอกไปลวงอะไรเขาแล้ว ไม่ทำผิดศีล โกรธเขาขึ้นมา อยากฆ่าเขา มีสติรู้ทันลงไปที่ใจของตัวเองที่กำลังโกรธอยู่ พอมีสติรู้ทันนะ ความโกรธก็ครอบงำจิตใจไม่ได้ มันก็ไม่ฆ่าใคร ไม่ตีใคร ไม่ด่าใคร ถ้าเรามีสติอยู่ ศีลจะเกิดขึ้น จิตใจเราจะเป็นปกติธรรมดา แต่ถ้ายังไม่มีศีลที่เกิดจากการสำรวมอินทรีย์ ที่เรียกว่า อินทรียสังวรศีล อย่างนี้ก็มีศีลธรรมดาไปก่อน ให้ตั้งใจรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ตามโอกาสนะ ฉะนั้น ศีลถือเป็นปัจจัยของสมาธิ เป็นพื้นฐานทำให้ทำสมาธิได้ง่าย บทเรียนที่ ๒ ชื่อว่า จิตตสิกขา ชื่อมันก็บอกแล้วว่าเรียนเรื่องจิต เราจะเรียนให้รู้ความจริงว่าจิตชนิดไหนเป็นกุศล จิตชนิดไหนเป็นอกุศล จิตที่เป็นกุศลก็มีหลายแบบ เป็นกุศลทั่วๆ ไป ที่อยู่กับโลก หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลที่ใช้ทำสมถะ หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลที่จะใช้ทำวิปัสสนา เราต้องเรียนไปจนกระทั่งเรารู้ความจริง จิตที่เป็นมหากุศล จิตที่ใช้ทำวิปัสสนาจริงๆ มันจะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุต คือประกอบด้วยปัญญา อสังขาริกังคือเกิดขึ้นเอง ต้องเป็นจิตที่เกิดเองถึงจะมีกำลังกล้า ฉะนั้นเราต้องรู้ไปนะ ต้องเรียนว่าทำอย่างไรเราจะเกิดจิตซึ่งมีกำลังกุศลแก่กล้า ทำอย่างไรสติจะเกิดได้เอง เราต้องรู้ว่าสติเกิดจากอะไร สติเกิดจากถิรสัญญา แปลว่าการที่จิตจำสภาวธรรมได้แม่นยำ ในพระอภิธรรมจะบอกว่า การที่จิตจำสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) ได้แม่นยำ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ หลวงพ่อจะสอนให้หัดดูสภาวะ เช่น ร่างกายเคลื่อนไหว คอยรู้สึก หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก คู้รู้สึก เหยียดรู้สึก พองรู้สึก ยุบรู้สึก เป็นสุขเป็นทุกข์ รู้สึก โลภโกรธหลงขึ้นมา ไม่โลภไม่โกรธไม่หลงขึ้นมา คอยรู้สึก รู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจ รู้สึกไปเรื่อยๆ ทีแรกยังไม่มีสติหรอก คอยตามรู้สึกไปเรื่อยๆ ตามรู้ไปเรื่อย ร่างกายเคลื่อนไหวนะ เผลอเคลื่อนไหวไปก่อนแล้วรู้สึกตัว อ้าวเมื่อกี้เผลอไปเคลื่อนไหว ; โลภไปก่อน แล้วรู้สึกตัว อ้าวเมื่อกี้เผลอไปโลภ ;ใจลอยไปคิดก่อน แล้วรู้สึกตัว รู้ว่าเอ้อเมื่อกี้หลงไปคิดแล้ว การที่จิตมันเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดมันจะจำสภาวะได้ พอมันจำสภาวะได้นะ ต่อไปสติจะเกิดเองโดยไม่ต้องจูงใจให้เกิด สติ คือความระลึกได้ถึงความมีอยู่ของกาย ระลึกได้ถึงความมีอยู่ของใจ การที่จิตมันเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดมันจะจำสภาวะได้ พอมันจำสภาวะได้นะ ต่อไปสติจะเกิดเองโดยไม่ต้องจูงใจให้เกิด สติ คือความระลึกได้ถึงความมีอยู่ของกาย ระลึกได้ถึงความมีอยู่ของใจ สติที่เกิดจากการจงใจทำให้เกิด สติอย่างนี้ใช้ไม่ได้จริงในการทำวิปัสสนา แต่ใช้ทำสมถะได้ เช่น เราจะรู้ลมหายใจ เราก็กำหนดจิตเอาไว้กับลมหายใจ ไม่ให้ลืมลมหายใจเลย เราจะดูท้องพองยุบ เรากำหนดจิตจ่อลงไปที่ท้อง ไม่ให้ลืมท้องเลย เราจะเดินจงกรมยกเท้าย่างเท้า เราเอาสติจ่อลงไปที่เท้า ไม่ขาดสติเลย เท้ากระดิกกิ๊กๆๆๆ รู้หมด จะหยิบขวดน้ำนี่ กิ๊กๆๆๆ เห็นเหมือนรูปการ์ตูนนะ เห็นรูปมันดับ วับๆๆๆ ไป ใจมันจ่ออยู่ที่รูปนี่ สติอย่างนี้ จะรู้สึกว่าเกิดได้ทั้งวัน พวกเราลืมไปอย่างหนึ่งว่า สติหรือกุศลที่เกิดซ้ำๆๆๆ ได้นานๆ จะเกิดในฌานจิต คือเกิดกับจิตที่เพ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่สติที่จะใช้ทำวิปัสสนาอะไรหรอก สติที่เกิดจากการกำหนดไม่ใช่วิปัสสนา ถ้าเรากำหนดใส่ตัวอารมณ์ (สิ่งที่ถูกรู้) เมื่อไหร่จะเป็นสมถะ เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน ถ้าเมื่อไรเรามีสติเพ่งใส่ตัวอารมณ์ เมื่อนั้นเป็นสมถกัมมัฏฐาน จำเอาไว้นะ กระทั่งการเพ่งรูปเพ่งนามก็เป็นสมถกัมมัฏฐาน ต้องเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามถึงจะเป็นวิปัสสนา การจะเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามได้ จิตจะต้องตั้งมั่น ตัวนี้แหละคือตัวสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูเท่านั้นเอง วิธีทำให้เกิดสัมมาสมาธิทำได้หลายอย่าง วิธีที่หนึ่ง ทำฌานจนถึงฌานที่สอง พอถึงฌานที่สอง จิตมันจะตั้งมั่นออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดูในทางตำราจะเรียกว่ามีเอโกทิภาวะ คือภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง คือภาวะของจิตผู้รู้นั่นเอง จิตจะตั้งตัวรู้ขึ้นมา พอเราออกจากฌานแล้วนะ ตัวรู้นี้ยังทรงอยู่ มันจะเห็นทันทีเลยว่า ร่างกายที่ยืนเดินนั่งนอนนี้ไม่ใช่ตัวเรา เห็นทันที เห็นไหม เกิดปัญญาทันที เห็นไตรลักษณ์ทันทีเลย ร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่นี่มันไม่ใช่เราหรอก มันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู มีใครรู้สึกว่าพัดนี้เป็นตัวเราไหม (หลวงพ่อชูพัดให้ดู) ไม่มี เพราะอะไร เพราะมันเป็นของถูกรู้ถูกดู มันอยู่ห่างๆ นึกออกไหม ส่วนร่างกายเรานี่ ถ้าจิตของเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะรู้สึกทันทีว่าร่างกายอยู่ห่างๆ จิตมันแยกออกมา เรียกว่าแยกรูปกับนามออกจากกัน การแยกรูปกับนามออกจากกันนี่มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ทันทีที่แยกออกไป ใจตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เห็นอยู่ทันทีเลยว่า ร่างกายหายใจ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายพองยุบ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายยืนเดินนั่งนอน จิตเป็นคนรู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง จิตเป็นคนรู้ มันแยกออกมาต่างหาก มันจะเกิดปัญญาทันทีเลย เห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายนี้เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุเท่านั้น นี่คือการเจริญปัญญา เรียกว่า ปัญญาสิกขา คือบทเรียนที่ ๓ ส่วนจิตก็สักว่ารู้ สักว่าเห็น จะเห็นเลยว่ากิเลสมันผ่านมาผ่านไป เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้านไปเท่านั้นเอง ไม่เกี่ยวกับเรา อย่างนี้มันผ่านมาแวบแล้วหายไปเลย ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา วิธีที่สอง สำหรับคนที่ทำฌานไม่ได้ ไม่เป็นไร หัดรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยววันหนึ่งมันจะเกิดสมาธิขึ้นมา สมาธิชนิดนี้ ชื่อขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิคือสมาธิชั่วขณะ ฟังดูแล้วกิ๊กก๊อกนะ กระจอกงอกง่อย แหมใครๆ ก็อยากได้อัปปนาสมาธิ แต่ส่วนมากไม่ถึงอัปปนาสมาธิหรอก ฉะนั้นถ้าเราทำอัปปนาสมาธิไม่ได้ ก็ให้เรามีสติดูจิตดูใจของเราไปเรื่อย จิตไหลไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา มันจะค่อยๆ แยกตัวออกมาจากอารมณ์ เช่น จิตมันใจลอย จิตมันไปคิด พอเรารู้ทันนะ จิตมันก็ตื่นขึ้นมาแวบหนึ่ง เราจะเห็นเลยว่าความคิดนั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิต จิตมันโลภขึ้นมา พอเรามีสติรู้ว่าจิตโลภ เราจะเห็นเลยว่าความโลภเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิต แยกออกจากกันนะ เราโกรธขึ้นมา พอเรามีสติรู้ทันปั๊บ เราจะเห็นเลยว่าความโกรธเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิต นี่มันแยกออกมา จิตซึ่งเป็นผู้รู้อารมณ์มันจะตั้งขึ้นมา แต่มันอยู่ชั่วขณะนะ เดี๋ยวมันก็ไหลไปอีก ไม่เหมือนคนที่ทรงฌาน จะอยู่นาน นี่เรามีสมาธิชนิดนี้แหละพอแล้ว แต่ถ้าใครมีบุญวาสนา ทำอัปปนาสมาธิได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าฝืน มันจะกลายเป็นอัปลักษณ์สมาธิ พระพุทธเจ้าสอนว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนที่ไม่ได้ สดับ (หมายถึงคนที่ไม่ได้ฟังธรรมของท่านหรือของพระอริยเจ้า) สามารถเห็นว่ากายไม่ใช่ตัวเรา แต่ไม่สามารถเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา ” มีแต่คำสอนในอริยวินัย ในธรรมะของท่านนี้เท่านั้นที่ทำให้เห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเราได้ เพราะการที่จะเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานี่ยาก เนื่องจากเรายึดถือมานาน เราสำคัญมั่นหมายมานานว่าจิตเป็นตัวเรา พวกเราลองวัดใจตัวเองอย่างซื่อสัตย์นะ ลองวัดใจตัวเองดู เรารู้สึกไหมว่าร่างกายนี้มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ร่างกายของเราเดี๋ยวนี้กับร่างกายของเราตอนเด็กๆ นี่คนละคนกัน รู้สึกไหม มันไม่เหมือนเดิมนะ ร่างกายของเราเดี๋ยวนี้กับตอนวัยรุ่นก็ไม่เหมือนกันใช่ไหม ถ้าอายุขนาดหลวงพ่อ ร่างกายสมัยกลางๆ คนกับตอนนี้ไม่เหมือนกันแล้ว นี่เรารู้ได้ ร่างกายมันไม่เหมือนเดิม แต่เรารู้สึกไหมว่าในร่างกายที่แปรปรวนนี้ มีความรู้สึกว่ามีเราอยู่คนหนึ่ง เราคนนี้กับเราตอนเด็กๆ ยังเป็นเราคนเดิม นี่เราจะสำคัญมั่นหมายว่ามีเราอยู่คนหนึ่ง นั่นคือเราสำคัญว่าจิตคือตัวเรา อันนี้แหละจิตเป็นเราอยู่ ยากมากที่จะเห็นว่าจิตนี้ไม่ใช่เรา ถ้าเมื่อใดเห็นและยอมรับด้วยปัญญาว่าจิตไม่ใช่เรา วันนั้นจะได้พระโสดาบัน จำเอาไว้นะ วิธีที่จะให้เห็นว่าจิตไม่ใช่เรานะ รู้สึกตัวเรื่อยๆ ก่อน เห็นกายไม่ใช่เรา เห็นเวทนา (ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ) ไม่ใช่เรา เห็นจิตตสังขารคือกุศลและอกุศลทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา เป็นของถูกรู้ถูกดูทั้งหมดเลย ต่อมาสังเกตจิตใจ ไม่ต้องรีบสังเกตนะ ฟังหลวงพ่อพูด แล้ววันหนึ่งจิตมันจะไปสังเกตเอง อย่าไปจงใจสังเกต ถ้าจงใจดูจะไม่เจอ ค่อยๆ รู้สึกไป เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้ถูกรู้ใช่ไหม เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้คิดรู้สึกไหม ต้องหัดรู้ตัวจนชำนาญนะ จะรู้จักว่า อ้อ นี่จิตมันรู้ขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวจิตมันก็หลงไปคิด เดี๋ยวจิตมันก็รู้ เดี๋ยวจิตมันก็หลงไปคิด นี่ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปเราจะเห็นว่าจิตนี้มันไม่เที่ยง แรกๆ ก็แค่รู้สึกตัวเอาไว้ ร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก อันนี้จะทำให้เกิดสติอัตโนมัติ จิตมันจำสภาวะของร่างกายของจิตใจได้แล้วสติเกิดเอง เพราะฉะนั้นร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก พอสติจริงๆ เกิดขึ้นมาเองนี่ จิตมันจะตั้งมั่นอัตโนมัติ ตั้งมั่นขึ้นมาชั่วขณะ พอจิตมันตั้งมั่นชั่วขณะจะมีความรู้สึกว่าร่างกายอยู่ห่างๆ จิตอยู่ห่างๆ จิตกับร่างกายห่างกัน จิตกับเวทนาอยู่ห่างๆ กัน จิตกับสังขาร เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ห่างๆ กัน เราอย่าไปคิดว่าจิตมีดวงเดียวเที่ยววิ่งไปวิ่งมา ที่จริงจิตเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว จนเกิดภาพลวงตาว่าจิตมีดวงเดียว เที่ยววิ่งไปวิ่งมาเหมือนภาพการ์ตูน ซึ่งแต่ละภาพไม่มีความเคลื่อนไหว แต่พอภาพเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว จึงเกิดภาพลวงตาว่าตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ ความจริงจิตนั้นเกิดดับตลอดเวลา จิตไม่ได้เที่ยงนะในขณะที่พวกเราเห็นว่าจิตเที่ยง จิตของเราวันนี้กับจิตของเราตอนเด็กๆ ยังเป็นคนเดิมอยู่เลย จิตของเราวันนี้กับจิตปีหน้าก็คนเดิมอีก จิตของเราเดี๋ยวนี้กับชาติหน้าก็คนเดิมอีก ฉะนั้นบางคนเลยต้องเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เพราะว่ามันเป็นคนเดิม แต่ก็ต้องเลี้ยงนะ ไม่ใช่บอกว่าไม่ต้องทำความดี คอยฝึกไปนะ วันหนึ่งก็จะเห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา เวทนาคือความสุขความทุกข์ไม่ใช่เรา จิตตสังขารไม่ใช่เรา ตัวจิตแท้ๆ ที่เป็นผู้รู้นะ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง เกิดดับเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ตัวเราที่เที่ยงๆ หรอก ตัวเราที่เที่ยงๆ ไม่มี วันใดที่จิตมันเดินปัญญาแก่รอบถึงขนาดนี้แล้ว จิตมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ รวมเองนะ แล้วเกิดอริยมรรคขึ้น โสดาปัตติมรรคจะตัดความเห็นผิดว่ามีตัวเราออกไป พอถอยออกมาจากโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล แล้วกลับมาสู่โลกมนุษย์นี่ เวลาเราดูเข้ามาในจิตใจตัวเองจะไม่มีแม้แต่เงาของความรู้สึกว่ามีตัวเรา เงาก็ไม่มีนะ ถ้าขาดด้วยอริยมรรคแล้ว จะไม่มีความรู้สึกเป็นตัวเราโผล่ขึ้นมาอีกเลย ผู้ใดเห็นว่ากายไม่ใช่เรา จิตใจไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มี นั่นแหละคือภูมิธรรมของพระโสดาบัน ถัดจากนั้นก็มารู้กายรู้ใจต่อไปอีก พระโสดาบันกับปุถุชนก็ภาวนาอย่างเดียวกันนั่นแหละ คือรู้กายรู้ใจเรื่อยๆ ไป รู้ไปอีก รู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนวันหนึ่งมันรู้แจ้งลึกซึ้งขึ้นมาอีก กิเลสตัณหาก็อ่อนกำลังลงไป เรียกว่า พระสกิทาคามี รู้ลงไปอีกภายในใจนะ สติปัญญามันจะขมวดเข้ามาเรียนรู้กายเป็นหลักเลย รู้ลงไป รู้ลงไป กายมันของหยาบ มันดูง่าย ดูไปๆ แล้วละง่าย จะเห็นเลยว่ากายนี้มันเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ วันใดที่เห็นว่ากายเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ก็หมดความยึดถือกาย ก็จะหมดความกลุ้มใจเพราะต้องกระทบอารมณ์ทางกาย กระทั่งกายเรายังไม่ยึดถือเลย เราจะไปยึดถืออารมณ์ที่กระทบทางกายทำไม ที่เรายึดถือร่างกายอยู่ เพราะว่าร่างกายนี้เป็นช่องทางให้เรากระทบอารมณ์ที่น่าเพลิดเพลิน อย่างเรามีตาอยู่ใช่ไหม เราก็ได้ดูรูปสวยๆ อย่างมีหูก็ได้ฟังเสียงไพเราะๆ เสียงดีๆ อย่างมีจมูกได้กลิ่นหอมอยู่ นี่เรารักร่างกายเพราะมันเอาของดีมาให้เรา เรารู้สึกว่ามันดี แต่ถ้าวันหนึ่งเราเห็นกายนี้ทุกข์ล้วนๆ เลย เราก็จะไม่หลงไปในรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะที่มากระทบตาหูจมูกลิ้นกายนี่ จิตมันจะไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย มันพ้นจากความยินดียินร้ายในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เรียกว่ามันพ้นจากกามและปฏิฆะ พระอนาคามีละกามและปฏิฆะได้เพราะไม่ยึดกาย หมดความยึดกายเพราะเห็นความจริงว่ากายนี้ทุกข์ล้วนๆ เห็นอย่างนี้ อย่างไรก็ตาม นักปฏิบัติที่ชำนาญในการดูจิต สามารถมีสติตามรู้จิตจนเห็นความจริงว่า เมื่อใดจิตมีความอยาก เมื่อใดจิตมีความยึดถืออารมณ์ต่างๆ เมื่อนั้นจิตจะทุกข์ เมื่อใดจิตพ้นจากความอยากและความยึดถืออารมณ์ จิตจะไม่ทุกข์ พอเห็นแจ้งอย่างนี้ จิตก็ไม่ยึดถือในกายและกามคุณอารมณ์ จิตพ้นจากกามและปฏิฆะ เป็นพระอนาคามีได้เช่นกัน ทีนี้พอฝึกจนถึงขั้นพระอนาคามี สมาธิจะบริบูรณ์ จิตตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ทั้งวันเลย จะรู้สึกว่าตัวผู้รู้นี่แหละเป็นของดีของวิเศษเป็นที่พึ่งที่อาศัย ถ้าเราอยู่กับตัวผู้รู้นี่เราไม่ทุกข์ ถ้าเราเป็นตัวผู้หลงเมื่อไรถึงจะทุกข์ ฉะนั้นจิตนี้ดีนะ จิตตัวผู้รู้นี่ดี ใจมันจะยึดตัวดีนี้ไว้ ไม่ปล่อยวางจิตต่อเมื่อวันใดมีสติปัญญาแก่รอบจริงๆ เห็นว่าตัวจิตนั้นแหละกลายเป็นตัวทุกข์ให้เราดู มันพลิกของมันเองนะ มันพลิกให้เราดูเอง อยู่ๆ จะไปนึกเอาว่าตัวจิตผู้รู้เป็นตัวทุกข์ มันนึกไม่ออกหรอก เพราะไม่เคยเห็น ต้องมีสติมีปัญญาแก่กล้าพอ มันจะพลิกตัวให้ดูว่ามันทุกข์ล้วนๆ ไม่มีอะไรทุกข์เท่านี้อีกแล้ว อย่างบางคนบอกว่าอกหักทุกข์มาก ตัวจิตผู้รู้นี่ถึงไม่อกหักมันก็ทุกข์ มันทุกข์ยิ่งกว่านั้นอีก มันทุกข์จนเรามีความรู้สึกว่า ถ้าเรารู้มันต่อไป เราจะตายแล้ว อกหักเฉยๆ เรารู้ว่าอกหักไม่ตายนะ อกหักแล้วกำลังกลุ้มใจอยู่ เสียอกเสียใจอยู่ ถ้าเรารู้ว่าเสียอกเสียใจอยู่หายเลย แต่ตัวผู้รู้เวลามันกลายเป็นตัวทุกข์ให้ดูนี่ ยิ่งรู้มันยิ่งทุกข์ ยิ่งรู้มันยิ่งทุกข์ ทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกข์เหมือนจะตายเลย ทุกข์เหมือนไม่ตายก็บ้า นี่ใจมันต้องเห็นทุกข์นะถึงจะยอมวาง ผู้ที่ปล่อยวางจิตได้เรียกว่าพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่านิพพานอยู่ฟากตาย ไม่ภาวนากันจนถึงขีดสุดจริงๆ ไม่ยอมปล่อยวางจิตหรอกเพราะเราหวง ๓ . วิธีเจริญวิปัสสนา ถ้าเราจะทำวิปัสสนาให้ถูกต้อง ขั้นแรก เราต้องรู้สึกกายรู้สึกใจให้ได้ก่อน เพราะ วิปัสสนาคือ “ การมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงลงเป็นปัจจุบัน ” ต้องรู้สึกกายรู้สึกใจให้เป็นขั้นที่สอง “ ต้องสามารถปล่อยให้กายให้ใจเขาทำงาน แสดงไตรลักษณ์ได้ ” การหัดให้มีสติ ก็คือหัดรู้สึกตัว ศัตรูของความรู้สึกตัว ก็คือความหลง ความเผลอนั่นแหละ เผลอไปรู้ เผลอไปฟัง เผลอไปคิด (คือขาดสติ) ศัตรูอีกอย่างหนึ่งก็คือการเพ่งร่างกาย เพ่งจิตใจ (คือบังคับกายบังคับใจ) ซึ่งทำให้กายใจถูกแทรกแซง และแสดงไตรลักษณ์ให้เห็นได้ยาก ถ้าเมื่อไรเรารู้ทันจิตใจของตัวเอง เราก็จะไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด เราจะตื่นขึ้นมา ซึ่งเป็นต้นทางที่จะทำให้เราเดินวิปัสสนาได้ พอตื่นขึ้นมาแล้วก็มีเงื่อนไขอีกอย่างเดียวเท่านั้นเอง คือมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมา เราจะเห็นกายตามความเป็นจริง เห็นจิตใจตามความเป็นจริง คือเห็นไตรลักษณ์ ทำวิปัสสนาหรือเจริญปัญญาได้ ความตื่น ซึ่งทำให้เราหลุดออกจากโลกของความคิด เราหลุดออกจากโลกของความฝัน แล้วมาอยู่ในโลกของความเป็นจริงได้ นี่จึงเป็นต้นทางของการเจริญปัญญา สิ่งที่ผู้ปฏิบัติส่วนหนึ่งขาดอย่างแสนสาหัสเลยนะ คือสัมมาสมาธิ ส่วนใหญ่เราไม่มีสัมมาสมาธิ มีแต่มิจฉาสมาธิ แล้วแยกไม่ออกด้วยว่าอะไรคือสัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิจะไม่มีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ จำไว้นะ ในพระอภิธรรมสอนเอาไว้ว่า “ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ” “ ปัญญา คือการเห็นกายเห็นใจเป็นไตรลักษณ์ ” สัมมาสมาธิไม่เหมือนมิจฉาสมาธิ จิตทุกๆ ดวงมีสมาธิ จำเอาไว้นะ กระทั่งจิตอกุศลก็มีสมาธินะ แต่สัมมาสมาธินี่เกิดยากที่สุด ทำอย่างไรจิตของเราจะตั้งมั่น จิตของคนส่วนใหญ่ที่ว่ามีสมาธิน่ะ เป็นจิตที่เข้าไปตั้งแช่อยู่ที่ตัวอารมณ์ (สิ่งที่ถูกรู้) ไม่ใช่ตั้งมั่นในการรู้อารมณ์ ยกตัวอย่าง เอ้า พวกเราดูพระพุทธรูป ตั้งใจดูนะ ตั้งใจดู รู้สึกจดจ่ออยู่ที่พระ แล้วรู้สึกไหมว่าใจเราไหลไปอยู่ที่พระ เราดูพระรู้เรื่องใช่ไหม เรามีสติ สติเราจับอยู่ที่พระ ใจเรามีสมาธิ ใจเราไปแช่อยู่ที่พระ อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสัมมาสมาธิ เวลาที่เรามีมิจฉาสมาธิ จิตมันจะเคลื่อนไป จิตมันจะไหลลงไปนิ่งๆ อยู่ที่อารมณ์อันใดอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลารู้ลมหายใจ จิตจะไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ ไปรู้ท้องพองยุบ จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง ไปเดินจงกรม ยกเท้าย่างเท้า จิตไหลไปอยู่ที่เท้า ขยับมือทำจังหวะเคลื่อนไหว จิตไหลไปอยู่ที่มือ นี่จิตหลงไป จิตไหลไป อย่างนี้เรียกว่ามิจฉาสมาธิ จะไม่เกิดปัญญา เกิดแต่สมถะนะ นิ่งๆ ไปได้อย่างนั้นแหละ หน้าที่ของเราก็คือพยายามรู้สึกตัวไป อาจจะมีเครื่องอยู่อะไรสักอันหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้ติดเพ่งรุนแรงมาก่อนนะ รู้อะไรสักอย่างขึ้นมาเป็นตัวตั้ง (วิหารธรรม) เช่น พุทโธ หรืออานาปานสติ สมมุติว่าบางคนท่องพุทโธ เอาพุทโธเป็นตัวตั้ง พุทโธแล้วไม่ใช่บังคับจิตให้ไปอยู่ที่พุทโธ พุทโธแล้วจิตไปอยู่ที่พุทโธนี่ก็รู้ จิตหนีไปที่อื่นก็รู้ พุทโธแล้วก็รู้ทันจิต เห็นจิตหนีไปหนีมา เห็นจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตร้าย พุทโธเอาไว้เป็นตัวตั้งเพื่อจะดูจิต ทีนี้จะเกิดปัญญา จิตต้องตั้งมั่นขึ้นมา ต้องรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เป็นคนดู ไม่เผลอไป ไม่ไหลไป ตั้งมั่นอยู่ แต่มีเงื่อนไข ต้องตั้งมั่นอย่างสบายด้วย ตั้งมั่นแบบเบาๆ แบบอ่อนโยน แบบคล่องแคล่วว่องไว แบบไม่ได้ถูกกิเลสครอบงำ ถ้าตั้งแบบแข็งๆ นี่ไม่ใช่ ตั้งแล้วหนักๆ นี่ไม่ใช่ ตั้งแล้วเครียดๆ นี่ไม่ใช่ จิตที่เป็นสัมมาสมาธิมีความเบา มีความนุ่มนวลอ่อนโยน มีความคล่องแคล่วว่องไว มีความซื่อตรงในการรู้อารมณ์ทั้งหลาย ความโลภเกิดขึ้นก็เห็นความโลภเกิดขึ้น เห็นเหมือนกับคนเดินผ่านหน้าบ้าน ความโกรธเกิดขึ้นนะ เห็นความโกรธผ่านมา เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้าน เห็นใจลอยไป ดูเหมือนเห็นคนอื่นใจลอย ใจมันแค่ตั้งมั่นเป็นคนตามรู้ตามดูเรื่อยๆ มันรู้อย่างสบายๆ รู้อย่างมีความสุข สัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต ถ้าถามว่าจิตตั้งมั่น ตั้งอยู่ที่ไหน แล้วตอบว่าตั้งที่ลมหายใจ อันนั้นไม่ใช่ตั้งมั่น จิตตั้งมั่น ต้องตั้งมั่นในการรู้ลมหายใจ จิตอยู่ต่างหาก ลมหายใจอยู่นี่ กายกับจิตมันแยกออกจากกัน จิตตั้งมั่น เวลาเห็นกิเลสจะเห็นกิเลสอยู่ห่างๆ จิตอยู่ต่างหาก แยกออกจากกัน เวลารู้กาย เห็นกายอยู่ห่างๆ จิตแยกออกมา กายกับจิตมีช่องว่างมาคั่น มีระยะห่างในความรู้สึก ไม่ใช่รวมเป็นเนื้อเดียวเดียวกัน อย่างคนที่ไปรู้ลมหายใจ แล้วจิตไหลไปอยู่ที่ลม นี่ไม่มีช่องว่าง จิตกับลมหายใจรวมเป็นเนื้อเดียวกัน อันนี้เป็นการเพ่งอารมณ์ เป็นสมถะ ถ้าจิตตั้งมั่น จิตมันจะแยกออกมาต่างหาก มันเห็นร่างกายหายใจ เหมือนดูคนอื่นหายใจเลย ถ้าพูดภาษาง่ายๆ ตามสภาวะที่เห็นจริงๆ ก็คือ มันเหมือนจิตอยู่ต่างหาก ร่างกายอยู่ต่างหาก กายกับจิตมันแยกกัน มีระยะห่าง มีช่องว่างมาคั่น แต่ไม่ใช่การถอดจิตออกจากร่างนะ มันเป็นการแยกออกโดยความรู้สึกเท่านั้น บางทีจิตก็ถลำวิ่งเข้าไปหากาย บางทีจิตถลำวิ่งไปที่อื่นก็ได้ จิตถลำไปแล้วก็ให้รู้ทัน แล้วจิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาใหม่ จิตที่ตั้งมั่นแล้วจะรู้สึกขึ้นมา พอรู้สึกขึ้นมา มันจะเห็นเลยว่าร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่นี่ไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นทันที แล้วจะเห็นทันทีเลยว่าเวทนา (ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ) ที่ปรากฏอยู่นี้ไม่ใช่ตัวเรา เวทนาไม่ใช่เราเพราะอะไรเพราะเวทนามันแยกออกไปห่างๆ อย่างพวกเรารู้สึกไหม มีใครรู้สึกไหมว่า พัดอันนี้เป็นตัวเรา ไม่มีใช่ไหม เพราะมันอยู่ห่างๆ นึกออกไหม เมื่อจิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้วเกิดสติปัญญา เราจะเห็นเลยว่ามือนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา มันอยู่ห่างๆ ร่างกายอยู่ตรงนี้เลยนี่ อยู่ห่างๆ หมดเลย จิตมันอยู่ต่างหาก จิตมันเป็นคนดู มันจะเห็นตลอดเวลาเลย เห็นได้ทันทีเลยว่า ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา จิตของคนส่วนใหญ่ไม่ตั้งมั่นหรอก จิตส่วนใหญ่ไหลตามอารมณ์ไปเรื่อยๆ ถ้าไหลตามอารมณ์สะเปะสะปะไปเรื่อยๆ เรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน ถ้าไหลไปแล้ว ไปแช่นิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว เขาเรียกว่าการเพ่ง ฉะนั้น สิ่งที่ผิดที่ทำให้เราเจริญวิปัสสนาไม่ได้ก็เลยมีสองอันที่หลวงพ่อบอกว่าเผลอกับเพ่งนั่นเอง เผลอนี่คือจิตมันจับอารมณ์นี้ จับอารมณ์นั้น จับอารมณ์โน้น เปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ สะเปะสะปะไปเรื่อยๆ ดูไม่ทันหรอก เลอะเทอะเปรอะเปื้อนไป อะไรเกิดขึ้นไม่รู้เลย จับอันโน้นที จับอันนี้ที คล้ายๆ ลิงโหนต้นไม้ต้นนั้นต้นนี้นะ ถ้าไหลไปนี้ที ไหลไปโน้นที เรียกว่าฟุ้งซ่าน เรียกว่าหลงไป เรียกว่าเผลอไป อีกอันหนึ่ง จิตถลำไปไหลไป ไหลเหมือนกันนะ แต่ไหลไปอยู่กับสิ่งสิ่งเดียว เหมือนทาร์ซานไปเกาะนิ่งๆ หรือลิงไปเกาะต้นไม้นิ่งๆ ไม่กระโดดไปไหน อันนี้แหละสมถะ นี่แหละเพ่ง มันจะไม่มีปัญญาเกิดขึ้น ถ้าเมื่อไรจิตไม่หลงไป แล้วก็ไม่ได้เพ่งเอาไว้ นั่นแหละ ทางสายกลางอยู่ตรงนั้น ทำอย่างไรเราจะเดินเข้าสู่ทางสายกลางได้ โดยมีจิตซึ่งไม่ได้เผลอไป แล้วก็ไม่ได้เพ่งเอาไว้ วิธีง่ายๆ เลย ขั้นแรกนะ ถ้าเพ่งอยู่ เลิกไปก่อน คนไหนติดสมถะให้เลิกไปก่อน เลิกปฏิบัติไปชั่วครั้งชั่วคราวก่อน เสร็จแล้วก็คอยรู้ทันเวลาจิตเผลอไป จิตไหลไป เผลอไปทางตา เช่น ไหลไปดูพระพุทธรูป เผลอไปทางหู ได้ยินไหม ระฆังดัง รู้สึกไหม ไปตั้งใจฟังระฆังปุ๊บนี่ ได้ยินเสียงระฆัง ลืมกายลืมใจแล้ว เผลอไปทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ เผลอได้ทั้งหมดนั่นแหละ ถ้าเมื่อไรเผลอไป ใจก็ไม่ตั้งมั่น แต่มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง ถ้ามันเผลอแล้วเรารู้ว่าเผลอนะ จิตจะตั้งมั่นพอดีเลย แต่ถ้าเพ่งแล้วรู้ว่าเพ่งนะ จิตไม่ตั้งมั่นหรอก จิตก็ยังเพ่งอยู่ เพราะอะไร เพราะจิตที่เผลอไปฟุ้งซ่านไปเป็นจิตอกุศล ทันทีที่เรารู้ทัน จิตอกุศลจะดับทันที จะเกิดจิตที่ตั้งมั่นในฉับพลันนั้น ส่วนจิตที่เพ่ง ไม่ใช่จิตอกุศลนะ จิตที่เพ่งเป็นจิตที่ทำสมถะ เป็นจิตที่เป็นกุศล เป็นความปรุงแต่งฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้นเราไปรู้อยู่ก็ไม่จำเป็นต้องดับหรอก เว้นแต่ว่าเราจะเลิกเพ่ง การทำจิตให้ตั้งมั่นมีหลายแบบ เพราะคนมีหลากหลาย เช่น บางคนทำฌานได้จนเกิดจิต “ ผู้รู้ ” ที่เรียกว่า “ เอโกทิภาวะ ” เช่น การทำอานาปานสติ หายใจไปแล้วมีสติระลึกรู้ลมหายใจ โดยเอาลมหายใจเป็นอารมณ์ ตัวลมหายใจเรียกว่าบริกรรมนิมิต ดูลมหายใจไปเล่นๆ ดูสบายๆ อย่าไปเป็น อย่าไปเค้นจิต อย่าไปบังคับจิตให้สงบ จิตไม่ชอบให้ใครบังคับนะ ถ้าเราบังคับมันจะเครียด มันจะไม่สงบหรอก ให้รู้เล่นๆ ไป ลมหายใจนี้เป็นบริกรรมนิมิต ลมจะสั้นขึ้นๆ ทีแรกหายใจลงไปถึงท้อง จากนั้นลมจะเบาๆ เหมือนหายใจสั้นๆ เหลือแค่ปลายจมูก ต่อจากนั้นลมจะเปลี่ยนเป็นแสงสว่าง แล้วรวมเป็นดวงสว่างขึ้นมา ถึงจุดนี้ให้เราเปลี่ยนอารมณ์กัมมัฏฐาน เราไม่ได้ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์แล้ว เราใช้ดวงที่มีความสว่างนี้เป็นอารมณ์แทน ดวงนี้เรียกว่าอุคคหนิมิต ดูไปเรื่อยจะเป็นปฏิภาคนิมิต ย่อได้ ขยายได้ มีความสุข มีปีติแล้วมีสติรู้ทันอยู่ที่ใจของเราเอง จนกระทั่งใจมันวางนิมิต ไม่มีวิตกถึงนิมิต ไม่มีวิจารถึงนิมิต ไม่เคล้าไม่เคลีย ไม่นึกถึง ไม่ยกขึ้นมา จะมีภาวะแห่งความรู้ “ ตัวผู้รู้ ” จะเด่นขึ้นมาเรียกว่า “ เอโกทิภาวะ ” คือสมาธิที่มีใจตั้งมั่นขึ้นมาเป็นหนึ่ง ไม่ตรึกตรองในอารมณ์ เวลาเราออกจากสมาธิแล้ว ตัวเอโกทิภาวะยังอยู่ จะประคองรักษาจิตเอาไว้เองโดยที่เราไม่ต้องรักษา จิตจะเป็นผู้รู้ขึ้นมา แล้วจะเห็นเลยว่าร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู นี่คือวิธีทำเต็มรูปแบบ คนรุ่นนี้ทำยาก วันหนึ่งๆ มีแต่ความฟุ้งซ่าน ก็ต้องทำอีกแบบหนึ่ง บางคนทำฌานไม่ได้ แต่อยากให้มีจิตที่ตั้งมั่นเป็น “ ผู้รู้ ” ก็ให้นั่งหายใจไป หรือนั่งดูท้องพองยุบไป ขยับมือทำจังหวะก็ได้ แล้วค่อยๆ ดูไป ร่างกายมันเคลื่อนไหว มีใจเป็นคนดู หรือให้รู้อิริยาบถ ๔ ให้เห็นเลยว่าร่างกายมันมีใจเป็นคนรู้ ร่างกายมันเดินมีใจเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจออก หายใจเข้า มีใจเป็นคนรู้ไปเรื่อย คอยรู้สึก รู้ไปรู้ไปมันจะแยกกายกับใจออกจากกัน มีตัว “ ผู้รู้ ” ขึ้นมา ถ้าหัดรู้ด้วยวิธีนี้จะแยกได้ไม่นาน อีกพวกหนึ่ง ถ้าฝึกให้มีจิต “ ผู้รู้ ” ไม่ได้ ก็ให้หัดเจริญสติในชีวิตประจำวันนี้แหละ เวลาจิตไหลไปหลงไปแล้วรู้ ถึงรู้จุดหนึ่ง ก็เห็นเหมือนกันว่าร่างกายก็แยกจากจิตได้ ถ้าฝึกแบบไม่มีตัว “ ผู้รู้ ” ให้หัดรู้สึกๆ ไปเรื่อยๆ แล้วมันไประลึกได้เองเวลาใจมันตั้งมั่นขึ้นมาโดยไม่มีเจตนาจะตั้งมั่น ทำไมใจถึงตั้งมั่น ก็เพราะสติไปรู้ทันนิวรณ์ขึ้นมา จิตจะตั้งมั่น แต่ตั้งแวบเดียว นี่เราฝึกอย่างนี้ก็ได้ การรู้ทันนิวรณ์ก็คือ เมื่อจิตมีกามฉันท์ (พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย อารมณ์ทางใจ) จิตพยายามก็รู้ จิตสงสัยก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ไปเรื่อย เมื่อไรนิวรณ์เกิดขึ้นแล้วสติไปรู้ นิวรณ์จะดับ เพราะนิวรณ์เป็นกิเลสเกิดร่วมกับสติไม่ได้ พอนิวรณ์ดับ จิตก็มีสมาธิขึ้นมาเอง เพราะศัตรูของสมาธิก็คือนิวรณ์นั่นแหละ เมื่อใจของเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมาได้ เราจะถอดถอนตัวเองออกจากตัวเอง มันเหมือนมีอีกคนหนึ่งเป็นคนดูขึ้นมา ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตใจเป็นของถูกรู้ถูกดู ความสุข ความทุกข์ กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย เป็นของถูกรู้ถูกดู กระทั่งร่างกายก็เป็นของถูกรู้ถูกดู สิ่งใดที่เราเห็นได้ก็ไม่ใช่เราใช่ไหม มันเป็นของที่จิตไปรู้เข้า นี่เราจะค่อยๆ แยกขันธ์คือกายกับใจออกไปนะ การเจริญปัญญาเริ่มต้นด้วยการแยกขันธ์ออกไป พอเรารู้สึกตัวเป็นแล้ว เราจะเห็นสิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี่กระจายออกเป็นกองๆ เรียกว่ากระจายออกไปเป็นขันธ์ๆ แต่ละส่วนๆ ที่กระจายออกไปนั้นไม่มีตัวเรา แต่ถ้าขันธ์ทั้งหลายมารวมตัวอยู่ด้วยกัน เราจะเกิดความสำคัญมั่นหมายขึ้นมาว่านี่เป็นตัวเรา ถ้ามีตัวเราก็มีเราแก่ เราเจ็บ เราตาย มีเราสมหวัง มีเราผิดหวัง มีเราพลัดพรากจากสิ่งที่รัก มีเราไปเจอสิ่งที่ไม่รัก มันก็มีความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าเห็นความจริงว่าตัวเราไม่มี คราวนี้ไม่มีใครแก่ใครเจ็บใครตาย ร่างกายมันแก่ ร่างกายมันเจ็บ ร่างกายมันตาย ไม่ใช่เราแก่ ไม่ใช่เราเจ็บ ไม่ใช่เราตายอีกต่อไปแล้ว ส่วนจิตใจก็เกิดดับตลอดเวลา เดี๋ยวคิดดีเดี๋ยวคิดร้าย เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวโลภเดี๋ยวโกรธเดี๋ยวหลง เดี๋ยววิ่งไปที่ตา เดี๋ยววิ่งไปที่หู เดี๋ยววิ่งไปคิด ทำงานของเขาเอง เขาเกิดดับตลอดเวลา เขาไม่ใช่ตัวเรา นี่ดูอย่างนี้นะ ดูลงในกายเห็นกายไม่ใช่เรา ดูลงไปที่จิตใจเห็นจิตใจไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มีหรอก แต่ละอัน แต่ละขันธ์นี่ พอขันธ์กระจายตัวออกไปแล้ว จะเห็นว่าขันธ์แต่ละขันธ์ไม่ใช่เราแล้ว ขันธ์ก็เป็นแค่ขันธ์เท่านั้นเอง ถ้าเราเจริญสติมากเข้าๆ จนจิตตื่น จะเห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู มันเป็นของที่จิตไปรู้เข้า มันแยกออกไปจากจิต กายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง จะเห็นเลยว่าร่างกายที่เคลื่อนไหวยืนเดินนั่งนอนนี่ เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นว่าเวทนาคือความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์รู้สึกเฉยๆ เป็นแค่สิ่งแปลกปลอมเข้ามา อยู่ห่างๆ มันไม่ใช่จิตด้วย แล้วมันก็ไม่ใช่กายด้วย ถ้ามีสติปัญญาแก่รอบกว่านี้จะเห็นเลยว่า จิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับไป จิตเกิดที่หูแล้วก็ดับไป จิตเกิดที่ใจไปคิดไปนึกแล้วก็ดับไป จิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นอกุศลเป็นจิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วก็ดับ จิตหดหู่เกิดขึ้นแล้วก็ดับ นี่จะเห็นอย่างนี้ การที่เห็นมันเกิดแล้วมันดับ มันเกิดแล้วมันดับ ขาดออกไปเป็นท่อนๆ ไม่ใช่จิตดวงเดียวตั้งแต่เกิดจนตาย แต่จะเห็นจิตขาดเป็นท่อนๆๆ นะ เป็นดวงๆ ไป เห็นอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อให้เห็นว่ามันไม่ใช่อันเดิม จิตที่รู้สึกตัวก็ดวงหนึ่ง จิตที่หลงไปคิดก็ดวงหนึ่ง จิตที่รู้สึกตัวก็ดวงหนึ่ง จิตที่เพ่งอยู่ก็ดวงหนึ่ง คนละดวงกัน ถ้าเราเห็นจิตขาดเป็นดวงๆ เรียกว่า สันตติขาด สันตติคือความสืบเนื่อง สันตตินี่แหละสร้างภาพลวงตาขึ้นมา ถ้าสันตติขาดเราก็จะเห็นของจริง ยกตัวอย่างเหมือนเราดูการ์ตูน เราเห็นว่าตัวการ์ตูนอย่างโดเรม่อน อิ๊คคิวซังมันเดินได้ใช่ไหม วิ่งได้กระโดดได้ ทำท่าโน้นทำท่านี้ได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมันคือรูปที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเลย แต่ละรูปแต่ละรูปมาต่อกัน รูปนี้เกิดแล้วก็ดับ จิตมันจำเอาไว้ อาศัยสัญญาใช่ไหม สัญญาที่หลวงพ่อว่ามันวิปลาสน่ะ อาศัยสัญญาจำรูป รูปแรกมันอยู่ตรงนี้ อีกรูปหนึ่งมันมาอยู่ตรงนี้ นี่อาศัยสัญญานะ มันจำได้ว่าแต่ก่อนอยู่ตรงนี้ แล้วเดี๋ยวนี้มาอยู่ตรงนี้ มันจะรู้สึกเหมือนมันเคลื่อนไหวได้ เราเห็นตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ฉันใด เราก็เห็นจิตวิ่งไปวิ่งมาได้ฉันนั้น นี่เป็นความหลงผิด นี่เป็นภาพลวงตาเท่านั้นเอง แท้จริงจิตก็เกิดดับ เกิดดับเหมือนการ์ตูนทีละรูป ทีละรูป นั่นเอง แต่ว่าสติปัญญาของคนทั่วไปซึ่งไม่เคยฝึกฝนไม่สามารถเห็นได้ ก็จะรู้สึกว่าจิตเที่ยง ถ้าเราสามารถเห็นว่าจิตเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไปเรื่อยๆ ไม่นาน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เราจะเห็นความจริงว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราที่แท้จริงไม่มี มันมีแต่ของเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ถ้าเมื่อไรวันใดเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานะ ทุกอย่างในโลกนี้จะไม่ใช่ตัวเราแล้ว ร่างกายมันไม่ใช่เราตั้งแต่เริ่มหัดเจริญสติแล้ว พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะเห็นเลยว่าร่างกายมันอยู่ต่างหากแล้ว เหลือแต่จิตอันเดียวนี่แหละรู้สึกว่าวิ่งไปวิ่งมา การเจริญสติจนเห็นจิตเกิดดับเกิดดับ เกิดที่ตาแล้วดับ เกิดที่หูแล้วดับ เกิดที่ใจแล้วดับ ก็คือสันตติขาด การที่สันตติขาดนี่แหละคือวิปัสสนาที่แท้จริง ถ้าสันตติยังไม่ขาดยังไม่ใช่วิปัสสนาที่แท้จริง เราต้องค่อยๆ ดูไป ฝึกไปเรื่อยๆ พอสันตติขาดแล้วจะสั่นสะเทือนขึ้นมาเลย บางคนรู้สึกกลัว บางคนรู้สึกเบื่อ บางคนรู้สึกโหวงๆ ตัวเราหายไปแล้ว โหวงๆ เวิ้งว้างหาที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ บางคนเบื่อจิบจิตจับใจเลย เบื่อสุขเบื่อทุกข์ เบื่อทุกอย่าง เบื่อสามี เบื่อภรรยา แต่เบื่ออย่างนี้ไม่ใช่เบื่อด้วยกิเลส มันเบื่อด้วยสติด้วยปัญญา เห็นทุกอย่างไม่มีสาระเลย ไม่มีตัวมีตนอะไร ใจมันจะเบื่อไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างเลย เบื่อสุขกับทุกข์เท่าๆ กัน เบื่อดีกับชั่วเท่าๆ กัน เบื่อหยาบกับละเอียดเท่าๆ กัน เบื่อภายในกับภายนอกเท่าๆ กัน จิตก็หมดแรงดิ้น ไม่ดิ้นรนค้นคว้า บางคนกลัว กลัวมากๆ เลยนะ พอภาวนามาจนเห็นว่าตัวเราไม่มี กลัวเพราะรู้สึกว่าตัวเราหายไปแล้ว ตกอกตกใจขึ้นมา เมื่อสภาวะอันนี้เกิดขึ้นแล้วให้มีสติรู้ทันเข้าไป สภาวะอันนี้ก็เช่นเดียวกับความโกรธความหลงที่เคยเห็นมานั่นเอง คือเกิดแล้วก็ดับเช่นเดียวกัน พอดับไปแล้วใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เราก็ดูกายดูใจของเราต่อไป จิตมันจะค่อยเข้าใจความเป็นจริงมากขึ้นๆ มันจะเห็นเลยว่าความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว โลภโกรธหลงก็ชั่วคราว ฟุ้งซ่านหดหู่ดีใจเสียใจทั้งหมดนี้ชั่วคราวหมดเลย จะเห็นว่าสิ่งใดเกิดแล้วก็ดับไป ทุกอย่างชั่วคราวหมดเลย พอจิตมันยอมรับความจริงว่าทุกอย่างเป็นของชั่วคราว จิตจะหมดแรงดิ้น จิตจะหมดการดิ้นรนค้นคว้าเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ หมดแรงดิ้นรนค้นคว้าที่จะหลีกหนีอารมณ์ที่ไม่พอใจ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางที่แท้จริง ความเป็นกลางเพราะปัญญานี่แหละเป็นความเป็นกลางที่สำคัญมาก ปัญญาตัวนี้เรียกว่า “ สังขารุเปกขาญาณ ” เห็นสุขกับทุกข์มันเท่ากัน นรกกับสวรรค์มันก็เท่ากัน ไม่กลัวนะ หมดความดิ้นรน จิตมันรู้ตื่นแล้วก็เป็นกลาง สักว่ารู้ สักว่าเห็น มันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าเทียมกัน สุขกับทุกข์เท่ากัน มีความสุขเกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ มีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ เมื่อสักว่า สักว่า แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะหมดการดิ้นรนของจิต หมดความปรุงแต่งของจิต จิตจะค่อยๆ ปรุงน้อยลงๆ ถึงจุดหนึ่งหยุดปั๊บลงไป ตรงหยุดปั๊บลงไปนี่จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิโดยสมาธิโดยอัตโนมัติเลย เมื่อรวมเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว ตรงนี้จะไม่คิดไม่นึกอะไรแล้ว จะเห็นสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) เกิดดับขึ้นภายใน ๒-๓ ขณะ ใจนี้สักว่ารู้สักว่าเห็นอย่างแท้จริง ไม่มีกระทั่งความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ สักนิดเดียวเลย ถัดจากนั้น จิตจะวางการรู้สภาวะทบทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ พอทวนกระแสเข้าถึงธาตุรู้แล้วอริยมรรคจะแหวกอาสวะกิเลสทั้งหลายหรือสังโยชน์ทั้งหลาย อาสวะที่ห่อหุ้มจิตอยู่ สังโยชน์ที่แทรกอยู่ในจิตจะถูกทำลายออกไป ตรงกระบวนการทำลายล้างนี่ ๑ ขณะเท่านั้น พอขาดสะบั้นลงแล้ว ตรงนี้เราจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ตรงนี้เป็นผลแล้ว เป็นโลกุตรผลนะ ตรงที่เกิดอริยมรรคเรียกว่าโลกุตตรเหตุ มรรคเป็นเหตุ ผลเป็นผล ตรงที่เห็นเป็นผลนี่จะเห็นไม่เท่ากัน พวกที่สติปัญญาแก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๓ ครั้ง ๓ ขณะ พวกที่ยังไม่แก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะ ถัดจากนั้นจิตจะถอยออกมากลับสู่โลกภายนอกนี้ พอกลับมาสู่โลกภายนอก มันจะทวนกลับเข้าไปพิจารณาใหม่ว่าเมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น มันจะรู้เลยว่ากิเลสตัวไหนหายไปแล้ว กิเลสตัวไหนยังเหลืออยู่ รู้ว่ายังมีงานต้องทำอีก แต่ถ้าตัดครั้งที่สี่เป็นพระอรหันต์นะ มันทวนวับเข้าไป มันจะเห็นนิพพานชัดเจนเลย ไม่มีกิเลสอะไรให้ต้องลดละอีกแล้ว มันไม่มีกิเลสเหลือ จะเห็นนิพพานล้วนๆ เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เราต้องเชื่อพ่อแม่ เราต้องรู้กายรู้ใจของเราไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราจะได้มรดกของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้หอบเอานิพพานแล้วหายไปไหน นิพพานยังอยู่เต็มโลกเต็มบริบูรณ์อยู่นี่แหละ คนมีบุญวาสนามีปัญญาแก่รอบ เจริญวิปัสสนาแก่รอบแล้วก็จะได้รับ นี่รางวัลสูงสุดของชีวิตอยู่ตรงนี้ ชีวิตที่เหลือเป็นชีวิตที่อิสระโปร่งเบา ปราศจากความอยาก ความยึดและความดิ้นรนปรุงแต่ง ไม่มีความทุกข์หรือสิ่งใดครอบงำจิตได้อีกแล้ว ๔ . การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เมื่อเรียนหลักการภาวนาเข้าใจแล้วก็ต้องลงมือปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เราอย่าไปวาดภาพการปฏิบัติธรรม การทำวิปัสสนา หรือการภาวนาว่าต้องไปนั่งหลับหูหลับตา ตัวที่สำคัญที่สุดเลยคือมีสติในชีวิตประจำวันนี่แหละ กิเลสเกิดขึ้นมาตอนไหนก็รู้มันไปตรงนั้น นั่นเรียกว่าภาวนาแล้ว ร่างกายเคลื่อนไหวแล้วรู้สึกอยู่ก็เรียกว่าภาวนาแล้ว จิตใจทำงานไปแล้ว เรารู้เท่าทันอยู่ก็เรียกว่าภาวนาแล้ว เวลาเราทำงานก็ขยันทำงานไป ทำงานแล้วยังมีเวลาเหลือ เราก็คอยรู้กายรู้ใจของเราไป หรือเราทำงานแล้วเกิดเครียดขึ้นมา แวบขึ้นมา เรารู้ทันความเครียด นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว เราทำงาน เราจะรีบให้เสร็จเร็วๆ คนโทรศัพท์มากวน เราโมโหก็รู้ว่าโมโห นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว เห็นไหม ทำงานไป ถึงเวลาพักจะไปกินข้าว ดีใจ รู้ว่าดีใจ นี่ก็ปฏิบัติแล้ว เดินไปกินข้าว ลงมาจากตึก เดินไป เห็นร่างกายเดินอยู่ ใจเราเป็นแค่คนดู นี่ก็ปฏิบัติแล้ว ไปถึงร้านอาหาร ดูอาหารนั่นก็น่ากิน นี่ก็น่ากิน วันนี้หิวเป็นพิเศษ อะไรๆ น่ากินไปหมดเลย ตะกละ ลังเลๆ เห็นเลย ใจกำลังลังเลว่าจะกินอะไรดี บางวันดูจนหัวแถวท้ายแถวหมดทุกร้านแล้ว ไม่มีอะไรน่ากินเลย ชักหงุดหงิด เอ๊ แม่ค้าแถวนี้ทำไมไม่มีพัฒนาการ ขาด innovation (นวัตกรรม) ห่วยแตก โหลยโท่ย แล้วแต่จะด่านะ ถ้าหิวมากก็ด่ามากหน่อยเพราะขาดสติ เราก็รู้ทันใจของเราไปเรื่อย นี่แหละก็ปฏิบัติแล้วใช่ไหม เราจะไปห้องน้ำ เกิดฉุกเฉิน จะต้องรีบเข้าห้องน้ำด่วน พุ่งพรวดเข้าไปถึงห้องน้ำ ห้องน้ำเต็มทุกห้องเลย วิ่งไปอีกที่หนึ่ง อ้าวก็เต็มอีก ใจเราทุรนทุรายเต็มที่แล้ว เพราะว่าศัตรูมารอที่ประตูถ้ำแล้ว สู้มันไม่ไหวแล้ว นี่ทุรนทุรายขึ้นมา กลุ้มอกกลุ้มใจขึ้นมา รู้ทันมันเข้าไป ถึงจะปวดท้อง แต่ใจไม่ปวดไปด้วยหรอก นี่เขาเรียกว่าภาวนา นี่พอเราคอยรู้ทันใจของเราไปเรื่อย แต่ละขณะๆ นี่แหละคือการปฏิบัติ รู้ไปอย่างนี้นะ ไม่นานเราก็จะเห็นความจริง จิตใจของเราไม่คงที่หรอก จิตใจของเราเดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ เดี๋ยวก็ดีขึ้นมา เดี๋ยวก็มีความร่าเริงเบิกบานในธรรมะขึ้นมา เดี๋ยวก็เป็นอธรรม เห็นไหม เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง เราไม่ได้ไปฝึกเป็นยอดมนุษย์ เราฝึกเป็นคนธรรมดานี่แหละ ฝึกอยู่ในชีวิตธรรมดาจนเห็นความจริงว่า ธรรมดาของกายนี้เป็นอย่างนี้ ธรรมดาของใจเป็นอย่างนี้ พอเห็นธรรมดาแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับกายกับใจ ไม่เดือดร้อนแล้ว จะแก่ก็ธรรมดา จะเจ็บก็ธรรมดา จะตายก็ธรรมดา จะพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็ธรรมดา เจอสิ่งที่ไม่รักก็ธรรมดา จะสมหวัง จะผิดหวัง มันเรื่องธรรมดาไปหมด เพราะกายนี้ใจนี้เราเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยอะไรไม่ได้จริงหรอก ต่อไปอะไรเกิดขึ้นในชีวิต มันจะรู้สึกเหมือนกับเป็นเรื่องที่เกิดกับคนอื่น แล้วถ้าไม่มีตัวเรา ใครเป็นผู้ทำกรรม ก็ขันธ์น่ะสิมันทำกรรม ขันธ์มันทำของมันเอง ใครเป็นคนรับผลกรรม ขันธ์น่ะสิมันรับผลกรรม ไม่ใช่เรารับผลกรรม มีการกระทำกรรม แต่ไม่มีเราผู้กระทำกรรม มีผู้รับผลกรรม แต่ไม่มีเราผู้รับผลกรรม ถ้าสติปัญญาแก่รอบนะ เห็นขันธ์มันทำ เราไม่ได้ทำ คราวนี้สิ่งที่ขันธ์ทำจะกลายเป็นกิริยาล้วนๆ เลย เราไม่ได้ทำเสียแล้ว นี่ค่อยเรียนนะ เรียนลงไปจนเห็นเลยว่าตัวเราไม่มี ถ้าตัวเราไม่มีแล้วใครจะทุกข์ ตัวเราไม่มีแล้วใครจะทุกข์ก็เรื่องของมันสิ ถามว่าใครทุกข์ ก็ขันธ์มันทุกข์ กายมันทุกข์ใจมันทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ เราพ้นทุกข์ได้เพราะการรู้ที่ถูกต้อง คือพ้นได้ด้วยปัญญา ส่วนคุณธรรมอื่นๆ เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ศีล เป็นเพียงตัวสนับสนุนเกื้อกูลเท่านั้น ในสังสารวัฏที่ยาวนานนี่ การที่จะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบและได้ฟังธรรมเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเลย วันเวลาที่มีพระพุทธเจ้า มีศาสนาพุทธนี้สั้นมาก โอกาสที่ได้เรียนธรรมะมีไม่มาก มีน้อย ค่อยรู้สึก รู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจไป อย่าให้เสียโอกาสไปวันหนึ่งๆ โดยเปล่าประโยชน์
ต้นทางถึงปลายแนวทางการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา จากพระธรรมเทศนาของ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ๑ . โอกาสทองของชีวิต พวกเรามีบุญวาสนา ได้เกิดในแผ่นดินซึ่งศาสนาพุทธยังดำรงอยู่ หลักธรรมแท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าสอนยังได้รับการถ่ายทอดอยู่ เราได้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ได้พบสัตบุรุษ แล้วมีศรัทธาสนใจที่จะศึกษา ยากมากนะที่จะมีสภาวะอย่างนี้ ธรรมะของพระพุทธเจ้ากระจ่าง แจ่มแจ้ง พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง และต้องเห็นผลเร็วด้วย ใครๆ ไปเรียนธรรมะจากพระพุทธเจ้าแล้วถึงอุทานบอก “ แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า เหมือนเปิดของคว่ำให้หงาย ” ง่าย คว่ำๆ อยู่ จับหงาย มันยากเหรอ ธรรมะของพระพุทธเจ้า งดงามในเบื้องต้น คือชี้ทางให้เราเดินไปได้ งดงามในท่ามกลาง คือมีเหตุผลสมบูรณ์ อย่างนี้ถูก อย่างนี้ผิด พิสูจน์ได้ด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา งดงามในที่สุด คือ เราละกิเลสได้จริงๆ ความทุกข์ตกหายไปได้จริงๆ เป็นลำดับๆไป ศาสนาพุทธสอนให้เราเรียนรู้ตัวเอง สิ่งที่เรียกว่าตัวเราคือกายกับใจ ท่านสอนว่า ถ้าเรารักสิ่งใด เราจะทุกข์เพราะสิ่งนั้น สิ่งที่เรารักที่สุดคือตัวเอง คือกายกับใจ ทำไมรัก เพราะเรารู้สึกว่านำความสุขมาให้ อย่างเช่นเรารักตา เรากลัวตาบอด เพราะว่า ตาทำให้เราเห็นของสวยๆ ถ้าตาเห็นแต่ของน่าเกลียดน่ากลัว เราคงไม่อยากมีตา หูก็ทำให้ได้ยินเสียงดีๆ ถ้าได้ยินแต่เสียงไม่อยากฟัง เราก็คงไม่อยากมีหู อายตนะทั้งหลาย ตาหูจมูกลิ้นกายใจมันทำให้เราเชื่อมต่อเข้ากับโลกภายนอกได้ ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นของดี นำความสุขมาให้ แต่ตอนนำความทุกข์มาให้ เราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ไป อย่างน้อยมันก็ยังมีความสุขกระเส็นกระสายให้หวังเล่นๆ มีชีวิตอยู่ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ หวังอะไร หวังจะสุขถาวร หวังจะดีถาวร หวังจะสงบถาวร แต่ความจริงคือ ทุกอย่างชั่วคราว นี่เราหวังลมๆ แล้งๆ หวังสิ่งซึ่งไม่มีจริง หวังอย่างนั้นก็นำความทุกข์มาให้ หวังแล้วก็ไม่มีทางสมหวัง แต่ถ้าเรารู้ลงในกายในใจ มันไม่ใช่ของดีของวิเศษ กายนี้ใจนี้เป็นแต่ตัวทุกข์ พอเห็นอย่างนี้แจ่มแจ้งนะ มันจะวาง ไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจ เมื่อไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจ จะยึดอะไรอีก ไม่มีแล้ว เพราะสิ่งที่ยึดมากที่สุดคือกายกับใจ ระหว่างกายกับใจก็ยึดใจมากกว่ากาย วัตถุประสงค์ของเราชาวพุทธก็คือ ต้องพ้นทุกข์ พ้นทุกข์ก็คือนิพพานนั่นเอง คือพ้นจากความยึดถือกายยึดถือใจ เพราะกายกับใจคือตัวทุกข์ เรามีเป้าหมายอยู่ ๔ เป้าหมาย เป้าหมายที่ ๑ เป็นพระโสดาบัน คือผู้ที่ละความเห็นผิดว่ามีตัวเรา เห็นความจริงแล้วว่าตัวตนที่แท้จริง ตัวตนที่ถาวรนั้นไม่มี มีศีลบริบูรณ์ มีสมาธิ และปัญญาเล็กน้อย เป้าหมายที่ ๒ เป็นพระสกิทาคามี มีสติที่รวดเร็วในการรู้สึกตัว จนกิเลสตัณหาอ่อนกำลังลงไป มีสมาธิปานกลาง มีปัญญาเล็กน้อย เป้าหมายที่ ๓ เป็นพระอนาคามี สามารถปล่อยวางความยึดถือกายได้ จึงพ้นจากกามและปฏิฆะ มีสมาธิสมบูรณ์ มีปัญญาปานกลาง เป้าหมายที่ ๔ เป็นพระอรหันต์ มีศีล สมาธิ และปัญญาสมบูรณ์ สามารถปล่อยวางความยึดถือใจได้ ก็จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ศาสนาพุทธ คือตัวสัมมาทิฏฐิ คือความรู้ถูกความเข้าใจถูกในสภาวธรรม (รูปธรรมและนามธรรม) จนกระทั่งปล่อยวางความยึดถือสภาวธรรมทั้งปวงได้ ซึ่งก็คือ ความรู้แจ้งอริยสัจ อริยสัจมีทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็เป็นอันละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา เมื่อใจเข้าถึงความจริง ยอมรับความจริงแล้ว มันจะไม่ทุกข์ อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญมากเลย ลึกซึ้งที่สุด ถ้าไม่รู้แจ้งอริยสัจ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด วนเวียนอยู่ในความทุกข์ไปเรื่อยๆ พ้นไม่ได้หรอก อริยสัจเป็นความจริงของบรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลาย ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านเหล่านี้เห็นความจริงของโลก ของชีวิต ของจักรวาล หน้าที่ของชาวพุทธคือหน้าที่เรียน ฉะนั้นชาวพุทธเป็นนักเรียนนะ เราต้องเรียนธรรมะ เพื่อวันหนึ่งเราจะได้รู้แจ้งธรรมะของพระอริยเจ้า เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งของพระอริยเจ้า อริยสัจตัวที่หนึ่งชื่อว่าทุกข์ ทุกข์ในอริยสัจแปลว่ากายกับใจ รูปกับนาม เรารู้สึกไหมว่ากายเป็นทุกข์ใจเป็นทุกข์ เราไม่รู้สึกหรอก เรารู้สึกว่ากายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง จิตนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง ตราบใดที่ยังเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง มันจะไม่ยอมปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจหรอก เพราะมันยังมีทางเลือกที่จะให้กายให้ใจเป็นสุข ยังรักอยู่ ยังหวงแหนอยู่ ยังหาทางดิ้นรนให้กายให้ใจมีความสุขอยู่ เมื่อไม่รู้แจ้งในธรรมะของพระอริยเจ้า ไม่แจ้งอริยสัจ ไม่รู้ว่ากายกับใจเป็นตัวทุกข์ จะไม่สามารถปล่อยวางความยึดถือกายความยึดถือใจได้ ยังรักมัน ยังหวงแหนมัน เมื่อรักมันหวงแหนมันนะ สมุทัยก็จะเกิดขึ้น สมุทัยคือตัณหา หมายถึงความอยาก อยากอะไร อยากให้กายมีความสุข อยากให้กายพ้นทุกข์ อยากให้จิตใจมีความสุข อยากให้จิตใจพ้นทุกข์ นี่ความอยากนี้แหละคือตัวตัณหา ถ้าตัณหาเกิดขึ้นแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นอีก มันจะเกิดทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา เบื้องต้นนะ กายกับใจเป็นตัวทุกข์ อันนี้เราไม่เห็นหรอก แต่ว่าเบื้องปลายนี่ ทันทีที่เกิดความอยาก อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์ จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เมื่อเกิดความอยากขึ้นเมื่อไร จิตจะดิ้นรนเมื่อนั้น เมื่อจิตดิ้นรนเมื่อไร จิตจะมีความทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา กายกับใจเป็นตัวทุกข์อยู่แล้วนะ พอเกิดตัณหา เกิดอุปาทานคือความยึดถือ ก็เกิดภพคือการดิ้นรนทำงานของจิต ความทุกข์ก็จะเกิดซ้ำซ้อนขึ้นที่จิตอีกชั้นหนึ่ง เมื่อไม่รู้ทุกข์นะ มันก็เกิดสมุทัย จิตใจก็ดิ้นรนปรุงแต่ง นิโรธก็ไม่ปรากฏ นิโรธคือนิพพาน นิพพานคือสภาวะซึ่งพ้นจากความปรุงแต่ง สภาวะซึ่งพ้นจากตัณหา สภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง มีชื่อเป็นภาษาแขกว่า วิสังขาร สภาวะที่พ้นจากตัณหามีชื่อว่าวิราคะ อันนี้เป็นชื่อของนิพพานทั้งสิ้นเลยนะ เมื่อจิตยังดิ้นรนค้นคว้า จิตยังมีความอยากมีความยึดถืออยู่ นิพพานไม่ปรากฏ ความพ้นทุกข์ไม่มี เพราะยังวนเวียนยึดถือขันธ์อยู่ ต่อเมื่อไรรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยถูกละอัตโนมัติ นิโรธแจ้งอัตโนมัติ อริยมรรคก็เกิดอัตโนมัติเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้เพียงบอกว่าให้เรารู้แจ้งอริยสัจเท่านั้น แต่ท่านบอกวิธีที่จะทำให้เรารู้แจ้งอริยสัจด้วย คือให้รู้ทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งนะ สมุทัยดับเอง นิโรธปรากฏเอง อริยมรรคเกิดขึ้นเอง หากรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันทำกิจของอริยสัจทั้ง ๔ เสร็จสิ้นในขณะเดียวกัน วิธีรู้ทุกข์ที่ท่านสอนก็คือ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือการเห็นอย่างวิเศษ คือเห็นความจริงของกายของใจว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา บังคับไม่ได้ ๒ . พระพุทธเจ้าสอนอะไร บทเรียนที่พระพุทธเจ้าสอนให้พวกเราศึกษานั้นมี ๓ บท คือ บทเรียนที่ ๑ ชื่อว่า สีลสิกขา คือเรียนเรื่องศีล หมายถึงว่าทำอย่างไรจิตของเราจะเป็นธรรมดาๆ จิตใจของเราจะไม่ถูกกิเลสชั่วหยาบครอบงำจนกระทั่งทำความผิด ล้นออกมาทางกายทางวาจา ถ้าเรามีสติคอยรู้ทันจิตใจของเราอยู่เรื่อยๆ กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ไม่ผิดศีลหรอก เช่น ถ้าเรามีสติเรื่อยๆ นะ ตามองเห็นรูป จิตเรายินดียินร้ายขึ้นมา เรารู้ทัน ความยินดียินร้ายก็คืออภิชฌาโทมนัส หรือราคะนั่นเองก็ครอบงำจิตไม่ได้ จิตก็ไม่ทำผิดศีล อย่างเห็นสาวสวยนะ ชอบเขารักเขา มีสติรู้ทันจิตของตัวเอง ว่านี่มีราคะเกิดขึ้น ราคะจะดับไป ก็ไม่ไปหลอกไปลวงอะไรเขาแล้ว ไม่ทำผิดศีล โกรธเขาขึ้นมา อยากฆ่าเขา มีสติรู้ทันลงไปที่ใจของตัวเองที่กำลังโกรธอยู่ พอมีสติรู้ทันนะ ความโกรธก็ครอบงำจิตใจไม่ได้ มันก็ไม่ฆ่าใคร ไม่ตีใคร ไม่ด่าใคร ถ้าเรามีสติอยู่ ศีลจะเกิดขึ้น จิตใจเราจะเป็นปกติธรรมดา แต่ถ้ายังไม่มีศีลที่เกิดจากการสำรวมอินทรีย์ ที่เรียกว่า อินทรียสังวรศีล อย่างนี้ก็มีศีลธรรมดาไปก่อน ให้ตั้งใจรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ตามโอกาสนะ ฉะนั้น ศีลถือเป็นปัจจัยของสมาธิ เป็นพื้นฐานทำให้ทำสมาธิได้ง่าย บทเรียนที่ ๒ ชื่อว่า จิตตสิกขา ชื่อมันก็บอกแล้วว่าเรียนเรื่องจิต เราจะเรียนให้รู้ความจริงว่าจิตชนิดไหนเป็นกุศล จิตชนิดไหนเป็นอกุศล จิตที่เป็นกุศลก็มีหลายแบบ เป็นกุศลทั่วๆ ไป ที่อยู่กับโลก หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลที่ใช้ทำสมถะ หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลที่จะใช้ทำวิปัสสนา เราต้องเรียนไปจนกระทั่งเรารู้ความจริง จิตที่เป็นมหากุศล จิตที่ใช้ทำวิปัสสนาจริงๆ มันจะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุต คือประกอบด้วยปัญญา อสังขาริกังคือเกิดขึ้นเอง ต้องเป็นจิตที่เกิดเองถึงจะมีกำลังกล้า ฉะนั้นเราต้องรู้ไปนะ ต้องเรียนว่าทำอย่างไรเราจะเกิดจิตซึ่งมีกำลังกุศลแก่กล้า ทำอย่างไรสติจะเกิดได้เอง เราต้องรู้ว่าสติเกิดจากอะไร สติเกิดจากถิรสัญญา แปลว่าการที่จิตจำสภาวธรรมได้แม่นยำ ในพระอภิธรรมจะบอกว่า การที่จิตจำสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) ได้แม่นยำ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ หลวงพ่อจะสอนให้หัดดูสภาวะ เช่น ร่างกายเคลื่อนไหว คอยรู้สึก หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก คู้รู้สึก เหยียดรู้สึก พองรู้สึก ยุบรู้สึก เป็นสุขเป็นทุกข์ รู้สึก โลภโกรธหลงขึ้นมา ไม่โลภไม่โกรธไม่หลงขึ้นมา คอยรู้สึก รู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจ รู้สึกไปเรื่อยๆ ทีแรกยังไม่มีสติหรอก คอยตามรู้สึกไปเรื่อยๆ ตามรู้ไปเรื่อย ร่างกายเคลื่อนไหวนะ เผลอเคลื่อนไหวไปก่อนแล้วรู้สึกตัว อ้าวเมื่อกี้เผลอไปเคลื่อนไหว ; โลภไปก่อน แล้วรู้สึกตัว อ้าวเมื่อกี้เผลอไปโลภ ;ใจลอยไปคิดก่อน แล้วรู้สึกตัว รู้ว่าเอ้อเมื่อกี้หลงไปคิดแล้ว การที่จิตมันเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดมันจะจำสภาวะได้ พอมันจำสภาวะได้นะ ต่อไปสติจะเกิดเองโดยไม่ต้องจูงใจให้เกิด สติ คือความระลึกได้ถึงความมีอยู่ของกาย ระลึกได้ถึงความมีอยู่ของใจ การที่จิตมันเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดมันจะจำสภาวะได้ พอมันจำสภาวะได้นะ ต่อไปสติจะเกิดเองโดยไม่ต้องจูงใจให้เกิด สติ คือความระลึกได้ถึงความมีอยู่ของกาย ระลึกได้ถึงความมีอยู่ของใจ สติที่เกิดจากการจงใจทำให้เกิด สติอย่างนี้ใช้ไม่ได้จริงในการทำวิปัสสนา แต่ใช้ทำสมถะได้ เช่น เราจะรู้ลมหายใจ เราก็กำหนดจิตเอาไว้กับลมหายใจ ไม่ให้ลืมลมหายใจเลย เราจะดูท้องพองยุบ เรากำหนดจิตจ่อลงไปที่ท้อง ไม่ให้ลืมท้องเลย เราจะเดินจงกรมยกเท้าย่างเท้า เราเอาสติจ่อลงไปที่เท้า ไม่ขาดสติเลย เท้ากระดิกกิ๊กๆๆๆ รู้หมด จะหยิบขวดน้ำนี่ กิ๊กๆๆๆ เห็นเหมือนรูปการ์ตูนนะ เห็นรูปมันดับ วับๆๆๆ ไป ใจมันจ่ออยู่ที่รูปนี่ สติอย่างนี้ จะรู้สึกว่าเกิดได้ทั้งวัน พวกเราลืมไปอย่างหนึ่งว่า สติหรือกุศลที่เกิดซ้ำๆๆๆ ได้นานๆ จะเกิดในฌานจิต คือเกิดกับจิตที่เพ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่สติที่จะใช้ทำวิปัสสนาอะไรหรอก สติที่เกิดจากการกำหนดไม่ใช่วิปัสสนา ถ้าเรากำหนดใส่ตัวอารมณ์ (สิ่งที่ถูกรู้) เมื่อไหร่จะเป็นสมถะ เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน ถ้าเมื่อไรเรามีสติเพ่งใส่ตัวอารมณ์ เมื่อนั้นเป็นสมถกัมมัฏฐาน จำเอาไว้นะ กระทั่งการเพ่งรูปเพ่งนามก็เป็นสมถกัมมัฏฐาน ต้องเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามถึงจะเป็นวิปัสสนา การจะเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามได้ จิตจะต้องตั้งมั่น ตัวนี้แหละคือตัวสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูเท่านั้นเอง วิธีทำให้เกิดสัมมาสมาธิทำได้หลายอย่าง วิธีที่หนึ่ง ทำฌานจนถึงฌานที่สอง พอถึงฌานที่สอง จิตมันจะตั้งมั่นออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดูในทางตำราจะเรียกว่ามีเอโกทิภาวะ คือภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง คือภาวะของจิตผู้รู้นั่นเอง จิตจะตั้งตัวรู้ขึ้นมา พอเราออกจากฌานแล้วนะ ตัวรู้นี้ยังทรงอยู่ มันจะเห็นทันทีเลยว่า ร่างกายที่ยืนเดินนั่งนอนนี้ไม่ใช่ตัวเรา เห็นทันที เห็นไหม เกิดปัญญาทันที เห็นไตรลักษณ์ทันทีเลย ร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่นี่มันไม่ใช่เราหรอก มันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู มีใครรู้สึกว่าพัดนี้เป็นตัวเราไหม (หลวงพ่อชูพัดให้ดู) ไม่มี เพราะอะไร เพราะมันเป็นของถูกรู้ถูกดู มันอยู่ห่างๆ นึกออกไหม ส่วนร่างกายเรานี่ ถ้าจิตของเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะรู้สึกทันทีว่าร่างกายอยู่ห่างๆ จิตมันแยกออกมา เรียกว่าแยกรูปกับนามออกจากกัน การแยกรูปกับนามออกจากกันนี่มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ทันทีที่แยกออกไป ใจตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เห็นอยู่ทันทีเลยว่า ร่างกายหายใจ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายพองยุบ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายยืนเดินนั่งนอน จิตเป็นคนรู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง จิตเป็นคนรู้ มันแยกออกมาต่างหาก มันจะเกิดปัญญาทันทีเลย เห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายนี้เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุเท่านั้น นี่คือการเจริญปัญญา เรียกว่า ปัญญาสิกขา คือบทเรียนที่ ๓ ส่วนจิตก็สักว่ารู้ สักว่าเห็น จะเห็นเลยว่ากิเลสมันผ่านมาผ่านไป เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้านไปเท่านั้นเอง ไม่เกี่ยวกับเรา อย่างนี้มันผ่านมาแวบแล้วหายไปเลย ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา วิธีที่สอง สำหรับคนที่ทำฌานไม่ได้ ไม่เป็นไร หัดรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยววันหนึ่งมันจะเกิดสมาธิขึ้นมา สมาธิชนิดนี้ ชื่อขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิคือสมาธิชั่วขณะ ฟังดูแล้วกิ๊กก๊อกนะ กระจอกงอกง่อย แหมใครๆ ก็อยากได้อัปปนาสมาธิ แต่ส่วนมากไม่ถึงอัปปนาสมาธิหรอก ฉะนั้นถ้าเราทำอัปปนาสมาธิไม่ได้ ก็ให้เรามีสติดูจิตดูใจของเราไปเรื่อย จิตไหลไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา มันจะค่อยๆ แยกตัวออกมาจากอารมณ์ เช่น จิตมันใจลอย จิตมันไปคิด พอเรารู้ทันนะ จิตมันก็ตื่นขึ้นมาแวบหนึ่ง เราจะเห็นเลยว่าความคิดนั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิต จิตมันโลภขึ้นมา พอเรามีสติรู้ว่าจิตโลภ เราจะเห็นเลยว่าความโลภเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิต แยกออกจากกันนะ เราโกรธขึ้นมา พอเรามีสติรู้ทันปั๊บ เราจะเห็นเลยว่าความโกรธเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิต นี่มันแยกออกมา จิตซึ่งเป็นผู้รู้อารมณ์มันจะตั้งขึ้นมา แต่มันอยู่ชั่วขณะนะ เดี๋ยวมันก็ไหลไปอีก ไม่เหมือนคนที่ทรงฌาน จะอยู่นาน นี่เรามีสมาธิชนิดนี้แหละพอแล้ว แต่ถ้าใครมีบุญวาสนา ทำอัปปนาสมาธิได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าฝืน มันจะกลายเป็นอัปลักษณ์สมาธิ พระพุทธเจ้าสอนว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนที่ไม่ได้ สดับ (หมายถึงคนที่ไม่ได้ฟังธรรมของท่านหรือของพระอริยเจ้า) สามารถเห็นว่ากายไม่ใช่ตัวเรา แต่ไม่สามารถเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา ” มีแต่คำสอนในอริยวินัย ในธรรมะของท่านนี้เท่านั้นที่ทำให้เห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเราได้ เพราะการที่จะเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานี่ยาก เนื่องจากเรายึดถือมานาน เราสำคัญมั่นหมายมานานว่าจิตเป็นตัวเรา พวกเราลองวัดใจตัวเองอย่างซื่อสัตย์นะ ลองวัดใจตัวเองดู เรารู้สึกไหมว่าร่างกายนี้มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ร่างกายของเราเดี๋ยวนี้กับร่างกายของเราตอนเด็กๆ นี่คนละคนกัน รู้สึกไหม มันไม่เหมือนเดิมนะ ร่างกายของเราเดี๋ยวนี้กับตอนวัยรุ่นก็ไม่เหมือนกันใช่ไหม ถ้าอายุขนาดหลวงพ่อ ร่างกายสมัยกลางๆ คนกับตอนนี้ไม่เหมือนกันแล้ว นี่เรารู้ได้ ร่างกายมันไม่เหมือนเดิม แต่เรารู้สึกไหมว่าในร่างกายที่แปรปรวนนี้ มีความรู้สึกว่ามีเราอยู่คนหนึ่ง เราคนนี้กับเราตอนเด็กๆ ยังเป็นเราคนเดิม นี่เราจะสำคัญมั่นหมายว่ามีเราอยู่คนหนึ่ง นั่นคือเราสำคัญว่าจิตคือตัวเรา อันนี้แหละจิตเป็นเราอยู่ ยากมากที่จะเห็นว่าจิตนี้ไม่ใช่เรา ถ้าเมื่อใดเห็นและยอมรับด้วยปัญญาว่าจิตไม่ใช่เรา วันนั้นจะได้พระโสดาบัน จำเอาไว้นะ วิธีที่จะให้เห็นว่าจิตไม่ใช่เรานะ รู้สึกตัวเรื่อยๆ ก่อน เห็นกายไม่ใช่เรา เห็นเวทนา (ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ) ไม่ใช่เรา เห็นจิตตสังขารคือกุศลและอกุศลทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา เป็นของถูกรู้ถูกดูทั้งหมดเลย ต่อมาสังเกตจิตใจ ไม่ต้องรีบสังเกตนะ ฟังหลวงพ่อพูด แล้ววันหนึ่งจิตมันจะไปสังเกตเอง อย่าไปจงใจสังเกต ถ้าจงใจดูจะไม่เจอ ค่อยๆ รู้สึกไป เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้ถูกรู้ใช่ไหม เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้คิดรู้สึกไหม ต้องหัดรู้ตัวจนชำนาญนะ จะรู้จักว่า อ้อ นี่จิตมันรู้ขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวจิตมันก็หลงไปคิด เดี๋ยวจิตมันก็รู้ เดี๋ยวจิตมันก็หลงไปคิด นี่ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปเราจะเห็นว่าจิตนี้มันไม่เที่ยง แรกๆ ก็แค่รู้สึกตัวเอาไว้ ร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก อันนี้จะทำให้เกิดสติอัตโนมัติ จิตมันจำสภาวะของร่างกายของจิตใจได้แล้วสติเกิดเอง เพราะฉะนั้นร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก พอสติจริงๆ เกิดขึ้นมาเองนี่ จิตมันจะตั้งมั่นอัตโนมัติ ตั้งมั่นขึ้นมาชั่วขณะ พอจิตมันตั้งมั่นชั่วขณะจะมีความรู้สึกว่าร่างกายอยู่ห่างๆ จิตอยู่ห่างๆ จิตกับร่างกายห่างกัน จิตกับเวทนาอยู่ห่างๆ กัน จิตกับสังขาร เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ห่างๆ กัน เราอย่าไปคิดว่าจิตมีดวงเดียวเที่ยววิ่งไปวิ่งมา ที่จริงจิตเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว จนเกิดภาพลวงตาว่าจิตมีดวงเดียว เที่ยววิ่งไปวิ่งมาเหมือนภาพการ์ตูน ซึ่งแต่ละภาพไม่มีความเคลื่อนไหว แต่พอภาพเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว จึงเกิดภาพลวงตาว่าตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ ความจริงจิตนั้นเกิดดับตลอดเวลา จิตไม่ได้เที่ยงนะในขณะที่พวกเราเห็นว่าจิตเที่ยง จิตของเราวันนี้กับจิตของเราตอนเด็กๆ ยังเป็นคนเดิมอยู่เลย จิตของเราวันนี้กับจิตปีหน้าก็คนเดิมอีก จิตของเราเดี๋ยวนี้กับชาติหน้าก็คนเดิมอีก ฉะนั้นบางคนเลยต้องเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เพราะว่ามันเป็นคนเดิม แต่ก็ต้องเลี้ยงนะ ไม่ใช่บอกว่าไม่ต้องทำความดี คอยฝึกไปนะ วันหนึ่งก็จะเห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา เวทนาคือความสุขความทุกข์ไม่ใช่เรา จิตตสังขารไม่ใช่เรา ตัวจิตแท้ๆ ที่เป็นผู้รู้นะ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง เกิดดับเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ตัวเราที่เที่ยงๆ หรอก ตัวเราที่เที่ยงๆ ไม่มี วันใดที่จิตมันเดินปัญญาแก่รอบถึงขนาดนี้แล้ว จิตมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ รวมเองนะ แล้วเกิดอริยมรรคขึ้น โสดาปัตติมรรคจะตัดความเห็นผิดว่ามีตัวเราออกไป พอถอยออกมาจากโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล แล้วกลับมาสู่โลกมนุษย์นี่ เวลาเราดูเข้ามาในจิตใจตัวเองจะไม่มีแม้แต่เงาของความรู้สึกว่ามีตัวเรา เงาก็ไม่มีนะ ถ้าขาดด้วยอริยมรรคแล้ว จะไม่มีความรู้สึกเป็นตัวเราโผล่ขึ้นมาอีกเลย ผู้ใดเห็นว่ากายไม่ใช่เรา จิตใจไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มี นั่นแหละคือภูมิธรรมของพระโสดาบัน ถัดจากนั้นก็มารู้กายรู้ใจต่อไปอีก พระโสดาบันกับปุถุชนก็ภาวนาอย่างเดียวกันนั่นแหละ คือรู้กายรู้ใจเรื่อยๆ ไป รู้ไปอีก รู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนวันหนึ่งมันรู้แจ้งลึกซึ้งขึ้นมาอีก กิเลสตัณหาก็อ่อนกำลังลงไป เรียกว่า พระสกิทาคามี รู้ลงไปอีกภายในใจนะ สติปัญญามันจะขมวดเข้ามาเรียนรู้กายเป็นหลักเลย รู้ลงไป รู้ลงไป กายมันของหยาบ มันดูง่าย ดูไปๆ แล้วละง่าย จะเห็นเลยว่ากายนี้มันเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ วันใดที่เห็นว่ากายเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ก็หมดความยึดถือกาย ก็จะหมดความกลุ้มใจเพราะต้องกระทบอารมณ์ทางกาย กระทั่งกายเรายังไม่ยึดถือเลย เราจะไปยึดถืออารมณ์ที่กระทบทางกายทำไม ที่เรายึดถือร่างกายอยู่ เพราะว่าร่างกายนี้เป็นช่องทางให้เรากระทบอารมณ์ที่น่าเพลิดเพลิน อย่างเรามีตาอยู่ใช่ไหม เราก็ได้ดูรูปสวยๆ อย่างมีหูก็ได้ฟังเสียงไพเราะๆ เสียงดีๆ อย่างมีจมูกได้กลิ่นหอมอยู่ นี่เรารักร่างกายเพราะมันเอาของดีมาให้เรา เรารู้สึกว่ามันดี แต่ถ้าวันหนึ่งเราเห็นกายนี้ทุกข์ล้วนๆ เลย เราก็จะไม่หลงไปในรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะที่มากระทบตาหูจมูกลิ้นกายนี่ จิตมันจะไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย มันพ้นจากความยินดียินร้ายในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เรียกว่ามันพ้นจากกามและปฏิฆะ พระอนาคามีละกามและปฏิฆะได้เพราะไม่ยึดกาย หมดความยึดกายเพราะเห็นความจริงว่ากายนี้ทุกข์ล้วนๆ เห็นอย่างนี้ อย่างไรก็ตาม นักปฏิบัติที่ชำนาญในการดูจิต สามารถมีสติตามรู้จิตจนเห็นความจริงว่า เมื่อใดจิตมีความอยาก เมื่อใดจิตมีความยึดถืออารมณ์ต่างๆ เมื่อนั้นจิตจะทุกข์ เมื่อใดจิตพ้นจากความอยากและความยึดถืออารมณ์ จิตจะไม่ทุกข์ พอเห็นแจ้งอย่างนี้ จิตก็ไม่ยึดถือในกายและกามคุณอารมณ์ จิตพ้นจากกามและปฏิฆะ เป็นพระอนาคามีได้เช่นกัน ทีนี้พอฝึกจนถึงขั้นพระอนาคามี สมาธิจะบริบูรณ์ จิตตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ทั้งวันเลย จะรู้สึกว่าตัวผู้รู้นี่แหละเป็นของดีของวิเศษเป็นที่พึ่งที่อาศัย ถ้าเราอยู่กับตัวผู้รู้นี่เราไม่ทุกข์ ถ้าเราเป็นตัวผู้หลงเมื่อไรถึงจะทุกข์ ฉะนั้นจิตนี้ดีนะ จิตตัวผู้รู้นี่ดี ใจมันจะยึดตัวดีนี้ไว้ ไม่ปล่อยวางจิตต่อเมื่อวันใดมีสติปัญญาแก่รอบจริงๆ เห็นว่าตัวจิตนั้นแหละกลายเป็นตัวทุกข์ให้เราดู มันพลิกของมันเองนะ มันพลิกให้เราดูเอง อยู่ๆ จะไปนึกเอาว่าตัวจิตผู้รู้เป็นตัวทุกข์ มันนึกไม่ออกหรอก เพราะไม่เคยเห็น ต้องมีสติมีปัญญาแก่กล้าพอ มันจะพลิกตัวให้ดูว่ามันทุกข์ล้วนๆ ไม่มีอะไรทุกข์เท่านี้อีกแล้ว อย่างบางคนบอกว่าอกหักทุกข์มาก ตัวจิตผู้รู้นี่ถึงไม่อกหักมันก็ทุกข์ มันทุกข์ยิ่งกว่านั้นอีก มันทุกข์จนเรามีความรู้สึกว่า ถ้าเรารู้มันต่อไป เราจะตายแล้ว อกหักเฉยๆ เรารู้ว่าอกหักไม่ตายนะ อกหักแล้วกำลังกลุ้มใจอยู่ เสียอกเสียใจอยู่ ถ้าเรารู้ว่าเสียอกเสียใจอยู่หายเลย แต่ตัวผู้รู้เวลามันกลายเป็นตัวทุกข์ให้ดูนี่ ยิ่งรู้มันยิ่งทุกข์ ยิ่งรู้มันยิ่งทุกข์ ทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกข์เหมือนจะตายเลย ทุกข์เหมือนไม่ตายก็บ้า นี่ใจมันต้องเห็นทุกข์นะถึงจะยอมวาง ผู้ที่ปล่อยวางจิตได้เรียกว่าพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่านิพพานอยู่ฟากตาย ไม่ภาวนากันจนถึงขีดสุดจริงๆ ไม่ยอมปล่อยวางจิตหรอกเพราะเราหวง ๓ . วิธีเจริญวิปัสสนา ถ้าเราจะทำวิปัสสนาให้ถูกต้อง ขั้นแรก เราต้องรู้สึกกายรู้สึกใจให้ได้ก่อน เพราะ วิปัสสนาคือ “ การมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงลงเป็นปัจจุบัน ” ต้องรู้สึกกายรู้สึกใจให้เป็นขั้นที่สอง “ ต้องสามารถปล่อยให้กายให้ใจเขาทำงาน แสดงไตรลักษณ์ได้ ” การหัดให้มีสติ ก็คือหัดรู้สึกตัว ศัตรูของความรู้สึกตัว ก็คือความหลง ความเผลอนั่นแหละ เผลอไปรู้ เผลอไปฟัง เผลอไปคิด (คือขาดสติ) ศัตรูอีกอย่างหนึ่งก็คือการเพ่งร่างกาย เพ่งจิตใจ (คือบังคับกายบังคับใจ) ซึ่งทำให้กายใจถูกแทรกแซง และแสดงไตรลักษณ์ให้เห็นได้ยาก ถ้าเมื่อไรเรารู้ทันจิตใจของตัวเอง เราก็จะไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด เราจะตื่นขึ้นมา ซึ่งเป็นต้นทางที่จะทำให้เราเดินวิปัสสนาได้ พอตื่นขึ้นมาแล้วก็มีเงื่อนไขอีกอย่างเดียวเท่านั้นเอง คือมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมา เราจะเห็นกายตามความเป็นจริง เห็นจิตใจตามความเป็นจริง คือเห็นไตรลักษณ์ ทำวิปัสสนาหรือเจริญปัญญาได้ ความตื่น ซึ่งทำให้เราหลุดออกจากโลกของความคิด เราหลุดออกจากโลกของความฝัน แล้วมาอยู่ในโลกของความเป็นจริงได้ นี่จึงเป็นต้นทางของการเจริญปัญญา สิ่งที่ผู้ปฏิบัติส่วนหนึ่งขาดอย่างแสนสาหัสเลยนะ คือสัมมาสมาธิ ส่วนใหญ่เราไม่มีสัมมาสมาธิ มีแต่มิจฉาสมาธิ แล้วแยกไม่ออกด้วยว่าอะไรคือสัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิจะไม่มีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ จำไว้นะ ในพระอภิธรรมสอนเอาไว้ว่า “ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ” “ ปัญญา คือการเห็นกายเห็นใจเป็นไตรลักษณ์ ” สัมมาสมาธิไม่เหมือนมิจฉาสมาธิ จิตทุกๆ ดวงมีสมาธิ จำเอาไว้นะ กระทั่งจิตอกุศลก็มีสมาธินะ แต่สัมมาสมาธินี่เกิดยากที่สุด ทำอย่างไรจิตของเราจะตั้งมั่น จิตของคนส่วนใหญ่ที่ว่ามีสมาธิน่ะ เป็นจิตที่เข้าไปตั้งแช่อยู่ที่ตัวอารมณ์ (สิ่งที่ถูกรู้) ไม่ใช่ตั้งมั่นในการรู้อารมณ์ ยกตัวอย่าง เอ้า พวกเราดูพระพุทธรูป ตั้งใจดูนะ ตั้งใจดู รู้สึกจดจ่ออยู่ที่พระ แล้วรู้สึกไหมว่าใจเราไหลไปอยู่ที่พระ เราดูพระรู้เรื่องใช่ไหม เรามีสติ สติเราจับอยู่ที่พระ ใจเรามีสมาธิ ใจเราไปแช่อยู่ที่พระ อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสัมมาสมาธิ เวลาที่เรามีมิจฉาสมาธิ จิตมันจะเคลื่อนไป จิตมันจะไหลลงไปนิ่งๆ อยู่ที่อารมณ์อันใดอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลารู้ลมหายใจ จิตจะไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ ไปรู้ท้องพองยุบ จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง ไปเดินจงกรม ยกเท้าย่างเท้า จิตไหลไปอยู่ที่เท้า ขยับมือทำจังหวะเคลื่อนไหว จิตไหลไปอยู่ที่มือ นี่จิตหลงไป จิตไหลไป อย่างนี้เรียกว่ามิจฉาสมาธิ จะไม่เกิดปัญญา เกิดแต่สมถะนะ นิ่งๆ ไปได้อย่างนั้นแหละ หน้าที่ของเราก็คือพยายามรู้สึกตัวไป อาจจะมีเครื่องอยู่อะไรสักอันหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้ติดเพ่งรุนแรงมาก่อนนะ รู้อะไรสักอย่างขึ้นมาเป็นตัวตั้ง (วิหารธรรม) เช่น พุทโธ หรืออานาปานสติ สมมุติว่าบางคนท่องพุทโธ เอาพุทโธเป็นตัวตั้ง พุทโธแล้วไม่ใช่บังคับจิตให้ไปอยู่ที่พุทโธ พุทโธแล้วจิตไปอยู่ที่พุทโธนี่ก็รู้ จิตหนีไปที่อื่นก็รู้ พุทโธแล้วก็รู้ทันจิต เห็นจิตหนีไปหนีมา เห็นจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตร้าย พุทโธเอาไว้เป็นตัวตั้งเพื่อจะดูจิต ทีนี้จะเกิดปัญญา จิตต้องตั้งมั่นขึ้นมา ต้องรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เป็นคนดู ไม่เผลอไป ไม่ไหลไป ตั้งมั่นอยู่ แต่มีเงื่อนไข ต้องตั้งมั่นอย่างสบายด้วย ตั้งมั่นแบบเบาๆ แบบอ่อนโยน แบบคล่องแคล่วว่องไว แบบไม่ได้ถูกกิเลสครอบงำ ถ้าตั้งแบบแข็งๆ นี่ไม่ใช่ ตั้งแล้วหนักๆ นี่ไม่ใช่ ตั้งแล้วเครียดๆ นี่ไม่ใช่ จิตที่เป็นสัมมาสมาธิมีความเบา มีความนุ่มนวลอ่อนโยน มีความคล่องแคล่วว่องไว มีความซื่อตรงในการรู้อารมณ์ทั้งหลาย ความโลภเกิดขึ้นก็เห็นความโลภเกิดขึ้น เห็นเหมือนกับคนเดินผ่านหน้าบ้าน ความโกรธเกิดขึ้นนะ เห็นความโกรธผ่านมา เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้าน เห็นใจลอยไป ดูเหมือนเห็นคนอื่นใจลอย ใจมันแค่ตั้งมั่นเป็นคนตามรู้ตามดูเรื่อยๆ มันรู้อย่างสบายๆ รู้อย่างมีความสุข สัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต ถ้าถามว่าจิตตั้งมั่น ตั้งอยู่ที่ไหน แล้วตอบว่าตั้งที่ลมหายใจ อันนั้นไม่ใช่ตั้งมั่น จิตตั้งมั่น ต้องตั้งมั่นในการรู้ลมหายใจ จิตอยู่ต่างหาก ลมหายใจอยู่นี่ กายกับจิตมันแยกออกจากกัน จิตตั้งมั่น เวลาเห็นกิเลสจะเห็นกิเลสอยู่ห่างๆ จิตอยู่ต่างหาก แยกออกจากกัน เวลารู้กาย เห็นกายอยู่ห่างๆ จิตแยกออกมา กายกับจิตมีช่องว่างมาคั่น มีระยะห่างในความรู้สึก ไม่ใช่รวมเป็นเนื้อเดียวเดียวกัน อย่างคนที่ไปรู้ลมหายใจ แล้วจิตไหลไปอยู่ที่ลม นี่ไม่มีช่องว่าง จิตกับลมหายใจรวมเป็นเนื้อเดียวกัน อันนี้เป็นการเพ่งอารมณ์ เป็นสมถะ ถ้าจิตตั้งมั่น จิตมันจะแยกออกมาต่างหาก มันเห็นร่างกายหายใจ เหมือนดูคนอื่นหายใจเลย ถ้าพูดภาษาง่ายๆ ตามสภาวะที่เห็นจริงๆ ก็คือ มันเหมือนจิตอยู่ต่างหาก ร่างกายอยู่ต่างหาก กายกับจิตมันแยกกัน มีระยะห่าง มีช่องว่างมาคั่น แต่ไม่ใช่การถอดจิตออกจากร่างนะ มันเป็นการแยกออกโดยความรู้สึกเท่านั้น บางทีจิตก็ถลำวิ่งเข้าไปหากาย บางทีจิตถลำวิ่งไปที่อื่นก็ได้ จิตถลำไปแล้วก็ให้รู้ทัน แล้วจิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาใหม่ จิตที่ตั้งมั่นแล้วจะรู้สึกขึ้นมา พอรู้สึกขึ้นมา มันจะเห็นเลยว่าร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่นี่ไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นทันที แล้วจะเห็นทันทีเลยว่าเวทนา (ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ) ที่ปรากฏอยู่นี้ไม่ใช่ตัวเรา เวทนาไม่ใช่เราเพราะอะไรเพราะเวทนามันแยกออกไปห่างๆ อย่างพวกเรารู้สึกไหม มีใครรู้สึกไหมว่า พัดอันนี้เป็นตัวเรา ไม่มีใช่ไหม เพราะมันอยู่ห่างๆ นึกออกไหม เมื่อจิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้วเกิดสติปัญญา เราจะเห็นเลยว่ามือนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา มันอยู่ห่างๆ ร่างกายอยู่ตรงนี้เลยนี่ อยู่ห่างๆ หมดเลย จิตมันอยู่ต่างหาก จิตมันเป็นคนดู มันจะเห็นตลอดเวลาเลย เห็นได้ทันทีเลยว่า ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา จิตของคนส่วนใหญ่ไม่ตั้งมั่นหรอก จิตส่วนใหญ่ไหลตามอารมณ์ไปเรื่อยๆ ถ้าไหลตามอารมณ์สะเปะสะปะไปเรื่อยๆ เรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน ถ้าไหลไปแล้ว ไปแช่นิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว เขาเรียกว่าการเพ่ง ฉะนั้น สิ่งที่ผิดที่ทำให้เราเจริญวิปัสสนาไม่ได้ก็เลยมีสองอันที่หลวงพ่อบอกว่าเผลอกับเพ่งนั่นเอง เผลอนี่คือจิตมันจับอารมณ์นี้ จับอารมณ์นั้น จับอารมณ์โน้น เปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ สะเปะสะปะไปเรื่อยๆ ดูไม่ทันหรอก เลอะเทอะเปรอะเปื้อนไป อะไรเกิดขึ้นไม่รู้เลย จับอันโน้นที จับอันนี้ที คล้ายๆ ลิงโหนต้นไม้ต้นนั้นต้นนี้นะ ถ้าไหลไปนี้ที ไหลไปโน้นที เรียกว่าฟุ้งซ่าน เรียกว่าหลงไป เรียกว่าเผลอไป อีกอันหนึ่ง จิตถลำไปไหลไป ไหลเหมือนกันนะ แต่ไหลไปอยู่กับสิ่งสิ่งเดียว เหมือนทาร์ซานไปเกาะนิ่งๆ หรือลิงไปเกาะต้นไม้นิ่งๆ ไม่กระโดดไปไหน อันนี้แหละสมถะ นี่แหละเพ่ง มันจะไม่มีปัญญาเกิดขึ้น ถ้าเมื่อไรจิตไม่หลงไป แล้วก็ไม่ได้เพ่งเอาไว้ นั่นแหละ ทางสายกลางอยู่ตรงนั้น ทำอย่างไรเราจะเดินเข้าสู่ทางสายกลางได้ โดยมีจิตซึ่งไม่ได้เผลอไป แล้วก็ไม่ได้เพ่งเอาไว้ วิธีง่ายๆ เลย ขั้นแรกนะ ถ้าเพ่งอยู่ เลิกไปก่อน คนไหนติดสมถะให้เลิกไปก่อน เลิกปฏิบัติไปชั่วครั้งชั่วคราวก่อน เสร็จแล้วก็คอยรู้ทันเวลาจิตเผลอไป จิตไหลไป เผลอไปทางตา เช่น ไหลไปดูพระพุทธรูป เผลอไปทางหู ได้ยินไหม ระฆังดัง รู้สึกไหม ไปตั้งใจฟังระฆังปุ๊บนี่ ได้ยินเสียงระฆัง ลืมกายลืมใจแล้ว เผลอไปทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ เผลอได้ทั้งหมดนั่นแหละ ถ้าเมื่อไรเผลอไป ใจก็ไม่ตั้งมั่น แต่มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง ถ้ามันเผลอแล้วเรารู้ว่าเผลอนะ จิตจะตั้งมั่นพอดีเลย แต่ถ้าเพ่งแล้วรู้ว่าเพ่งนะ จิตไม่ตั้งมั่นหรอก จิตก็ยังเพ่งอยู่ เพราะอะไร เพราะจิตที่เผลอไปฟุ้งซ่านไปเป็นจิตอกุศล ทันทีที่เรารู้ทัน จิตอกุศลจะดับทันที จะเกิดจิตที่ตั้งมั่นในฉับพลันนั้น ส่วนจิตที่เพ่ง ไม่ใช่จิตอกุศลนะ จิตที่เพ่งเป็นจิตที่ทำสมถะ เป็นจิตที่เป็นกุศล เป็นความปรุงแต่งฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้นเราไปรู้อยู่ก็ไม่จำเป็นต้องดับหรอก เว้นแต่ว่าเราจะเลิกเพ่ง การทำจิตให้ตั้งมั่นมีหลายแบบ เพราะคนมีหลากหลาย เช่น บางคนทำฌานได้จนเกิดจิต “ ผู้รู้ ” ที่เรียกว่า “ เอโกทิภาวะ ” เช่น การทำอานาปานสติ หายใจไปแล้วมีสติระลึกรู้ลมหายใจ โดยเอาลมหายใจเป็นอารมณ์ ตัวลมหายใจเรียกว่าบริกรรมนิมิต ดูลมหายใจไปเล่นๆ ดูสบายๆ อย่าไปเป็น อย่าไปเค้นจิต อย่าไปบังคับจิตให้สงบ จิตไม่ชอบให้ใครบังคับนะ ถ้าเราบังคับมันจะเครียด มันจะไม่สงบหรอก ให้รู้เล่นๆ ไป ลมหายใจนี้เป็นบริกรรมนิมิต ลมจะสั้นขึ้นๆ ทีแรกหายใจลงไปถึงท้อง จากนั้นลมจะเบาๆ เหมือนหายใจสั้นๆ เหลือแค่ปลายจมูก ต่อจากนั้นลมจะเปลี่ยนเป็นแสงสว่าง แล้วรวมเป็นดวงสว่างขึ้นมา ถึงจุดนี้ให้เราเปลี่ยนอารมณ์กัมมัฏฐาน เราไม่ได้ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์แล้ว เราใช้ดวงที่มีความสว่างนี้เป็นอารมณ์แทน ดวงนี้เรียกว่าอุคคหนิมิต ดูไปเรื่อยจะเป็นปฏิภาคนิมิต ย่อได้ ขยายได้ มีความสุข มีปีติแล้วมีสติรู้ทันอยู่ที่ใจของเราเอง จนกระทั่งใจมันวางนิมิต ไม่มีวิตกถึงนิมิต ไม่มีวิจารถึงนิมิต ไม่เคล้าไม่เคลีย ไม่นึกถึง ไม่ยกขึ้นมา จะมีภาวะแห่งความรู้ “ ตัวผู้รู้ ” จะเด่นขึ้นมาเรียกว่า “ เอโกทิภาวะ ” คือสมาธิที่มีใจตั้งมั่นขึ้นมาเป็นหนึ่ง ไม่ตรึกตรองในอารมณ์ เวลาเราออกจากสมาธิแล้ว ตัวเอโกทิภาวะยังอยู่ จะประคองรักษาจิตเอาไว้เองโดยที่เราไม่ต้องรักษา จิตจะเป็นผู้รู้ขึ้นมา แล้วจะเห็นเลยว่าร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู นี่คือวิธีทำเต็มรูปแบบ คนรุ่นนี้ทำยาก วันหนึ่งๆ มีแต่ความฟุ้งซ่าน ก็ต้องทำอีกแบบหนึ่ง บางคนทำฌานไม่ได้ แต่อยากให้มีจิตที่ตั้งมั่นเป็น “ ผู้รู้ ” ก็ให้นั่งหายใจไป หรือนั่งดูท้องพองยุบไป ขยับมือทำจังหวะก็ได้ แล้วค่อยๆ ดูไป ร่างกายมันเคลื่อนไหว มีใจเป็นคนดู หรือให้รู้อิริยาบถ ๔ ให้เห็นเลยว่าร่างกายมันมีใจเป็นคนรู้ ร่างกายมันเดินมีใจเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจออก หายใจเข้า มีใจเป็นคนรู้ไปเรื่อย คอยรู้สึก รู้ไปรู้ไปมันจะแยกกายกับใจออกจากกัน มีตัว “ ผู้รู้ ” ขึ้นมา ถ้าหัดรู้ด้วยวิธีนี้จะแยกได้ไม่นาน อีกพวกหนึ่ง ถ้าฝึกให้มีจิต “ ผู้รู้ ” ไม่ได้ ก็ให้หัดเจริญสติในชีวิตประจำวันนี้แหละ เวลาจิตไหลไปหลงไปแล้วรู้ ถึงรู้จุดหนึ่ง ก็เห็นเหมือนกันว่าร่างกายก็แยกจากจิตได้ ถ้าฝึกแบบไม่มีตัว “ ผู้รู้ ” ให้หัดรู้สึกๆ ไปเรื่อยๆ แล้วมันไประลึกได้เองเวลาใจมันตั้งมั่นขึ้นมาโดยไม่มีเจตนาจะตั้งมั่น ทำไมใจถึงตั้งมั่น ก็เพราะสติไปรู้ทันนิวรณ์ขึ้นมา จิตจะตั้งมั่น แต่ตั้งแวบเดียว นี่เราฝึกอย่างนี้ก็ได้ การรู้ทันนิวรณ์ก็คือ เมื่อจิตมีกามฉันท์ (พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย อารมณ์ทางใจ) จิตพยายามก็รู้ จิตสงสัยก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ไปเรื่อย เมื่อไรนิวรณ์เกิดขึ้นแล้วสติไปรู้ นิวรณ์จะดับ เพราะนิวรณ์เป็นกิเลสเกิดร่วมกับสติไม่ได้ พอนิวรณ์ดับ จิตก็มีสมาธิขึ้นมาเอง เพราะศัตรูของสมาธิก็คือนิวรณ์นั่นแหละ เมื่อใจของเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมาได้ เราจะถอดถอนตัวเองออกจากตัวเอง มันเหมือนมีอีกคนหนึ่งเป็นคนดูขึ้นมา ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตใจเป็นของถูกรู้ถูกดู ความสุข ความทุกข์ กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย เป็นของถูกรู้ถูกดู กระทั่งร่างกายก็เป็นของถูกรู้ถูกดู สิ่งใดที่เราเห็นได้ก็ไม่ใช่เราใช่ไหม มันเป็นของที่จิตไปรู้เข้า นี่เราจะค่อยๆ แยกขันธ์คือกายกับใจออกไปนะ การเจริญปัญญาเริ่มต้นด้วยการแยกขันธ์ออกไป พอเรารู้สึกตัวเป็นแล้ว เราจะเห็นสิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี่กระจายออกเป็นกองๆ เรียกว่ากระจายออกไปเป็นขันธ์ๆ แต่ละส่วนๆ ที่กระจายออกไปนั้นไม่มีตัวเรา แต่ถ้าขันธ์ทั้งหลายมารวมตัวอยู่ด้วยกัน เราจะเกิดความสำคัญมั่นหมายขึ้นมาว่านี่เป็นตัวเรา ถ้ามีตัวเราก็มีเราแก่ เราเจ็บ เราตาย มีเราสมหวัง มีเราผิดหวัง มีเราพลัดพรากจากสิ่งที่รัก มีเราไปเจอสิ่งที่ไม่รัก มันก็มีความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าเห็นความจริงว่าตัวเราไม่มี คราวนี้ไม่มีใครแก่ใครเจ็บใครตาย ร่างกายมันแก่ ร่างกายมันเจ็บ ร่างกายมันตาย ไม่ใช่เราแก่ ไม่ใช่เราเจ็บ ไม่ใช่เราตายอีกต่อไปแล้ว ส่วนจิตใจก็เกิดดับตลอดเวลา เดี๋ยวคิดดีเดี๋ยวคิดร้าย เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวโลภเดี๋ยวโกรธเดี๋ยวหลง เดี๋ยววิ่งไปที่ตา เดี๋ยววิ่งไปที่หู เดี๋ยววิ่งไปคิด ทำงานของเขาเอง เขาเกิดดับตลอดเวลา เขาไม่ใช่ตัวเรา นี่ดูอย่างนี้นะ ดูลงในกายเห็นกายไม่ใช่เรา ดูลงไปที่จิตใจเห็นจิตใจไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มีหรอก แต่ละอัน แต่ละขันธ์นี่ พอขันธ์กระจายตัวออกไปแล้ว จะเห็นว่าขันธ์แต่ละขันธ์ไม่ใช่เราแล้ว ขันธ์ก็เป็นแค่ขันธ์เท่านั้นเอง ถ้าเราเจริญสติมากเข้าๆ จนจิตตื่น จะเห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู มันเป็นของที่จิตไปรู้เข้า มันแยกออกไปจากจิต กายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง จะเห็นเลยว่าร่างกายที่เคลื่อนไหวยืนเดินนั่งนอนนี่ เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นว่าเวทนาคือความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์รู้สึกเฉยๆ เป็นแค่สิ่งแปลกปลอมเข้ามา อยู่ห่างๆ มันไม่ใช่จิตด้วย แล้วมันก็ไม่ใช่กายด้วย ถ้ามีสติปัญญาแก่รอบกว่านี้จะเห็นเลยว่า จิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับไป จิตเกิดที่หูแล้วก็ดับไป จิตเกิดที่ใจไปคิดไปนึกแล้วก็ดับไป จิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นอกุศลเป็นจิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วก็ดับ จิตหดหู่เกิดขึ้นแล้วก็ดับ นี่จะเห็นอย่างนี้ การที่เห็นมันเกิดแล้วมันดับ มันเกิดแล้วมันดับ ขาดออกไปเป็นท่อนๆ ไม่ใช่จิตดวงเดียวตั้งแต่เกิดจนตาย แต่จะเห็นจิตขาดเป็นท่อนๆๆ นะ เป็นดวงๆ ไป เห็นอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อให้เห็นว่ามันไม่ใช่อันเดิม จิตที่รู้สึกตัวก็ดวงหนึ่ง จิตที่หลงไปคิดก็ดวงหนึ่ง จิตที่รู้สึกตัวก็ดวงหนึ่ง จิตที่เพ่งอยู่ก็ดวงหนึ่ง คนละดวงกัน ถ้าเราเห็นจิตขาดเป็นดวงๆ เรียกว่า สันตติขาด สันตติคือความสืบเนื่อง สันตตินี่แหละสร้างภาพลวงตาขึ้นมา ถ้าสันตติขาดเราก็จะเห็นของจริง ยกตัวอย่างเหมือนเราดูการ์ตูน เราเห็นว่าตัวการ์ตูนอย่างโดเรม่อน อิ๊คคิวซังมันเดินได้ใช่ไหม วิ่งได้กระโดดได้ ทำท่าโน้นทำท่านี้ได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมันคือรูปที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเลย แต่ละรูปแต่ละรูปมาต่อกัน รูปนี้เกิดแล้วก็ดับ จิตมันจำเอาไว้ อาศัยสัญญาใช่ไหม สัญญาที่หลวงพ่อว่ามันวิปลาสน่ะ อาศัยสัญญาจำรูป รูปแรกมันอยู่ตรงนี้ อีกรูปหนึ่งมันมาอยู่ตรงนี้ นี่อาศัยสัญญานะ มันจำได้ว่าแต่ก่อนอยู่ตรงนี้ แล้วเดี๋ยวนี้มาอยู่ตรงนี้ มันจะรู้สึกเหมือนมันเคลื่อนไหวได้ เราเห็นตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ฉันใด เราก็เห็นจิตวิ่งไปวิ่งมาได้ฉันนั้น นี่เป็นความหลงผิด นี่เป็นภาพลวงตาเท่านั้นเอง แท้จริงจิตก็เกิดดับ เกิดดับเหมือนการ์ตูนทีละรูป ทีละรูป นั่นเอง แต่ว่าสติปัญญาของคนทั่วไปซึ่งไม่เคยฝึกฝนไม่สามารถเห็นได้ ก็จะรู้สึกว่าจิตเที่ยง ถ้าเราสามารถเห็นว่าจิตเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไปเรื่อยๆ ไม่นาน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เราจะเห็นความจริงว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราที่แท้จริงไม่มี มันมีแต่ของเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ถ้าเมื่อไรวันใดเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานะ ทุกอย่างในโลกนี้จะไม่ใช่ตัวเราแล้ว ร่างกายมันไม่ใช่เราตั้งแต่เริ่มหัดเจริญสติแล้ว พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะเห็นเลยว่าร่างกายมันอยู่ต่างหากแล้ว เหลือแต่จิตอันเดียวนี่แหละรู้สึกว่าวิ่งไปวิ่งมา การเจริญสติจนเห็นจิตเกิดดับเกิดดับ เกิดที่ตาแล้วดับ เกิดที่หูแล้วดับ เกิดที่ใจแล้วดับ ก็คือสันตติขาด การที่สันตติขาดนี่แหละคือวิปัสสนาที่แท้จริง ถ้าสันตติยังไม่ขาดยังไม่ใช่วิปัสสนาที่แท้จริง เราต้องค่อยๆ ดูไป ฝึกไปเรื่อยๆ พอสันตติขาดแล้วจะสั่นสะเทือนขึ้นมาเลย บางคนรู้สึกกลัว บางคนรู้สึกเบื่อ บางคนรู้สึกโหวงๆ ตัวเราหายไปแล้ว โหวงๆ เวิ้งว้างหาที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ บางคนเบื่อจิบจิตจับใจเลย เบื่อสุขเบื่อทุกข์ เบื่อทุกอย่าง เบื่อสามี เบื่อภรรยา แต่เบื่ออย่างนี้ไม่ใช่เบื่อด้วยกิเลส มันเบื่อด้วยสติด้วยปัญญา เห็นทุกอย่างไม่มีสาระเลย ไม่มีตัวมีตนอะไร ใจมันจะเบื่อไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างเลย เบื่อสุขกับทุกข์เท่าๆ กัน เบื่อดีกับชั่วเท่าๆ กัน เบื่อหยาบกับละเอียดเท่าๆ กัน เบื่อภายในกับภายนอกเท่าๆ กัน จิตก็หมดแรงดิ้น ไม่ดิ้นรนค้นคว้า บางคนกลัว กลัวมากๆ เลยนะ พอภาวนามาจนเห็นว่าตัวเราไม่มี กลัวเพราะรู้สึกว่าตัวเราหายไปแล้ว ตกอกตกใจขึ้นมา เมื่อสภาวะอันนี้เกิดขึ้นแล้วให้มีสติรู้ทันเข้าไป สภาวะอันนี้ก็เช่นเดียวกับความโกรธความหลงที่เคยเห็นมานั่นเอง คือเกิดแล้วก็ดับเช่นเดียวกัน พอดับไปแล้วใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เราก็ดูกายดูใจของเราต่อไป จิตมันจะค่อยเข้าใจความเป็นจริงมากขึ้นๆ มันจะเห็นเลยว่าความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว โลภโกรธหลงก็ชั่วคราว ฟุ้งซ่านหดหู่ดีใจเสียใจทั้งหมดนี้ชั่วคราวหมดเลย จะเห็นว่าสิ่งใดเกิดแล้วก็ดับไป ทุกอย่างชั่วคราวหมดเลย พอจิตมันยอมรับความจริงว่าทุกอย่างเป็นของชั่วคราว จิตจะหมดแรงดิ้น จิตจะหมดการดิ้นรนค้นคว้าเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ หมดแรงดิ้นรนค้นคว้าที่จะหลีกหนีอารมณ์ที่ไม่พอใจ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางที่แท้จริง ความเป็นกลางเพราะปัญญานี่แหละเป็นความเป็นกลางที่สำคัญมาก ปัญญาตัวนี้เรียกว่า “ สังขารุเปกขาญาณ ” เห็นสุขกับทุกข์มันเท่ากัน นรกกับสวรรค์มันก็เท่ากัน ไม่กลัวนะ หมดความดิ้นรน จิตมันรู้ตื่นแล้วก็เป็นกลาง สักว่ารู้ สักว่าเห็น มันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าเทียมกัน สุขกับทุกข์เท่ากัน มีความสุขเกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ มีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ เมื่อสักว่า สักว่า แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะหมดการดิ้นรนของจิต หมดความปรุงแต่งของจิต จิตจะค่อยๆ ปรุงน้อยลงๆ ถึงจุดหนึ่งหยุดปั๊บลงไป ตรงหยุดปั๊บลงไปนี่จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิโดยสมาธิโดยอัตโนมัติเลย เมื่อรวมเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว ตรงนี้จะไม่คิดไม่นึกอะไรแล้ว จะเห็นสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) เกิดดับขึ้นภายใน ๒-๓ ขณะ ใจนี้สักว่ารู้สักว่าเห็นอย่างแท้จริง ไม่มีกระทั่งความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ สักนิดเดียวเลย ถัดจากนั้น จิตจะวางการรู้สภาวะทบทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ พอทวนกระแสเข้าถึงธาตุรู้แล้วอริยมรรคจะแหวกอาสวะกิเลสทั้งหลายหรือสังโยชน์ทั้งหลาย อาสวะที่ห่อหุ้มจิตอยู่ สังโยชน์ที่แทรกอยู่ในจิตจะถูกทำลายออกไป ตรงกระบวนการทำลายล้างนี่ ๑ ขณะเท่านั้น พอขาดสะบั้นลงแล้ว ตรงนี้เราจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ตรงนี้เป็นผลแล้ว เป็นโลกุตรผลนะ ตรงที่เกิดอริยมรรคเรียกว่าโลกุตตรเหตุ มรรคเป็นเหตุ ผลเป็นผล ตรงที่เห็นเป็นผลนี่จะเห็นไม่เท่ากัน พวกที่สติปัญญาแก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๓ ครั้ง ๓ ขณะ พวกที่ยังไม่แก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะ ถัดจากนั้นจิตจะถอยออกมากลับสู่โลกภายนอกนี้ พอกลับมาสู่โลกภายนอก มันจะทวนกลับเข้าไปพิจารณาใหม่ว่าเมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น มันจะรู้เลยว่ากิเลสตัวไหนหายไปแล้ว กิเลสตัวไหนยังเหลืออยู่ รู้ว่ายังมีงานต้องทำอีก แต่ถ้าตัดครั้งที่สี่เป็นพระอรหันต์นะ มันทวนวับเข้าไป มันจะเห็นนิพพานชัดเจนเลย ไม่มีกิเลสอะไรให้ต้องลดละอีกแล้ว มันไม่มีกิเลสเหลือ จะเห็นนิพพานล้วนๆ เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เราต้องเชื่อพ่อแม่ เราต้องรู้กายรู้ใจของเราไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราจะได้มรดกของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้หอบเอานิพพานแล้วหายไปไหน นิพพานยังอยู่เต็มโลกเต็มบริบูรณ์อยู่นี่แหละ คนมีบุญวาสนามีปัญญาแก่รอบ เจริญวิปัสสนาแก่รอบแล้วก็จะได้รับ นี่รางวัลสูงสุดของชีวิตอยู่ตรงนี้ ชีวิตที่เหลือเป็นชีวิตที่อิสระโปร่งเบา ปราศจากความอยาก ความยึดและความดิ้นรนปรุงแต่ง ไม่มีความทุกข์หรือสิ่งใดครอบงำจิตได้อีกแล้ว ๔ . การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เมื่อเรียนหลักการภาวนาเข้าใจแล้วก็ต้องลงมือปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เราอย่าไปวาดภาพการปฏิบัติธรรม การทำวิปัสสนา หรือการภาวนาว่าต้องไปนั่งหลับหูหลับตา ตัวที่สำคัญที่สุดเลยคือมีสติในชีวิตประจำวันนี่แหละ กิเลสเกิดขึ้นมาตอนไหนก็รู้มันไปตรงนั้น นั่นเรียกว่าภาวนาแล้ว ร่างกายเคลื่อนไหวแล้วรู้สึกอยู่ก็เรียกว่าภาวนาแล้ว จิตใจทำงานไปแล้ว เรารู้เท่าทันอยู่ก็เรียกว่าภาวนาแล้ว เวลาเราทำงานก็ขยันทำงานไป ทำงานแล้วยังมีเวลาเหลือ เราก็คอยรู้กายรู้ใจของเราไป หรือเราทำงานแล้วเกิดเครียดขึ้นมา แวบขึ้นมา เรารู้ทันความเครียด นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว เราทำงาน เราจะรีบให้เสร็จเร็วๆ คนโทรศัพท์มากวน เราโมโหก็รู้ว่าโมโห นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว เห็นไหม ทำงานไป ถึงเวลาพักจะไปกินข้าว ดีใจ รู้ว่าดีใจ นี่ก็ปฏิบัติแล้ว เดินไปกินข้าว ลงมาจากตึก เดินไป เห็นร่างกายเดินอยู่ ใจเราเป็นแค่คนดู นี่ก็ปฏิบัติแล้ว ไปถึงร้านอาหาร ดูอาหารนั่นก็น่ากิน นี่ก็น่ากิน วันนี้หิวเป็นพิเศษ อะไรๆ น่ากินไปหมดเลย ตะกละ ลังเลๆ เห็นเลย ใจกำลังลังเลว่าจะกินอะไรดี บางวันดูจนหัวแถวท้ายแถวหมดทุกร้านแล้ว ไม่มีอะไรน่ากินเลย ชักหงุดหงิด เอ๊ แม่ค้าแถวนี้ทำไมไม่มีพัฒนาการ ขาด innovation (นวัตกรรม) ห่วยแตก โหลยโท่ย แล้วแต่จะด่านะ ถ้าหิวมากก็ด่ามากหน่อยเพราะขาดสติ เราก็รู้ทันใจของเราไปเรื่อย นี่แหละก็ปฏิบัติแล้วใช่ไหม เราจะไปห้องน้ำ เกิดฉุกเฉิน จะต้องรีบเข้าห้องน้ำด่วน พุ่งพรวดเข้าไปถึงห้องน้ำ ห้องน้ำเต็มทุกห้องเลย วิ่งไปอีกที่หนึ่ง อ้าวก็เต็มอีก ใจเราทุรนทุรายเต็มที่แล้ว เพราะว่าศัตรูมารอที่ประตูถ้ำแล้ว สู้มันไม่ไหวแล้ว นี่ทุรนทุรายขึ้นมา กลุ้มอกกลุ้มใจขึ้นมา รู้ทันมันเข้าไป ถึงจะปวดท้อง แต่ใจไม่ปวดไปด้วยหรอก นี่เขาเรียกว่าภาวนา นี่พอเราคอยรู้ทันใจของเราไปเรื่อย แต่ละขณะๆ นี่แหละคือการปฏิบัติ รู้ไปอย่างนี้นะ ไม่นานเราก็จะเห็นความจริง จิตใจของเราไม่คงที่หรอก จิตใจของเราเดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ เดี๋ยวก็ดีขึ้นมา เดี๋ยวก็มีความร่าเริงเบิกบานในธรรมะขึ้นมา เดี๋ยวก็เป็นอธรรม เห็นไหม เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง เราไม่ได้ไปฝึกเป็นยอดมนุษย์ เราฝึกเป็นคนธรรมดานี่แหละ ฝึกอยู่ในชีวิตธรรมดาจนเห็นความจริงว่า ธรรมดาของกายนี้เป็นอย่างนี้ ธรรมดาของใจเป็นอย่างนี้ พอเห็นธรรมดาแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับกายกับใจ ไม่เดือดร้อนแล้ว จะแก่ก็ธรรมดา จะเจ็บก็ธรรมดา จะตายก็ธรรมดา จะพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็ธรรมดา เจอสิ่งที่ไม่รักก็ธรรมดา จะสมหวัง จะผิดหวัง มันเรื่องธรรมดาไปหมด เพราะกายนี้ใจนี้เราเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยอะไรไม่ได้จริงหรอก ต่อไปอะไรเกิดขึ้นในชีวิต มันจะรู้สึกเหมือนกับเป็นเรื่องที่เกิดกับคนอื่น แล้วถ้าไม่มีตัวเรา ใครเป็นผู้ทำกรรม ก็ขันธ์น่ะสิมันทำกรรม ขันธ์มันทำของมันเอง ใครเป็นคนรับผลกรรม ขันธ์น่ะสิมันรับผลกรรม ไม่ใช่เรารับผลกรรม มีการกระทำกรรม แต่ไม่มีเราผู้กระทำกรรม มีผู้รับผลกรรม แต่ไม่มีเราผู้รับผลกรรม ถ้าสติปัญญาแก่รอบนะ เห็นขันธ์มันทำ เราไม่ได้ทำ คราวนี้สิ่งที่ขันธ์ทำจะกลายเป็นกิริยาล้วนๆ เลย เราไม่ได้ทำเสียแล้ว นี่ค่อยเรียนนะ เรียนลงไปจนเห็นเลยว่าตัวเราไม่มี ถ้าตัวเราไม่มีแล้วใครจะทุกข์ ตัวเราไม่มีแล้วใครจะทุกข์ก็เรื่องของมันสิ ถามว่าใครทุกข์ ก็ขันธ์มันทุกข์ กายมันทุกข์ใจมันทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ เราพ้นทุกข์ได้เพราะการรู้ที่ถูกต้อง คือพ้นได้ด้วยปัญญา ส่วนคุณธรรมอื่นๆ เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ศีล เป็นเพียงตัวสนับสนุนเกื้อกูลเท่านั้น ในสังสารวัฏที่ยาวนานนี่ การที่จะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบและได้ฟังธรรมเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเลย วันเวลาที่มีพระพุทธเจ้า มีศาสนาพุทธนี้สั้นมาก โอกาสที่ได้เรียนธรรมะมีไม่มาก มีน้อย ค่อยรู้สึก รู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจไป อย่าให้เสียโอกาสไปวันหนึ่งๆ โดยเปล่าประโยชน์
ต้นทางถึงปลายทางแนวทางการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา จากพระธรรมเทศนาของ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ๑ . โอกาสทองของชีวิต พวกเรามีบุญวาสนา ได้เกิดในแผ่นดินซึ่งศาสนาพุทธยังดำรงอยู่ หลักธรรมแท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าสอนยังได้รับการถ่ายทอดอยู่ เราได้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ได้พบสัตบุรุษ แล้วมีศรัทธาสนใจที่จะศึกษา ยากมากนะที่จะมีสภาวะอย่างนี้ ธรรมะของพระพุทธเจ้ากระจ่าง แจ่มแจ้ง พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง และต้องเห็นผลเร็วด้วย ใครๆ ไปเรียนธรรมะจากพระพุทธเจ้าแล้วถึงอุทานบอก “ แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า เหมือนเปิดของคว่ำให้หงาย ” ง่าย คว่ำๆ อยู่ จับหงาย มันยากเหรอ ธรรมะของพระพุทธเจ้า งดงามในเบื้องต้น คือชี้ทางให้เราเดินไปได้ งดงามในท่ามกลาง คือมีเหตุผลสมบูรณ์ อย่างนี้ถูก อย่างนี้ผิด พิสูจน์ได้ด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา งดงามในที่สุด คือ เราละกิเลสได้จริงๆ ความทุกข์ตกหายไปได้จริงๆ เป็นลำดับๆไป ศาสนาพุทธสอนให้เราเรียนรู้ตัวเอง สิ่งที่เรียกว่าตัวเราคือกายกับใจ ท่านสอนว่า ถ้าเรารักสิ่งใด เราจะทุกข์เพราะสิ่งนั้น สิ่งที่เรารักที่สุดคือตัวเอง คือกายกับใจ ทำไมรัก เพราะเรารู้สึกว่านำความสุขมาให้ อย่างเช่นเรารักตา เรากลัวตาบอด เพราะว่า ตาทำให้เราเห็นของสวยๆ ถ้าตาเห็นแต่ของน่าเกลียดน่ากลัว เราคงไม่อยากมีตา หูก็ทำให้ได้ยินเสียงดีๆ ถ้าได้ยินแต่เสียงไม่อยากฟัง เราก็คงไม่อยากมีหู อายตนะทั้งหลาย ตาหูจมูกลิ้นกายใจมันทำให้เราเชื่อมต่อเข้ากับโลกภายนอกได้ ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นของดี นำความสุขมาให้ แต่ตอนนำความทุกข์มาให้ เราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ไป อย่างน้อยมันก็ยังมีความสุขกระเส็นกระสายให้หวังเล่นๆ มีชีวิตอยู่ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ หวังอะไร หวังจะสุขถาวร หวังจะดีถาวร หวังจะสงบถาวร แต่ความจริงคือ ทุกอย่างชั่วคราว นี่เราหวังลมๆ แล้งๆ หวังสิ่งซึ่งไม่มีจริง หวังอย่างนั้นก็นำความทุกข์มาให้ หวังแล้วก็ไม่มีทางสมหวัง แต่ถ้าเรารู้ลงในกายในใจ มันไม่ใช่ของดีของวิเศษ กายนี้ใจนี้เป็นแต่ตัวทุกข์ พอเห็นอย่างนี้แจ่มแจ้งนะ มันจะวาง ไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจ เมื่อไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจ จะยึดอะไรอีก ไม่มีแล้ว เพราะสิ่งที่ยึดมากที่สุดคือกายกับใจ ระหว่างกายกับใจก็ยึดใจมากกว่ากาย วัตถุประสงค์ของเราชาวพุทธก็คือ ต้องพ้นทุกข์ พ้นทุกข์ก็คือนิพพานนั่นเอง คือพ้นจากความยึดถือกายยึดถือใจ เพราะกายกับใจคือตัวทุกข์ เรามีเป้าหมายอยู่ ๔ เป้าหมาย เป้าหมายที่ ๑ เป็นพระโสดาบัน คือผู้ที่ละความเห็นผิดว่ามีตัวเรา เห็นความจริงแล้วว่าตัวตนที่แท้จริง ตัวตนที่ถาวรนั้นไม่มี มีศีลบริบูรณ์ มีสมาธิ และปัญญาเล็กน้อย เป้าหมายที่ ๒ เป็นพระสกิทาคามี มีสติที่รวดเร็วในการรู้สึกตัว จนกิเลสตัณหาอ่อนกำลังลงไป มีสมาธิปานกลาง มีปัญญาเล็กน้อย เป้าหมายที่ ๓ เป็นพระอนาคามี สามารถปล่อยวางความยึดถือกายได้ จึงพ้นจากกามและปฏิฆะ มีสมาธิสมบูรณ์ มีปัญญาปานกลาง เป้าหมายที่ ๔ เป็นพระอรหันต์ มีศีล สมาธิ และปัญญาสมบูรณ์ สามารถปล่อยวางความยึดถือใจได้ ก็จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ศาสนาพุทธ คือตัวสัมมาทิฏฐิ คือความรู้ถูกความเข้าใจถูกในสภาวธรรม (รูปธรรมและนามธรรม) จนกระทั่งปล่อยวางความยึดถือสภาวธรรมทั้งปวงได้ ซึ่งก็คือ ความรู้แจ้งอริยสัจ อริยสัจมีทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็เป็นอันละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา เมื่อใจเข้าถึงความจริง ยอมรับความจริงแล้ว มันจะไม่ทุกข์ อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญมากเลย ลึกซึ้งที่สุด ถ้าไม่รู้แจ้งอริยสัจ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด วนเวียนอยู่ในความทุกข์ไปเรื่อยๆ พ้นไม่ได้หรอก อริยสัจเป็นความจริงของบรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลาย ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านเหล่านี้เห็นความจริงของโลก ของชีวิต ของจักรวาล หน้าที่ของชาวพุทธคือหน้าที่เรียน ฉะนั้นชาวพุทธเป็นนักเรียนนะ เราต้องเรียนธรรมะ เพื่อวันหนึ่งเราจะได้รู้แจ้งธรรมะของพระอริยเจ้า เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งของพระอริยเจ้า อริยสัจตัวที่หนึ่งชื่อว่าทุกข์ ทุกข์ในอริยสัจแปลว่ากายกับใจ รูปกับนาม เรารู้สึกไหมว่ากายเป็นทุกข์ใจเป็นทุกข์ เราไม่รู้สึกหรอก เรารู้สึกว่ากายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง จิตนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง ตราบใดที่ยังเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง มันจะไม่ยอมปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจหรอก เพราะมันยังมีทางเลือกที่จะให้กายให้ใจเป็นสุข ยังรักอยู่ ยังหวงแหนอยู่ ยังหาทางดิ้นรนให้กายให้ใจมีความสุขอยู่ เมื่อไม่รู้แจ้งในธรรมะของพระอริยเจ้า ไม่แจ้งอริยสัจ ไม่รู้ว่ากายกับใจเป็นตัวทุกข์ จะไม่สามารถปล่อยวางความยึดถือกายความยึดถือใจได้ ยังรักมัน ยังหวงแหนมัน เมื่อรักมันหวงแหนมันนะ สมุทัยก็จะเกิดขึ้น สมุทัยคือตัณหา หมายถึงความอยาก อยากอะไร อยากให้กายมีความสุข อยากให้กายพ้นทุกข์ อยากให้จิตใจมีความสุข อยากให้จิตใจพ้นทุกข์ นี่ความอยากนี้แหละคือตัวตัณหา ถ้าตัณหาเกิดขึ้นแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นอีก มันจะเกิดทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา เบื้องต้นนะ กายกับใจเป็นตัวทุกข์ อันนี้เราไม่เห็นหรอก แต่ว่าเบื้องปลายนี่ ทันทีที่เกิดความอยาก อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์ จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เมื่อเกิดความอยากขึ้นเมื่อไร จิตจะดิ้นรนเมื่อนั้น เมื่อจิตดิ้นรนเมื่อไร จิตจะมีความทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา กายกับใจเป็นตัวทุกข์อยู่แล้วนะ พอเกิดตัณหา เกิดอุปาทานคือความยึดถือ ก็เกิดภพคือการดิ้นรนทำงานของจิต ความทุกข์ก็จะเกิดซ้ำซ้อนขึ้นที่จิตอีกชั้นหนึ่ง เมื่อไม่รู้ทุกข์นะ มันก็เกิดสมุทัย จิตใจก็ดิ้นรนปรุงแต่ง นิโรธก็ไม่ปรากฏ นิโรธคือนิพพาน นิพพานคือสภาวะซึ่งพ้นจากความปรุงแต่ง สภาวะซึ่งพ้นจากตัณหา สภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง มีชื่อเป็นภาษาแขกว่า วิสังขาร สภาวะที่พ้นจากตัณหามีชื่อว่าวิราคะ อันนี้เป็นชื่อของนิพพานทั้งสิ้นเลยนะ เมื่อจิตยังดิ้นรนค้นคว้า จิตยังมีความอยากมีความยึดถืออยู่ นิพพานไม่ปรากฏ ความพ้นทุกข์ไม่มี เพราะยังวนเวียนยึดถือขันธ์อยู่ ต่อเมื่อไรรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยถูกละอัตโนมัติ นิโรธแจ้งอัตโนมัติ อริยมรรคก็เกิดอัตโนมัติเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้เพียงบอกว่าให้เรารู้แจ้งอริยสัจเท่านั้น แต่ท่านบอกวิธีที่จะทำให้เรารู้แจ้งอริยสัจด้วย คือให้รู้ทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งนะ สมุทัยดับเอง นิโรธปรากฏเอง อริยมรรคเกิดขึ้นเอง หากรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันทำกิจของอริยสัจทั้ง ๔ เสร็จสิ้นในขณะเดียวกัน วิธีรู้ทุกข์ที่ท่านสอนก็คือ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือการเห็นอย่างวิเศษ คือเห็นความจริงของกายของใจว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา บังคับไม่ได้ ๒ . พระพุทธเจ้าสอนอะไร บทเรียนที่พระพุทธเจ้าสอนให้พวกเราศึกษานั้นมี ๓ บท คือ บทเรียนที่ ๑ ชื่อว่า สีลสิกขา คือเรียนเรื่องศีล หมายถึงว่าทำอย่างไรจิตของเราจะเป็นธรรมดาๆ จิตใจของเราจะไม่ถูกกิเลสชั่วหยาบครอบงำจนกระทั่งทำความผิด ล้นออกมาทางกายทางวาจา ถ้าเรามีสติคอยรู้ทันจิตใจของเราอยู่เรื่อยๆ กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ไม่ผิดศีลหรอก เช่น ถ้าเรามีสติเรื่อยๆ นะ ตามองเห็นรูป จิตเรายินดียินร้ายขึ้นมา เรารู้ทัน ความยินดียินร้ายก็คืออภิชฌาโทมนัส หรือราคะนั่นเองก็ครอบงำจิตไม่ได้ จิตก็ไม่ทำผิดศีล อย่างเห็นสาวสวยนะ ชอบเขารักเขา มีสติรู้ทันจิตของตัวเอง ว่านี่มีราคะเกิดขึ้น ราคะจะดับไป ก็ไม่ไปหลอกไปลวงอะไรเขาแล้ว ไม่ทำผิดศีล โกรธเขาขึ้นมา อยากฆ่าเขา มีสติรู้ทันลงไปที่ใจของตัวเองที่กำลังโกรธอยู่ พอมีสติรู้ทันนะ ความโกรธก็ครอบงำจิตใจไม่ได้ มันก็ไม่ฆ่าใคร ไม่ตีใคร ไม่ด่าใคร ถ้าเรามีสติอยู่ ศีลจะเกิดขึ้น จิตใจเราจะเป็นปกติธรรมดา แต่ถ้ายังไม่มีศีลที่เกิดจากการสำรวมอินทรีย์ ที่เรียกว่า อินทรียสังวรศีล อย่างนี้ก็มีศีลธรรมดาไปก่อน ให้ตั้งใจรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ตามโอกาสนะ ฉะนั้น ศีลถือเป็นปัจจัยของสมาธิ เป็นพื้นฐานทำให้ทำสมาธิได้ง่าย บทเรียนที่ ๒ ชื่อว่า จิตตสิกขา ชื่อมันก็บอกแล้วว่าเรียนเรื่องจิต เราจะเรียนให้รู้ความจริงว่าจิตชนิดไหนเป็นกุศล จิตชนิดไหนเป็นอกุศล จิตที่เป็นกุศลก็มีหลายแบบ เป็นกุศลทั่วๆ ไป ที่อยู่กับโลก หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลที่ใช้ทำสมถะ หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลที่จะใช้ทำวิปัสสนา เราต้องเรียนไปจนกระทั่งเรารู้ความจริง จิตที่เป็นมหากุศล จิตที่ใช้ทำวิปัสสนาจริงๆ มันจะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุต คือประกอบด้วยปัญญา อสังขาริกังคือเกิดขึ้นเอง ต้องเป็นจิตที่เกิดเองถึงจะมีกำลังกล้า ฉะนั้นเราต้องรู้ไปนะ ต้องเรียนว่าทำอย่างไรเราจะเกิดจิตซึ่งมีกำลังกุศลแก่กล้า ทำอย่างไรสติจะเกิดได้เอง เราต้องรู้ว่าสติเกิดจากอะไร สติเกิดจากถิรสัญญา แปลว่าการที่จิตจำสภาวธรรมได้แม่นยำ ในพระอภิธรรมจะบอกว่า การที่จิตจำสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) ได้แม่นยำ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ หลวงพ่อจะสอนให้หัดดูสภาวะ เช่น ร่างกายเคลื่อนไหว คอยรู้สึก หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก คู้รู้สึก เหยียดรู้สึก พองรู้สึก ยุบรู้สึก เป็นสุขเป็นทุกข์ รู้สึก โลภโกรธหลงขึ้นมา ไม่โลภไม่โกรธไม่หลงขึ้นมา คอยรู้สึก รู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจ รู้สึกไปเรื่อยๆ ทีแรกยังไม่มีสติหรอก คอยตามรู้สึกไปเรื่อยๆ ตามรู้ไปเรื่อย ร่างกายเคลื่อนไหวนะ เผลอเคลื่อนไหวไปก่อนแล้วรู้สึกตัว อ้าวเมื่อกี้เผลอไปเคลื่อนไหว ; โลภไปก่อน แล้วรู้สึกตัว อ้าวเมื่อกี้เผลอไปโลภ ;ใจลอยไปคิดก่อน แล้วรู้สึกตัว รู้ว่าเอ้อเมื่อกี้หลงไปคิดแล้ว การที่จิตมันเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดมันจะจำสภาวะได้ พอมันจำสภาวะได้นะ ต่อไปสติจะเกิดเองโดยไม่ต้องจูงใจให้เกิด สติ คือความระลึกได้ถึงความมีอยู่ของกาย ระลึกได้ถึงความมีอยู่ของใจ การที่จิตมันเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดมันจะจำสภาวะได้ พอมันจำสภาวะได้นะ ต่อไปสติจะเกิดเองโดยไม่ต้องจูงใจให้เกิด สติ คือความระลึกได้ถึงความมีอยู่ของกาย ระลึกได้ถึงความมีอยู่ของใจ สติที่เกิดจากการจงใจทำให้เกิด สติอย่างนี้ใช้ไม่ได้จริงในการทำวิปัสสนา แต่ใช้ทำสมถะได้ เช่น เราจะรู้ลมหายใจ เราก็กำหนดจิตเอาไว้กับลมหายใจ ไม่ให้ลืมลมหายใจเลย เราจะดูท้องพองยุบ เรากำหนดจิตจ่อลงไปที่ท้อง ไม่ให้ลืมท้องเลย เราจะเดินจงกรมยกเท้าย่างเท้า เราเอาสติจ่อลงไปที่เท้า ไม่ขาดสติเลย เท้ากระดิกกิ๊กๆๆๆ รู้หมด จะหยิบขวดน้ำนี่ กิ๊กๆๆๆ เห็นเหมือนรูปการ์ตูนนะ เห็นรูปมันดับ วับๆๆๆ ไป ใจมันจ่ออยู่ที่รูปนี่ สติอย่างนี้ จะรู้สึกว่าเกิดได้ทั้งวัน พวกเราลืมไปอย่างหนึ่งว่า สติหรือกุศลที่เกิดซ้ำๆๆๆ ได้นานๆ จะเกิดในฌานจิต คือเกิดกับจิตที่เพ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่สติที่จะใช้ทำวิปัสสนาอะไรหรอก สติที่เกิดจากการกำหนดไม่ใช่วิปัสสนา ถ้าเรากำหนดใส่ตัวอารมณ์ (สิ่งที่ถูกรู้) เมื่อไหร่จะเป็นสมถะ เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน ถ้าเมื่อไรเรามีสติเพ่งใส่ตัวอารมณ์ เมื่อนั้นเป็นสมถกัมมัฏฐาน จำเอาไว้นะ กระทั่งการเพ่งรูปเพ่งนามก็เป็นสมถกัมมัฏฐาน ต้องเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามถึงจะเป็นวิปัสสนา การจะเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามได้ จิตจะต้องตั้งมั่น ตัวนี้แหละคือตัวสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูเท่านั้นเอง วิธีทำให้เกิดสัมมาสมาธิทำได้หลายอย่าง วิธีที่หนึ่ง ทำฌานจนถึงฌานที่สอง พอถึงฌานที่สอง จิตมันจะตั้งมั่นออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดูในทางตำราจะเรียกว่ามีเอโกทิภาวะ คือภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง คือภาวะของจิตผู้รู้นั่นเอง จิตจะตั้งตัวรู้ขึ้นมา พอเราออกจากฌานแล้วนะ ตัวรู้นี้ยังทรงอยู่ มันจะเห็นทันทีเลยว่า ร่างกายที่ยืนเดินนั่งนอนนี้ไม่ใช่ตัวเรา เห็นทันที เห็นไหม เกิดปัญญาทันที เห็นไตรลักษณ์ทันทีเลย ร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่นี่มันไม่ใช่เราหรอก มันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู มีใครรู้สึกว่าพัดนี้เป็นตัวเราไหม (หลวงพ่อชูพัดให้ดู) ไม่มี เพราะอะไร เพราะมันเป็นของถูกรู้ถูกดู มันอยู่ห่างๆ นึกออกไหม ส่วนร่างกายเรานี่ ถ้าจิตของเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะรู้สึกทันทีว่าร่างกายอยู่ห่างๆ จิตมันแยกออกมา เรียกว่าแยกรูปกับนามออกจากกัน การแยกรูปกับนามออกจากกันนี่มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ทันทีที่แยกออกไป ใจตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เห็นอยู่ทันทีเลยว่า ร่างกายหายใจ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายพองยุบ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายยืนเดินนั่งนอน จิตเป็นคนรู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง จิตเป็นคนรู้ มันแยกออกมาต่างหาก มันจะเกิดปัญญาทันทีเลย เห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายนี้เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุเท่านั้น นี่คือการเจริญปัญญา เรียกว่า ปัญญาสิกขา คือบทเรียนที่ ๓ ส่วนจิตก็สักว่ารู้ สักว่าเห็น จะเห็นเลยว่ากิเลสมันผ่านมาผ่านไป เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้านไปเท่านั้นเอง ไม่เกี่ยวกับเรา อย่างนี้มันผ่านมาแวบแล้วหายไปเลย ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา วิธีที่สอง สำหรับคนที่ทำฌานไม่ได้ ไม่เป็นไร หัดรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยววันหนึ่งมันจะเกิดสมาธิขึ้นมา สมาธิชนิดนี้ ชื่อขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิคือสมาธิชั่วขณะ ฟังดูแล้วกิ๊กก๊อกนะ กระจอกงอกง่อย แหมใครๆ ก็อยากได้อัปปนาสมาธิ แต่ส่วนมากไม่ถึงอัปปนาสมาธิหรอก ฉะนั้นถ้าเราทำอัปปนาสมาธิไม่ได้ ก็ให้เรามีสติดูจิตดูใจของเราไปเรื่อย จิตไหลไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา มันจะค่อยๆ แยกตัวออกมาจากอารมณ์ เช่น จิตมันใจลอย จิตมันไปคิด พอเรารู้ทันนะ จิตมันก็ตื่นขึ้นมาแวบหนึ่ง เราจะเห็นเลยว่าความคิดนั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิต จิตมันโลภขึ้นมา พอเรามีสติรู้ว่าจิตโลภ เราจะเห็นเลยว่าความโลภเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิต แยกออกจากกันนะ เราโกรธขึ้นมา พอเรามีสติรู้ทันปั๊บ เราจะเห็นเลยว่าความโกรธเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิต นี่มันแยกออกมา จิตซึ่งเป็นผู้รู้อารมณ์มันจะตั้งขึ้นมา แต่มันอยู่ชั่วขณะนะ เดี๋ยวมันก็ไหลไปอีก ไม่เหมือนคนที่ทรงฌาน จะอยู่นาน นี่เรามีสมาธิชนิดนี้แหละพอแล้ว แต่ถ้าใครมีบุญวาสนา ทำอัปปนาสมาธิได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าฝืน มันจะกลายเป็นอัปลักษณ์สมาธิ พระพุทธเจ้าสอนว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนที่ไม่ได้ สดับ (หมายถึงคนที่ไม่ได้ฟังธรรมของท่านหรือของพระอริยเจ้า) สามารถเห็นว่ากายไม่ใช่ตัวเรา แต่ไม่สามารถเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา ” มีแต่คำสอนในอริยวินัย ในธรรมะของท่านนี้เท่านั้นที่ทำให้เห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเราได้ เพราะการที่จะเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานี่ยาก เนื่องจากเรายึดถือมานาน เราสำคัญมั่นหมายมานานว่าจิตเป็นตัวเรา พวกเราลองวัดใจตัวเองอย่างซื่อสัตย์นะ ลองวัดใจตัวเองดู เรารู้สึกไหมว่าร่างกายนี้มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ร่างกายของเราเดี๋ยวนี้กับร่างกายของเราตอนเด็กๆ นี่คนละคนกัน รู้สึกไหม มันไม่เหมือนเดิมนะ ร่างกายของเราเดี๋ยวนี้กับตอนวัยรุ่นก็ไม่เหมือนกันใช่ไหม ถ้าอายุขนาดหลวงพ่อ ร่างกายสมัยกลางๆ คนกับตอนนี้ไม่เหมือนกันแล้ว นี่เรารู้ได้ ร่างกายมันไม่เหมือนเดิม แต่เรารู้สึกไหมว่าในร่างกายที่แปรปรวนนี้ มีความรู้สึกว่ามีเราอยู่คนหนึ่ง เราคนนี้กับเราตอนเด็กๆ ยังเป็นเราคนเดิม นี่เราจะสำคัญมั่นหมายว่ามีเราอยู่คนหนึ่ง นั่นคือเราสำคัญว่าจิตคือตัวเรา อันนี้แหละจิตเป็นเราอยู่ ยากมากที่จะเห็นว่าจิตนี้ไม่ใช่เรา ถ้าเมื่อใดเห็นและยอมรับด้วยปัญญาว่าจิตไม่ใช่เรา วันนั้นจะได้พระโสดาบัน จำเอาไว้นะ วิธีที่จะให้เห็นว่าจิตไม่ใช่เรานะ รู้สึกตัวเรื่อยๆ ก่อน เห็นกายไม่ใช่เรา เห็นเวทนา (ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ) ไม่ใช่เรา เห็นจิตตสังขารคือกุศลและอกุศลทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา เป็นของถูกรู้ถูกดูทั้งหมดเลย ต่อมาสังเกตจิตใจ ไม่ต้องรีบสังเกตนะ ฟังหลวงพ่อพูด แล้ววันหนึ่งจิตมันจะไปสังเกตเอง อย่าไปจงใจสังเกต ถ้าจงใจดูจะไม่เจอ ค่อยๆ รู้สึกไป เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้ถูกรู้ใช่ไหม เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้คิดรู้สึกไหม ต้องหัดรู้ตัวจนชำนาญนะ จะรู้จักว่า อ้อ นี่จิตมันรู้ขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวจิตมันก็หลงไปคิด เดี๋ยวจิตมันก็รู้ เดี๋ยวจิตมันก็หลงไปคิด นี่ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปเราจะเห็นว่าจิตนี้มันไม่เที่ยง แรกๆ ก็แค่รู้สึกตัวเอาไว้ ร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก อันนี้จะทำให้เกิดสติอัตโนมัติ จิตมันจำสภาวะของร่างกายของจิตใจได้แล้วสติเกิดเอง เพราะฉะนั้นร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก พอสติจริงๆ เกิดขึ้นมาเองนี่ จิตมันจะตั้งมั่นอัตโนมัติ ตั้งมั่นขึ้นมาชั่วขณะ พอจิตมันตั้งมั่นชั่วขณะจะมีความรู้สึกว่าร่างกายอยู่ห่างๆ จิตอยู่ห่างๆ จิตกับร่างกายห่างกัน จิตกับเวทนาอยู่ห่างๆ กัน จิตกับสังขาร เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ห่างๆ กัน เราอย่าไปคิดว่าจิตมีดวงเดียวเที่ยววิ่งไปวิ่งมา ที่จริงจิตเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว จนเกิดภาพลวงตาว่าจิตมีดวงเดียว เที่ยววิ่งไปวิ่งมาเหมือนภาพการ์ตูน ซึ่งแต่ละภาพไม่มีความเคลื่อนไหว แต่พอภาพเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว จึงเกิดภาพลวงตาว่าตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ ความจริงจิตนั้นเกิดดับตลอดเวลา จิตไม่ได้เที่ยงนะในขณะที่พวกเราเห็นว่าจิตเที่ยง จิตของเราวันนี้กับจิตของเราตอนเด็กๆ ยังเป็นคนเดิมอยู่เลย จิตของเราวันนี้กับจิตปีหน้าก็คนเดิมอีก จิตของเราเดี๋ยวนี้กับชาติหน้าก็คนเดิมอีก ฉะนั้นบางคนเลยต้องเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เพราะว่ามันเป็นคนเดิม แต่ก็ต้องเลี้ยงนะ ไม่ใช่บอกว่าไม่ต้องทำความดี คอยฝึกไปนะ วันหนึ่งก็จะเห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา เวทนาคือความสุขความทุกข์ไม่ใช่เรา จิตตสังขารไม่ใช่เรา ตัวจิตแท้ๆ ที่เป็นผู้รู้นะ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง เกิดดับเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ตัวเราที่เที่ยงๆ หรอก ตัวเราที่เที่ยงๆ ไม่มี วันใดที่จิตมันเดินปัญญาแก่รอบถึงขนาดนี้แล้ว จิตมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ รวมเองนะ แล้วเกิดอริยมรรคขึ้น โสดาปัตติมรรคจะตัดความเห็นผิดว่ามีตัวเราออกไป พอถอยออกมาจากโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล แล้วกลับมาสู่โลกมนุษย์นี่ เวลาเราดูเข้ามาในจิตใจตัวเองจะไม่มีแม้แต่เงาของความรู้สึกว่ามีตัวเรา เงาก็ไม่มีนะ ถ้าขาดด้วยอริยมรรคแล้ว จะไม่มีความรู้สึกเป็นตัวเราโผล่ขึ้นมาอีกเลย ผู้ใดเห็นว่ากายไม่ใช่เรา จิตใจไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มี นั่นแหละคือภูมิธรรมของพระโสดาบัน ถัดจากนั้นก็มารู้กายรู้ใจต่อไปอีก พระโสดาบันกับปุถุชนก็ภาวนาอย่างเดียวกันนั่นแหละ คือรู้กายรู้ใจเรื่อยๆ ไป รู้ไปอีก รู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนวันหนึ่งมันรู้แจ้งลึกซึ้งขึ้นมาอีก กิเลสตัณหาก็อ่อนกำลังลงไป เรียกว่า พระสกิทาคามี รู้ลงไปอีกภายในใจนะ สติปัญญามันจะขมวดเข้ามาเรียนรู้กายเป็นหลักเลย รู้ลงไป รู้ลงไป กายมันของหยาบ มันดูง่าย ดูไปๆ แล้วละง่าย จะเห็นเลยว่ากายนี้มันเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ วันใดที่เห็นว่ากายเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ก็หมดความยึดถือกาย ก็จะหมดความกลุ้มใจเพราะต้องกระทบอารมณ์ทางกาย กระทั่งกายเรายังไม่ยึดถือเลย เราจะไปยึดถืออารมณ์ที่กระทบทางกายทำไม ที่เรายึดถือร่างกายอยู่ เพราะว่าร่างกายนี้เป็นช่องทางให้เรากระทบอารมณ์ที่น่าเพลิดเพลิน อย่างเรามีตาอยู่ใช่ไหม เราก็ได้ดูรูปสวยๆ อย่างมีหูก็ได้ฟังเสียงไพเราะๆ เสียงดีๆ อย่างมีจมูกได้กลิ่นหอมอยู่ นี่เรารักร่างกายเพราะมันเอาของดีมาให้เรา เรารู้สึกว่ามันดี แต่ถ้าวันหนึ่งเราเห็นกายนี้ทุกข์ล้วนๆ เลย เราก็จะไม่หลงไปในรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะที่มากระทบตาหูจมูกลิ้นกายนี่ จิตมันจะไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย มันพ้นจากความยินดียินร้ายในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เรียกว่ามันพ้นจากกามและปฏิฆะ พระอนาคามีละกามและปฏิฆะได้เพราะไม่ยึดกาย หมดความยึดกายเพราะเห็นความจริงว่ากายนี้ทุกข์ล้วนๆ เห็นอย่างนี้ อย่างไรก็ตาม นักปฏิบัติที่ชำนาญในการดูจิต สามารถมีสติตามรู้จิตจนเห็นความจริงว่า เมื่อใดจิตมีความอยาก เมื่อใดจิตมีความยึดถืออารมณ์ต่างๆ เมื่อนั้นจิตจะทุกข์ เมื่อใดจิตพ้นจากความอยากและความยึดถืออารมณ์ จิตจะไม่ทุกข์ พอเห็นแจ้งอย่างนี้ จิตก็ไม่ยึดถือในกายและกามคุณอารมณ์ จิตพ้นจากกามและปฏิฆะ เป็นพระอนาคามีได้เช่นกัน ทีนี้พอฝึกจนถึงขั้นพระอนาคามี สมาธิจะบริบูรณ์ จิตตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ทั้งวันเลย จะรู้สึกว่าตัวผู้รู้นี่แหละเป็นของดีของวิเศษเป็นที่พึ่งที่อาศัย ถ้าเราอยู่กับตัวผู้รู้นี่เราไม่ทุกข์ ถ้าเราเป็นตัวผู้หลงเมื่อไรถึงจะทุกข์ ฉะนั้นจิตนี้ดีนะ จิตตัวผู้รู้นี่ดี ใจมันจะยึดตัวดีนี้ไว้ ไม่ปล่อยวางจิตต่อเมื่อวันใดมีสติปัญญาแก่รอบจริงๆ เห็นว่าตัวจิตนั้นแหละกลายเป็นตัวทุกข์ให้เราดู มันพลิกของมันเองนะ มันพลิกให้เราดูเอง อยู่ๆ จะไปนึกเอาว่าตัวจิตผู้รู้เป็นตัวทุกข์ มันนึกไม่ออกหรอก เพราะไม่เคยเห็น ต้องมีสติมีปัญญาแก่กล้าพอ มันจะพลิกตัวให้ดูว่ามันทุกข์ล้วนๆ ไม่มีอะไรทุกข์เท่านี้อีกแล้ว อย่างบางคนบอกว่าอกหักทุกข์มาก ตัวจิตผู้รู้นี่ถึงไม่อกหักมันก็ทุกข์ มันทุกข์ยิ่งกว่านั้นอีก มันทุกข์จนเรามีความรู้สึกว่า ถ้าเรารู้มันต่อไป เราจะตายแล้ว อกหักเฉยๆ เรารู้ว่าอกหักไม่ตายนะ อกหักแล้วกำลังกลุ้มใจอยู่ เสียอกเสียใจอยู่ ถ้าเรารู้ว่าเสียอกเสียใจอยู่หายเลย แต่ตัวผู้รู้เวลามันกลายเป็นตัวทุกข์ให้ดูนี่ ยิ่งรู้มันยิ่งทุกข์ ยิ่งรู้มันยิ่งทุกข์ ทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกข์เหมือนจะตายเลย ทุกข์เหมือนไม่ตายก็บ้า นี่ใจมันต้องเห็นทุกข์นะถึงจะยอมวาง ผู้ที่ปล่อยวางจิตได้เรียกว่าพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่านิพพานอยู่ฟากตาย ไม่ภาวนากันจนถึงขีดสุดจริงๆ ไม่ยอมปล่อยวางจิตหรอกเพราะเราหวง ๓ . วิธีเจริญวิปัสสนา ถ้าเราจะทำวิปัสสนาให้ถูกต้อง ขั้นแรก เราต้องรู้สึกกายรู้สึกใจให้ได้ก่อน เพราะ วิปัสสนาคือ “ การมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงลงเป็นปัจจุบัน ” ต้องรู้สึกกายรู้สึกใจให้เป็นขั้นที่สอง “ ต้องสามารถปล่อยให้กายให้ใจเขาทำงาน แสดงไตรลักษณ์ได้ ” การหัดให้มีสติ ก็คือหัดรู้สึกตัว ศัตรูของความรู้สึกตัว ก็คือความหลง ความเผลอนั่นแหละ เผลอไปรู้ เผลอไปฟัง เผลอไปคิด (คือขาดสติ) ศัตรูอีกอย่างหนึ่งก็คือการเพ่งร่างกาย เพ่งจิตใจ (คือบังคับกายบังคับใจ) ซึ่งทำให้กายใจถูกแทรกแซง และแสดงไตรลักษณ์ให้เห็นได้ยาก ถ้าเมื่อไรเรารู้ทันจิตใจของตัวเอง เราก็จะไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด เราจะตื่นขึ้นมา ซึ่งเป็นต้นทางที่จะทำให้เราเดินวิปัสสนาได้ พอตื่นขึ้นมาแล้วก็มีเงื่อนไขอีกอย่างเดียวเท่านั้นเอง คือมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมา เราจะเห็นกายตามความเป็นจริง เห็นจิตใจตามความเป็นจริง คือเห็นไตรลักษณ์ ทำวิปัสสนาหรือเจริญปัญญาได้ ความตื่น ซึ่งทำให้เราหลุดออกจากโลกของความคิด เราหลุดออกจากโลกของความฝัน แล้วมาอยู่ในโลกของความเป็นจริงได้ นี่จึงเป็นต้นทางของการเจริญปัญญา สิ่งที่ผู้ปฏิบัติส่วนหนึ่งขาดอย่างแสนสาหัสเลยนะ คือสัมมาสมาธิ ส่วนใหญ่เราไม่มีสัมมาสมาธิ มีแต่มิจฉาสมาธิ แล้วแยกไม่ออกด้วยว่าอะไรคือสัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิจะไม่มีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ จำไว้นะ ในพระอภิธรรมสอนเอาไว้ว่า “ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ” “ ปัญญา คือการเห็นกายเห็นใจเป็นไตรลักษณ์ ” สัมมาสมาธิไม่เหมือนมิจฉาสมาธิ จิตทุกๆ ดวงมีสมาธิ จำเอาไว้นะ กระทั่งจิตอกุศลก็มีสมาธินะ แต่สัมมาสมาธินี่เกิดยากที่สุด ทำอย่างไรจิตของเราจะตั้งมั่น จิตของคนส่วนใหญ่ที่ว่ามีสมาธิน่ะ เป็นจิตที่เข้าไปตั้งแช่อยู่ที่ตัวอารมณ์ (สิ่งที่ถูกรู้) ไม่ใช่ตั้งมั่นในการรู้อารมณ์ ยกตัวอย่าง เอ้า พวกเราดูพระพุทธรูป ตั้งใจดูนะ ตั้งใจดู รู้สึกจดจ่ออยู่ที่พระ แล้วรู้สึกไหมว่าใจเราไหลไปอยู่ที่พระ เราดูพระรู้เรื่องใช่ไหม เรามีสติ สติเราจับอยู่ที่พระ ใจเรามีสมาธิ ใจเราไปแช่อยู่ที่พระ อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสัมมาสมาธิ เวลาที่เรามีมิจฉาสมาธิ จิตมันจะเคลื่อนไป จิตมันจะไหลลงไปนิ่งๆ อยู่ที่อารมณ์อันใดอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลารู้ลมหายใจ จิตจะไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ ไปรู้ท้องพองยุบ จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง ไปเดินจงกรม ยกเท้าย่างเท้า จิตไหลไปอยู่ที่เท้า ขยับมือทำจังหวะเคลื่อนไหว จิตไหลไปอยู่ที่มือ นี่จิตหลงไป จิตไหลไป อย่างนี้เรียกว่ามิจฉาสมาธิ จะไม่เกิดปัญญา เกิดแต่สมถะนะ นิ่งๆ ไปได้อย่างนั้นแหละ หน้าที่ของเราก็คือพยายามรู้สึกตัวไป อาจจะมีเครื่องอยู่อะไรสักอันหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้ติดเพ่งรุนแรงมาก่อนนะ รู้อะไรสักอย่างขึ้นมาเป็นตัวตั้ง (วิหารธรรม) เช่น พุทโธ หรืออานาปานสติ สมมุติว่าบางคนท่องพุทโธ เอาพุทโธเป็นตัวตั้ง พุทโธแล้วไม่ใช่บังคับจิตให้ไปอยู่ที่พุทโธ พุทโธแล้วจิตไปอยู่ที่พุทโธนี่ก็รู้ จิตหนีไปที่อื่นก็รู้ พุทโธแล้วก็รู้ทันจิต เห็นจิตหนีไปหนีมา เห็นจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตร้าย พุทโธเอาไว้เป็นตัวตั้งเพื่อจะดูจิต ทีนี้จะเกิดปัญญา จิตต้องตั้งมั่นขึ้นมา ต้องรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เป็นคนดู ไม่เผลอไป ไม่ไหลไป ตั้งมั่นอยู่ แต่มีเงื่อนไข ต้องตั้งมั่นอย่างสบายด้วย ตั้งมั่นแบบเบาๆ แบบอ่อนโยน แบบคล่องแคล่วว่องไว แบบไม่ได้ถูกกิเลสครอบงำ ถ้าตั้งแบบแข็งๆ นี่ไม่ใช่ ตั้งแล้วหนักๆ นี่ไม่ใช่ ตั้งแล้วเครียดๆ นี่ไม่ใช่ จิตที่เป็นสัมมาสมาธิมีความเบา มีความนุ่มนวลอ่อนโยน มีความคล่องแคล่วว่องไว มีความซื่อตรงในการรู้อารมณ์ทั้งหลาย ความโลภเกิดขึ้นก็เห็นความโลภเกิดขึ้น เห็นเหมือนกับคนเดินผ่านหน้าบ้าน ความโกรธเกิดขึ้นนะ เห็นความโกรธผ่านมา เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้าน เห็นใจลอยไป ดูเหมือนเห็นคนอื่นใจลอย ใจมันแค่ตั้งมั่นเป็นคนตามรู้ตามดูเรื่อยๆ มันรู้อย่างสบายๆ รู้อย่างมีความสุข สัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต ถ้าถามว่าจิตตั้งมั่น ตั้งอยู่ที่ไหน แล้วตอบว่าตั้งที่ลมหายใจ อันนั้นไม่ใช่ตั้งมั่น จิตตั้งมั่น ต้องตั้งมั่นในการรู้ลมหายใจ จิตอยู่ต่างหาก ลมหายใจอยู่นี่ กายกับจิตมันแยกออกจากกัน จิตตั้งมั่น เวลาเห็นกิเลสจะเห็นกิเลสอยู่ห่างๆ จิตอยู่ต่างหาก แยกออกจากกัน เวลารู้กาย เห็นกายอยู่ห่างๆ จิตแยกออกมา กายกับจิตมีช่องว่างมาคั่น มีระยะห่างในความรู้สึก ไม่ใช่รวมเป็นเนื้อเดียวเดียวกัน อย่างคนที่ไปรู้ลมหายใจ แล้วจิตไหลไปอยู่ที่ลม นี่ไม่มีช่องว่าง จิตกับลมหายใจรวมเป็นเนื้อเดียวกัน อันนี้เป็นการเพ่งอารมณ์ เป็นสมถะ ถ้าจิตตั้งมั่น จิตมันจะแยกออกมาต่างหาก มันเห็นร่างกายหายใจ เหมือนดูคนอื่นหายใจเลย ถ้าพูดภาษาง่ายๆ ตามสภาวะที่เห็นจริงๆ ก็คือ มันเหมือนจิตอยู่ต่างหาก ร่างกายอยู่ต่างหาก กายกับจิตมันแยกกัน มีระยะห่าง มีช่องว่างมาคั่น แต่ไม่ใช่การถอดจิตออกจากร่างนะ มันเป็นการแยกออกโดยความรู้สึกเท่านั้น บางทีจิตก็ถลำวิ่งเข้าไปหากาย บางทีจิตถลำวิ่งไปที่อื่นก็ได้ จิตถลำไปแล้วก็ให้รู้ทัน แล้วจิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาใหม่ จิตที่ตั้งมั่นแล้วจะรู้สึกขึ้นมา พอรู้สึกขึ้นมา มันจะเห็นเลยว่าร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่นี่ไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นทันที แล้วจะเห็นทันทีเลยว่าเวทนา (ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ) ที่ปรากฏอยู่นี้ไม่ใช่ตัวเรา เวทนาไม่ใช่เราเพราะอะไรเพราะเวทนามันแยกออกไปห่างๆ อย่างพวกเรารู้สึกไหม มีใครรู้สึกไหมว่า พัดอันนี้เป็นตัวเรา ไม่มีใช่ไหม เพราะมันอยู่ห่างๆ นึกออกไหม เมื่อจิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้วเกิดสติปัญญา เราจะเห็นเลยว่ามือนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา มันอยู่ห่างๆ ร่างกายอยู่ตรงนี้เลยนี่ อยู่ห่างๆ หมดเลย จิตมันอยู่ต่างหาก จิตมันเป็นคนดู มันจะเห็นตลอดเวลาเลย เห็นได้ทันทีเลยว่า ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา จิตของคนส่วนใหญ่ไม่ตั้งมั่นหรอก จิตส่วนใหญ่ไหลตามอารมณ์ไปเรื่อยๆ ถ้าไหลตามอารมณ์สะเปะสะปะไปเรื่อยๆ เรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน ถ้าไหลไปแล้ว ไปแช่นิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว เขาเรียกว่าการเพ่ง ฉะนั้น สิ่งที่ผิดที่ทำให้เราเจริญวิปัสสนาไม่ได้ก็เลยมีสองอันที่หลวงพ่อบอกว่าเผลอกับเพ่งนั่นเอง เผลอนี่คือจิตมันจับอารมณ์นี้ จับอารมณ์นั้น จับอารมณ์โน้น เปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ สะเปะสะปะไปเรื่อยๆ ดูไม่ทันหรอก เลอะเทอะเปรอะเปื้อนไป อะไรเกิดขึ้นไม่รู้เลย จับอันโน้นที จับอันนี้ที คล้ายๆ ลิงโหนต้นไม้ต้นนั้นต้นนี้นะ ถ้าไหลไปนี้ที ไหลไปโน้นที เรียกว่าฟุ้งซ่าน เรียกว่าหลงไป เรียกว่าเผลอไป อีกอันหนึ่ง จิตถลำไปไหลไป ไหลเหมือนกันนะ แต่ไหลไปอยู่กับสิ่งสิ่งเดียว เหมือนทาร์ซานไปเกาะนิ่งๆ หรือลิงไปเกาะต้นไม้นิ่งๆ ไม่กระโดดไปไหน อันนี้แหละสมถะ นี่แหละเพ่ง มันจะไม่มีปัญญาเกิดขึ้น ถ้าเมื่อไรจิตไม่หลงไป แล้วก็ไม่ได้เพ่งเอาไว้ นั่นแหละ ทางสายกลางอยู่ตรงนั้น ทำอย่างไรเราจะเดินเข้าสู่ทางสายกลางได้ โดยมีจิตซึ่งไม่ได้เผลอไป แล้วก็ไม่ได้เพ่งเอาไว้ วิธีง่ายๆ เลย ขั้นแรกนะ ถ้าเพ่งอยู่ เลิกไปก่อน คนไหนติดสมถะให้เลิกไปก่อน เลิกปฏิบัติไปชั่วครั้งชั่วคราวก่อน เสร็จแล้วก็คอยรู้ทันเวลาจิตเผลอไป จิตไหลไป เผลอไปทางตา เช่น ไหลไปดูพระพุทธรูป เผลอไปทางหู ได้ยินไหม ระฆังดัง รู้สึกไหม ไปตั้งใจฟังระฆังปุ๊บนี่ ได้ยินเสียงระฆัง ลืมกายลืมใจแล้ว เผลอไปทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ เผลอได้ทั้งหมดนั่นแหละ ถ้าเมื่อไรเผลอไป ใจก็ไม่ตั้งมั่น แต่มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง ถ้ามันเผลอแล้วเรารู้ว่าเผลอนะ จิตจะตั้งมั่นพอดีเลย แต่ถ้าเพ่งแล้วรู้ว่าเพ่งนะ จิตไม่ตั้งมั่นหรอก จิตก็ยังเพ่งอยู่ เพราะอะไร เพราะจิตที่เผลอไปฟุ้งซ่านไปเป็นจิตอกุศล ทันทีที่เรารู้ทัน จิตอกุศลจะดับทันที จะเกิดจิตที่ตั้งมั่นในฉับพลันนั้น ส่วนจิตที่เพ่ง ไม่ใช่จิตอกุศลนะ จิตที่เพ่งเป็นจิตที่ทำสมถะ เป็นจิตที่เป็นกุศล เป็นความปรุงแต่งฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้นเราไปรู้อยู่ก็ไม่จำเป็นต้องดับหรอก เว้นแต่ว่าเราจะเลิกเพ่ง การทำจิตให้ตั้งมั่นมีหลายแบบ เพราะคนมีหลากหลาย เช่น บางคนทำฌานได้จนเกิดจิต “ ผู้รู้ ” ที่เรียกว่า “ เอโกทิภาวะ ” เช่น การทำอานาปานสติ หายใจไปแล้วมีสติระลึกรู้ลมหายใจ โดยเอาลมหายใจเป็นอารมณ์ ตัวลมหายใจเรียกว่าบริกรรมนิมิต ดูลมหายใจไปเล่นๆ ดูสบายๆ อย่าไปเป็น อย่าไปเค้นจิต อย่าไปบังคับจิตให้สงบ จิตไม่ชอบให้ใครบังคับนะ ถ้าเราบังคับมันจะเครียด มันจะไม่สงบหรอก ให้รู้เล่นๆ ไป ลมหายใจนี้เป็นบริกรรมนิมิต ลมจะสั้นขึ้นๆ ทีแรกหายใจลงไปถึงท้อง จากนั้นลมจะเบาๆ เหมือนหายใจสั้นๆ เหลือแค่ปลายจมูก ต่อจากนั้นลมจะเปลี่ยนเป็นแสงสว่าง แล้วรวมเป็นดวงสว่างขึ้นมา ถึงจุดนี้ให้เราเปลี่ยนอารมณ์กัมมัฏฐาน เราไม่ได้ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์แล้ว เราใช้ดวงที่มีความสว่างนี้เป็นอารมณ์แทน ดวงนี้เรียกว่าอุคคหนิมิต ดูไปเรื่อยจะเป็นปฏิภาคนิมิต ย่อได้ ขยายได้ มีความสุข มีปีติแล้วมีสติรู้ทันอยู่ที่ใจของเราเอง จนกระทั่งใจมันวางนิมิต ไม่มีวิตกถึงนิมิต ไม่มีวิจารถึงนิมิต ไม่เคล้าไม่เคลีย ไม่นึกถึง ไม่ยกขึ้นมา จะมีภาวะแห่งความรู้ “ ตัวผู้รู้ ” จะเด่นขึ้นมาเรียกว่า “ เอโกทิภาวะ ” คือสมาธิที่มีใจตั้งมั่นขึ้นมาเป็นหนึ่ง ไม่ตรึกตรองในอารมณ์ เวลาเราออกจากสมาธิแล้ว ตัวเอโกทิภาวะยังอยู่ จะประคองรักษาจิตเอาไว้เองโดยที่เราไม่ต้องรักษา จิตจะเป็นผู้รู้ขึ้นมา แล้วจะเห็นเลยว่าร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู นี่คือวิธีทำเต็มรูปแบบ คนรุ่นนี้ทำยาก วันหนึ่งๆ มีแต่ความฟุ้งซ่าน ก็ต้องทำอีกแบบหนึ่ง บางคนทำฌานไม่ได้ แต่อยากให้มีจิตที่ตั้งมั่นเป็น “ ผู้รู้ ” ก็ให้นั่งหายใจไป หรือนั่งดูท้องพองยุบไป ขยับมือทำจังหวะก็ได้ แล้วค่อยๆ ดูไป ร่างกายมันเคลื่อนไหว มีใจเป็นคนดู หรือให้รู้อิริยาบถ ๔ ให้เห็นเลยว่าร่างกายมันมีใจเป็นคนรู้ ร่างกายมันเดินมีใจเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจออก หายใจเข้า มีใจเป็นคนรู้ไปเรื่อย คอยรู้สึก รู้ไปรู้ไปมันจะแยกกายกับใจออกจากกัน มีตัว “ ผู้รู้ ” ขึ้นมา ถ้าหัดรู้ด้วยวิธีนี้จะแยกได้ไม่นาน อีกพวกหนึ่ง ถ้าฝึกให้มีจิต “ ผู้รู้ ” ไม่ได้ ก็ให้หัดเจริญสติในชีวิตประจำวันนี้แหละ เวลาจิตไหลไปหลงไปแล้วรู้ ถึงรู้จุดหนึ่ง ก็เห็นเหมือนกันว่าร่างกายก็แยกจากจิตได้ ถ้าฝึกแบบไม่มีตัว “ ผู้รู้ ” ให้หัดรู้สึกๆ ไปเรื่อยๆ แล้วมันไประลึกได้เองเวลาใจมันตั้งมั่นขึ้นมาโดยไม่มีเจตนาจะตั้งมั่น ทำไมใจถึงตั้งมั่น ก็เพราะสติไปรู้ทันนิวรณ์ขึ้นมา จิตจะตั้งมั่น แต่ตั้งแวบเดียว นี่เราฝึกอย่างนี้ก็ได้ การรู้ทันนิวรณ์ก็คือ เมื่อจิตมีกามฉันท์ (พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย อารมณ์ทางใจ) จิตพยายามก็รู้ จิตสงสัยก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ไปเรื่อย เมื่อไรนิวรณ์เกิดขึ้นแล้วสติไปรู้ นิวรณ์จะดับ เพราะนิวรณ์เป็นกิเลสเกิดร่วมกับสติไม่ได้ พอนิวรณ์ดับ จิตก็มีสมาธิขึ้นมาเอง เพราะศัตรูของสมาธิก็คือนิวรณ์นั่นแหละ เมื่อใจของเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมาได้ เราจะถอดถอนตัวเองออกจากตัวเอง มันเหมือนมีอีกคนหนึ่งเป็นคนดูขึ้นมา ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตใจเป็นของถูกรู้ถูกดู ความสุข ความทุกข์ กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย เป็นของถูกรู้ถูกดู กระทั่งร่างกายก็เป็นของถูกรู้ถูกดู สิ่งใดที่เราเห็นได้ก็ไม่ใช่เราใช่ไหม มันเป็นของที่จิตไปรู้เข้า นี่เราจะค่อยๆ แยกขันธ์คือกายกับใจออกไปนะ การเจริญปัญญาเริ่มต้นด้วยการแยกขันธ์ออกไป พอเรารู้สึกตัวเป็นแล้ว เราจะเห็นสิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี่กระจายออกเป็นกองๆ เรียกว่ากระจายออกไปเป็นขันธ์ๆ แต่ละส่วนๆ ที่กระจายออกไปนั้นไม่มีตัวเรา แต่ถ้าขันธ์ทั้งหลายมารวมตัวอยู่ด้วยกัน เราจะเกิดความสำคัญมั่นหมายขึ้นมาว่านี่เป็นตัวเรา ถ้ามีตัวเราก็มีเราแก่ เราเจ็บ เราตาย มีเราสมหวัง มีเราผิดหวัง มีเราพลัดพรากจากสิ่งที่รัก มีเราไปเจอสิ่งที่ไม่รัก มันก็มีความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าเห็นความจริงว่าตัวเราไม่มี คราวนี้ไม่มีใครแก่ใครเจ็บใครตาย ร่างกายมันแก่ ร่างกายมันเจ็บ ร่างกายมันตาย ไม่ใช่เราแก่ ไม่ใช่เราเจ็บ ไม่ใช่เราตายอีกต่อไปแล้ว ส่วนจิตใจก็เกิดดับตลอดเวลา เดี๋ยวคิดดีเดี๋ยวคิดร้าย เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวโลภเดี๋ยวโกรธเดี๋ยวหลง เดี๋ยววิ่งไปที่ตา เดี๋ยววิ่งไปที่หู เดี๋ยววิ่งไปคิด ทำงานของเขาเอง เขาเกิดดับตลอดเวลา เขาไม่ใช่ตัวเรา นี่ดูอย่างนี้นะ ดูลงในกายเห็นกายไม่ใช่เรา ดูลงไปที่จิตใจเห็นจิตใจไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มีหรอก แต่ละอัน แต่ละขันธ์นี่ พอขันธ์กระจายตัวออกไปแล้ว จะเห็นว่าขันธ์แต่ละขันธ์ไม่ใช่เราแล้ว ขันธ์ก็เป็นแค่ขันธ์เท่านั้นเอง ถ้าเราเจริญสติมากเข้าๆ จนจิตตื่น จะเห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู มันเป็นของที่จิตไปรู้เข้า มันแยกออกไปจากจิต กายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง จะเห็นเลยว่าร่างกายที่เคลื่อนไหวยืนเดินนั่งนอนนี่ เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นว่าเวทนาคือความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์รู้สึกเฉยๆ เป็นแค่สิ่งแปลกปลอมเข้ามา อยู่ห่างๆ มันไม่ใช่จิตด้วย แล้วมันก็ไม่ใช่กายด้วย ถ้ามีสติปัญญาแก่รอบกว่านี้จะเห็นเลยว่า จิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับไป จิตเกิดที่หูแล้วก็ดับไป จิตเกิดที่ใจไปคิดไปนึกแล้วก็ดับไป จิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นอกุศลเป็นจิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วก็ดับ จิตหดหู่เกิดขึ้นแล้วก็ดับ นี่จะเห็นอย่างนี้ การที่เห็นมันเกิดแล้วมันดับ มันเกิดแล้วมันดับ ขาดออกไปเป็นท่อนๆ ไม่ใช่จิตดวงเดียวตั้งแต่เกิดจนตาย แต่จะเห็นจิตขาดเป็นท่อนๆๆ นะ เป็นดวงๆ ไป เห็นอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อให้เห็นว่ามันไม่ใช่อันเดิม จิตที่รู้สึกตัวก็ดวงหนึ่ง จิตที่หลงไปคิดก็ดวงหนึ่ง จิตที่รู้สึกตัวก็ดวงหนึ่ง จิตที่เพ่งอยู่ก็ดวงหนึ่ง คนละดวงกัน ถ้าเราเห็นจิตขาดเป็นดวงๆ เรียกว่า สันตติขาด สันตติคือความสืบเนื่อง สันตตินี่แหละสร้างภาพลวงตาขึ้นมา ถ้าสันตติขาดเราก็จะเห็นของจริง ยกตัวอย่างเหมือนเราดูการ์ตูน เราเห็นว่าตัวการ์ตูนอย่างโดเรม่อน อิ๊คคิวซังมันเดินได้ใช่ไหม วิ่งได้กระโดดได้ ทำท่าโน้นทำท่านี้ได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมันคือรูปที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเลย แต่ละรูปแต่ละรูปมาต่อกัน รูปนี้เกิดแล้วก็ดับ จิตมันจำเอาไว้ อาศัยสัญญาใช่ไหม สัญญาที่หลวงพ่อว่ามันวิปลาสน่ะ อาศัยสัญญาจำรูป รูปแรกมันอยู่ตรงนี้ อีกรูปหนึ่งมันมาอยู่ตรงนี้ นี่อาศัยสัญญานะ มันจำได้ว่าแต่ก่อนอยู่ตรงนี้ แล้วเดี๋ยวนี้มาอยู่ตรงนี้ มันจะรู้สึกเหมือนมันเคลื่อนไหวได้ เราเห็นตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ฉันใด เราก็เห็นจิตวิ่งไปวิ่งมาได้ฉันนั้น นี่เป็นความหลงผิด นี่เป็นภาพลวงตาเท่านั้นเอง แท้จริงจิตก็เกิดดับ เกิดดับเหมือนการ์ตูนทีละรูป ทีละรูป นั่นเอง แต่ว่าสติปัญญาของคนทั่วไปซึ่งไม่เคยฝึกฝนไม่สามารถเห็นได้ ก็จะรู้สึกว่าจิตเที่ยง ถ้าเราสามารถเห็นว่าจิตเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไปเรื่อยๆ ไม่นาน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เราจะเห็นความจริงว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราที่แท้จริงไม่มี มันมีแต่ของเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ถ้าเมื่อไรวันใดเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานะ ทุกอย่างในโลกนี้จะไม่ใช่ตัวเราแล้ว ร่างกายมันไม่ใช่เราตั้งแต่เริ่มหัดเจริญสติแล้ว พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะเห็นเลยว่าร่างกายมันอยู่ต่างหากแล้ว เหลือแต่จิตอันเดียวนี่แหละรู้สึกว่าวิ่งไปวิ่งมา การเจริญสติจนเห็นจิตเกิดดับเกิดดับ เกิดที่ตาแล้วดับ เกิดที่หูแล้วดับ เกิดที่ใจแล้วดับ ก็คือสันตติขาด การที่สันตติขาดนี่แหละคือวิปัสสนาที่แท้จริง ถ้าสันตติยังไม่ขาดยังไม่ใช่วิปัสสนาที่แท้จริง เราต้องค่อยๆ ดูไป ฝึกไปเรื่อยๆ พอสันตติขาดแล้วจะสั่นสะเทือนขึ้นมาเลย บางคนรู้สึกกลัว บางคนรู้สึกเบื่อ บางคนรู้สึกโหวงๆ ตัวเราหายไปแล้ว โหวงๆ เวิ้งว้างหาที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ บางคนเบื่อจิบจิตจับใจเลย เบื่อสุขเบื่อทุกข์ เบื่อทุกอย่าง เบื่อสามี เบื่อภรรยา แต่เบื่ออย่างนี้ไม่ใช่เบื่อด้วยกิเลส มันเบื่อด้วยสติด้วยปัญญา เห็นทุกอย่างไม่มีสาระเลย ไม่มีตัวมีตนอะไร ใจมันจะเบื่อไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างเลย เบื่อสุขกับทุกข์เท่าๆ กัน เบื่อดีกับชั่วเท่าๆ กัน เบื่อหยาบกับละเอียดเท่าๆ กัน เบื่อภายในกับภายนอกเท่าๆ กัน จิตก็หมดแรงดิ้น ไม่ดิ้นรนค้นคว้า บางคนกลัว กลัวมากๆ เลยนะ พอภาวนามาจนเห็นว่าตัวเราไม่มี กลัวเพราะรู้สึกว่าตัวเราหายไปแล้ว ตกอกตกใจขึ้นมา เมื่อสภาวะอันนี้เกิดขึ้นแล้วให้มีสติรู้ทันเข้าไป สภาวะอันนี้ก็เช่นเดียวกับความโกรธความหลงที่เคยเห็นมานั่นเอง คือเกิดแล้วก็ดับเช่นเดียวกัน พอดับไปแล้วใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เราก็ดูกายดูใจของเราต่อไป จิตมันจะค่อยเข้าใจความเป็นจริงมากขึ้นๆ มันจะเห็นเลยว่าความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว โลภโกรธหลงก็ชั่วคราว ฟุ้งซ่านหดหู่ดีใจเสียใจทั้งหมดนี้ชั่วคราวหมดเลย จะเห็นว่าสิ่งใดเกิดแล้วก็ดับไป ทุกอย่างชั่วคราวหมดเลย พอจิตมันยอมรับความจริงว่าทุกอย่างเป็นของชั่วคราว จิตจะหมดแรงดิ้น จิตจะหมดการดิ้นรนค้นคว้าเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ หมดแรงดิ้นรนค้นคว้าที่จะหลีกหนีอารมณ์ที่ไม่พอใจ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางที่แท้จริง ความเป็นกลางเพราะปัญญานี่แหละเป็นความเป็นกลางที่สำคัญมาก ปัญญาตัวนี้เรียกว่า “ สังขารุเปกขาญาณ ” เห็นสุขกับทุกข์มันเท่ากัน นรกกับสวรรค์มันก็เท่ากัน ไม่กลัวนะ หมดความดิ้นรน จิตมันรู้ตื่นแล้วก็เป็นกลาง สักว่ารู้ สักว่าเห็น มันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าเทียมกัน สุขกับทุกข์เท่ากัน มีความสุขเกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ มีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ เมื่อสักว่า สักว่า แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะหมดการดิ้นรนของจิต หมดความปรุงแต่งของจิต จิตจะค่อยๆ ปรุงน้อยลงๆ ถึงจุดหนึ่งหยุดปั๊บลงไป ตรงหยุดปั๊บลงไปนี่จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิโดยสมาธิโดยอัตโนมัติเลย เมื่อรวมเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว ตรงนี้จะไม่คิดไม่นึกอะไรแล้ว จะเห็นสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) เกิดดับขึ้นภายใน ๒-๓ ขณะ ใจนี้สักว่ารู้สักว่าเห็นอย่างแท้จริง ไม่มีกระทั่งความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ สักนิดเดียวเลย ถัดจากนั้น จิตจะวางการรู้สภาวะทบทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ พอทวนกระแสเข้าถึงธาตุรู้แล้วอริยมรรคจะแหวกอาสวะกิเลสทั้งหลายหรือสังโยชน์ทั้งหลาย อาสวะที่ห่อหุ้มจิตอยู่ สังโยชน์ที่แทรกอยู่ในจิตจะถูกทำลายออกไป ตรงกระบวนการทำลายล้างนี่ ๑ ขณะเท่านั้น พอขาดสะบั้นลงแล้ว ตรงนี้เราจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ตรงนี้เป็นผลแล้ว เป็นโลกุตรผลนะ ตรงที่เกิดอริยมรรคเรียกว่าโลกุตตรเหตุ มรรคเป็นเหตุ ผลเป็นผล ตรงที่เห็นเป็นผลนี่จะเห็นไม่เท่ากัน พวกที่สติปัญญาแก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๓ ครั้ง ๓ ขณะ พวกที่ยังไม่แก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะ ถัดจากนั้นจิตจะถอยออกมากลับสู่โลกภายนอกนี้ พอกลับมาสู่โลกภายนอก มันจะทวนกลับเข้าไปพิจารณาใหม่ว่าเมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น มันจะรู้เลยว่ากิเลสตัวไหนหายไปแล้ว กิเลสตัวไหนยังเหลืออยู่ รู้ว่ายังมีงานต้องทำอีก แต่ถ้าตัดครั้งที่สี่เป็นพระอรหันต์นะ มันทวนวับเข้าไป มันจะเห็นนิพพานชัดเจนเลย ไม่มีกิเลสอะไรให้ต้องลดละอีกแล้ว มันไม่มีกิเลสเหลือ จะเห็นนิพพานล้วนๆ เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เราต้องเชื่อพ่อแม่ เราต้องรู้กายรู้ใจของเราไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราจะได้มรดกของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้หอบเอานิพพานแล้วหายไปไหน นิพพานยังอยู่เต็มโลกเต็มบริบูรณ์อยู่นี่แหละ คนมีบุญวาสนามีปัญญาแก่รอบ เจริญวิปัสสนาแก่รอบแล้วก็จะได้รับ นี่รางวัลสูงสุดของชีวิตอยู่ตรงนี้ ชีวิตที่เหลือเป็นชีวิตที่อิสระโปร่งเบา ปราศจากความอยาก ความยึดและความดิ้นรนปรุงแต่ง ไม่มีความทุกข์หรือสิ่งใดครอบงำจิตได้อีกแล้ว ๔ . การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เมื่อเรียนหลักการภาวนาเข้าใจแล้วก็ต้องลงมือปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เราอย่าไปวาดภาพการปฏิบัติธรรม การทำวิปัสสนา หรือการภาวนาว่าต้องไปนั่งหลับหูหลับตา ตัวที่สำคัญที่สุดเลยคือมีสติในชีวิตประจำวันนี่แหละ กิเลสเกิดขึ้นมาตอนไหนก็รู้มันไปตรงนั้น นั่นเรียกว่าภาวนาแล้ว ร่างกายเคลื่อนไหวแล้วรู้สึกอยู่ก็เรียกว่าภาวนาแล้ว จิตใจทำงานไปแล้ว เรารู้เท่าทันอยู่ก็เรียกว่าภาวนาแล้ว เวลาเราทำงานก็ขยันทำงานไป ทำงานแล้วยังมีเวลาเหลือ เราก็คอยรู้กายรู้ใจของเราไป หรือเราทำงานแล้วเกิดเครียดขึ้นมา แวบขึ้นมา เรารู้ทันความเครียด นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว เราทำงาน เราจะรีบให้เสร็จเร็วๆ คนโทรศัพท์มากวน เราโมโหก็รู้ว่าโมโห นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว เห็นไหม ทำงานไป ถึงเวลาพักจะไปกินข้าว ดีใจ รู้ว่าดีใจ นี่ก็ปฏิบัติแล้ว เดินไปกินข้าว ลงมาจากตึก เดินไป เห็นร่างกายเดินอยู่ ใจเราเป็นแค่คนดู นี่ก็ปฏิบัติแล้ว ไปถึงร้านอาหาร ดูอาหารนั่นก็น่ากิน นี่ก็น่ากิน วันนี้หิวเป็นพิเศษ อะไรๆ น่ากินไปหมดเลย ตะกละ ลังเลๆ เห็นเลย ใจกำลังลังเลว่าจะกินอะไรดี บางวันดูจนหัวแถวท้ายแถวหมดทุกร้านแล้ว ไม่มีอะไรน่ากินเลย ชักหงุดหงิด เอ๊ แม่ค้าแถวนี้ทำไมไม่มีพัฒนาการ ขาด innovation (นวัตกรรม) ห่วยแตก โหลยโท่ย แล้วแต่จะด่านะ ถ้าหิวมากก็ด่ามากหน่อยเพราะขาดสติ เราก็รู้ทันใจของเราไปเรื่อย นี่แหละก็ปฏิบัติแล้วใช่ไหม เราจะไปห้องน้ำ เกิดฉุกเฉิน จะต้องรีบเข้าห้องน้ำด่วน พุ่งพรวดเข้าไปถึงห้องน้ำ ห้องน้ำเต็มทุกห้องเลย วิ่งไปอีกที่หนึ่ง อ้าวก็เต็มอีก ใจเราทุรนทุรายเต็มที่แล้ว เพราะว่าศัตรูมารอที่ประตูถ้ำแล้ว สู้มันไม่ไหวแล้ว นี่ทุรนทุรายขึ้นมา กลุ้มอกกลุ้มใจขึ้นมา รู้ทันมันเข้าไป ถึงจะปวดท้อง แต่ใจไม่ปวดไปด้วยหรอก นี่เขาเรียกว่าภาวนา นี่พอเราคอยรู้ทันใจของเราไปเรื่อย แต่ละขณะๆ นี่แหละคือการปฏิบัติ รู้ไปอย่างนี้นะ ไม่นานเราก็จะเห็นความจริง จิตใจของเราไม่คงที่หรอก จิตใจของเราเดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ เดี๋ยวก็ดีขึ้นมา เดี๋ยวก็มีความร่าเริงเบิกบานในธรรมะขึ้นมา เดี๋ยวก็เป็นอธรรม เห็นไหม เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง เราไม่ได้ไปฝึกเป็นยอดมนุษย์ เราฝึกเป็นคนธรรมดานี่แหละ ฝึกอยู่ในชีวิตธรรมดาจนเห็นความจริงว่า ธรรมดาของกายนี้เป็นอย่างนี้ ธรรมดาของใจเป็นอย่างนี้ พอเห็นธรรมดาแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับกายกับใจ ไม่เดือดร้อนแล้ว จะแก่ก็ธรรมดา จะเจ็บก็ธรรมดา จะตายก็ธรรมดา จะพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็ธรรมดา เจอสิ่งที่ไม่รักก็ธรรมดา จะสมหวัง จะผิดหวัง มันเรื่องธรรมดาไปหมด เพราะกายนี้ใจนี้เราเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยอะไรไม่ได้จริงหรอก ต่อไปอะไรเกิดขึ้นในชีวิต มันจะรู้สึกเหมือนกับเป็นเรื่องที่เกิดกับคนอื่น แล้วถ้าไม่มีตัวเรา ใครเป็นผู้ทำกรรม ก็ขันธ์น่ะสิมันทำกรรม ขันธ์มันทำของมันเอง ใครเป็นคนรับผลกรรม ขันธ์น่ะสิมันรับผลกรรม ไม่ใช่เรารับผลกรรม มีการกระทำกรรม แต่ไม่มีเราผู้กระทำกรรม มีผู้รับผลกรรม แต่ไม่มีเราผู้รับผลกรรม ถ้าสติปัญญาแก่รอบนะ เห็นขันธ์มันทำ เราไม่ได้ทำ คราวนี้สิ่งที่ขันธ์ทำจะกลายเป็นกิริยาล้วนๆ เลย เราไม่ได้ทำเสียแล้ว นี่ค่อยเรียนนะ เรียนลงไปจนเห็นเลยว่าตัวเราไม่มี ถ้าตัวเราไม่มีแล้วใครจะทุกข์ ตัวเราไม่มีแล้วใครจะทุกข์ก็เรื่องของมันสิ ถามว่าใครทุกข์ ก็ขันธ์มันทุกข์ กายมันทุกข์ใจมันทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ เราพ้นทุกข์ได้เพราะการรู้ที่ถูกต้อง คือพ้นได้ด้วยปัญญา ส่วนคุณธรรมอื่นๆ เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ศีล เป็นเพียงตัวสนับสนุนเกื้อกูลเท่านั้น ในสังสารวัฏที่ยาวนานนี่ การที่จะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบและได้ฟังธรรมเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเลย วันเวลาที่มีพระพุทธเจ้า มีศาสนาพุทธนี้สั้นมาก โอกาสที่ได้เรียนธรรมะมีไม่มาก มีน้อย ค่อยรู้สึก รู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจไป อย่าให้เสียโอกาสไปวันหนึ่งๆ โดยเปล่าประโยชน์
วิธีเจริญสติเพื่อให้รู้ทันจิตแนวทางการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา จากพระธรรมเทศนาของ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ๑ . โอกาสทองของชีวิต พวกเรามีบุญวาสนา ได้เกิดในแผ่นดินซึ่งศาสนาพุทธยังดำรงอยู่ หลักธรรมแท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าสอนยังได้รับการถ่ายทอดอยู่ เราได้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ได้พบสัตบุรุษ แล้วมีศรัทธาสนใจที่จะศึกษา ยากมากนะที่จะมีสภาวะอย่างนี้ ธรรมะของพระพุทธเจ้ากระจ่าง แจ่มแจ้ง พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง และต้องเห็นผลเร็วด้วย ใครๆ ไปเรียนธรรมะจากพระพุทธเจ้าแล้วถึงอุทานบอก “ แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า เหมือนเปิดของคว่ำให้หงาย ” ง่าย คว่ำๆ อยู่ จับหงาย มันยากเหรอ ธรรมะของพระพุทธเจ้า งดงามในเบื้องต้น คือชี้ทางให้เราเดินไปได้ งดงามในท่ามกลาง คือมีเหตุผลสมบูรณ์ อย่างนี้ถูก อย่างนี้ผิด พิสูจน์ได้ด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา งดงามในที่สุด คือ เราละกิเลสได้จริงๆ ความทุกข์ตกหายไปได้จริงๆ เป็นลำดับๆไป ศาสนาพุทธสอนให้เราเรียนรู้ตัวเอง สิ่งที่เรียกว่าตัวเราคือกายกับใจ ท่านสอนว่า ถ้าเรารักสิ่งใด เราจะทุกข์เพราะสิ่งนั้น สิ่งที่เรารักที่สุดคือตัวเอง คือกายกับใจ ทำไมรัก เพราะเรารู้สึกว่านำความสุขมาให้ อย่างเช่นเรารักตา เรากลัวตาบอด เพราะว่า ตาทำให้เราเห็นของสวยๆ ถ้าตาเห็นแต่ของน่าเกลียดน่ากลัว เราคงไม่อยากมีตา หูก็ทำให้ได้ยินเสียงดีๆ ถ้าได้ยินแต่เสียงไม่อยากฟัง เราก็คงไม่อยากมีหู อายตนะทั้งหลาย ตาหูจมูกลิ้นกายใจมันทำให้เราเชื่อมต่อเข้ากับโลกภายนอกได้ ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นของดี นำความสุขมาให้ แต่ตอนนำความทุกข์มาให้ เราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ไป อย่างน้อยมันก็ยังมีความสุขกระเส็นกระสายให้หวังเล่นๆ มีชีวิตอยู่ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ หวังอะไร หวังจะสุขถาวร หวังจะดีถาวร หวังจะสงบถาวร แต่ความจริงคือ ทุกอย่างชั่วคราว นี่เราหวังลมๆ แล้งๆ หวังสิ่งซึ่งไม่มีจริง หวังอย่างนั้นก็นำความทุกข์มาให้ หวังแล้วก็ไม่มีทางสมหวัง แต่ถ้าเรารู้ลงในกายในใจ มันไม่ใช่ของดีของวิเศษ กายนี้ใจนี้เป็นแต่ตัวทุกข์ พอเห็นอย่างนี้แจ่มแจ้งนะ มันจะวาง ไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจ เมื่อไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจ จะยึดอะไรอีก ไม่มีแล้ว เพราะสิ่งที่ยึดมากที่สุดคือกายกับใจ ระหว่างกายกับใจก็ยึดใจมากกว่ากาย วัตถุประสงค์ของเราชาวพุทธก็คือ ต้องพ้นทุกข์ พ้นทุกข์ก็คือนิพพานนั่นเอง คือพ้นจากความยึดถือกายยึดถือใจ เพราะกายกับใจคือตัวทุกข์ เรามีเป้าหมายอยู่ ๔ เป้าหมาย เป้าหมายที่ ๑ เป็นพระโสดาบัน คือผู้ที่ละความเห็นผิดว่ามีตัวเรา เห็นความจริงแล้วว่าตัวตนที่แท้จริง ตัวตนที่ถาวรนั้นไม่มี มีศีลบริบูรณ์ มีสมาธิ และปัญญาเล็กน้อย เป้าหมายที่ ๒ เป็นพระสกิทาคามี มีสติที่รวดเร็วในการรู้สึกตัว จนกิเลสตัณหาอ่อนกำลังลงไป มีสมาธิปานกลาง มีปัญญาเล็กน้อย เป้าหมายที่ ๓ เป็นพระอนาคามี สามารถปล่อยวางความยึดถือกายได้ จึงพ้นจากกามและปฏิฆะ มีสมาธิสมบูรณ์ มีปัญญาปานกลาง เป้าหมายที่ ๔ เป็นพระอรหันต์ มีศีล สมาธิ และปัญญาสมบูรณ์ สามารถปล่อยวางความยึดถือใจได้ ก็จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ศาสนาพุทธ คือตัวสัมมาทิฏฐิ คือความรู้ถูกความเข้าใจถูกในสภาวธรรม (รูปธรรมและนามธรรม) จนกระทั่งปล่อยวางความยึดถือสภาวธรรมทั้งปวงได้ ซึ่งก็คือ ความรู้แจ้งอริยสัจ อริยสัจมีทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็เป็นอันละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา เมื่อใจเข้าถึงความจริง ยอมรับความจริงแล้ว มันจะไม่ทุกข์ อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญมากเลย ลึกซึ้งที่สุด ถ้าไม่รู้แจ้งอริยสัจ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด วนเวียนอยู่ในความทุกข์ไปเรื่อยๆ พ้นไม่ได้หรอก อริยสัจเป็นความจริงของบรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลาย ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านเหล่านี้เห็นความจริงของโลก ของชีวิต ของจักรวาล หน้าที่ของชาวพุทธคือหน้าที่เรียน ฉะนั้นชาวพุทธเป็นนักเรียนนะ เราต้องเรียนธรรมะ เพื่อวันหนึ่งเราจะได้รู้แจ้งธรรมะของพระอริยเจ้า เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งของพระอริยเจ้า อริยสัจตัวที่หนึ่งชื่อว่าทุกข์ ทุกข์ในอริยสัจแปลว่ากายกับใจ รูปกับนาม เรารู้สึกไหมว่ากายเป็นทุกข์ใจเป็นทุกข์ เราไม่รู้สึกหรอก เรารู้สึกว่ากายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง จิตนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง ตราบใดที่ยังเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง มันจะไม่ยอมปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจหรอก เพราะมันยังมีทางเลือกที่จะให้กายให้ใจเป็นสุข ยังรักอยู่ ยังหวงแหนอยู่ ยังหาทางดิ้นรนให้กายให้ใจมีความสุขอยู่ เมื่อไม่รู้แจ้งในธรรมะของพระอริยเจ้า ไม่แจ้งอริยสัจ ไม่รู้ว่ากายกับใจเป็นตัวทุกข์ จะไม่สามารถปล่อยวางความยึดถือกายความยึดถือใจได้ ยังรักมัน ยังหวงแหนมัน เมื่อรักมันหวงแหนมันนะ สมุทัยก็จะเกิดขึ้น สมุทัยคือตัณหา หมายถึงความอยาก อยากอะไร อยากให้กายมีความสุข อยากให้กายพ้นทุกข์ อยากให้จิตใจมีความสุข อยากให้จิตใจพ้นทุกข์ นี่ความอยากนี้แหละคือตัวตัณหา ถ้าตัณหาเกิดขึ้นแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นอีก มันจะเกิดทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา เบื้องต้นนะ กายกับใจเป็นตัวทุกข์ อันนี้เราไม่เห็นหรอก แต่ว่าเบื้องปลายนี่ ทันทีที่เกิดความอยาก อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์ จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เมื่อเกิดความอยากขึ้นเมื่อไร จิตจะดิ้นรนเมื่อนั้น เมื่อจิตดิ้นรนเมื่อไร จิตจะมีความทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา กายกับใจเป็นตัวทุกข์อยู่แล้วนะ พอเกิดตัณหา เกิดอุปาทานคือความยึดถือ ก็เกิดภพคือการดิ้นรนทำงานของจิต ความทุกข์ก็จะเกิดซ้ำซ้อนขึ้นที่จิตอีกชั้นหนึ่ง เมื่อไม่รู้ทุกข์นะ มันก็เกิดสมุทัย จิตใจก็ดิ้นรนปรุงแต่ง นิโรธก็ไม่ปรากฏ นิโรธคือนิพพาน นิพพานคือสภาวะซึ่งพ้นจากความปรุงแต่ง สภาวะซึ่งพ้นจากตัณหา สภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง มีชื่อเป็นภาษาแขกว่า วิสังขาร สภาวะที่พ้นจากตัณหามีชื่อว่าวิราคะ อันนี้เป็นชื่อของนิพพานทั้งสิ้นเลยนะ เมื่อจิตยังดิ้นรนค้นคว้า จิตยังมีความอยากมีความยึดถืออยู่ นิพพานไม่ปรากฏ ความพ้นทุกข์ไม่มี เพราะยังวนเวียนยึดถือขันธ์อยู่ ต่อเมื่อไรรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยถูกละอัตโนมัติ นิโรธแจ้งอัตโนมัติ อริยมรรคก็เกิดอัตโนมัติเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้เพียงบอกว่าให้เรารู้แจ้งอริยสัจเท่านั้น แต่ท่านบอกวิธีที่จะทำให้เรารู้แจ้งอริยสัจด้วย คือให้รู้ทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งนะ สมุทัยดับเอง นิโรธปรากฏเอง อริยมรรคเกิดขึ้นเอง หากรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันทำกิจของอริยสัจทั้ง ๔ เสร็จสิ้นในขณะเดียวกัน วิธีรู้ทุกข์ที่ท่านสอนก็คือ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือการเห็นอย่างวิเศษ คือเห็นความจริงของกายของใจว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา บังคับไม่ได้ ๒ . พระพุทธเจ้าสอนอะไร บทเรียนที่พระพุทธเจ้าสอนให้พวกเราศึกษานั้นมี ๓ บท คือ บทเรียนที่ ๑ ชื่อว่า สีลสิกขา คือเรียนเรื่องศีล หมายถึงว่าทำอย่างไรจิตของเราจะเป็นธรรมดาๆ จิตใจของเราจะไม่ถูกกิเลสชั่วหยาบครอบงำจนกระทั่งทำความผิด ล้นออกมาทางกายทางวาจา ถ้าเรามีสติคอยรู้ทันจิตใจของเราอยู่เรื่อยๆ กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ไม่ผิดศีลหรอก เช่น ถ้าเรามีสติเรื่อยๆ นะ ตามองเห็นรูป จิตเรายินดียินร้ายขึ้นมา เรารู้ทัน ความยินดียินร้ายก็คืออภิชฌาโทมนัส หรือราคะนั่นเองก็ครอบงำจิตไม่ได้ จิตก็ไม่ทำผิดศีล อย่างเห็นสาวสวยนะ ชอบเขารักเขา มีสติรู้ทันจิตของตัวเอง ว่านี่มีราคะเกิดขึ้น ราคะจะดับไป ก็ไม่ไปหลอกไปลวงอะไรเขาแล้ว ไม่ทำผิดศีล โกรธเขาขึ้นมา อยากฆ่าเขา มีสติรู้ทันลงไปที่ใจของตัวเองที่กำลังโกรธอยู่ พอมีสติรู้ทันนะ ความโกรธก็ครอบงำจิตใจไม่ได้ มันก็ไม่ฆ่าใคร ไม่ตีใคร ไม่ด่าใคร ถ้าเรามีสติอยู่ ศีลจะเกิดขึ้น จิตใจเราจะเป็นปกติธรรมดา แต่ถ้ายังไม่มีศีลที่เกิดจากการสำรวมอินทรีย์ ที่เรียกว่า อินทรียสังวรศีล อย่างนี้ก็มีศีลธรรมดาไปก่อน ให้ตั้งใจรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ตามโอกาสนะ ฉะนั้น ศีลถือเป็นปัจจัยของสมาธิ เป็นพื้นฐานทำให้ทำสมาธิได้ง่าย บทเรียนที่ ๒ ชื่อว่า จิตตสิกขา ชื่อมันก็บอกแล้วว่าเรียนเรื่องจิต เราจะเรียนให้รู้ความจริงว่าจิตชนิดไหนเป็นกุศล จิตชนิดไหนเป็นอกุศล จิตที่เป็นกุศลก็มีหลายแบบ เป็นกุศลทั่วๆ ไป ที่อยู่กับโลก หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลที่ใช้ทำสมถะ หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลที่จะใช้ทำวิปัสสนา เราต้องเรียนไปจนกระทั่งเรารู้ความจริง จิตที่เป็นมหากุศล จิตที่ใช้ทำวิปัสสนาจริงๆ มันจะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุต คือประกอบด้วยปัญญา อสังขาริกังคือเกิดขึ้นเอง ต้องเป็นจิตที่เกิดเองถึงจะมีกำลังกล้า ฉะนั้นเราต้องรู้ไปนะ ต้องเรียนว่าทำอย่างไรเราจะเกิดจิตซึ่งมีกำลังกุศลแก่กล้า ทำอย่างไรสติจะเกิดได้เอง เราต้องรู้ว่าสติเกิดจากอะไร สติเกิดจากถิรสัญญา แปลว่าการที่จิตจำสภาวธรรมได้แม่นยำ ในพระอภิธรรมจะบอกว่า การที่จิตจำสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) ได้แม่นยำ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ หลวงพ่อจะสอนให้หัดดูสภาวะ เช่น ร่างกายเคลื่อนไหว คอยรู้สึก หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก คู้รู้สึก เหยียดรู้สึก พองรู้สึก ยุบรู้สึก เป็นสุขเป็นทุกข์ รู้สึก โลภโกรธหลงขึ้นมา ไม่โลภไม่โกรธไม่หลงขึ้นมา คอยรู้สึก รู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจ รู้สึกไปเรื่อยๆ ทีแรกยังไม่มีสติหรอก คอยตามรู้สึกไปเรื่อยๆ ตามรู้ไปเรื่อย ร่างกายเคลื่อนไหวนะ เผลอเคลื่อนไหวไปก่อนแล้วรู้สึกตัว อ้าวเมื่อกี้เผลอไปเคลื่อนไหว ; โลภไปก่อน แล้วรู้สึกตัว อ้าวเมื่อกี้เผลอไปโลภ ;ใจลอยไปคิดก่อน แล้วรู้สึกตัว รู้ว่าเอ้อเมื่อกี้หลงไปคิดแล้ว การที่จิตมันเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดมันจะจำสภาวะได้ พอมันจำสภาวะได้นะ ต่อไปสติจะเกิดเองโดยไม่ต้องจูงใจให้เกิด สติ คือความระลึกได้ถึงความมีอยู่ของกาย ระลึกได้ถึงความมีอยู่ของใจ การที่จิตมันเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดมันจะจำสภาวะได้ พอมันจำสภาวะได้นะ ต่อไปสติจะเกิดเองโดยไม่ต้องจูงใจให้เกิด สติ คือความระลึกได้ถึงความมีอยู่ของกาย ระลึกได้ถึงความมีอยู่ของใจ สติที่เกิดจากการจงใจทำให้เกิด สติอย่างนี้ใช้ไม่ได้จริงในการทำวิปัสสนา แต่ใช้ทำสมถะได้ เช่น เราจะรู้ลมหายใจ เราก็กำหนดจิตเอาไว้กับลมหายใจ ไม่ให้ลืมลมหายใจเลย เราจะดูท้องพองยุบ เรากำหนดจิตจ่อลงไปที่ท้อง ไม่ให้ลืมท้องเลย เราจะเดินจงกรมยกเท้าย่างเท้า เราเอาสติจ่อลงไปที่เท้า ไม่ขาดสติเลย เท้ากระดิกกิ๊กๆๆๆ รู้หมด จะหยิบขวดน้ำนี่ กิ๊กๆๆๆ เห็นเหมือนรูปการ์ตูนนะ เห็นรูปมันดับ วับๆๆๆ ไป ใจมันจ่ออยู่ที่รูปนี่ สติอย่างนี้ จะรู้สึกว่าเกิดได้ทั้งวัน พวกเราลืมไปอย่างหนึ่งว่า สติหรือกุศลที่เกิดซ้ำๆๆๆ ได้นานๆ จะเกิดในฌานจิต คือเกิดกับจิตที่เพ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่สติที่จะใช้ทำวิปัสสนาอะไรหรอก สติที่เกิดจากการกำหนดไม่ใช่วิปัสสนา ถ้าเรากำหนดใส่ตัวอารมณ์ (สิ่งที่ถูกรู้) เมื่อไหร่จะเป็นสมถะ เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน ถ้าเมื่อไรเรามีสติเพ่งใส่ตัวอารมณ์ เมื่อนั้นเป็นสมถกัมมัฏฐาน จำเอาไว้นะ กระทั่งการเพ่งรูปเพ่งนามก็เป็นสมถกัมมัฏฐาน ต้องเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามถึงจะเป็นวิปัสสนา การจะเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามได้ จิตจะต้องตั้งมั่น ตัวนี้แหละคือตัวสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูเท่านั้นเอง วิธีทำให้เกิดสัมมาสมาธิทำได้หลายอย่าง วิธีที่หนึ่ง ทำฌานจนถึงฌานที่สอง พอถึงฌานที่สอง จิตมันจะตั้งมั่นออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดูในทางตำราจะเรียกว่ามีเอโกทิภาวะ คือภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง คือภาวะของจิตผู้รู้นั่นเอง จิตจะตั้งตัวรู้ขึ้นมา พอเราออกจากฌานแล้วนะ ตัวรู้นี้ยังทรงอยู่ มันจะเห็นทันทีเลยว่า ร่างกายที่ยืนเดินนั่งนอนนี้ไม่ใช่ตัวเรา เห็นทันที เห็นไหม เกิดปัญญาทันที เห็นไตรลักษณ์ทันทีเลย ร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่นี่มันไม่ใช่เราหรอก มันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู มีใครรู้สึกว่าพัดนี้เป็นตัวเราไหม (หลวงพ่อชูพัดให้ดู) ไม่มี เพราะอะไร เพราะมันเป็นของถูกรู้ถูกดู มันอยู่ห่างๆ นึกออกไหม ส่วนร่างกายเรานี่ ถ้าจิตของเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะรู้สึกทันทีว่าร่างกายอยู่ห่างๆ จิตมันแยกออกมา เรียกว่าแยกรูปกับนามออกจากกัน การแยกรูปกับนามออกจากกันนี่มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ทันทีที่แยกออกไป ใจตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เห็นอยู่ทันทีเลยว่า ร่างกายหายใจ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายพองยุบ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายยืนเดินนั่งนอน จิตเป็นคนรู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง จิตเป็นคนรู้ มันแยกออกมาต่างหาก มันจะเกิดปัญญาทันทีเลย เห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายนี้เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุเท่านั้น นี่คือการเจริญปัญญา เรียกว่า ปัญญาสิกขา คือบทเรียนที่ ๓ ส่วนจิตก็สักว่ารู้ สักว่าเห็น จะเห็นเลยว่ากิเลสมันผ่านมาผ่านไป เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้านไปเท่านั้นเอง ไม่เกี่ยวกับเรา อย่างนี้มันผ่านมาแวบแล้วหายไปเลย ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา วิธีที่สอง สำหรับคนที่ทำฌานไม่ได้ ไม่เป็นไร หัดรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยววันหนึ่งมันจะเกิดสมาธิขึ้นมา สมาธิชนิดนี้ ชื่อขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิคือสมาธิชั่วขณะ ฟังดูแล้วกิ๊กก๊อกนะ กระจอกงอกง่อย แหมใครๆ ก็อยากได้อัปปนาสมาธิ แต่ส่วนมากไม่ถึงอัปปนาสมาธิหรอก ฉะนั้นถ้าเราทำอัปปนาสมาธิไม่ได้ ก็ให้เรามีสติดูจิตดูใจของเราไปเรื่อย จิตไหลไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา มันจะค่อยๆ แยกตัวออกมาจากอารมณ์ เช่น จิตมันใจลอย จิตมันไปคิด พอเรารู้ทันนะ จิตมันก็ตื่นขึ้นมาแวบหนึ่ง เราจะเห็นเลยว่าความคิดนั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิต จิตมันโลภขึ้นมา พอเรามีสติรู้ว่าจิตโลภ เราจะเห็นเลยว่าความโลภเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิต แยกออกจากกันนะ เราโกรธขึ้นมา พอเรามีสติรู้ทันปั๊บ เราจะเห็นเลยว่าความโกรธเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิต นี่มันแยกออกมา จิตซึ่งเป็นผู้รู้อารมณ์มันจะตั้งขึ้นมา แต่มันอยู่ชั่วขณะนะ เดี๋ยวมันก็ไหลไปอีก ไม่เหมือนคนที่ทรงฌาน จะอยู่นาน นี่เรามีสมาธิชนิดนี้แหละพอแล้ว แต่ถ้าใครมีบุญวาสนา ทำอัปปนาสมาธิได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าฝืน มันจะกลายเป็นอัปลักษณ์สมาธิ พระพุทธเจ้าสอนว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนที่ไม่ได้ สดับ (หมายถึงคนที่ไม่ได้ฟังธรรมของท่านหรือของพระอริยเจ้า) สามารถเห็นว่ากายไม่ใช่ตัวเรา แต่ไม่สามารถเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา ” มีแต่คำสอนในอริยวินัย ในธรรมะของท่านนี้เท่านั้นที่ทำให้เห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเราได้ เพราะการที่จะเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานี่ยาก เนื่องจากเรายึดถือมานาน เราสำคัญมั่นหมายมานานว่าจิตเป็นตัวเรา พวกเราลองวัดใจตัวเองอย่างซื่อสัตย์นะ ลองวัดใจตัวเองดู เรารู้สึกไหมว่าร่างกายนี้มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ร่างกายของเราเดี๋ยวนี้กับร่างกายของเราตอนเด็กๆ นี่คนละคนกัน รู้สึกไหม มันไม่เหมือนเดิมนะ ร่างกายของเราเดี๋ยวนี้กับตอนวัยรุ่นก็ไม่เหมือนกันใช่ไหม ถ้าอายุขนาดหลวงพ่อ ร่างกายสมัยกลางๆ คนกับตอนนี้ไม่เหมือนกันแล้ว นี่เรารู้ได้ ร่างกายมันไม่เหมือนเดิม แต่เรารู้สึกไหมว่าในร่างกายที่แปรปรวนนี้ มีความรู้สึกว่ามีเราอยู่คนหนึ่ง เราคนนี้กับเราตอนเด็กๆ ยังเป็นเราคนเดิม นี่เราจะสำคัญมั่นหมายว่ามีเราอยู่คนหนึ่ง นั่นคือเราสำคัญว่าจิตคือตัวเรา อันนี้แหละจิตเป็นเราอยู่ ยากมากที่จะเห็นว่าจิตนี้ไม่ใช่เรา ถ้าเมื่อใดเห็นและยอมรับด้วยปัญญาว่าจิตไม่ใช่เรา วันนั้นจะได้พระโสดาบัน จำเอาไว้นะ วิธีที่จะให้เห็นว่าจิตไม่ใช่เรานะ รู้สึกตัวเรื่อยๆ ก่อน เห็นกายไม่ใช่เรา เห็นเวทนา (ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ) ไม่ใช่เรา เห็นจิตตสังขารคือกุศลและอกุศลทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา เป็นของถูกรู้ถูกดูทั้งหมดเลย ต่อมาสังเกตจิตใจ ไม่ต้องรีบสังเกตนะ ฟังหลวงพ่อพูด แล้ววันหนึ่งจิตมันจะไปสังเกตเอง อย่าไปจงใจสังเกต ถ้าจงใจดูจะไม่เจอ ค่อยๆ รู้สึกไป เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้ถูกรู้ใช่ไหม เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้คิดรู้สึกไหม ต้องหัดรู้ตัวจนชำนาญนะ จะรู้จักว่า อ้อ นี่จิตมันรู้ขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวจิตมันก็หลงไปคิด เดี๋ยวจิตมันก็รู้ เดี๋ยวจิตมันก็หลงไปคิด นี่ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปเราจะเห็นว่าจิตนี้มันไม่เที่ยง แรกๆ ก็แค่รู้สึกตัวเอาไว้ ร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก อันนี้จะทำให้เกิดสติอัตโนมัติ จิตมันจำสภาวะของร่างกายของจิตใจได้แล้วสติเกิดเอง เพราะฉะนั้นร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก พอสติจริงๆ เกิดขึ้นมาเองนี่ จิตมันจะตั้งมั่นอัตโนมัติ ตั้งมั่นขึ้นมาชั่วขณะ พอจิตมันตั้งมั่นชั่วขณะจะมีความรู้สึกว่าร่างกายอยู่ห่างๆ จิตอยู่ห่างๆ จิตกับร่างกายห่างกัน จิตกับเวทนาอยู่ห่างๆ กัน จิตกับสังขาร เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ห่างๆ กัน เราอย่าไปคิดว่าจิตมีดวงเดียวเที่ยววิ่งไปวิ่งมา ที่จริงจิตเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว จนเกิดภาพลวงตาว่าจิตมีดวงเดียว เที่ยววิ่งไปวิ่งมาเหมือนภาพการ์ตูน ซึ่งแต่ละภาพไม่มีความเคลื่อนไหว แต่พอภาพเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว จึงเกิดภาพลวงตาว่าตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ ความจริงจิตนั้นเกิดดับตลอดเวลา จิตไม่ได้เที่ยงนะในขณะที่พวกเราเห็นว่าจิตเที่ยง จิตของเราวันนี้กับจิตของเราตอนเด็กๆ ยังเป็นคนเดิมอยู่เลย จิตของเราวันนี้กับจิตปีหน้าก็คนเดิมอีก จิตของเราเดี๋ยวนี้กับชาติหน้าก็คนเดิมอีก ฉะนั้นบางคนเลยต้องเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เพราะว่ามันเป็นคนเดิม แต่ก็ต้องเลี้ยงนะ ไม่ใช่บอกว่าไม่ต้องทำความดี คอยฝึกไปนะ วันหนึ่งก็จะเห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา เวทนาคือความสุขความทุกข์ไม่ใช่เรา จิตตสังขารไม่ใช่เรา ตัวจิตแท้ๆ ที่เป็นผู้รู้นะ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง เกิดดับเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ตัวเราที่เที่ยงๆ หรอก ตัวเราที่เที่ยงๆ ไม่มี วันใดที่จิตมันเดินปัญญาแก่รอบถึงขนาดนี้แล้ว จิตมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ รวมเองนะ แล้วเกิดอริยมรรคขึ้น โสดาปัตติมรรคจะตัดความเห็นผิดว่ามีตัวเราออกไป พอถอยออกมาจากโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล แล้วกลับมาสู่โลกมนุษย์นี่ เวลาเราดูเข้ามาในจิตใจตัวเองจะไม่มีแม้แต่เงาของความรู้สึกว่ามีตัวเรา เงาก็ไม่มีนะ ถ้าขาดด้วยอริยมรรคแล้ว จะไม่มีความรู้สึกเป็นตัวเราโผล่ขึ้นมาอีกเลย ผู้ใดเห็นว่ากายไม่ใช่เรา จิตใจไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มี นั่นแหละคือภูมิธรรมของพระโสดาบัน ถัดจากนั้นก็มารู้กายรู้ใจต่อไปอีก พระโสดาบันกับปุถุชนก็ภาวนาอย่างเดียวกันนั่นแหละ คือรู้กายรู้ใจเรื่อยๆ ไป รู้ไปอีก รู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนวันหนึ่งมันรู้แจ้งลึกซึ้งขึ้นมาอีก กิเลสตัณหาก็อ่อนกำลังลงไป เรียกว่า พระสกิทาคามี รู้ลงไปอีกภายในใจนะ สติปัญญามันจะขมวดเข้ามาเรียนรู้กายเป็นหลักเลย รู้ลงไป รู้ลงไป กายมันของหยาบ มันดูง่าย ดูไปๆ แล้วละง่าย จะเห็นเลยว่ากายนี้มันเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ วันใดที่เห็นว่ากายเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ก็หมดความยึดถือกาย ก็จะหมดความกลุ้มใจเพราะต้องกระทบอารมณ์ทางกาย กระทั่งกายเรายังไม่ยึดถือเลย เราจะไปยึดถืออารมณ์ที่กระทบทางกายทำไม ที่เรายึดถือร่างกายอยู่ เพราะว่าร่างกายนี้เป็นช่องทางให้เรากระทบอารมณ์ที่น่าเพลิดเพลิน อย่างเรามีตาอยู่ใช่ไหม เราก็ได้ดูรูปสวยๆ อย่างมีหูก็ได้ฟังเสียงไพเราะๆ เสียงดีๆ อย่างมีจมูกได้กลิ่นหอมอยู่ นี่เรารักร่างกายเพราะมันเอาของดีมาให้เรา เรารู้สึกว่ามันดี แต่ถ้าวันหนึ่งเราเห็นกายนี้ทุกข์ล้วนๆ เลย เราก็จะไม่หลงไปในรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะที่มากระทบตาหูจมูกลิ้นกายนี่ จิตมันจะไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย มันพ้นจากความยินดียินร้ายในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เรียกว่ามันพ้นจากกามและปฏิฆะ พระอนาคามีละกามและปฏิฆะได้เพราะไม่ยึดกาย หมดความยึดกายเพราะเห็นความจริงว่ากายนี้ทุกข์ล้วนๆ เห็นอย่างนี้ อย่างไรก็ตาม นักปฏิบัติที่ชำนาญในการดูจิต สามารถมีสติตามรู้จิตจนเห็นความจริงว่า เมื่อใดจิตมีความอยาก เมื่อใดจิตมีความยึดถืออารมณ์ต่างๆ เมื่อนั้นจิตจะทุกข์ เมื่อใดจิตพ้นจากความอยากและความยึดถืออารมณ์ จิตจะไม่ทุกข์ พอเห็นแจ้งอย่างนี้ จิตก็ไม่ยึดถือในกายและกามคุณอารมณ์ จิตพ้นจากกามและปฏิฆะ เป็นพระอนาคามีได้เช่นกัน ทีนี้พอฝึกจนถึงขั้นพระอนาคามี สมาธิจะบริบูรณ์ จิตตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ทั้งวันเลย จะรู้สึกว่าตัวผู้รู้นี่แหละเป็นของดีของวิเศษเป็นที่พึ่งที่อาศัย ถ้าเราอยู่กับตัวผู้รู้นี่เราไม่ทุกข์ ถ้าเราเป็นตัวผู้หลงเมื่อไรถึงจะทุกข์ ฉะนั้นจิตนี้ดีนะ จิตตัวผู้รู้นี่ดี ใจมันจะยึดตัวดีนี้ไว้ ไม่ปล่อยวางจิตต่อเมื่อวันใดมีสติปัญญาแก่รอบจริงๆ เห็นว่าตัวจิตนั้นแหละกลายเป็นตัวทุกข์ให้เราดู มันพลิกของมันเองนะ มันพลิกให้เราดูเอง อยู่ๆ จะไปนึกเอาว่าตัวจิตผู้รู้เป็นตัวทุกข์ มันนึกไม่ออกหรอก เพราะไม่เคยเห็น ต้องมีสติมีปัญญาแก่กล้าพอ มันจะพลิกตัวให้ดูว่ามันทุกข์ล้วนๆ ไม่มีอะไรทุกข์เท่านี้อีกแล้ว อย่างบางคนบอกว่าอกหักทุกข์มาก ตัวจิตผู้รู้นี่ถึงไม่อกหักมันก็ทุกข์ มันทุกข์ยิ่งกว่านั้นอีก มันทุกข์จนเรามีความรู้สึกว่า ถ้าเรารู้มันต่อไป เราจะตายแล้ว อกหักเฉยๆ เรารู้ว่าอกหักไม่ตายนะ อกหักแล้วกำลังกลุ้มใจอยู่ เสียอกเสียใจอยู่ ถ้าเรารู้ว่าเสียอกเสียใจอยู่หายเลย แต่ตัวผู้รู้เวลามันกลายเป็นตัวทุกข์ให้ดูนี่ ยิ่งรู้มันยิ่งทุกข์ ยิ่งรู้มันยิ่งทุกข์ ทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกข์เหมือนจะตายเลย ทุกข์เหมือนไม่ตายก็บ้า นี่ใจมันต้องเห็นทุกข์นะถึงจะยอมวาง ผู้ที่ปล่อยวางจิตได้เรียกว่าพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่านิพพานอยู่ฟากตาย ไม่ภาวนากันจนถึงขีดสุดจริงๆ ไม่ยอมปล่อยวางจิตหรอกเพราะเราหวง ๓ . วิธีเจริญวิปัสสนา ถ้าเราจะทำวิปัสสนาให้ถูกต้อง ขั้นแรก เราต้องรู้สึกกายรู้สึกใจให้ได้ก่อน เพราะ วิปัสสนาคือ “ การมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงลงเป็นปัจจุบัน ” ต้องรู้สึกกายรู้สึกใจให้เป็นขั้นที่สอง “ ต้องสามารถปล่อยให้กายให้ใจเขาทำงาน แสดงไตรลักษณ์ได้ ” การหัดให้มีสติ ก็คือหัดรู้สึกตัว ศัตรูของความรู้สึกตัว ก็คือความหลง ความเผลอนั่นแหละ เผลอไปรู้ เผลอไปฟัง เผลอไปคิด (คือขาดสติ) ศัตรูอีกอย่างหนึ่งก็คือการเพ่งร่างกาย เพ่งจิตใจ (คือบังคับกายบังคับใจ) ซึ่งทำให้กายใจถูกแทรกแซง และแสดงไตรลักษณ์ให้เห็นได้ยาก ถ้าเมื่อไรเรารู้ทันจิตใจของตัวเอง เราก็จะไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด เราจะตื่นขึ้นมา ซึ่งเป็นต้นทางที่จะทำให้เราเดินวิปัสสนาได้ พอตื่นขึ้นมาแล้วก็มีเงื่อนไขอีกอย่างเดียวเท่านั้นเอง คือมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมา เราจะเห็นกายตามความเป็นจริง เห็นจิตใจตามความเป็นจริง คือเห็นไตรลักษณ์ ทำวิปัสสนาหรือเจริญปัญญาได้ ความตื่น ซึ่งทำให้เราหลุดออกจากโลกของความคิด เราหลุดออกจากโลกของความฝัน แล้วมาอยู่ในโลกของความเป็นจริงได้ นี่จึงเป็นต้นทางของการเจริญปัญญา สิ่งที่ผู้ปฏิบัติส่วนหนึ่งขาดอย่างแสนสาหัสเลยนะ คือสัมมาสมาธิ ส่วนใหญ่เราไม่มีสัมมาสมาธิ มีแต่มิจฉาสมาธิ แล้วแยกไม่ออกด้วยว่าอะไรคือสัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิจะไม่มีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ จำไว้นะ ในพระอภิธรรมสอนเอาไว้ว่า “ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ” “ ปัญญา คือการเห็นกายเห็นใจเป็นไตรลักษณ์ ” สัมมาสมาธิไม่เหมือนมิจฉาสมาธิ จิตทุกๆ ดวงมีสมาธิ จำเอาไว้นะ กระทั่งจิตอกุศลก็มีสมาธินะ แต่สัมมาสมาธินี่เกิดยากที่สุด ทำอย่างไรจิตของเราจะตั้งมั่น จิตของคนส่วนใหญ่ที่ว่ามีสมาธิน่ะ เป็นจิตที่เข้าไปตั้งแช่อยู่ที่ตัวอารมณ์ (สิ่งที่ถูกรู้) ไม่ใช่ตั้งมั่นในการรู้อารมณ์ ยกตัวอย่าง เอ้า พวกเราดูพระพุทธรูป ตั้งใจดูนะ ตั้งใจดู รู้สึกจดจ่ออยู่ที่พระ แล้วรู้สึกไหมว่าใจเราไหลไปอยู่ที่พระ เราดูพระรู้เรื่องใช่ไหม เรามีสติ สติเราจับอยู่ที่พระ ใจเรามีสมาธิ ใจเราไปแช่อยู่ที่พระ อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสัมมาสมาธิ เวลาที่เรามีมิจฉาสมาธิ จิตมันจะเคลื่อนไป จิตมันจะไหลลงไปนิ่งๆ อยู่ที่อารมณ์อันใดอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลารู้ลมหายใจ จิตจะไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ ไปรู้ท้องพองยุบ จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง ไปเดินจงกรม ยกเท้าย่างเท้า จิตไหลไปอยู่ที่เท้า ขยับมือทำจังหวะเคลื่อนไหว จิตไหลไปอยู่ที่มือ นี่จิตหลงไป จิตไหลไป อย่างนี้เรียกว่ามิจฉาสมาธิ จะไม่เกิดปัญญา เกิดแต่สมถะนะ นิ่งๆ ไปได้อย่างนั้นแหละ หน้าที่ของเราก็คือพยายามรู้สึกตัวไป อาจจะมีเครื่องอยู่อะไรสักอันหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้ติดเพ่งรุนแรงมาก่อนนะ รู้อะไรสักอย่างขึ้นมาเป็นตัวตั้ง (วิหารธรรม) เช่น พุทโธ หรืออานาปานสติ สมมุติว่าบางคนท่องพุทโธ เอาพุทโธเป็นตัวตั้ง พุทโธแล้วไม่ใช่บังคับจิตให้ไปอยู่ที่พุทโธ พุทโธแล้วจิตไปอยู่ที่พุทโธนี่ก็รู้ จิตหนีไปที่อื่นก็รู้ พุทโธแล้วก็รู้ทันจิต เห็นจิตหนีไปหนีมา เห็นจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตร้าย พุทโธเอาไว้เป็นตัวตั้งเพื่อจะดูจิต ทีนี้จะเกิดปัญญา จิตต้องตั้งมั่นขึ้นมา ต้องรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เป็นคนดู ไม่เผลอไป ไม่ไหลไป ตั้งมั่นอยู่ แต่มีเงื่อนไข ต้องตั้งมั่นอย่างสบายด้วย ตั้งมั่นแบบเบาๆ แบบอ่อนโยน แบบคล่องแคล่วว่องไว แบบไม่ได้ถูกกิเลสครอบงำ ถ้าตั้งแบบแข็งๆ นี่ไม่ใช่ ตั้งแล้วหนักๆ นี่ไม่ใช่ ตั้งแล้วเครียดๆ นี่ไม่ใช่ จิตที่เป็นสัมมาสมาธิมีความเบา มีความนุ่มนวลอ่อนโยน มีความคล่องแคล่วว่องไว มีความซื่อตรงในการรู้อารมณ์ทั้งหลาย ความโลภเกิดขึ้นก็เห็นความโลภเกิดขึ้น เห็นเหมือนกับคนเดินผ่านหน้าบ้าน ความโกรธเกิดขึ้นนะ เห็นความโกรธผ่านมา เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้าน เห็นใจลอยไป ดูเหมือนเห็นคนอื่นใจลอย ใจมันแค่ตั้งมั่นเป็นคนตามรู้ตามดูเรื่อยๆ มันรู้อย่างสบายๆ รู้อย่างมีความสุข สัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต ถ้าถามว่าจิตตั้งมั่น ตั้งอยู่ที่ไหน แล้วตอบว่าตั้งที่ลมหายใจ อันนั้นไม่ใช่ตั้งมั่น จิตตั้งมั่น ต้องตั้งมั่นในการรู้ลมหายใจ จิตอยู่ต่างหาก ลมหายใจอยู่นี่ กายกับจิตมันแยกออกจากกัน จิตตั้งมั่น เวลาเห็นกิเลสจะเห็นกิเลสอยู่ห่างๆ จิตอยู่ต่างหาก แยกออกจากกัน เวลารู้กาย เห็นกายอยู่ห่างๆ จิตแยกออกมา กายกับจิตมีช่องว่างมาคั่น มีระยะห่างในความรู้สึก ไม่ใช่รวมเป็นเนื้อเดียวเดียวกัน อย่างคนที่ไปรู้ลมหายใจ แล้วจิตไหลไปอยู่ที่ลม นี่ไม่มีช่องว่าง จิตกับลมหายใจรวมเป็นเนื้อเดียวกัน อันนี้เป็นการเพ่งอารมณ์ เป็นสมถะ ถ้าจิตตั้งมั่น จิตมันจะแยกออกมาต่างหาก มันเห็นร่างกายหายใจ เหมือนดูคนอื่นหายใจเลย ถ้าพูดภาษาง่ายๆ ตามสภาวะที่เห็นจริงๆ ก็คือ มันเหมือนจิตอยู่ต่างหาก ร่างกายอยู่ต่างหาก กายกับจิตมันแยกกัน มีระยะห่าง มีช่องว่างมาคั่น แต่ไม่ใช่การถอดจิตออกจากร่างนะ มันเป็นการแยกออกโดยความรู้สึกเท่านั้น บางทีจิตก็ถลำวิ่งเข้าไปหากาย บางทีจิตถลำวิ่งไปที่อื่นก็ได้ จิตถลำไปแล้วก็ให้รู้ทัน แล้วจิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาใหม่ จิตที่ตั้งมั่นแล้วจะรู้สึกขึ้นมา พอรู้สึกขึ้นมา มันจะเห็นเลยว่าร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่นี่ไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นทันที แล้วจะเห็นทันทีเลยว่าเวทนา (ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ) ที่ปรากฏอยู่นี้ไม่ใช่ตัวเรา เวทนาไม่ใช่เราเพราะอะไรเพราะเวทนามันแยกออกไปห่างๆ อย่างพวกเรารู้สึกไหม มีใครรู้สึกไหมว่า พัดอันนี้เป็นตัวเรา ไม่มีใช่ไหม เพราะมันอยู่ห่างๆ นึกออกไหม เมื่อจิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้วเกิดสติปัญญา เราจะเห็นเลยว่ามือนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา มันอยู่ห่างๆ ร่างกายอยู่ตรงนี้เลยนี่ อยู่ห่างๆ หมดเลย จิตมันอยู่ต่างหาก จิตมันเป็นคนดู มันจะเห็นตลอดเวลาเลย เห็นได้ทันทีเลยว่า ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา จิตของคนส่วนใหญ่ไม่ตั้งมั่นหรอก จิตส่วนใหญ่ไหลตามอารมณ์ไปเรื่อยๆ ถ้าไหลตามอารมณ์สะเปะสะปะไปเรื่อยๆ เรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน ถ้าไหลไปแล้ว ไปแช่นิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว เขาเรียกว่าการเพ่ง ฉะนั้น สิ่งที่ผิดที่ทำให้เราเจริญวิปัสสนาไม่ได้ก็เลยมีสองอันที่หลวงพ่อบอกว่าเผลอกับเพ่งนั่นเอง เผลอนี่คือจิตมันจับอารมณ์นี้ จับอารมณ์นั้น จับอารมณ์โน้น เปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ สะเปะสะปะไปเรื่อยๆ ดูไม่ทันหรอก เลอะเทอะเปรอะเปื้อนไป อะไรเกิดขึ้นไม่รู้เลย จับอันโน้นที จับอันนี้ที คล้ายๆ ลิงโหนต้นไม้ต้นนั้นต้นนี้นะ ถ้าไหลไปนี้ที ไหลไปโน้นที เรียกว่าฟุ้งซ่าน เรียกว่าหลงไป เรียกว่าเผลอไป อีกอันหนึ่ง จิตถลำไปไหลไป ไหลเหมือนกันนะ แต่ไหลไปอยู่กับสิ่งสิ่งเดียว เหมือนทาร์ซานไปเกาะนิ่งๆ หรือลิงไปเกาะต้นไม้นิ่งๆ ไม่กระโดดไปไหน อันนี้แหละสมถะ นี่แหละเพ่ง มันจะไม่มีปัญญาเกิดขึ้น ถ้าเมื่อไรจิตไม่หลงไป แล้วก็ไม่ได้เพ่งเอาไว้ นั่นแหละ ทางสายกลางอยู่ตรงนั้น ทำอย่างไรเราจะเดินเข้าสู่ทางสายกลางได้ โดยมีจิตซึ่งไม่ได้เผลอไป แล้วก็ไม่ได้เพ่งเอาไว้ วิธีง่ายๆ เลย ขั้นแรกนะ ถ้าเพ่งอยู่ เลิกไปก่อน คนไหนติดสมถะให้เลิกไปก่อน เลิกปฏิบัติไปชั่วครั้งชั่วคราวก่อน เสร็จแล้วก็คอยรู้ทันเวลาจิตเผลอไป จิตไหลไป เผลอไปทางตา เช่น ไหลไปดูพระพุทธรูป เผลอไปทางหู ได้ยินไหม ระฆังดัง รู้สึกไหม ไปตั้งใจฟังระฆังปุ๊บนี่ ได้ยินเสียงระฆัง ลืมกายลืมใจแล้ว เผลอไปทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ เผลอได้ทั้งหมดนั่นแหละ ถ้าเมื่อไรเผลอไป ใจก็ไม่ตั้งมั่น แต่มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง ถ้ามันเผลอแล้วเรารู้ว่าเผลอนะ จิตจะตั้งมั่นพอดีเลย แต่ถ้าเพ่งแล้วรู้ว่าเพ่งนะ จิตไม่ตั้งมั่นหรอก จิตก็ยังเพ่งอยู่ เพราะอะไร เพราะจิตที่เผลอไปฟุ้งซ่านไปเป็นจิตอกุศล ทันทีที่เรารู้ทัน จิตอกุศลจะดับทันที จะเกิดจิตที่ตั้งมั่นในฉับพลันนั้น ส่วนจิตที่เพ่ง ไม่ใช่จิตอกุศลนะ จิตที่เพ่งเป็นจิตที่ทำสมถะ เป็นจิตที่เป็นกุศล เป็นความปรุงแต่งฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้นเราไปรู้อยู่ก็ไม่จำเป็นต้องดับหรอก เว้นแต่ว่าเราจะเลิกเพ่ง การทำจิตให้ตั้งมั่นมีหลายแบบ เพราะคนมีหลากหลาย เช่น บางคนทำฌานได้จนเกิดจิต “ ผู้รู้ ” ที่เรียกว่า “ เอโกทิภาวะ ” เช่น การทำอานาปานสติ หายใจไปแล้วมีสติระลึกรู้ลมหายใจ โดยเอาลมหายใจเป็นอารมณ์ ตัวลมหายใจเรียกว่าบริกรรมนิมิต ดูลมหายใจไปเล่นๆ ดูสบายๆ อย่าไปเป็น อย่าไปเค้นจิต อย่าไปบังคับจิตให้สงบ จิตไม่ชอบให้ใครบังคับนะ ถ้าเราบังคับมันจะเครียด มันจะไม่สงบหรอก ให้รู้เล่นๆ ไป ลมหายใจนี้เป็นบริกรรมนิมิต ลมจะสั้นขึ้นๆ ทีแรกหายใจลงไปถึงท้อง จากนั้นลมจะเบาๆ เหมือนหายใจสั้นๆ เหลือแค่ปลายจมูก ต่อจากนั้นลมจะเปลี่ยนเป็นแสงสว่าง แล้วรวมเป็นดวงสว่างขึ้นมา ถึงจุดนี้ให้เราเปลี่ยนอารมณ์กัมมัฏฐาน เราไม่ได้ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์แล้ว เราใช้ดวงที่มีความสว่างนี้เป็นอารมณ์แทน ดวงนี้เรียกว่าอุคคหนิมิต ดูไปเรื่อยจะเป็นปฏิภาคนิมิต ย่อได้ ขยายได้ มีความสุข มีปีติแล้วมีสติรู้ทันอยู่ที่ใจของเราเอง จนกระทั่งใจมันวางนิมิต ไม่มีวิตกถึงนิมิต ไม่มีวิจารถึงนิมิต ไม่เคล้าไม่เคลีย ไม่นึกถึง ไม่ยกขึ้นมา จะมีภาวะแห่งความรู้ “ ตัวผู้รู้ ” จะเด่นขึ้นมาเรียกว่า “ เอโกทิภาวะ ” คือสมาธิที่มีใจตั้งมั่นขึ้นมาเป็นหนึ่ง ไม่ตรึกตรองในอารมณ์ เวลาเราออกจากสมาธิแล้ว ตัวเอโกทิภาวะยังอยู่ จะประคองรักษาจิตเอาไว้เองโดยที่เราไม่ต้องรักษา จิตจะเป็นผู้รู้ขึ้นมา แล้วจะเห็นเลยว่าร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู นี่คือวิธีทำเต็มรูปแบบ คนรุ่นนี้ทำยาก วันหนึ่งๆ มีแต่ความฟุ้งซ่าน ก็ต้องทำอีกแบบหนึ่ง บางคนทำฌานไม่ได้ แต่อยากให้มีจิตที่ตั้งมั่นเป็น “ ผู้รู้ ” ก็ให้นั่งหายใจไป หรือนั่งดูท้องพองยุบไป ขยับมือทำจังหวะก็ได้ แล้วค่อยๆ ดูไป ร่างกายมันเคลื่อนไหว มีใจเป็นคนดู หรือให้รู้อิริยาบถ ๔ ให้เห็นเลยว่าร่างกายมันมีใจเป็นคนรู้ ร่างกายมันเดินมีใจเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจออก หายใจเข้า มีใจเป็นคนรู้ไปเรื่อย คอยรู้สึก รู้ไปรู้ไปมันจะแยกกายกับใจออกจากกัน มีตัว “ ผู้รู้ ” ขึ้นมา ถ้าหัดรู้ด้วยวิธีนี้จะแยกได้ไม่นาน อีกพวกหนึ่ง ถ้าฝึกให้มีจิต “ ผู้รู้ ” ไม่ได้ ก็ให้หัดเจริญสติในชีวิตประจำวันนี้แหละ เวลาจิตไหลไปหลงไปแล้วรู้ ถึงรู้จุดหนึ่ง ก็เห็นเหมือนกันว่าร่างกายก็แยกจากจิตได้ ถ้าฝึกแบบไม่มีตัว “ ผู้รู้ ” ให้หัดรู้สึกๆ ไปเรื่อยๆ แล้วมันไประลึกได้เองเวลาใจมันตั้งมั่นขึ้นมาโดยไม่มีเจตนาจะตั้งมั่น ทำไมใจถึงตั้งมั่น ก็เพราะสติไปรู้ทันนิวรณ์ขึ้นมา จิตจะตั้งมั่น แต่ตั้งแวบเดียว นี่เราฝึกอย่างนี้ก็ได้ การรู้ทันนิวรณ์ก็คือ เมื่อจิตมีกามฉันท์ (พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย อารมณ์ทางใจ) จิตพยายามก็รู้ จิตสงสัยก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ไปเรื่อย เมื่อไรนิวรณ์เกิดขึ้นแล้วสติไปรู้ นิวรณ์จะดับ เพราะนิวรณ์เป็นกิเลสเกิดร่วมกับสติไม่ได้ พอนิวรณ์ดับ จิตก็มีสมาธิขึ้นมาเอง เพราะศัตรูของสมาธิก็คือนิวรณ์นั่นแหละ เมื่อใจของเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมาได้ เราจะถอดถอนตัวเองออกจากตัวเอง มันเหมือนมีอีกคนหนึ่งเป็นคนดูขึ้นมา ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตใจเป็นของถูกรู้ถูกดู ความสุข ความทุกข์ กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย เป็นของถูกรู้ถูกดู กระทั่งร่างกายก็เป็นของถูกรู้ถูกดู สิ่งใดที่เราเห็นได้ก็ไม่ใช่เราใช่ไหม มันเป็นของที่จิตไปรู้เข้า นี่เราจะค่อยๆ แยกขันธ์คือกายกับใจออกไปนะ การเจริญปัญญาเริ่มต้นด้วยการแยกขันธ์ออกไป พอเรารู้สึกตัวเป็นแล้ว เราจะเห็นสิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี่กระจายออกเป็นกองๆ เรียกว่ากระจายออกไปเป็นขันธ์ๆ แต่ละส่วนๆ ที่กระจายออกไปนั้นไม่มีตัวเรา แต่ถ้าขันธ์ทั้งหลายมารวมตัวอยู่ด้วยกัน เราจะเกิดความสำคัญมั่นหมายขึ้นมาว่านี่เป็นตัวเรา ถ้ามีตัวเราก็มีเราแก่ เราเจ็บ เราตาย มีเราสมหวัง มีเราผิดหวัง มีเราพลัดพรากจากสิ่งที่รัก มีเราไปเจอสิ่งที่ไม่รัก มันก็มีความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าเห็นความจริงว่าตัวเราไม่มี คราวนี้ไม่มีใครแก่ใครเจ็บใครตาย ร่างกายมันแก่ ร่างกายมันเจ็บ ร่างกายมันตาย ไม่ใช่เราแก่ ไม่ใช่เราเจ็บ ไม่ใช่เราตายอีกต่อไปแล้ว ส่วนจิตใจก็เกิดดับตลอดเวลา เดี๋ยวคิดดีเดี๋ยวคิดร้าย เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวโลภเดี๋ยวโกรธเดี๋ยวหลง เดี๋ยววิ่งไปที่ตา เดี๋ยววิ่งไปที่หู เดี๋ยววิ่งไปคิด ทำงานของเขาเอง เขาเกิดดับตลอดเวลา เขาไม่ใช่ตัวเรา นี่ดูอย่างนี้นะ ดูลงในกายเห็นกายไม่ใช่เรา ดูลงไปที่จิตใจเห็นจิตใจไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มีหรอก แต่ละอัน แต่ละขันธ์นี่ พอขันธ์กระจายตัวออกไปแล้ว จะเห็นว่าขันธ์แต่ละขันธ์ไม่ใช่เราแล้ว ขันธ์ก็เป็นแค่ขันธ์เท่านั้นเอง ถ้าเราเจริญสติมากเข้าๆ จนจิตตื่น จะเห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู มันเป็นของที่จิตไปรู้เข้า มันแยกออกไปจากจิต กายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง จะเห็นเลยว่าร่างกายที่เคลื่อนไหวยืนเดินนั่งนอนนี่ เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นว่าเวทนาคือความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์รู้สึกเฉยๆ เป็นแค่สิ่งแปลกปลอมเข้ามา อยู่ห่างๆ มันไม่ใช่จิตด้วย แล้วมันก็ไม่ใช่กายด้วย ถ้ามีสติปัญญาแก่รอบกว่านี้จะเห็นเลยว่า จิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับไป จิตเกิดที่หูแล้วก็ดับไป จิตเกิดที่ใจไปคิดไปนึกแล้วก็ดับไป จิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นอกุศลเป็นจิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วก็ดับ จิตหดหู่เกิดขึ้นแล้วก็ดับ นี่จะเห็นอย่างนี้ การที่เห็นมันเกิดแล้วมันดับ มันเกิดแล้วมันดับ ขาดออกไปเป็นท่อนๆ ไม่ใช่จิตดวงเดียวตั้งแต่เกิดจนตาย แต่จะเห็นจิตขาดเป็นท่อนๆๆ นะ เป็นดวงๆ ไป เห็นอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อให้เห็นว่ามันไม่ใช่อันเดิม จิตที่รู้สึกตัวก็ดวงหนึ่ง จิตที่หลงไปคิดก็ดวงหนึ่ง จิตที่รู้สึกตัวก็ดวงหนึ่ง จิตที่เพ่งอยู่ก็ดวงหนึ่ง คนละดวงกัน ถ้าเราเห็นจิตขาดเป็นดวงๆ เรียกว่า สันตติขาด สันตติคือความสืบเนื่อง สันตตินี่แหละสร้างภาพลวงตาขึ้นมา ถ้าสันตติขาดเราก็จะเห็นของจริง ยกตัวอย่างเหมือนเราดูการ์ตูน เราเห็นว่าตัวการ์ตูนอย่างโดเรม่อน อิ๊คคิวซังมันเดินได้ใช่ไหม วิ่งได้กระโดดได้ ทำท่าโน้นทำท่านี้ได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมันคือรูปที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเลย แต่ละรูปแต่ละรูปมาต่อกัน รูปนี้เกิดแล้วก็ดับ จิตมันจำเอาไว้ อาศัยสัญญาใช่ไหม สัญญาที่หลวงพ่อว่ามันวิปลาสน่ะ อาศัยสัญญาจำรูป รูปแรกมันอยู่ตรงนี้ อีกรูปหนึ่งมันมาอยู่ตรงนี้ นี่อาศัยสัญญานะ มันจำได้ว่าแต่ก่อนอยู่ตรงนี้ แล้วเดี๋ยวนี้มาอยู่ตรงนี้ มันจะรู้สึกเหมือนมันเคลื่อนไหวได้ เราเห็นตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ฉันใด เราก็เห็นจิตวิ่งไปวิ่งมาได้ฉันนั้น นี่เป็นความหลงผิด นี่เป็นภาพลวงตาเท่านั้นเอง แท้จริงจิตก็เกิดดับ เกิดดับเหมือนการ์ตูนทีละรูป ทีละรูป นั่นเอง แต่ว่าสติปัญญาของคนทั่วไปซึ่งไม่เคยฝึกฝนไม่สามารถเห็นได้ ก็จะรู้สึกว่าจิตเที่ยง ถ้าเราสามารถเห็นว่าจิตเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไปเรื่อยๆ ไม่นาน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เราจะเห็นความจริงว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราที่แท้จริงไม่มี มันมีแต่ของเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ถ้าเมื่อไรวันใดเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานะ ทุกอย่างในโลกนี้จะไม่ใช่ตัวเราแล้ว ร่างกายมันไม่ใช่เราตั้งแต่เริ่มหัดเจริญสติแล้ว พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะเห็นเลยว่าร่างกายมันอยู่ต่างหากแล้ว เหลือแต่จิตอันเดียวนี่แหละรู้สึกว่าวิ่งไปวิ่งมา การเจริญสติจนเห็นจิตเกิดดับเกิดดับ เกิดที่ตาแล้วดับ เกิดที่หูแล้วดับ เกิดที่ใจแล้วดับ ก็คือสันตติขาด การที่สันตติขาดนี่แหละคือวิปัสสนาที่แท้จริง ถ้าสันตติยังไม่ขาดยังไม่ใช่วิปัสสนาที่แท้จริง เราต้องค่อยๆ ดูไป ฝึกไปเรื่อยๆ พอสันตติขาดแล้วจะสั่นสะเทือนขึ้นมาเลย บางคนรู้สึกกลัว บางคนรู้สึกเบื่อ บางคนรู้สึกโหวงๆ ตัวเราหายไปแล้ว โหวงๆ เวิ้งว้างหาที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ บางคนเบื่อจิบจิตจับใจเลย เบื่อสุขเบื่อทุกข์ เบื่อทุกอย่าง เบื่อสามี เบื่อภรรยา แต่เบื่ออย่างนี้ไม่ใช่เบื่อด้วยกิเลส มันเบื่อด้วยสติด้วยปัญญา เห็นทุกอย่างไม่มีสาระเลย ไม่มีตัวมีตนอะไร ใจมันจะเบื่อไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างเลย เบื่อสุขกับทุกข์เท่าๆ กัน เบื่อดีกับชั่วเท่าๆ กัน เบื่อหยาบกับละเอียดเท่าๆ กัน เบื่อภายในกับภายนอกเท่าๆ กัน จิตก็หมดแรงดิ้น ไม่ดิ้นรนค้นคว้า บางคนกลัว กลัวมากๆ เลยนะ พอภาวนามาจนเห็นว่าตัวเราไม่มี กลัวเพราะรู้สึกว่าตัวเราหายไปแล้ว ตกอกตกใจขึ้นมา เมื่อสภาวะอันนี้เกิดขึ้นแล้วให้มีสติรู้ทันเข้าไป สภาวะอันนี้ก็เช่นเดียวกับความโกรธความหลงที่เคยเห็นมานั่นเอง คือเกิดแล้วก็ดับเช่นเดียวกัน พอดับไปแล้วใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เราก็ดูกายดูใจของเราต่อไป จิตมันจะค่อยเข้าใจความเป็นจริงมากขึ้นๆ มันจะเห็นเลยว่าความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว โลภโกรธหลงก็ชั่วคราว ฟุ้งซ่านหดหู่ดีใจเสียใจทั้งหมดนี้ชั่วคราวหมดเลย จะเห็นว่าสิ่งใดเกิดแล้วก็ดับไป ทุกอย่างชั่วคราวหมดเลย พอจิตมันยอมรับความจริงว่าทุกอย่างเป็นของชั่วคราว จิตจะหมดแรงดิ้น จิตจะหมดการดิ้นรนค้นคว้าเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ หมดแรงดิ้นรนค้นคว้าที่จะหลีกหนีอารมณ์ที่ไม่พอใจ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางที่แท้จริง ความเป็นกลางเพราะปัญญานี่แหละเป็นความเป็นกลางที่สำคัญมาก ปัญญาตัวนี้เรียกว่า “ สังขารุเปกขาญาณ ” เห็นสุขกับทุกข์มันเท่ากัน นรกกับสวรรค์มันก็เท่ากัน ไม่กลัวนะ หมดความดิ้นรน จิตมันรู้ตื่นแล้วก็เป็นกลาง สักว่ารู้ สักว่าเห็น มันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าเทียมกัน สุขกับทุกข์เท่ากัน มีความสุขเกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ มีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ เมื่อสักว่า สักว่า แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะหมดการดิ้นรนของจิต หมดความปรุงแต่งของจิต จิตจะค่อยๆ ปรุงน้อยลงๆ ถึงจุดหนึ่งหยุดปั๊บลงไป ตรงหยุดปั๊บลงไปนี่จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิโดยสมาธิโดยอัตโนมัติเลย เมื่อรวมเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว ตรงนี้จะไม่คิดไม่นึกอะไรแล้ว จะเห็นสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) เกิดดับขึ้นภายใน ๒-๓ ขณะ ใจนี้สักว่ารู้สักว่าเห็นอย่างแท้จริง ไม่มีกระทั่งความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ สักนิดเดียวเลย ถัดจากนั้น จิตจะวางการรู้สภาวะทบทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ พอทวนกระแสเข้าถึงธาตุรู้แล้วอริยมรรคจะแหวกอาสวะกิเลสทั้งหลายหรือสังโยชน์ทั้งหลาย อาสวะที่ห่อหุ้มจิตอยู่ สังโยชน์ที่แทรกอยู่ในจิตจะถูกทำลายออกไป ตรงกระบวนการทำลายล้างนี่ ๑ ขณะเท่านั้น พอขาดสะบั้นลงแล้ว ตรงนี้เราจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ตรงนี้เป็นผลแล้ว เป็นโลกุตรผลนะ ตรงที่เกิดอริยมรรคเรียกว่าโลกุตตรเหตุ มรรคเป็นเหตุ ผลเป็นผล ตรงที่เห็นเป็นผลนี่จะเห็นไม่เท่ากัน พวกที่สติปัญญาแก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๓ ครั้ง ๓ ขณะ พวกที่ยังไม่แก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะ ถัดจากนั้นจิตจะถอยออกมากลับสู่โลกภายนอกนี้ พอกลับมาสู่โลกภายนอก มันจะทวนกลับเข้าไปพิจารณาใหม่ว่าเมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น มันจะรู้เลยว่ากิเลสตัวไหนหายไปแล้ว กิเลสตัวไหนยังเหลืออยู่ รู้ว่ายังมีงานต้องทำอีก แต่ถ้าตัดครั้งที่สี่เป็นพระอรหันต์นะ มันทวนวับเข้าไป มันจะเห็นนิพพานชัดเจนเลย ไม่มีกิเลสอะไรให้ต้องลดละอีกแล้ว มันไม่มีกิเลสเหลือ จะเห็นนิพพานล้วนๆ เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เราต้องเชื่อพ่อแม่ เราต้องรู้กายรู้ใจของเราไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราจะได้มรดกของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้หอบเอานิพพานแล้วหายไปไหน นิพพานยังอยู่เต็มโลกเต็มบริบูรณ์อยู่นี่แหละ คนมีบุญวาสนามีปัญญาแก่รอบ เจริญวิปัสสนาแก่รอบแล้วก็จะได้รับ นี่รางวัลสูงสุดของชีวิตอยู่ตรงนี้ ชีวิตที่เหลือเป็นชีวิตที่อิสระโปร่งเบา ปราศจากความอยาก ความยึดและความดิ้นรนปรุงแต่ง ไม่มีความทุกข์หรือสิ่งใดครอบงำจิตได้อีกแล้ว ๔ . การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เมื่อเรียนหลักการภาวนาเข้าใจแล้วก็ต้องลงมือปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เราอย่าไปวาดภาพการปฏิบัติธรรม การทำวิปัสสนา หรือการภาวนาว่าต้องไปนั่งหลับหูหลับตา ตัวที่สำคัญที่สุดเลยคือมีสติในชีวิตประจำวันนี่แหละ กิเลสเกิดขึ้นมาตอนไหนก็รู้มันไปตรงนั้น นั่นเรียกว่าภาวนาแล้ว ร่างกายเคลื่อนไหวแล้วรู้สึกอยู่ก็เรียกว่าภาวนาแล้ว จิตใจทำงานไปแล้ว เรารู้เท่าทันอยู่ก็เรียกว่าภาวนาแล้ว เวลาเราทำงานก็ขยันทำงานไป ทำงานแล้วยังมีเวลาเหลือ เราก็คอยรู้กายรู้ใจของเราไป หรือเราทำงานแล้วเกิดเครียดขึ้นมา แวบขึ้นมา เรารู้ทันความเครียด นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว เราทำงาน เราจะรีบให้เสร็จเร็วๆ คนโทรศัพท์มากวน เราโมโหก็รู้ว่าโมโห นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว เห็นไหม ทำงานไป ถึงเวลาพักจะไปกินข้าว ดีใจ รู้ว่าดีใจ นี่ก็ปฏิบัติแล้ว เดินไปกินข้าว ลงมาจากตึก เดินไป เห็นร่างกายเดินอยู่ ใจเราเป็นแค่คนดู นี่ก็ปฏิบัติแล้ว ไปถึงร้านอาหาร ดูอาหารนั่นก็น่ากิน นี่ก็น่ากิน วันนี้หิวเป็นพิเศษ อะไรๆ น่ากินไปหมดเลย ตะกละ ลังเลๆ เห็นเลย ใจกำลังลังเลว่าจะกินอะไรดี บางวันดูจนหัวแถวท้ายแถวหมดทุกร้านแล้ว ไม่มีอะไรน่ากินเลย ชักหงุดหงิด เอ๊ แม่ค้าแถวนี้ทำไมไม่มีพัฒนาการ ขาด innovation (นวัตกรรม) ห่วยแตก โหลยโท่ย แล้วแต่จะด่านะ ถ้าหิวมากก็ด่ามากหน่อยเพราะขาดสติ เราก็รู้ทันใจของเราไปเรื่อย นี่แหละก็ปฏิบัติแล้วใช่ไหม เราจะไปห้องน้ำ เกิดฉุกเฉิน จะต้องรีบเข้าห้องน้ำด่วน พุ่งพรวดเข้าไปถึงห้องน้ำ ห้องน้ำเต็มทุกห้องเลย วิ่งไปอีกที่หนึ่ง อ้าวก็เต็มอีก ใจเราทุรนทุรายเต็มที่แล้ว เพราะว่าศัตรูมารอที่ประตูถ้ำแล้ว สู้มันไม่ไหวแล้ว นี่ทุรนทุรายขึ้นมา กลุ้มอกกลุ้มใจขึ้นมา รู้ทันมันเข้าไป ถึงจะปวดท้อง แต่ใจไม่ปวดไปด้วยหรอก นี่เขาเรียกว่าภาวนา นี่พอเราคอยรู้ทันใจของเราไปเรื่อย แต่ละขณะๆ นี่แหละคือการปฏิบัติ รู้ไปอย่างนี้นะ ไม่นานเราก็จะเห็นความจริง จิตใจของเราไม่คงที่หรอก จิตใจของเราเดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ เดี๋ยวก็ดีขึ้นมา เดี๋ยวก็มีความร่าเริงเบิกบานในธรรมะขึ้นมา เดี๋ยวก็เป็นอธรรม เห็นไหม เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง เราไม่ได้ไปฝึกเป็นยอดมนุษย์ เราฝึกเป็นคนธรรมดานี่แหละ ฝึกอยู่ในชีวิตธรรมดาจนเห็นความจริงว่า ธรรมดาของกายนี้เป็นอย่างนี้ ธรรมดาของใจเป็นอย่างนี้ พอเห็นธรรมดาแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับกายกับใจ ไม่เดือดร้อนแล้ว จะแก่ก็ธรรมดา จะเจ็บก็ธรรมดา จะตายก็ธรรมดา จะพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็ธรรมดา เจอสิ่งที่ไม่รักก็ธรรมดา จะสมหวัง จะผิดหวัง มันเรื่องธรรมดาไปหมด เพราะกายนี้ใจนี้เราเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยอะไรไม่ได้จริงหรอก ต่อไปอะไรเกิดขึ้นในชีวิต มันจะรู้สึกเหมือนกับเป็นเรื่องที่เกิดกับคนอื่น แล้วถ้าไม่มีตัวเรา ใครเป็นผู้ทำกรรม ก็ขันธ์น่ะสิมันทำกรรม ขันธ์มันทำของมันเอง ใครเป็นคนรับผลกรรม ขันธ์น่ะสิมันรับผลกรรม ไม่ใช่เรารับผลกรรม มีการกระทำกรรม แต่ไม่มีเราผู้กระทำกรรม มีผู้รับผลกรรม แต่ไม่มีเราผู้รับผลกรรม ถ้าสติปัญญาแก่รอบนะ เห็นขันธ์มันทำ เราไม่ได้ทำ คราวนี้สิ่งที่ขันธ์ทำจะกลายเป็นกิริยาล้วนๆ เลย เราไม่ได้ทำเสียแล้ว นี่ค่อยเรียนนะ เรียนลงไปจนเห็นเลยว่าตัวเราไม่มี ถ้าตัวเราไม่มีแล้วใครจะทุกข์ ตัวเราไม่มีแล้วใครจะทุกข์ก็เรื่องของมันสิ ถามว่าใครทุกข์ ก็ขันธ์มันทุกข์ กายมันทุกข์ใจมันทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ เราพ้นทุกข์ได้เพราะการรู้ที่ถูกต้อง คือพ้นได้ด้วยปัญญา ส่วนคุณธรรมอื่นๆ เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ศีล เป็นเพียงตัวสนับสนุนเกื้อกูลเท่านั้น ในสังสารวัฏที่ยาวนานนี่ การที่จะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบและได้ฟังธรรมเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเลย วันเวลาที่มีพระพุทธเจ้า มีศาสนาพุทธนี้สั้นมาก โอกาสที่ได้เรียนธรรมะมีไม่มาก มีน้อย ค่อยรู้สึก รู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจไป อย่าให้เสียโอกาสไปวันหนึ่งๆ โดยเปล่าประโยชน์
จิตรวมเข้าถึงจิตสุดท้าย พากเพียรแทบล้มแทบตายก็พบว่าดีก็ชั่วคราว สุขก็ชั่วคราว สงบก็ชั่วคราวจิตผู้รู้ก็ชั่วคราว อะไรๆก็ชั่วคราวหมดเลย ไม่เห็นมีตรงไหนเลยที่มันจะถาวรได้จิตยอมรับความจริงตรงนี้ได้ จิตก็หมดแรงดิ้นนะจะดิ้นไปทำไมล่ะ ดิ้นหาดี หาสุข หาสงบ ดิ้นยังไงก็ไม่มีมีก็มีชั่วคราวเดี๋ยวก็หายไปอีก นี่จิตจะหยุดแรงดิ้น หมดแรงดิ้นจิตที่แรงดิ้นเพราะว่าดิ้นมาสุดขีดแล้วนะ สติก็สุดขีดแล้ว สมาธิก็สุดขีดแล้ว ปัญญาก็สุดขีดแล้ว สติสุดขีดก็คือ ไม่เจตนาจะรู้ ก็รู้..รู้..รู้ทั้งวันเลย รู้ทั้งคืนด้วย สมาธิก็จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้อยู่อย่างนี้ ไม่เป็นผู้หลงนะ อย่างมากก็หลงแว๊บๆ ก็กลับมาเป็นผู้รู้อย่างรวดเร็ว จะทำสมาธิให้มากกว่านี้ก็ไม่รู้จะทำยังไง จะทำสติให้มากกว่านี้ก็ไม่รู้จะทำยังไง จะเจริญปัญญาให้มากกว่านี้ก็ไม่รู้จะทำยังไงนะ มันจนมุมไปหมดเลย คือ สติก็ทำมาจนไม่รู้จะทำยังไงแล้ว สมาธิก็ทำจนไม่รู้จะทำยังไง ปัญญาก็ไม่รู้จะพลิกแพลงไปพิจารณาอะไรอีกต่อไปแล้ว เนี่ยจิตถ้าภาวนามาสุดขีดนะมันจะเข้ามาสู่ภาวะแห่งความจนมุม มันจะหยุดแรงดิ้น มันจะหมดความอยากว่าทำยังไงจะพ้นทุกข์ได้ ทำยังไงจะสุขถาวร ทำยังไงจะดีถาวร ทำยังไงจะสงบถาวร เพราะมันดิ้นมาจนสุดฤทธิ์สุดเดชแล้ว ก็ไม่รู้จะทำยังไง ทำไม่ได้สักที พอจิตหมดแรงดิ้นนะ จิตก็สักว่ารู้ว่าเห็น ตรงนี้แหละสักว่ารู้ว่าเห็นขึ้นมา อย่างที่พวกเราพูดว่าสักว่ารู้ว่าเห็น ไม่จริงหรอก ไม่ยอมสักว่ารู้ว่าเห็นหรอก มีแต่ว่าทำยังไงจะดีกว่านี้อีก ทำยังไงดี ทำยังไงจะดี ทำยังไงจะถูก รู้สึกไหมแต่ละวัน นักปฏิบัติตื่นนอนก็คิดวันนี้จะทำยังไงดี คิดอย่างนี้แหละนะ จนกระทั่งมันสุดสติสุดปัญญา ทำยังไงมันก็ดีกว่านี้ไปไม่ได้แล้ว ยอมรับสภาพมัน จิตหมดแรงดิ้น จิตหมดความปรุงแต่ง หมดแรงดิ้นรน พอจิตไม่มีความปรุงแต่ง ไม่มีความดิ้นรน อยู่ตรงนี้ช่วงหนึ่งนะ พอจิตหมดแรงดิ้นก็ไม่ปรุง อะไรเกิดขึ้นก็แค่รู้ อะไรเกิดขึ้นก็แค่รู้ ไม่ปรุงต่อ จิตก็เรียกว่าจิตเข้าถึงความเป็นอนุโลม อนุโลมญาณ หมายถึงว่าอะไรเกิดขึ้นก็คล้อยตามมันไป คล้อยตามนี่ไม่ใชหลงตามมันไป ก็แค่เห็นนะ เออ ก็มีขึ้นมา เออ หายไป ก็แค่นั้นเองนะ ไม่ต่อต้าน ไม่หลงตามไป ยอมรับ มันมาก็มา มันไปก็ไป นี่จิตมีอุเบกขาอย่างแท้จริงเลยนะ คล้อยตามทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เห็นแต่ความจริง ทุกอย่างมาแล้วก็ไปมาแล้วก็ไป นี่จิตเห็นอยู่แค่นี้เอง นี่ถ้าจิต สติ สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา บุญบารมีอะไรแก่รอบแล้วนะ จิตหยุดความปรุงแต่งแล้วมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ รวมเอง ทำไมมันรวมเข้าอัปปนาสมาธิได้เอง เพราะว่าจิตไม่ไหลไปตามกาม ฌานมันจะเกิดเอง โดยธรรมชาติของจิตนี่ต้องเวียนอยู่ในภพ ภพที่จิตเวียนอยู่ได้มี ๓ ภพเท่านั้น หนึ่ง กามาวจรภพ ภพที่เวียนไปในกาม คือหาอารมณ์เพลิดเพลินไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพลินไปเรื่อย พวกเราจิตหมุนอยู่ติ้วๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย นึกออกไหม อันนี้แหละเรียกว่ากามภพ เรียกให้เต็มยศนะเรียก กามาวจรภูมิ ใจก็ไปเวียนอย่างนี้ ถ้าหลุดออกจากกามภพนะ ก็เข้าไป รูปภพ หรือว่า รูปภูมิ ก็คือเข้าไปสงบอยู่กับการรู้รูป เช่นรู้ลมหายใจ แล้วจิตไม่เอาแล้วโลกข้างนอก อารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่เห็นจะมีสาระอะไร จิตมารวมลงที่อารมณ์ภายในอันเดียว อาจจะมารู้ลมหายใจอยู่อันเดียว รู้ร่างกายอยู่อันเดียว มาเพ่งรูปอยู่อันเดียว เพ่งดวงกสิณ ดวงนิมิตอยู่อันเดียว จิตเพ่งรูปอยู่เรียกว่ารูปภูมิ ถ้าจิตไม่อยู่ในกามภูมิ ไม่อยู่ในรูปภูมิ จิตก็ต้องเข้า อรูปภูมิ ทิ้งรูปไปแล้วไปอยู่กับนามธรรม เช่นไปอยู่กับความว่าง จิตอยู่ในความว่าง อยู่กับความไม่มีอะไรเลยเพราะงั้นที่เค้าสอนภาวนา บางคนสอนภาวนาให้ไปอยู่ในความว่าง อันนั้นเพี้ยนนะ ไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า มันก็เป็นอรูปภูมิ เป็นภูมิอีกภูมิหนึ่ง เป็นภพอีกภพหนึ่งเท่านั้นเอง งั้นถ้าสติปัญญาเราพอนะ เรารู้เลยจิตมันแส่ส่ายออกทางตาหูจมูกลิ้นกายมีแต่ทุกข์ จิตไม่แส่ส่าย พอจิตไม่แส่ส่ายจิตก็หลุดออกจากกามภูมิ เข้ารูปภูมิหรืออรูปภูมิ เข้าเองเลย เพราะงั้นพวกเราหัดเจริญสติไปเรื่อย พอศีลสมาธิปัญญา สติสมาธิปัญญาแก่รอบนะ จิตจะหมดความหลงไหลรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งหลายมาดึงดูดจิตไหลไปไม่ได้แล้ว อย่างน้อยก็ชั่วขณะ ชั่วขณะเท่านั้นแหละ ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ เพราะงั้นถึงเราจะเจริญสติเจริญปัญญาโดยเข้าฌานไม่เป็น ถึงนาทีสุดท้ายที่จะเกิดอริยมรรคอริยผลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรคเนี่ย จิตจะเข้าฌานของเค้าเอง ยกเว้นคนซึ่งเดินปัญญาอยู่ในฌาน เวลาที่จะเกิดอริยมรรคไม่ต้องถอยออกมาอยู่ในโลกก่อนนะ ไม่ต้องกลับมาอยู่กามภูมิก่อนนะ จิตเค้าจะตัดอยู่ข้างในได้เลย นี่เป็นพวกหนึ่ง แต่รวมความก็คืออริยมรรคไม่เกิดอยู่ในจิตที่อยู่ในกามอย่างพวกเรา อริยมรรคจะต้องเกิดอยู่ในรูปภูมิหรืออรูปภูมินะ จะเกิดอยู่ตรงนั้น ไปล้างกันตรงนั้น จิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะ ไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เอง เพราะมันไม่แส่ส่ายออกไปที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ไม่แส่ส่ายไปในความคิด ก็หยุดลงที่จิตดวงเดียว สติหยั่งลงที่จิต จิตตั้งมั่นอยู่ที่จิต เพราะงั้นสมาธินี่เต็มสมบูรณ์แล้ว ตั้งมั่นอยู่ที่จิต สติสมบูรณ์แล้ว ระลึกอยู่ที่จิต ปัญญาสมบูรณ์แล้ว เห็นความเป็นจริงทุกสิ่งที่อย่างที่เคลื่อนไหวอยู่ในจิตนะ ตรงนี้แหละจิตจะไหวตัวขึ้นมาสองสามขณะ คือปรุงขึ้นมานะแต่ไม่รู้ว่าคิดอะไร ไม่รู้ว่าปรุงอะไร มีความปรุงแต่งเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ว่าปรุงอะไร จะเห็นแต่ว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดับไป จะเห็นอย่างนี้เอง เห็นเอง ถัดจากนั้นนะจิตจะรู้เลยมันไม่มีสาระอะไร จิตมันจืดนะ มันไม่เอาอีกแล้ว ก็แค่เห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้น พอเห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้นสองสามขณะ ความเห็นกลางอย่างแท้จริงเลย รู้อย่างเป็นกลางอย่างแท้จริงไม่ปรุงต่อนะ จิตจะวาง พอมันวางแล้วมันจะทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ วางจิตแล้วทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ ธาตุรู้ก็จิตนั่นแหละ มันเป็นจิตอีกอย่างหนึ่ง พอจิตดวงเก่ามันดับไป จิตที่อยู่ในภพภูมิต่างๆมันดับไป มันทวนกระแสเข้าหาจิตที่เหนือภพเหนือภูมิ ทวนกระแสเข้ามา ขณะที่มันปล่อยวางจิตดวงเดิมนะ แล้วก็ทวนเข้ามาแต่ยังไม่ถึงธาตุรู้นะ คาบลูกคาบดอก ไม่ได้เกาะขันธ์แล้วนะ แต่ก็ยังเข้ามาไม่ถึงตัวธาตุรู้ ไม่ถึงอมตะธาตุอมตะธรรม ไม่ถึงพระนิพพาน ธาตุรู้ไม่ใช่พระนิพพานนะ แต่ธาตุรู้ไปเห็นพระนิพพาน ต้องแยกให้ออก มันยังทวนไม่ถึงธาตุรู้ ไม่ใช่ปุถุชน ไม่ใช่พระอริยะ ทำไมไม่ใช่ปุถุชน เพราะมันปล่อยขันธ์แล้ว ขันธ์สุดท้ายที่มันปล่อยก็คือจิต ไม่ใช่พระอริยะ เพราะยังไม่เข้ามาถึงธาตุรู้ ไม่เข้าถึงพระนิพพาน ตัวธาตุรู้นั่นแหละเป็นตัวไปเห็นพระนิพพาน ตรงนี้นะเรียกว่าโคตรภูญาณ ญาณข้ามโคตร มีปัญญาข้ามโคตร ข้ามโคตรจากโคตรไหนมาสู่โคตรไหน? จากโคตรของปุถุชนมาสู่โคตรของอริยชน เพราะงั้นบรรลุมรรคผลแล้วเปลี่ยนโคตรนะ ข้ามจากสกุลของปุถุชน ข้ามมาสู่อริยวงศ์อริยโคตร เรียกญาณข้ามโคตร ไม่ใช่ปุถุชนนะ กำลังข้ามอยู่ ไม่ใช่พระอริยะ มีอยู่ขณะจิตเดียวแหละที่คาบลูกคาบดอกประหลาดอยู่อย่างนี้ ข้ามมา ทวนเข้ามาถึงจิตแท้ ถึงธาตุรู้แท้ๆ ธรรมธาตุ ตัวนี้อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น อาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตอยู่ถูกอริยมรรคแหวกออกทำลายออก ก็ล้างกิเลส ล้างในพริบตาเดียว ในขณะเดียว วับเดียวเลย ขาดเลย มันคล้ายๆเปิดสวิตซ์ไฟ ปั๊บ สว่างวุ๊บเดียวความมืดหายไปเลย ในพริบตานั้นเลย จากนั้นนะจะเห็นพระนิพพานอีกสองสามขณะ เห็นไม่เท่ากันหรอก บางคนเห็นสองขณะ บางคนเห็นสามขณะถ้าพวกอินทรีย์กล้ามากๆก็เห็นสามขณะ พวกอินทรีย์ยังไม่กล้ามากก็เห็นสองขณะนะ งั้นพระอริยะในภูมิธรรมอันเดียวกันระดับเดียวกัน ความรู้ความเข้าใจไม่เท่ากัน ความแตกฉานอะไรนี้ไม่เท่ากันเห็นพระนิพพานแล้วก็รู้ว่านิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตา นิพพานไม่เคยหายไปไหน อยู่ต่อหน้าต่อตานี่แหละ แต่โง่เองไม่เห็น ทำไมไม่เห็น? มัวแต่เห็นแต่กาม มัวแต่เห็นรูปภพ มัวแต่เห็นอรูปภพ จิตไม่รู้จักปล่อย ตรงที่เค้าปล่อยน่ะเค้าข้าม เค้าทิ้งแล้ว ตรงโคตรภูญาณที่จิตข้ามโคตร ข้ามจากปุถุชนมาเป็นพระอริยะ ข้ามตรงนี้มันทิ้งหมดเลยนะ มันทิ้งกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ ทิ้งหมดเลย ข้ามมาสู่อริยภูมิ โลกุตรภูมิ ข้ามเอง พวกเราก็มีหน้าที่ภาวนาให้มันพอเท่านั้นแหละนะ ถ้ามันพอเมื่อไหร่มันก็ข้ามโคตรไป เปลี่ยนสกุลไม่ใช่นามสกุลเดิม โดยสมมุติบัญญัติก็เป็นนามสกุลเดิม โดยปรมัตถ์แท้ๆก็ไม่ใช่แล้ว ก็มาเป็นลูกพระพุทธเจ้า ..งั้นเราภาวนานะ ค่อยหัดไปเรื่อย ถึงวันหนึ่งเราก็คงได้รับผลประโยชน์จากการที่เราอดทนภาวนา
การไม่หวนกลับจิตของเรามันทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่เคยหยุดพักเลย ปรุงแต่ง คิดนึกปรุงแต่ง ปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงสุข ปรุงทุกข์ มันปรุงทั้งวันทั้งคืน ทันทีที่จิตปรุงแต่งอะไรขึ้นมา จิตก็มีความทุกข์ขึ้นมาทุกที ทะเลภพนี้เป็นทะเลที่ไม่ใช่หมุนวนแล้ว มีลักษณะอีกชนิดหนึ่ง เป็นทะเลที่น้ำเชี่ยว มันพัดพาเราจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่งตลอดเวลาเลย จิตเราจะเปลี่ยนภพตลอดเวลานะ จากภพอันนึงไปสู่ภพอีกอันนึง จากภพหนึ่งไปสู่ภพอีกอันหนึ่ง เราจะเวียนตายเวียนเกิดไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายใดๆในสังสารวัฏนี้ แม้กระทั่งในชีวิตเดียวของเราขณะนี้ จิตของเราก็เปลี่ยนภพย่อยๆ อยู่ในใจตลอดเวลา เดี๋ยวเราก็เป็นคนดี เดี๋ยวเราก็เป็นคนร้าย เดี๋ยวเราเป็นนักปฏิบัติ เดี๋ยวเราเป็นจอมเจ้าเล่ห์แสนกล เดี๋ยวเราเป็นคนเมตตา เดี๋ยวเราเป็นคนขี้โมโห จิตใจเราเปลี่ยนภพอยู่ตลอดเวลา เวลาเราโมโหทีนะ เราก็เป็นสัตว์นรกที เพราะมันเป็นโทสะ เวลาเราโลภขึ้นมาทีนะ เราก็เป็นเปรตทีนึง เวลาเรายึดถือในความคิดความเห็น เราก็ไปอยู่ในภพของอสุรกายทีนึง เวลาเราใจลอยไป เผลอไป เหม่อไป เราไปภพของเดรัจฉาน ถ้าเราเป็นคนมีศีลมีธรรมนะ เราก็ไปภพมนุษย์ ถ้าเราเป็นคนที่มีหิริโอตตัปปะ ละอายบาป กลัวผลของบาป เราก็ไปภพของเทวดา ถ้าเรามีใจสงบ มีใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว เราก็ไปภพของพรหม จิตใจของเราหมุนเวียนอยู่ตามภพต่างๆ ภพทั้งหมดเป็นทุกข์ทั้งหมดนะ ไม่มีนะภพที่ไม่ทุกข์ ถึงเป็นพรหมเป็นเทวดาก็มีความทุกข์ ทุกข์แบบเทวดา ทุกข์แบบพรหม ไม่ว่าภพอะไรก็ลำบากหมดเลย มีแต่ความทุกข์ล้วนๆ เลย นี่ถ้าสติปัญญาของเราแก่กล้าไม่พอ เราจะมองไม่ออก การจะข้ามทะเลน้ำเชี่ยวอันนี้ได้ มีทางเดียว ต้องละอวิชชาได้ เพราะฉะนั้นการข้ามภพ กับการละอวิชชานี้จะควบกันไป เป็นเรื่องของพระอรหันต์ที่จะเห็น ทะเลของอวิชชานี้ไม่เหมือนทะเลของทิฏฐิที่เป็นทะเลกว้างไม่มีขอบมีเขต หาฝั่งไม่เจอ ไม่เหมือนทะเลกามที่เป็นทะเลน้ำวน ไม่เหมือนทะเลภพที่เป็นทะเลน้ำเชี่ยว ทะเลของอวิชชาเป็นทะเลน้ำตื้น คลื่นลมสงบ แต่หมอกลง เป็นทะเลหมอกนะ เพราะฉะนั้นเราว่ายน้ำมาจนถึงริมฝั่งแล้ว ขึ้นฝั่งไม่ได้หรอก ว่ายไปว่ายมานะมันหลุดออกไปทะเลลึกได้อีกนะ เพราะฉะนั้นอย่างปุถุชนหลายคนนะ ที่คิดจะสู้อวิชชา ไม่ได้กินหรอก แป๊ปเดียวก็กลับไปมีทิฏฐิอย่างเดิม อย่างถ้าเราไม่ใช่พระอนาคานะ จะมาริหาญสู้อวิชชา มวยคนละชั้นนะ แป๊ปเดียวก็หลงกามไปอีกแล้ว หลงในกาม หลงในทิฏฐิอีกแล้ว ถ้าไม่ใช่พระอนาคานะ ทีนี้เราจะละอวิชชา ทะเลน้ำตื้นหรือทะเลหมอกนี้ได้ต้องมีวิชชา คือรู้แจ้งอริยสัจจ์ก่อน การรู้แจ้งอริยสัจจ์นี้ทำให้เราขึ้นฝั่งได้ ถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ได้นะ จะขึ้นฝั่งไม่ได้ พระไตรปิฎกสอนไว้ว่า ตราบใดที่ไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ยังข้ามภพไม่ได้ ยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ เพราะฉะนั้นการเรียนธรรมะนะ ต้องรู้แจ้งอริยสัจจ์ถึงจะข้ามภพข้ามชาติได้ ข้ามทุกข์ได้ ถ้ารู้แจ้งอริยสัจจ์ซะอย่างเดียว ทิฏฐิก็ไม่มี กามก็ไม่มีนะ ภพก็ไม่มี อวิชชาก็ไม่มี การรู้แจ้งอริยสัจจ์ตัวที่ ๑ เรียกว่า ทุกขสัจจ์ ทุกขสัจจ์คืออะไร คือกายกับใจนี้เอง เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติ ตั้งแต่เบื้องต้นเลย จนสุดท้ายมีแต่การรู้กายรู้ใจตนเอง รู้ลงมาเรื่อยๆ กายของเราเป็นยังไง รู้สึกไว้ จิตใจของเราเป็นยังไง คอยรู้สึกไว้ อย่าลืมกาย อย่าลืมใจ ถ้าลืมกายลืมใจเรียกว่าขาดสติ แต่ก็ห้ามเพ่งกายเพ่งใจ ให้รู้กายรู้ใจ ไม่ได้ให้เพ่งกายเพ่งใจ ไม่ได้ให้กำหนดกายกำหนดใจ คนละเรื่องเลยนะ รุ่นหลังๆ นี้ชอบกำหนดนะ กำหนดเป็นสมถะ กำหนดลงไป จิตจะไปแน่วไปนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว บังคับให้อยู่ในอารมณ์อันเดียว ถ้าบังคับไม่เป็น หรือบังคับแบบฝืนใจ ก็จะหนักๆขึ้นมา แน่นๆ แข็งๆ ทื่อๆ เครียดๆ ขึ้นมา ถ้าน้อมใจเก่ง จะสงบ จะสบาย จะโปร่ง โล่ง เบานะ จะเป็นสมาธิไปอีกแบบนึง แต่ส่วนใหญ่ที่พวกเราทำจะเป็นมิจฉาสมาธิแท้ๆ เลย เป็นสมาธิที่หนักๆ แข็งๆ ตัวก็เกร็งๆ กายก็เกร็งๆ ใจก็เกร็งๆ ใช้ไม่ได้จริงนะ เราคอยรู้สึกนะ คอยรู้ รู้ลงมาในกาย รู้ลงมาในใจ ร่างกายของเราเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจของเราเคลื่อนไหวเราคอยรู้สึก แต่อย่าไปเพ่งให้นิ่ง ไม่ใช่คอยบังคับกายให้นิ่ง จะเดินก็เดินไม่เหมือนคนธรรมดา คล้ายๆ ผีดิบนะ เดินต้องตัวทื่อๆ อย่างนั้นใช้ไม่ได้นะ จิตใจก็อย่าไปข่มให้มันซึมกะทือซื่อบื้ออยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน เราต้องการเห็นความจริงของกายของใจ เพราะฉะนั้นอย่าไปบังคับมัน แต่คอยดูมันไป แต่ถ้ามันจะเอากายเอาใจไปทำผิดศีลห้าไม่เอานะ ตรงนี้ต้องฝืนใจ ศีลห้านี้มาตรฐานปราการขั้นสุดท้ายแล้ว มาตรฐานของเราเลย ถ้าขาดศีลห้าเราไม่ใช่มนุษย์แล้ว ต้องระมัดระวังนะ ขนาดพระโพธิสัตว์ยังตกนรกได้เลย นับประสาอะไรกับพวกเราจะไม่ตก ยังเชื่อใจตัวเองไม่ได้นะ อย่าประมาทกิเลสนะ
ธรรมที่ไม่เนิ่นช้าสำหรับบุคคลที่ตื่นอยู่ตลอดเวลา หมั่นศึกษาไตรสิกขาทั้งกลางวันและกลางคืน น้อมจิตเข้าหานิพพาน อาสวะทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี ... จิตสงบ พอจิตสงบก็ติดนิ่งติดเฉย ติดนิ่งติดเฉยเนี่ย จิตจะไม่มีทางเจริญปัญญาได้เลย ท่านก็บอกอุบายแก้ให้ ให้จิตไม่ติดเฉย นี่หลวงปู่มั่นแต่งกลอนไว้ ขันธะวิมุติสมังคี บอกว่า ระวังอย่าให้จิตไปติดเฉย วิธีที่จะไม่ให้ติด จิตไปติดเฉย ก็ให้จิตออกมาทำงาน ให้ทำงาน จิตทำงานอะไร จิตชอบทำงานคิด ให้มันคิด คิดเรื่องอะไรเป็นเรื่องที่ปลอดภัยสำหรับพระหนุ่มเณรน้อย คิดพิจารณากายตัวเองนี่แหละ ปลอดภัยสำหรับพระหนุ่มเณรน้อย ไปคิดเรื่องอื่นไม่ปลอดภัย หรือคิดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คิดถึงธรรมะ คิดถึงไตรลักษณ์ อันนี้เป็นคิดถึงธรรมะ คิดถึงครูบาอาจารย์ คิดถึงเทวดา เทวดาก็คือ อย่างคนดีๆ อย่างพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวเรานี้ เป็นเทวดา เทวดาในภาคมนุษย์ เรียกว่า สมมุติเทพ คิดถึงท่านแล้วจิตใจเราอบอุ่น นุ่มนวล มีความสุข หรือให้คิดถึงร่างกาย เป็นชิ้นนะ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก อันนี้เรียกว่า กายคตาสติ เรื่องที่ท่านให้คิดนั้นมีอยู่สิบเรื่อง เรียกว่าอนุสติ ๑๐ หน้าที่เราต้องฝึกสติให้เร็วขึ้น เร็ว เร็วมากขึ้นๆ จนใจไหว...แว้บ.รู้ทัน. ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ว่าไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ
ผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานสำหรับบุคคลที่ตื่นอยู่ตลอดเวลา หมั่นศึกษาไตรสิกขาทั้งกลางวันและกลางคืน น้อมจิตเข้าหานิพพาน อาสวะทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี ... จิตสงบ พอจิตสงบก็ติดนิ่งติดเฉย ติดนิ่งติดเฉยเนี่ย จิตจะไม่มีทางเจริญปัญญาได้เลย ท่านก็บอกอุบายแก้ให้ ให้จิตไม่ติดเฉย นี่หลวงปู่มั่นแต่งกลอนไว้ ขันธะวิมุติสมังคี บอกว่า ระวังอย่าให้จิตไปติดเฉย วิธีที่จะไม่ให้ติด จิตไปติดเฉย ก็ให้จิตออกมาทำงาน ให้ทำงาน จิตทำงานอะไร จิตชอบทำงานคิด ให้มันคิด คิดเรื่องอะไรเป็นเรื่องที่ปลอดภัยสำหรับพระหนุ่มเณรน้อย คิดพิจารณากายตัวเองนี่แหละ ปลอดภัยสำหรับพระหนุ่มเณรน้อย ไปคิดเรื่องอื่นไม่ปลอดภัย หรือคิดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คิดถึงธรรมะ คิดถึงไตรลักษณ์ อันนี้เป็นคิดถึงธรรมะ คิดถึงครูบาอาจารย์ คิดถึงเทวดา เทวดาก็คือ อย่างคนดีๆ อย่างพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวเรานี้ เป็นเทวดา เทวดาในภาคมนุษย์ เรียกว่า สมมุติเทพ คิดถึงท่านแล้วจิตใจเราอบอุ่น นุ่มนวล มีความสุข หรือให้คิดถึงร่างกาย เป็นชิ้นนะ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก อันนี้เรียกว่า กายคตาสติ เรื่องที่ท่านให้คิดนั้นมีอยู่สิบเรื่อง เรียกว่าอนุสติ ๑๐ หน้าที่เราต้องฝึกสติให้เร็วขึ้น เร็ว เร็วมากขึ้นๆ จนใจไหว...แว้บ.รู้ทัน. ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ว่าไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ
วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558
จิตรวมเข้าถึงจิตความชั่วเกิดที่จิต รู้ทันปุ๊บ ความชั่วกระเด็น กลายเป็นดี ก็เห็นอีก จิตปรุงดีก็ทุกข์นะ จิตปรุงชั่วก็ทุกข์อีก เราเฝ้ารู้ไปเรื่อย ถ้าปัญญามันพอนะ จะเห็นเลย ปัญญาเบื้องต้นมันจะเห็นเลยว่า ทุกอย่างเกิดแล้วดับ ปัญญาเบื้องปลายจะเห็นว่า ทุกอย่างนั้นแหละทุกข์ ถ้าเห็นแจ้งทุกข์ จิตจะสลัดคืนกองทุกข์ให้โลก คืนกายคืนใจให้โลกไป ถ้าจิตเราไม่ยึดถือในรูปนามกายใจนะ จะไม่ยึดถืออะไรในโลกอีกแล้ว จะเป็นอิสระ ใจจะโปร่งโล่งเบา มีความสุขอยู่อย่างนั้นแหละทั้งวันทั้งคืน เข้าถึงความสุขอีกชนิดหนึ่งแล้ว ความสุขที่มหาศาลเลย คือความสุขของพระนิพพาน จิตซึ่งไปสัมผัสพระนิพพาน ก็ได้สัมผัสความสุขของพระนิพพานมา มีความสุขมหาศาล จิตที่สัมผัสพระนิพพานมีความสุข ท่านบอกว่า “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” นิพพานเป็นบรมสุข สุขจริงๆ สุขที่พวกเรารู้จักในวันนี้นะ เล็กน้อยมากเลยนะ ถ้าเทียบกับสุขในธรรมะที่ปราณีตขึ้นเป็นลำดับๆ สุขของเราอย่างนี้เรียกว่า “กามสุข” กินของอร่อยมีความสุข เห็นของสวยๆมีความสุข ได้ยินเสียงไพเราะๆ เสียงชมเสียงอะไรเหล่านี้ มีความสุข นี้เป็นกามสุข กามสุขที่โลกเขาใฝ่หาเนี่ย เล็กน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับฌานสุข ถ้าเราทำฌานทำสมาธิได้ เราจะรู้เลยว่า กามสุขเป็นเรื่องเล็กน้อย สกปรกโสโครก ความสุขของกามเนี่ย คล้ายๆเด็กที่ไร้เดียงสาไปเล่นไส้เดือนกิ้งกือ เล่นของขยะสกปรก เล่นได้หมดเลย ก็มีความสุข เด็กไปเล่นดินเล่นทรายสกปรกนะ ตัวมอมแมมหน้ามอมแมมไปหมด มันมีความสุข เนี่ยกามสุขมันเป็นแบบนั้น ฌานสุขมันสูงกว่านั้นนะ ฌานสุขมันเป็นสุขที่มันอิ่มมันเต็มมากขึ้น แต่ว่าความสุขในโลกุตตระ ความสุขในพระนิพพานนั้นน่ะ ฌานสุขเทียบไม่ติดเลย ฌานนั้นแหละกลายเป็นตัวทุกข์เลย คนที่ทรงฌานก็จะเห็นว่ากามสุขนั้นเป็นตัวทุกข์ แต่ว่าคนซึ่งเข้าถึงโลกุตตระแล้ว ก็ยังเห็นอีกว่าฌานนั้นแหละเป็นตัวทุกข์ จะเห็นกันเป็นลำดับๆไปนะ คล้ายๆพัฒนาขึ้นไปๆตามสติปัญญาที่แก่กล้าขึ้นไปๆ ถ้าเราสัมผัสพระนิพพานแล้ว เราจะรู้เลยว่าโลกนี้หาสาระแก่นสารไม่ได้ โลกนี้เหมือนฝัน ความสุขเหมือนกับฝันอยู่เท่านั้นแหละ ไม่ใช่มีของจริงอะไรให้เราดูเลย ความสุขของพระนิพพานนั้นเหมือนกับของจริง มันเหมือนว่าเรากลับบ้านเราได้แล้ว เราเป็นเด็กหลงทางหาทางกลับบ้านไม่เจอ วันนี้เรากลับถึงบ้านได้แล้ว มันมีความสุขนะ เจอพ่อเจอแม่ของเรา คือเจอพระพุทธเจ้า จิตของเรานั้นแหละ กับพระพุทธเจ้า จะหลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกัน จิตของเรากับพระธรรมจะหลอมรวมเข้าเป็นสิ่งเดียวกัน จิตนั้นแหละก็คือตัวพระสงฆ์ พระรัตนตรัยรวมเข้าเป็นหนึ่งที่จิตนั้นเอง ที่จิตที่บริสุทธิ์จิตที่สะอาด จะมีความสุขที่ไม่มีอะไรเหมือน
ลูกพระพุทธเจ้าความชั่วเกิดที่จิต รู้ทันปุ๊บ ความชั่วกระเด็น กลายเป็นดี ก็เห็นอีก จิตปรุงดีก็ทุกข์นะ จิตปรุงชั่วก็ทุกข์อีก เราเฝ้ารู้ไปเรื่อย ถ้าปัญญามันพอนะ จะเห็นเลย ปัญญาเบื้องต้นมันจะเห็นเลยว่า ทุกอย่างเกิดแล้วดับ ปัญญาเบื้องปลายจะเห็นว่า ทุกอย่างนั้นแหละทุกข์ ถ้าเห็นแจ้งทุกข์ จิตจะสลัดคืนกองทุกข์ให้โลก คืนกายคืนใจให้โลกไป ถ้าจิตเราไม่ยึดถือในรูปนามกายใจนะ จะไม่ยึดถืออะไรในโลกอีกแล้ว จะเป็นอิสระ ใจจะโปร่งโล่งเบา มีความสุขอยู่อย่างนั้นแหละทั้งวันทั้งคืน เข้าถึงความสุขอีกชนิดหนึ่งแล้ว ความสุขที่มหาศาลเลย คือความสุขของพระนิพพาน จิตซึ่งไปสัมผัสพระนิพพาน ก็ได้สัมผัสความสุขของพระนิพพานมา มีความสุขมหาศาล จิตที่สัมผัสพระนิพพานมีความสุข ท่านบอกว่า “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” นิพพานเป็นบรมสุข สุขจริงๆ สุขที่พวกเรารู้จักในวันนี้นะ เล็กน้อยมากเลยนะ ถ้าเทียบกับสุขในธรรมะที่ปราณีตขึ้นเป็นลำดับๆ สุขของเราอย่างนี้เรียกว่า “กามสุข” กินของอร่อยมีความสุข เห็นของสวยๆมีความสุข ได้ยินเสียงไพเราะๆ เสียงชมเสียงอะไรเหล่านี้ มีความสุข นี้เป็นกามสุข กามสุขที่โลกเขาใฝ่หาเนี่ย เล็กน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับฌานสุข ถ้าเราทำฌานทำสมาธิได้ เราจะรู้เลยว่า กามสุขเป็นเรื่องเล็กน้อย สกปรกโสโครก ความสุขของกามเนี่ย คล้ายๆเด็กที่ไร้เดียงสาไปเล่นไส้เดือนกิ้งกือ เล่นของขยะสกปรก เล่นได้หมดเลย ก็มีความสุข เด็กไปเล่นดินเล่นทรายสกปรกนะ ตัวมอมแมมหน้ามอมแมมไปหมด มันมีความสุข เนี่ยกามสุขมันเป็นแบบนั้น ฌานสุขมันสูงกว่านั้นนะ ฌานสุขมันเป็นสุขที่มันอิ่มมันเต็มมากขึ้น แต่ว่าความสุขในโลกุตตระ ความสุขในพระนิพพานนั้นน่ะ ฌานสุขเทียบไม่ติดเลย ฌานนั้นแหละกลายเป็นตัวทุกข์เลย คนที่ทรงฌานก็จะเห็นว่ากามสุขนั้นเป็นตัวทุกข์ แต่ว่าคนซึ่งเข้าถึงโลกุตตระแล้ว ก็ยังเห็นอีกว่าฌานนั้นแหละเป็นตัวทุกข์ จะเห็นกันเป็นลำดับๆไปนะ คล้ายๆพัฒนาขึ้นไปๆตามสติปัญญาที่แก่กล้าขึ้นไปๆ ถ้าเราสัมผัสพระนิพพานแล้ว เราจะรู้เลยว่าโลกนี้หาสาระแก่นสารไม่ได้ โลกนี้เหมือนฝัน ความสุขเหมือนกับฝันอยู่เท่านั้นแหละ ไม่ใช่มีของจริงอะไรให้เราดูเลย ความสุขของพระนิพพานนั้นเหมือนกับของจริง มันเหมือนว่าเรากลับบ้านเราได้แล้ว เราเป็นเด็กหลงทางหาทางกลับบ้านไม่เจอ วันนี้เรากลับถึงบ้านได้แล้ว มันมีความสุขนะ เจอพ่อเจอแม่ของเรา คือเจอพระพุทธเจ้า จิตของเรานั้นแหละ กับพระพุทธเจ้า จะหลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกัน จิตของเรากับพระธรรมจะหลอมรวมเข้าเป็นสิ่งเดียวกัน จิตนั้นแหละก็คือตัวพระสงฆ์ พระรัตนตรัยรวมเข้าเป็นหนึ่งที่จิตนั้นเอง ที่จิตที่บริสุทธิ์จิตที่สะอาด จะมีความสุขที่ไม่มีอะไรเหมือน
ผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานทีนี้พวกเราบางทีคิดว่าการคิดพิจารณากายเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาแท้ๆเริ่มเมื่อหมดความคิด พ้นความคิดไปแล้วเห็นความจริง ความคิดกับความจริงเกิดพร้อมๆกันไม่ได้ ความคิดนั้นแหละปิดบังความจริงไว้ ความคิดนั้นแหละคืออภิสังขารมาร ปิดกั้นการมองเห็นความจริงไว้ เนี่ยธรรมะอย่างนี้เราไม่ค่อยได้ยินได้ฟัง บางทีครูบาอาจารย์ท่านก็สอน คือสอนด้วยความเมตตานะ เอ้า..พุทโธ พิจารณากายไป อะไรอย่างนี้ เรานึกว่าตรงพุทโธเป็นสมถะ พิจารณากายเป็นวิปัสสนา ความจริงเป็นสมถะคนละแบบ ตอนแรกตามลมหายใจ หัดพุทโธเนี่ย จิตสงบ พอจิตสงบก็ติดนิ่งติดเฉย ติดนิ่งติดเฉยเนี่ย จิตจะไม่มีทางเจริญปัญญาได้เลย ท่านก็บอกอุบายแก้ให้ ให้จิตไม่ติดเฉย นี่หลวงปู่มั่นแต่งกลอนไว้ ขันธะวิมุติสมังคี บอกว่า ระวังอย่าให้จิตไปติดเฉย วิธีที่จะไม่ให้ติด จิตไปติดเฉย ก็ให้จิตออกมาทำงาน ให้ทำงาน จิตทำงานอะไร จิตชอบทำงานคิด ให้มันคิด คิดเรื่องอะไรเป็นเรื่องที่ปลอดภัยสำหรับพระหนุ่มเณรน้อย คิดพิจารณากายตัวเองนี่แหละ ปลอดภัยสำหรับพระหนุ่มเณรน้อย ไปคิดเรื่องอื่นไม่ปลอดภัย หรือคิดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คิดถึงธรรมะ คิดถึงไตรลักษณ์ อันนี้เป็นคิดถึงธรรมะ คิดถึงครูบาอาจารย์ คิดถึงเทวดา เทวดาก็คือ อย่างคนดีๆ อย่างพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวเรานี้ เป็นเทวดา เทวดาในภาคมนุษย์ เรียกว่า สมมุติเทพ คิดถึงท่านแล้วจิตใจเราอบอุ่น นุ่มนวล มีความสุข หรือให้คิดถึงร่างกาย เป็นชิ้นนะ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก อันนี้เรียกว่า กายคตาสติ เรื่องที่ท่านให้คิดนั้นมีอยู่สิบเรื่อง เรียกว่าอนุสติ ๑๐ หน้าที่เราต้องฝึกสติให้เร็วขึ้น เร็ว เร็วมากขึ้นๆ จนใจไหว...แว้บ.รู้ทัน. ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ว่าไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติเพราะงั้นถึงเราจะเจริญสติเจริญปัญญาโดยเข้าฌานไม่เป็น ถึงนาทีสุดท้ายที่จะเกิดอริยมรรคอริยผลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรคเนี่ย จิตจะเข้าฌานของเค้าเอง ยกเว้นคนซึ่งเดินปัญญาอยู่ในฌาน เวลาที่จะเกิดอริยมรรคไม่ต้องถอยออกมาอยู่ในโลกก่อนนะไม่ต้องกลับมาอยู่กามภูมิก่อนนะ จิตเค้าจะตัดอยู่ข้างในได้เลย นี่เป็นพวกหนึ่งแต่รวมความก็คืออริยมรรคไม่เกิดอยู่ในจิตที่อยู่ในกามอย่างพวกเราอริยมรรคจะต้องเกิดอยู่ในรูปภูมิหรืออรูปภูมินะ จะเกิดอยู่ตรงนั้น ไปล้างกันตรงนั้นจิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เอง เพราะมันไม่แส่ส่ายออกไปที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจไม่แส่ส่ายไปในความคิด ก็หยุดลงที่จิตดวงเดียว สติหยั่งลงที่จิต จิตตั้งมั่นอยู่ที่จิตเพราะงั้นสมาธินี่เต็มสมบูรณ์แล้ว ตั้งมั่นอยู่ที่จิต สติสมบูรณ์แล้ว ระลึกอยู่ที่จิตปัญญาสมบูรณ์แล้ว เห็นความเป็นจริงทุกสิ่งที่อย่างที่เคลื่อนไหวอยู่ในจิตนะตรงนี้แหละจิตจะไหวตัวขึ้นมาสองสามขณะ คือปรุงขึ้นมานะแต่ไม่รู้ว่าคิดอะไรจะเห็นแต่ว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดับไป จะเห็นอย่างนี้เอง เห็นเองถัดจากนั้นนะจิตจะรู้เลยมันไม่มีสาระอะไร จิตมันจืดนะ มันไม่เอาอีกแล้ว
วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558
พุทธเบิกบานธรรมะแท้ๆนี้ไม่เนิ่นช้าหรอก ที่เนิ่นช้าเพราะทำผิด ทำผิดที่สาหัสที่สุดก็คือ ไปติดสมถะ ติดแล้วก็เพ่งๆลูกเดียวแหละ ติดตรงนั้นหลายปี หลวงพ่อติดสมถะยี่สิบสองปี จะว่าติดสมถะก็ไม่เชิงนะ เพราะว่าเราไม่รู้วิธีไปต่อ เราก็จำเป็นต้องทำอยู่แค่นั้นแหละ ทำได้แค่นั้น ทำแต่สมาธิ ทำอานาปานสติ เล่าให้ฟัง อย่างหมดเปลือกไปแล้วนะ ทีนี้เห็นพวกเรา นักปฏิบัติส่วนใหญ่ติดสมถะนั่นแหละ แล้วไม่ใช่ติดสำนักใดสำนักหนึ่งด้วย ติดทุกสำนัก กระทั่งแต่สำนักที่บอกว่าทำแต่วิปัสสนาไม่ทำสมถะ ก็ติดสมถะ เพราะอะไร เพราะว่าไม่ได้เรียนจิตตสิกขาให้ดี ไม่รู้ลักษณะของจิต ว่าจิตชนิดใดเอาไว้ทำสมถะ จิตชนิดไหนเอาไว้ทำวิปัสสนา เมื่อขาดความรู้เรื่องจิตตสิกขาที่ถ่องแท้แล้วเนี่ย ส่วนใหญ่ก็ไปหลงทำสมถะแล้วนึกว่าเป็นวิปัสสนา ยกตัวอย่างนะ บางคนนั่งภาวนา จิตสงบ แล้วคิดพิจารณากาย แล้วคิดว่าการคิดพิจารณากายเป็นวิปัสสนา ครูบาอาจารย์สอนมาชัดๆเลยนะ ยกตัวอย่างหลวงพ่อพุธสอนมา บอกว่า สมถะเริ่มเมื่อหมดความตั้งใจ วิปัสสนาเริ่มเมื่อหมดความคิด หลวงปู่เทสก์เคยสอน การคิดพิจารณากายเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ เป็นการแก้อาการของจิต แก้นิวรณ์ แก้กิเลส แก้ชั่วครั้งชั่วคราว เป็นสมถะ การคิดพิจารณากายเป็นธาตุเป็นขันธ์ ไม่ใช่ปฏิกูลอสุภะแล้วนะ คิดเป็นธาตุเป็นขันธ์ คิดลงเป็นไตรลักษณ์น่ะ ก็เพื่อแก้อาการของจิต เป็นสมถะ ทีนี้พวกเราบางทีคิดว่าการคิดพิจารณากายเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาแท้ๆเริ่มเมื่อหมดความคิด พ้นความคิดไปแล้วเห็นความจริง ความคิดกับความจริงเกิดพร้อมๆกันไม่ได้ ความคิดนั้นแหละปิดบังความจริงไว้ ความคิดนั้นแหละคืออภิสังขารมาร ปิดกั้นการมองเห็นความจริงไว้ เนี่ยธรรมะอย่างนี้เราไม่ค่อยได้ยินได้ฟัง บางทีครูบาอาจารย์ท่านก็สอน คือสอนด้วยความเมตตานะ เอ้า..พุทโธ พิจารณากายไป อะไรอย่างนี้ เรานึกว่าตรงพุทโธเป็นสมถะ พิจารณากายเป็นวิปัสสนา ความจริงเป็นสมถะคนละแบบ ตอนแรกตามลมหายใจ หัดพุทโธเนี่ย จิตสงบ พอจิตสงบก็ติดนิ่งติดเฉย ติดนิ่งติดเฉยเนี่ย จิตจะไม่มีทางเจริญปัญญาได้เลย ท่านก็บอกอุบายแก้ให้ ให้จิตไม่ติดเฉย นี่หลวงปู่มั่นแต่งกลอนไว้ ขันธะวิมุติสมังคี บอกว่า ระวังอย่าให้จิตไปติดเฉย วิธีที่จะไม่ให้ติด จิตไปติดเฉย ก็ให้จิตออกมาทำงาน ให้ทำงาน จิตทำงานอะไร จิตชอบทำงานคิด ให้มันคิด คิดเรื่องอะไรเป็นเรื่องที่ปลอดภัยสำหรับพระหนุ่มเณรน้อย คิดพิจารณากายตัวเองนี่แหละ ปลอดภัยสำหรับพระหนุ่มเณรน้อย ไปคิดเรื่องอื่นไม่ปลอดภัย หรือคิดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คิดถึงธรรมะ คิดถึงไตรลักษณ์ อันนี้เป็นคิดถึงธรรมะ คิดถึงครูบาอาจารย์ คิดถึงเทวดา เทวดาก็คือ อย่างคนดีๆ อย่างพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวเรานี้ เป็นเทวดา เทวดาในภาคมนุษย์ เรียกว่า สมมุติเทพ คิดถึงท่านแล้วจิตใจเราอบอุ่น นุ่มนวล มีความสุข หรือให้คิดถึงร่างกาย เป็นชิ้นนะ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก อันนี้เรียกว่า กายคตาสติ เรื่องที่ท่านให้คิดนั้นมีอยู่สิบเรื่อง เรียกว่าอนุสติ ๑๐ อนุสติ ๑๐ เป็นเรื่องของสมถกรรมฐาน คิดเพื่ออะไร เพื่อไม่ให้จิตไปติดเฉย พอจิตไม่ติดเฉย หมดเวลาที่จะพุทโธพิจารณากายแล้ว เวลาที่เหลือ ยืน เดิน นั่ง นอน ต้องรู้สึกตัว เพราะฉะนั้นคำสอนของครูบาอาจารย์วัดป่ารุ่นก่อนๆ จะสอนครบ ๓ อัน สอนหัดทำความสงบเข้ามาก่อน สงบแล้วไม่ให้อยู่เฉย ให้ออกพิจารณา พิจารณาพอสมควรแล้ว กลับทำความสงบไป หมดเวลา ถอยออกมา ยืน เดิน นั่ง นอน ต้องรู้สึกตัว หลวงปู่มั่นถึงสอน บอกว่า ทำสมถะ ทำความสงบมาก เนิ่นช้า คิดพิจารณามาก ฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ คือการมีสติในชีวิตประจำวัน ยืน เดิน นั่ง นอน ต้องรู้สึกตัว
ลืมตาไว้ อย่าให้จิตไปติด ซึมเฉยธรรมะแท้ๆนี้ไม่เนิ่นช้าหรอก ที่เนิ่นช้าเพราะทำผิด ทำผิดที่สาหัสที่สุดก็คือ ไปติดสมถะ ติดแล้วก็เพ่งๆลูกเดียวแหละ ติดตรงนั้นหลายปี หลวงพ่อติดสมถะยี่สิบสองปี จะว่าติดสมถะก็ไม่เชิงนะ เพราะว่าเราไม่รู้วิธีไปต่อ เราก็จำเป็นต้องทำอยู่แค่นั้นแหละ ทำได้แค่นั้น ทำแต่สมาธิ ทำอานาปานสติ เล่าให้ฟัง อย่างหมดเปลือกไปแล้วนะ ทีนี้เห็นพวกเรา นักปฏิบัติส่วนใหญ่ติดสมถะนั่นแหละ แล้วไม่ใช่ติดสำนักใดสำนักหนึ่งด้วย ติดทุกสำนัก กระทั่งแต่สำนักที่บอกว่าทำแต่วิปัสสนาไม่ทำสมถะ ก็ติดสมถะ เพราะอะไร เพราะว่าไม่ได้เรียนจิตตสิกขาให้ดี ไม่รู้ลักษณะของจิต ว่าจิตชนิดใดเอาไว้ทำสมถะ จิตชนิดไหนเอาไว้ทำวิปัสสนา เมื่อขาดความรู้เรื่องจิตตสิกขาที่ถ่องแท้แล้วเนี่ย ส่วนใหญ่ก็ไปหลงทำสมถะแล้วนึกว่าเป็นวิปัสสนา ยกตัวอย่างนะ บางคนนั่งภาวนา จิตสงบ แล้วคิดพิจารณากาย แล้วคิดว่าการคิดพิจารณากายเป็นวิปัสสนา ครูบาอาจารย์สอนมาชัดๆเลยนะ ยกตัวอย่างหลวงพ่อพุธสอนมา บอกว่า สมถะเริ่มเมื่อหมดความตั้งใจ วิปัสสนาเริ่มเมื่อหมดความคิด หลวงปู่เทสก์เคยสอน การคิดพิจารณากายเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ เป็นการแก้อาการของจิต แก้นิวรณ์ แก้กิเลส แก้ชั่วครั้งชั่วคราว เป็นสมถะ การคิดพิจารณากายเป็นธาตุเป็นขันธ์ ไม่ใช่ปฏิกูลอสุภะแล้วนะ คิดเป็นธาตุเป็นขันธ์ คิดลงเป็นไตรลักษณ์น่ะ ก็เพื่อแก้อาการของจิต เป็นสมถะ ทีนี้พวกเราบางทีคิดว่าการคิดพิจารณากายเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาแท้ๆเริ่มเมื่อหมดความคิด พ้นความคิดไปแล้วเห็นความจริง ความคิดกับความจริงเกิดพร้อมๆกันไม่ได้ ความคิดนั้นแหละปิดบังความจริงไว้ ความคิดนั้นแหละคืออภิสังขารมาร ปิดกั้นการมองเห็นความจริงไว้ เนี่ยธรรมะอย่างนี้เราไม่ค่อยได้ยินได้ฟัง บางทีครูบาอาจารย์ท่านก็สอน คือสอนด้วยความเมตตานะ เอ้า..พุทโธ พิจารณากายไป อะไรอย่างนี้ เรานึกว่าตรงพุทโธเป็นสมถะ พิจารณากายเป็นวิปัสสนา ความจริงเป็นสมถะคนละแบบ ตอนแรกตามลมหายใจ หัดพุทโธเนี่ย จิตสงบ พอจิตสงบก็ติดนิ่งติดเฉย ติดนิ่งติดเฉยเนี่ย จิตจะไม่มีทางเจริญปัญญาได้เลย ท่านก็บอกอุบายแก้ให้ ให้จิตไม่ติดเฉย นี่หลวงปู่มั่นแต่งกลอนไว้ ขันธะวิมุติสมังคี บอกว่า ระวังอย่าให้จิตไปติดเฉย วิธีที่จะไม่ให้ติด จิตไปติดเฉย ก็ให้จิตออกมาทำงาน ให้ทำงาน จิตทำงานอะไร จิตชอบทำงานคิด ให้มันคิด คิดเรื่องอะไรเป็นเรื่องที่ปลอดภัยสำหรับพระหนุ่มเณรน้อย คิดพิจารณากายตัวเองนี่แหละ ปลอดภัยสำหรับพระหนุ่มเณรน้อย ไปคิดเรื่องอื่นไม่ปลอดภัย หรือคิดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คิดถึงธรรมะ คิดถึงไตรลักษณ์ อันนี้เป็นคิดถึงธรรมะ คิดถึงครูบาอาจารย์ คิดถึงเทวดา เทวดาก็คือ อย่างคนดีๆ อย่างพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวเรานี้ เป็นเทวดา เทวดาในภาคมนุษย์ เรียกว่า สมมุติเทพ คิดถึงท่านแล้วจิตใจเราอบอุ่น นุ่มนวล มีความสุข หรือให้คิดถึงร่างกาย เป็นชิ้นนะ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก อันนี้เรียกว่า กายคตาสติ เรื่องที่ท่านให้คิดนั้นมีอยู่สิบเรื่อง เรียกว่าอนุสติ ๑๐ อนุสติ ๑๐ เป็นเรื่องของสมถกรรมฐาน คิดเพื่ออะไร เพื่อไม่ให้จิตไปติดเฉย พอจิตไม่ติดเฉย หมดเวลาที่จะพุทโธพิจารณากายแล้ว เวลาที่เหลือ ยืน เดิน นั่ง นอน ต้องรู้สึกตัว เพราะฉะนั้นคำสอนของครูบาอาจารย์วัดป่ารุ่นก่อนๆ จะสอนครบ ๓ อัน สอนหัดทำความสงบเข้ามาก่อน สงบแล้วไม่ให้อยู่เฉย ให้ออกพิจารณา พิจารณาพอสมควรแล้ว กลับทำความสงบไป หมดเวลา ถอยออกมา ยืน เดิน นั่ง นอน ต้องรู้สึกตัว หลวงปู่มั่นถึงสอน บอกว่า ทำสมถะ ทำความสงบมาก เนิ่นช้า คิดพิจารณามาก ฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ คือการมีสติในชีวิตประจำวัน ยืน เดิน นั่ง นอน ต้องรู้สึกตัว
ปรับรอบมอเตอร์เศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืน ไม่ใช้ฟืน ไม่ใช้น้ำมัน ไม่ใช้แก๊ส ไม่ทำลาย ธรรมชาติ ...ใช้แทน...เครื่องจักร...ที่ สันดาป..ภายใน...เนื่องจากใช้ไฟฟ้าเพียง 48 โวลต์ หรือ แบตเตอรี่รถยนต์ 4 ลูก สามารถ ขับเคลื่อน มอเตอร์ สามเฟส ได้ 1 แรงม้า เร่ง และลด ความเร็วได้ ดู รายละเอียด จากคลิป ได้ครับ..โชคดี มีความสุข ปลอดภัย สบายกาย สบายใจ ทุกท่าน...ครับ. ราคา ประมาณ 2000-3000 บาท ไม่รวมแบตเตอรี่ และมอเตอร์ ครับ...กันไว้ดีกว่า..แก้..แย่แล้ว แก้ไม่ทัน..ปลอดภัยไว้ก่อน..ดีกว่า..ครับ..https://www.youtube.com/watch?v=zNyOWave-cw.https://www.youtube.com/watch?v=_RFP-XV77_0 https://www.youtube.com/watch?v=tv5Rsva52Cg https://www.youtube.com/watch?v=2t3Ox2L5Pis https://www.youtube.com/watch?v=L_faXSRpoY8 https://www.youtube.com/watch?v=ZgzGk_ZUpzw https://www.youtube.com/watch?v=w_YexIQfHI0 https://www.youtube.com/watch?v=lpthWsRW8yAจำหน่าย อุปกรณ์ เพาเวอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เพาเวอร์โมดูล SEMIKRON SEMIX 241 MD008s ราคาตัวละ 1500 บาท ใช้สำหรับสร้าง เครื่อง อินเวอร์เตอร์ คอนเวอร์เตอร์ ชนิดแรงดันต่ำ กระแสสูง ขนาด 6x250 AMPS 75 VOLTS ร้านแก้ไขซ่อมสร้างแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และแผงวงจร ควบคุม โรงงาน อุตสาหกรรม 69/6 ซอยปิ่นประภาคม 3 ติวานนท์ 18 แยก 5 อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ระหัสไปรษณีย์ 11000 โทรศัพท์ 029511356
ออกแบบซ่อมสร้างแผงวงจรควบคุมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืน ไม่ใช้ฟืน ไม่ใช้น้ำมัน ไม่ใช้แก๊ส ไม่ทำลาย ธรรมชาติ ...ใช้แทน...เครื่องจักร...ที่ สันดาป..ภายใน...เนื่องจากใช้ไฟฟ้าเพียง 48 โวลต์ หรือ แบตเตอรี่รถยนต์ 4 ลูก สามารถ ขับเคลื่อน มอเตอร์ สามเฟส ได้ 1 แรงม้า เร่ง และลด ความเร็วได้ ดู รายละเอียด จากคลิป ได้ครับ..โชคดี มีความสุข ปลอดภัย สบายกาย สบายใจ ทุกท่าน...ครับ. ราคา ประมาณ 2000-3000 บาท ไม่รวมแบตเตอรี่ และมอเตอร์ ครับ...กันไว้ดีกว่า..แก้..แย่แล้ว แก้ไม่ทัน..ปลอดภัยไว้ก่อน..ดีกว่า..ครับ..https://www.youtube.com/watch?v=zNyOWave-cw.https://www.youtube.com/watch?v=_RFP-XV77_0 https://www.youtube.com/watch?v=tv5Rsva52Cg https://www.youtube.com/watch?v=2t3Ox2L5Pis https://www.youtube.com/watch?v=L_faXSRpoY8 https://www.youtube.com/watch?v=ZgzGk_ZUpzw https://www.youtube.com/watch?v=w_YexIQfHI0 https://www.youtube.com/watch?v=lpthWsRW8yAจำหน่าย อุปกรณ์ เพาเวอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เพาเวอร์โมดูล SEMIKRON SEMIX 241 MD008s ราคาตัวละ 1500 บาท ใช้สำหรับสร้าง เครื่อง อินเวอร์เตอร์ คอนเวอร์เตอร์ ชนิดแรงดันต่ำ กระแสสูง ขนาด 6x250 AMPS 75 VOLTS ร้านแก้ไขซ่อมสร้างแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และแผงวงจร ควบคุม โรงงาน อุตสาหกรรม 69/6 ซอยปิ่นประภาคม 3 ติวานนท์ 18 แยก 5 อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ระหัสไปรษณีย์ 11000 โทรศัพท์ 029511356
เศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืนเศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืน ไม่ใช้ฟืน ไม่ใช้น้ำมัน ไม่ใช้แก๊ส ไม่ทำลาย ธรรมชาติ ...ใช้แทน...เครื่องจักร...ที่ สันดาป..ภายใน...เนื่องจากใช้ไฟฟ้าเพียง 48 โวลต์ หรือ แบตเตอรี่รถยนต์ 4 ลูก สามารถ ขับเคลื่อน มอเตอร์ สามเฟส ได้ 1 แรงม้า เร่ง และลด ความเร็วได้ ดู รายละเอียด จากคลิป ได้ครับ..โชคดี มีความสุข ปลอดภัย สบายกาย สบายใจ ทุกท่าน...ครับ. ราคา ประมาณ 2000-3000 บาท ไม่รวมแบตเตอรี่ และมอเตอร์ ครับ...กันไว้ดีกว่า..แก้..แย่แล้ว แก้ไม่ทัน..ปลอดภัยไว้ก่อน..ดีกว่า..ครับ..https://www.youtube.com/watch?v=zNyOWave-cw.https://www.youtube.com/watch?v=_RFP-XV77_0 https://www.youtube.com/watch?v=tv5Rsva52Cg https://www.youtube.com/watch?v=2t3Ox2L5Pis https://www.youtube.com/watch?v=L_faXSRpoY8 https://www.youtube.com/watch?v=ZgzGk_ZUpzw https://www.youtube.com/watch?v=w_YexIQfHI0 https://www.youtube.com/watch?v=lpthWsRW8yAจำหน่าย อุปกรณ์ เพาเวอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เพาเวอร์โมดูล SEMIKRON SEMIX 241 MD008s ราคาตัวละ 1500 บาท ใช้สำหรับสร้าง เครื่อง อินเวอร์เตอร์ คอนเวอร์เตอร์ ชนิดแรงดันต่ำ กระแสสูง ขนาด 6x250 AMPS 75 VOLTS ร้านแก้ไขซ่อมสร้างแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และแผงวงจร ควบคุม โรงงาน อุตสาหกรรม 69/6 ซอยปิ่นประภาคม 3 ติวานนท์ 18 แยก 5 อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ระหัสไปรษณีย์ 11000 โทรศัพท์ 029511356
ไฟฟ้ากระแสตรงไฟฟ้ากระแสสลับมอเตอร์สามเฟสProfessional Services On Servo Motor DC motor speed control Encoder Power Electronics Control System Industrial Control Board 3phase motor speed control Communication Switching Power Supply sompongindustrial@gmail.com mrsompongt@hotmail.com line id:pornpimon 1411 Tel 02-951-1356 081-803-6553 สินค้าที่ ผม สร้าง ออกแบบและที่ท่านซื้อไปแล้วหากเสียหายต้องการซ่อมกรุณาส่งซ่อมได้ที่ 69/6 ซอยปิ่นประภาคม 3 ติวานนท์ 18 เมืองนนทบุรี 11000 โทร 02-951-1356 Line 081-803-6553 ขอบคุณทุกท่านที่กรุณา..ขอบคุณ..มาก..ครับ.. จำหน่าย Power Module สำหรับ ซ่อม สร้าง เครื่อง ปรับรอบมอเตอร์ สามเฟส หนึ่งแรงมัา โดยใช้ไฟฟ้าเฟสเดียวและรับ ซ่อม แผงวงจร เครื่องจักรกล เครื่องจักรในงานอุตสาหกรรม เครื่องทอผ้า ติดต่อที่ 02-951-1356 081-803-6553 ..รับออกแบบแก้ไขดัดแปลงซ่อมสร้างแผงวงจรควบคุมเครื่องจักรกล ที่ทำงานด้วยระบบสมองกลไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 02-951-1356 081-803-6553 http://www.youtube.com/watch?v=8caQpnxa3iE&list=PL36E832F4CA46D233 https://sites.google.com/site/sompongindustrial/ran-rab-sxm-phaeng-wngcr-fifa-thi-chi-ni-kheruxngcakr-thuk-run-thuk-yihx-khux-thi-sompong-industrial-electronics-029511356-69-6-pinpraphakhm3-tiwannth18-nnthburi-11000 https://sites.google.com/site/sompongindustrial/khay-kaen-fexr-rit-chnid-toriod-chi-srang-converter-inverter-power-supply-emergency-power-supply-induction-heating-welding-machine-mi-hlak-hlay-chnid-hlay-baeb-hlay-khnad-hlay-khwamthi-hlay-rakha-khrab-sompong-industrial-electronics-02-951-1356-081-803-6553-bxk-kalang-watt-thi-txngkar-laea-ngb-praman-ma-k-phx-khrab-xyang-xun-chen-wngcr-xupkrn-thi-phm-mi-xyu-phx-smkhwr-khrab-email-ca-sadwk-ni-kar-thangan-khxng-phm-khrab-thorsaphth-sadwk-chwng-klang-khun-mi-kein-si-thum-khrab-tidtx-sxbtham-di-thuk-wan-khrab-khxbkhun-mak-khrab https://sites.google.com/site/sompongindustrial/ran-rab-sxm-phaeng-wngcr-fifa-thi-chi-ni-kheruxngcakr-thuk-run-thuk-yihx-khux-thi-sompong-industrial-electronics-029511356-69-6-pinpraphakhm3-tiwannth18-nnthburi-11000 https://sites.google.com/site/sompongindustrial/ran-sxm-srang-kaekhi-tu-cheuxm-inverter-sompong-industrial-electronics-029511356 https://sites.google.com/site/sompongindustrial/3-phase-induction-motor-control-device https://sites.google.com/site/sompongindustrial/xupkrn-xilekthrxniks-kalang-sung-hrux-power-electronics https://sites.google.com/site/sompongindustrial/ran-rab-sxm-phaeng-wngcr-fifa-thi-chi-ni-kheruxngcakr-thuk-run-thuk-yihx-khux-thi-sompong-industrial-electronics-029511356-69-6-pinpraphakhm3-tiwannth18-nnthburi-11000 https://sites.google.com/site/sompongindustrial/rab-phlit-khay-cahnay-xupkrn-khwbkhum-khwamrew-mxtexr https://sites.google.com/site/sompongindustrial/ran-kaekhi-sxm-srang-phaeng-wngcr-xaer-tu-yen-kheruxng-sak-pha-run-xin-wexr-texr-khux-thi-69-6-sxy-pinpraphakhm-3-tiwannth-18-xaphex-meuxngnnthburi-canghwad-nnthburi-ra-has-pirsniy-11000-thorsaphth-029511356
จำหน่าย อุปกรณ์ ซ่อม สร้าง เครื่องควบคุม เครื่องจักรและมอเตอร์ไฟฟ้า.Professional Services On Servo Motor DC motor speed control Encoder Power Electronics Control System Industrial Control Board 3phase motor speed control Communication Switching Power Supply sompongindustrial@gmail.com mrsompongt@hotmail.com line id:pornpimon 1411 Tel 02-951-1356 081-803-6553 สินค้าที่ ผม สร้าง ออกแบบและที่ท่านซื้อไปแล้วหากเสียหายต้องการซ่อมกรุณาส่งซ่อมได้ที่ 69/6 ซอยปิ่นประภาคม 3 ติวานนท์ 18 เมืองนนทบุรี 11000 โทร 02-951-1356 Line 081-803-6553 ขอบคุณทุกท่านที่กรุณา..ขอบคุณ..มาก..ครับ.. จำหน่าย Power Module สำหรับ ซ่อม สร้าง เครื่อง ปรับรอบมอเตอร์ สามเฟส หนึ่งแรงมัา โดยใช้ไฟฟ้าเฟสเดียวและรับ ซ่อม แผงวงจร เครื่องจักรกล เครื่องจักรในงานอุตสาหกรรม เครื่องทอผ้า ติดต่อที่ 02-951-1356 081-803-6553 ..รับออกแบบแก้ไขดัดแปลงซ่อมสร้างแผงวงจรควบคุมเครื่องจักรกล ที่ทำงานด้วยระบบสมองกลไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 02-951-1356 081-803-6553 http://www.youtube.com/watch?v=8caQpnxa3iE&list=PL36E832F4CA46D233 https://sites.google.com/site/sompongindustrial/ran-rab-sxm-phaeng-wngcr-fifa-thi-chi-ni-kheruxngcakr-thuk-run-thuk-yihx-khux-thi-sompong-industrial-electronics-029511356-69-6-pinpraphakhm3-tiwannth18-nnthburi-11000 https://sites.google.com/site/sompongindustrial/khay-kaen-fexr-rit-chnid-toriod-chi-srang-converter-inverter-power-supply-emergency-power-supply-induction-heating-welding-machine-mi-hlak-hlay-chnid-hlay-baeb-hlay-khnad-hlay-khwamthi-hlay-rakha-khrab-sompong-industrial-electronics-02-951-1356-081-803-6553-bxk-kalang-watt-thi-txngkar-laea-ngb-praman-ma-k-phx-khrab-xyang-xun-chen-wngcr-xupkrn-thi-phm-mi-xyu-phx-smkhwr-khrab-email-ca-sadwk-ni-kar-thangan-khxng-phm-khrab-thorsaphth-sadwk-chwng-klang-khun-mi-kein-si-thum-khrab-tidtx-sxbtham-di-thuk-wan-khrab-khxbkhun-mak-khrab https://sites.google.com/site/sompongindustrial/ran-rab-sxm-phaeng-wngcr-fifa-thi-chi-ni-kheruxngcakr-thuk-run-thuk-yihx-khux-thi-sompong-industrial-electronics-029511356-69-6-pinpraphakhm3-tiwannth18-nnthburi-11000 https://sites.google.com/site/sompongindustrial/ran-sxm-srang-kaekhi-tu-cheuxm-inverter-sompong-industrial-electronics-029511356 https://sites.google.com/site/sompongindustrial/3-phase-induction-motor-control-device https://sites.google.com/site/sompongindustrial/xupkrn-xilekthrxniks-kalang-sung-hrux-power-electronics https://sites.google.com/site/sompongindustrial/ran-rab-sxm-phaeng-wngcr-fifa-thi-chi-ni-kheruxngcakr-thuk-run-thuk-yihx-khux-thi-sompong-industrial-electronics-029511356-69-6-pinpraphakhm3-tiwannth18-nnthburi-11000 https://sites.google.com/site/sompongindustrial/rab-phlit-khay-cahnay-xupkrn-khwbkhum-khwamrew-mxtexr https://sites.google.com/site/sompongindustrial/ran-kaekhi-sxm-srang-phaeng-wngcr-xaer-tu-yen-kheruxng-sak-pha-run-xin-wexr-texr-khux-thi-69-6-sxy-pinpraphakhm-3-tiwannth-18-xaphex-meuxngnnthburi-canghwad-nnthburi-ra-has-pirsniy-11000-thorsaphth-029511356
วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558
ยากอยู่ที่พระโสดาบันเท่านั้น จบกันรึยังล่ะ จะจบทำไมเหลือเวลาอีก 15 ถ้าทำให้มันถึงแล้วมันหมดสงสัยเอง เพราะมันถึงจริงๆ มาว่าถึงอำนาจของความโกรธและความพยาบาท พระโสดาบันกับพระสกิทาคามียังมี แต่กำลังมันน้อยมันทรุดตัวแล้ว พอถึงพระอนาคามี ใช้พรหมวิหาร ๔ หรือกสิณ ๔ เป็นตัวยืนโรง คราวนี้ไม่ต้องเกะกะมาก เรื่องอารมณ์ที่จะเข้าสู่อกุศลมันไม่มีอีกแล้วนี่ มันมีอย่างเดียวคือพุ่งขึ้น การแสวงหาพระกรรมฐานให้ตรงอัธยาศัยตอนนี้ไม่มี ตัดไปแล้ว ใช้เมตตาบารมีคือพรหมวิหาร ๔ หรือกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กล่าวมาแล้วตั้งทรงตัวเข้าไว้ เห็นโทษแห่งความโกรธความพยาบาท จิตใจจะทรงไปด้วยอำนาจพรหมวิหาร ๔ เป็นปรกติ มีแต่ความเยือกเย็น ถ้าเรารักและสงสารกันแล้วเราจะโกรธกันได้อย่างไร เมื่อใช้พรหมวิหาร ๔ แล้วก็ใช้กายคตานุสสติว่า เราจะโกรธเขาเพื่อประโยชน์อะไร เขาต้องตาย เขาต้องมีทุกข์ เขามีทุกข์อยู่แล้ว เขาตายอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเข่นฆ่า มีแต่น่าเวทนาเท่านั้น ที่เขาทั้งหลายเหล่านั้นมีความผิดคิดชั่ว ทำตัวให้เกิดความทุกข์ ถ้าอารมณ์อย่างนี้มันทรงตัวแล้วเอาอะไรไปโกรธ เอาอะไรไปคิดประทุษร้ายเขา เท่านี้ก็เป็นพระอนาคามีแล้ว ไม่ยากอะไรเลยนี่ มันยากอยู่ที่พระโสดาบันเท่านั้น จบกันรึยังล่ะ จะจบทำไมเวลาเหลืออีก ๑๕ นาที วิ่งชนอรหันต์เลยวันนี้ เพราะบารมีของท่านเต็มแล้วมันเป็นของง่าย พระพุทธโฆษาจารย์จึงได้กล่าวไว้ว่า ถ้าเป็นพระโสดาบันในที่นั่งอันใด จงทำใจของท่านเองให้เข้าถึงความเป็นอรหันตผลในที่นั่งอันเดียวนั้น เพราะตอนหลังนี้มันง่าย พอถึงอนาคามีแล้วเหลืออะไรอีกที่เป็นกิเลส มันเป็นอุปกิเลสหรืออนุสัยตัวเล็กๆ เป็นของเด็กเหมือนกับลูกน้ำ เราฆ่าตะเข้ตะโขงตายหมด เสือสางช้างม้าฆ่าตายหมด เหลือแต่มดกับลูกน้ำ แต่ก็ต้องระวังให้ดีเพราะลูกน้ำหรือมดมันจับยากเหมือนกัน เพราะตัวมันเล็ก แต่ถ้าอารมณ์จิตของเราเข้าถึงอนาคามีเสียแล้ว รู้สึกว่าจะเล็กขนาดไหนเราก็จับไหว อารมณ์ที่มันยังขังใจอยู่มีตรงไหนล่ะ เหลืออีก ๕ ข้อเท่านั้น คือ รูปราคะ เห็นว่ารูปฌานเป็นของดี อรูปราคะ เห็นว่าอรูปฌานเป็นของดี แต่ความจริงมันก็ดี แต่ว่าดีกว่านี้มันยังมีอยู่อีก เราไม่หยุดดีกันแค่การทรงรูปฌานและอรูปฌาน ก้าวดีต่อไป มานะ คือถือตัวถือตน เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน คนจนคนรวย คนสกปรกคนสะอาด เข้ากันไม่ได้ คนกับสัตว์เดรัจฉานถือตัวว่าเหนือกว่ากัน อย่างนี้มันเป็นกิเลส มันเป็นตัวถ่วง อารมณ์อย่างนี้ยังพอเหลืออยู่ ทำลายมันให้พินาศไป อุทธัจจะ อารมณ์ที่ฟุ้งซ่าน ตอนนี้พระมหานามเคยถามพระพุทธเจ้าว่า พระองค์บอกว่าข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระอนาคามี แต่ว่าอารมณ์ฟุ้งซ่านทำไมยังมีอยู่ แต่ว่าฟุ้งซ่านในด้านกุศล องค์สมเด็จพระทศพลก็ตอบว่า มันยังมี ไปตัดได้ตอนเป็นพระอรหันต์ อารมณ์ที่ไม่ฟุ้งซ่านน่ะเป็นอรหันต์เท่านั้น นอกนั้นยังมีอยู่ ยังปักหลักไม่หยุด คือหลักมันยังมีความหวั่นไหวอยู่บ้าง ไม่ไหวมากมันก็ไหวน้อย ถ้าพระอรหันต์มันก็เหมือนเสาเขื่อน ไม่หวั่นไม่ไหว
วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
สุดท้ายยกเครื่องฉายหนังทิ้งไปคืนกายคืนใจให้โลกพระพุทธเจ้าสอนนะ ขันธ์ห้าเป็นทุกข์นะ ท่านไม่ได้สอนว่าขันธ์ห้าเป็นทุกข์บ้างสุขบ้าง เราเห็นยังไม่ถึงที่ท่านบอก ต้องอดทน ฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วก็ดูไปเรื่อย ฟังแล้วก็มาสังเกตกาย สังเกตใจไปเรื่อย ทุกวันๆ เราก็จะเขยิบใกล้ความจริงเข้าไปเรื่อยๆ ถึงจุดสุดท้าย เข้าถึงความจริงแท้ เข้าถึงอริยสัจจ์นั่นเอง รู้ขันธ์ห้าเป็นทุกข์ล้วนๆ พอรู้ว่าขันธ์ห้าเป็นทุกข์ล้วนๆ ใจจะวาง ไม่ยึดถือ พอไม่ยึดถือขันธ์ห้าว่าเป็นตัวเราของเราแล้วเนี่ย ความอยากที่จะให้กายนี้ใจนี้เป็นสุข ความอยากที่จะให้กายนี้ใจนี้พ้นทุกข์ มันจะดับไปโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นรู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร สมุทัยจะถูกละโดยอัตโนมัติ พอทันทีที่สมุทัยถูกละ นิโรธคือนิพพานจะปรากฏต่อหน้าต่อตาเรานี่เอง นิพพานไม่ได้อยู่ไกลๆนะ นิพพานไม่ใช่อยู่ไกลๆ นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตานี่เอง วันใดที่ใจเราสิ้นตัณหาอย่างแท้จริง เพราะมีปัญญารู้ทุกข์อย่างแท้จริง วางกายวางใจได้ รู้ทุกข์แล้ววางกายวางใจได้ ตัณหาจะสิ้นไป นิพพานจะปรากฏต่อหน้า ใจที่มันไม่ดิ้นมันจะเห็นธรรมะที่ไม่ดิ้น ใจที่มันไม่อยากมันก็เห็นธรรมะที่ไม่อยาก เห็นนิพพานนั่นเอง มันจะมีแต่ความสุขล้วนๆ เลยถึงตรงจุดนี้ เพราะอะไรถึงมีความสุขล้วนๆ เพราะมันพ้นจากขันธ์แล้ว จิตมันพรากออกจากขันธ์นะ ขันธ์อยู่ส่วนขันธ์ จิตอยู่ส่วนจิต ไม่กระทบกันเลย โดยที่ไม่ต้องระวังรักษาอีกต่อไปแล้ว งั้นเมื่อมันพ้นขันธ์ได้ก็คือมันพ้นทุกข์นั่นเอง พระพุทธเจ้าสอนว่าขันธ์ห้าคือทุกข์ เมื่อไรมันพ้นขันธ์ก็คือพ้นทุกข์ ตัณหาก็ไม่มีนะ จิตใจมีแต่สันติสุข คำว่า “สันติ” ก็เป็นชื่อของนิพพาน จิตใจที่เข้าถึงนิพพาน มีความสุขจนไม่รู้จะเทียบกับอะไร ความสุขอย่างโลก ๆ ความสุขเหมือนกับเด็กเล่นฝุ่นเล่นทรายเท่านั้นเอง ค่อยเรียนนะ ค่อยเรียน อดทนในการเรียน การปฎิบัติไม่มีอะไรยาก ง่ายสุด สุด เลย ร่างกายเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็น อย่างนั้น จิตใจ รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ไปดัดแปลงกาย ดัดแปลงใจ..จริงๆนะ จะรู้เลยว่าตัวเราไม่มีหรอก เป็นภาพลวงตาเท่านั้นเอง เป็นมายาหลอกลวง เหมือนฝัน ฝันไปว่ามีตัวเรา จริงๆไม่มีเรา ถ้าเมื่อไหร่ปัญญาแทงทะลุลงไปว่าจริงๆไม่มีเราหรอก เป็นภาพลวงตาทั้งหมดเลย นั่นแหละคือภูมิธรรมของพระโสดาบัน ฟังแล้วเหมือนยากนะ แต่ลงมือทำจริงไม่ยากหรอก บางคนใช้เวลาไม่กี่วันด้วยซ้ำไป บางคนใช้เวลาสั้นนิดเดียวนะ อย่าว่าแต่พระโสดาบันเลย บางท่านฟังธรรมะไม่กี่ประโยค ท่านก็เป็นพระอรหันต์ ยกตัวอย่างพระพาหิยะ ฟังธรรมะนิดเดียว ฟังอยู่กลางตลาดเลย ท่านได้เป็นพระอรหันต์
วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
คิดถึงพระพุทธเจ้าครับ"สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล" ในวันเพ็ญ เดือน ๖ ณ กาลนั้น พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา พระบรมศาสดาทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า "อานนท์ในยามที่สุดแห่งราตรีวันนี้แหละ ตถาคตจะปรินิพพาน ณ ระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ณ สาลวันแห่งมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา" ครั้นพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ได้เสด็จพระพุทธดำเนินข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี ไปเมืองกุสินารา โปรดให้พระอานนท์ปูลาดเตียงที่บรรทม ณ ระหว่าไม้สาละทั้งคู่ และเสร็จขึ้นบรรทมสีหไสยา(เป็นการนอนอย่างราชสีห์ คือนอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มือซ้ายพาดไปตามลำตัว มือขวาช้อนศีรษะไม่พลิกกลับไปมา มีสติสัมปชัญญะกำหนดใจถึงการลุกขึ้นไว้) แต่พระบรมศาสดามิได้มีอุฏฐานสัญญา มนสิการ คือไม่คิดจะลุกขึ้นอีกแล้ว เพราะเหตุเป็นไสยาอวสาน คือการนอนครั้งสุดท้าย (หรือ อนุฏฐานไสยาคือนอนไม่ลุก) ลำดับต่อมา พระอานนท์เถระเจ้าได้กราบทูลว่า "ในกาลก่อนเมื่อออกพรรษาแล้ว บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายในทิศต่าง ๆ เจริญในครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เข้าใกล้สนทนาปราศัยได้ความเจริญใจ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายจักไม่ได้โอกาสอันดีเช่นนั้น เหมือนกับเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่อีกต่อไป" พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล นี้ คือ ๑. สถานที่พระตถาคตเจ้าบังเกิดแล้ว คือที่ประสูติจากพระครรภ์ (คือ อุทยานลุมพินี กึ่งกลางระว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ กรุงกบิลพัสดุ์เป็นเมืองหลวงของแคว้นสักกะ กรุงเทวทหะเป็นเมืองหลวงของแคว้นโกลิยะ ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาลห่างชายแดนภาคเหนือของประเทศอินเดีย ๖ กิโลเมตรครึ่ง บัดนี้เรียกว่า รุมมิเนเด) ๒. สถานที่พระตถาคตเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (คือใต้ร่มไม่ศรีมหาโพธิ์ ภายในป่าสาละ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ปัจจุบันคือ ควงโพธิ์ ที่ตำบลพุทธคยา รัฐพิหารประเทศอินเดีย) ๓. สถานที่พระตถาคตเจ้าแสดงธรรมจักร (คือสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าแสดงธรรมปฐมเทศนาโปรดปัจจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทางทิศเหนือของเมืองพาราณสี แคว้นกาสี ปัจจุบันนี้เรียกว่า สารนาถพาราณสีบัดนี้เรียกว่า วาราณสี) ๔. สถานที่พระตถาคตเจ้าปรินิพพาน (คือที่สาลวโนยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ปัจจุบันี้เรียกเมืองกาเซีย จังหวัดโครักขปุระ) สถานที่ทั้ง ๔ ตำบลนี้แล ควรที่พุทธบริษัท คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระตถาคตเจ้า จะดูจะเห็นและควรจะให้เกิดความสังเวชทั่วกัน" "อานนท์ ชนทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งได้เที่ยวไปยังเจดีย์สังเวชนียสถานเหล่านี้ด้วยความเลื่อมใส ชนเหล่านั้น ครั้นทำกาลกิริยาลงจักเข้าถึงสุดคติโลกสวรรค์" อนึ่ง สังเวชนียสถาน มีความหมายถึง สถานเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช แต่คำว่าสังเวชในทางธรรมนั้น มีความหมายลึกซึ้งกว่าความหมายของคำว่าสังเวชที่พบเห็นกันทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ ในทางธรรมหมายถึง ความรู้สึกสลดใจที่ทำให้คิดได้ ทำให้จิตใจหันมานึกถึงสิ่งที่ดีงามเกิดความไม่ประมาท เพียรพยายามทำสิ่งที่เป็นกุศลต่อไป จึงจะเรียกว่า สังเวช ความสลดในและหงอยหรือหดหู่เสีย ไม่เรียกว่าเป็นความสังเวช
วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
สุดท้าย พากเพียรแทบล้มแทบตายก็พบว่าดีก็ชั่วคราว สุขก็ชั่วคราว สงบก็ชั่วคราวจิตผู้รู้ก็ชั่วคราว อะไรๆก็ชั่วคราวหมดเลย ไม่เห็นมีตรงไหนเลยที่มันจะถาวรได้จิตยอมรับความจริงตรงนี้ได้ จิตก็หมดแรงดิ้นนะจะดิ้นไปทำไมล่ะ ดิ้นหาดี หาสุข หาสงบ ดิ้นยังไงก็ไม่มีมีก็มีชั่วคราวเดี๋ยวก็หายไปอีก นี่จิตจะหยุดแรงดิ้น หมดแรงดิ้นจิตที่แรงดิ้นเพราะว่าดิ้นมาสุดขีดแล้วนะ สติก็สุดขีดแล้ว สมาธิก็สุดขีดแล้ว ปัญญาก็สุดขีดแล้ว สติสุดขีดก็คือ ไม่เจตนาจะรู้ ก็รู้..รู้..รู้ทั้งวันเลย รู้ทั้งคืนด้วย สมาธิก็จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้อยู่อย่างนี้ ไม่เป็นผู้หลงนะ อย่างมากก็หลงแว๊บๆ ก็กลับมาเป็นผู้รู้อย่างรวดเร็ว จะทำสมาธิให้มากกว่านี้ก็ไม่รู้จะทำยังไง จะทำสติให้มากกว่านี้ก็ไม่รู้จะทำยังไง จะเจริญปัญญาให้มากกว่านี้ก็ไม่รู้จะทำยังไงนะ มันจนมุมไปหมดเลย คือ สติก็ทำมาจนไม่รู้จะทำยังไงแล้ว สมาธิก็ทำจนไม่รู้จะทำยังไง ปัญญาก็ไม่รู้จะพลิกแพลงไปพิจารณาอะไรอีกต่อไปแล้ว เนี่ยจิตถ้าภาวนามาสุดขีดนะมันจะเข้ามาสู่ภาวะแห่งความจนมุม มันจะหยุดแรงดิ้น มันจะหมดความอยากว่าทำยังไงจะพ้นทุกข์ได้ ทำยังไงจะสุขถาวร ทำยังไงจะดีถาวร ทำยังไงจะสงบถาวร เพราะมันดิ้นมาจนสุดฤทธิ์สุดเดชแล้ว ก็ไม่รู้จะทำยังไง ทำไม่ได้สักที พอจิตหมดแรงดิ้นนะ จิตก็สักว่ารู้ว่าเห็น ตรงนี้แหละสักว่ารู้ว่าเห็นขึ้นมา อย่างที่พวกเราพูดว่าสักว่ารู้ว่าเห็น ไม่จริงหรอก ไม่ยอมสักว่ารู้ว่าเห็นหรอก มีแต่ว่าทำยังไงจะดีกว่านี้อีก ทำยังไงดี ทำยังไงจะดี ทำยังไงจะถูก รู้สึกไหมแต่ละวัน นักปฏิบัติตื่นนอนก็คิดวันนี้จะทำยังไงดี คิดอย่างนี้แหละนะ จนกระทั่งมันสุดสติสุดปัญญา ทำยังไงมันก็ดีกว่านี้ไปไม่ได้แล้ว ยอมรับสภาพมัน จิตหมดแรงดิ้น จิตหมดความปรุงแต่ง หมดแรงดิ้นรน พอจิตไม่มีความปรุงแต่ง ไม่มีความดิ้นรน อยู่ตรงนี้ช่วงหนึ่งนะ พอจิตหมดแรงดิ้นก็ไม่ปรุง อะไรเกิดขึ้นก็แค่รู้ อะไรเกิดขึ้นก็แค่รู้ ไม่ปรุงต่อ จิตก็เรียกว่าจิตเข้าถึงความเป็นอนุโลม อนุโลมญาณ หมายถึงว่าอะไรเกิดขึ้นก็คล้อยตามมันไป คล้อยตามนี่ไม่ใชหลงตามมันไป ก็แค่เห็นนะ เออ ก็มีขึ้นมา เออ หายไป ก็แค่นั้นเองนะ ไม่ต่อต้าน ไม่หลงตามไป ยอมรับ มันมาก็มา มันไปก็ไป นี่จิตมีอุเบกขาอย่างแท้จริงเลยนะ คล้อยตามทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เห็นแต่ความจริง ทุกอย่างมาแล้วก็ไปมาแล้วก็ไป นี่จิตเห็นอยู่แค่นี้เอง นี่ถ้าจิต สติ สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา บุญบารมีอะไรแก่รอบแล้วนะ จิตหยุดความปรุงแต่งแล้วมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ รวมเอง ทำไมมันรวมเข้าอัปปนาสมาธิได้เอง เพราะว่าจิตไม่ไหลไปตามกาม ฌานมันจะเกิดเอง โดยธรรมชาติของจิตนี่ต้องเวียนอยู่ในภพ ภพที่จิตเวียนอยู่ได้มี ๓ ภพเท่านั้น หนึ่ง กามาวจรภพ ภพที่เวียนไปในกาม คือหาอารมณ์เพลิดเพลินไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพลินไปเรื่อย พวกเราจิตหมุนอยู่ติ้วๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย นึกออกไหม อันนี้แหละเรียกว่ากามภพ เรียกให้เต็มยศนะเรียก กามาวจรภูมิ ใจก็ไปเวียนอย่างนี้ ถ้าหลุดออกจากกามภพนะ ก็เข้าไป รูปภพ หรือว่า รูปภูมิ ก็คือเข้าไปสงบอยู่กับการรู้รูป เช่นรู้ลมหายใจ แล้วจิตไม่เอาแล้วโลกข้างนอก อารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่เห็นจะมีสาระอะไร จิตมารวมลงที่อารมณ์ภายในอันเดียว อาจจะมารู้ลมหายใจอยู่อันเดียว รู้ร่างกายอยู่อันเดียว มาเพ่งรูปอยู่อันเดียว เพ่งดวงกสิณ ดวงนิมิตอยู่อันเดียว จิตเพ่งรูปอยู่เรียกว่ารูปภูมิ ถ้าจิตไม่อยู่ในกามภูมิ ไม่อยู่ในรูปภูมิ จิตก็ต้องเข้า อรูปภูมิ ทิ้งรูปไปแล้วไปอยู่กับนามธรรม เช่นไปอยู่กับความว่าง จิตอยู่ในความว่าง อยู่กับความไม่มีอะไรเลยเพราะงั้นที่เค้าสอนภาวนา บางคนสอนภาวนาให้ไปอยู่ในความว่าง อันนั้นเพี้ยนนะ ไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า มันก็เป็นอรูปภูมิ เป็นภูมิอีกภูมิหนึ่ง เป็นภพอีกภพหนึ่งเท่านั้นเอง งั้นถ้าสติปัญญาเราพอนะ เรารู้เลยจิตมันแส่ส่ายออกทางตาหูจมูกลิ้นกายมีแต่ทุกข์ จิตไม่แส่ส่าย พอจิตไม่แส่ส่ายจิตก็หลุดออกจากกามภูมิ เข้ารูปภูมิหรืออรูปภูมิ เข้าเองเลย เพราะงั้นพวกเราหัดเจริญสติไปเรื่อย พอศีลสมาธิปัญญา สติสมาธิปัญญาแก่รอบนะ จิตจะหมดความหลงไหลรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งหลายมาดึงดูดจิตไหลไปไม่ได้แล้ว อย่างน้อยก็ชั่วขณะ ชั่วขณะเท่านั้นแหละ ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ เพราะงั้นถึงเราจะเจริญสติเจริญปัญญาโดยเข้าฌานไม่เป็น ถึงนาทีสุดท้ายที่จะเกิดอริยมรรคอริยผลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรคเนี่ย จิตจะเข้าฌานของเค้าเอง ยกเว้นคนซึ่งเดินปัญญาอยู่ในฌาน เวลาที่จะเกิดอริยมรรคไม่ต้องถอยออกมาอยู่ในโลกก่อนนะ ไม่ต้องกลับมาอยู่กามภูมิก่อนนะ จิตเค้าจะตัดอยู่ข้างในได้เลย นี่เป็นพวกหนึ่ง แต่รวมความก็คืออริยมรรคไม่เกิดอยู่ในจิตที่อยู่ในกามอย่างพวกเรา อริยมรรคจะต้องเกิดอยู่ในรูปภูมิหรืออรูปภูมินะ จะเกิดอยู่ตรงนั้น ไปล้างกันตรงนั้น จิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะ ไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เอง เพราะมันไม่แส่ส่ายออกไปที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ไม่แส่ส่ายไปในความคิด ก็หยุดลงที่จิตดวงเดียว สติหยั่งลงที่จิต จิตตั้งมั่นอยู่ที่จิต เพราะงั้นสมาธินี่เต็มสมบูรณ์แล้ว ตั้งมั่นอยู่ที่จิต สติสมบูรณ์แล้ว ระลึกอยู่ที่จิต ปัญญาสมบูรณ์แล้ว เห็นความเป็นจริงทุกสิ่งที่อย่างที่เคลื่อนไหวอยู่ในจิตนะ ตรงนี้แหละจิตจะไหวตัวขึ้นมาสองสามขณะ คือปรุงขึ้นมานะแต่ไม่รู้ว่าคิดอะไร ไม่รู้ว่าปรุงอะไร มีความปรุงแต่งเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ว่าปรุงอะไร จะเห็นแต่ว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดับไป จะเห็นอย่างนี้เอง เห็นเอง ถัดจากนั้นนะจิตจะรู้เลยมันไม่มีสาระอะไร จิตมันจืดนะ มันไม่เอาอีกแล้ว ก็แค่เห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้น พอเห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้นสองสามขณะ ความเห็นกลางอย่างแท้จริงเลย รู้อย่างเป็นกลางอย่างแท้จริงไม่ปรุงต่อนะ จิตจะวาง พอมันวางแล้วมันจะทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ วางจิตแล้วทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ ธาตุรู้ก็จิตนั่นแหละ มันเป็นจิตอีกอย่างหนึ่ง พอจิตดวงเก่ามันดับไป จิตที่อยู่ในภพภูมิต่างๆมันดับไป มันทวนกระแสเข้าหาจิตที่เหนือภพเหนือภูมิ ทวนกระแสเข้ามา ขณะที่มันปล่อยวางจิตดวงเดิมนะ แล้วก็ทวนเข้ามาแต่ยังไม่ถึงธาตุรู้นะ คาบลูกคาบดอก ไม่ได้เกาะขันธ์แล้วนะ แต่ก็ยังเข้ามาไม่ถึงตัวธาตุรู้ ไม่ถึงอมตะธาตุอมตะธรรม ไม่ถึงพระนิพพาน ธาตุรู้ไม่ใช่พระนิพพานนะ แต่ธาตุรู้ไปเห็นพระนิพพาน ต้องแยกให้ออก มันยังทวนไม่ถึงธาตุรู้ ไม่ใช่ปุถุชน ไม่ใช่พระอริยะ ทำไมไม่ใช่ปุถุชน เพราะมันปล่อยขันธ์แล้ว ขันธ์สุดท้ายที่มันปล่อยก็คือจิต ไม่ใช่พระอริยะ เพราะยังไม่เข้ามาถึงธาตุรู้ ไม่เข้าถึงพระนิพพาน ตัวธาตุรู้นั่นแหละเป็นตัวไปเห็นพระนิพพาน ตรงนี้นะเรียกว่าโคตรภูญาณ ญาณข้ามโคตร มีปัญญาข้ามโคตร ข้ามโคตรจากโคตรไหนมาสู่โคตรไหน? จากโคตรของปุถุชนมาสู่โคตรของอริยชน เพราะงั้นบรรลุมรรคผลแล้วเปลี่ยนโคตรนะ ข้ามจากสกุลของปุถุชน ข้ามมาสู่อริยวงศ์อริยโคตร เรียกญาณข้ามโคตร ไม่ใช่ปุถุชนนะ กำลังข้ามอยู่ ไม่ใช่พระอริยะ มีอยู่ขณะจิตเดียวแหละที่คาบลูกคาบดอกประหลาดอยู่อย่างนี้ ข้ามมา ทวนเข้ามาถึงจิตแท้ ถึงธาตุรู้แท้ๆ ธรรมธาตุ ตัวนี้อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น อาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตอยู่ถูกอริยมรรคแหวกออกทำลายออก ก็ล้างกิเลส ล้างในพริบตาเดียว ในขณะเดียว วับเดียวเลย ขาดเลย มันคล้ายๆเปิดสวิตซ์ไฟ ปั๊บ สว่างวุ๊บเดียวความมืดหายไปเลย ในพริบตานั้นเลย จากนั้นนะจะเห็นพระนิพพานอีกสองสามขณะ เห็นไม่เท่ากันหรอก บางคนเห็นสองขณะ บางคนเห็นสามขณะถ้าพวกอินทรีย์กล้ามากๆก็เห็นสามขณะ พวกอินทรีย์ยังไม่กล้ามากก็เห็นสองขณะนะ งั้นพระอริยะในภูมิธรรมอันเดียวกันระดับเดียวกัน ความรู้ความเข้าใจไม่เท่ากัน ความแตกฉานอะไรนี้ไม่เท่ากันเห็นพระนิพพานแล้วก็รู้ว่านิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตา นิพพานไม่เคยหายไปไหน อยู่ต่อหน้าต่อตานี่แหละ แต่โง่เองไม่เห็น ทำไมไม่เห็น? มัวแต่เห็นแต่กาม มัวแต่เห็นรูปภพ มัวแต่เห็นอรูปภพ จิตไม่รู้จักปล่อย ตรงที่เค้าปล่อยน่ะเค้าข้าม เค้าทิ้งแล้ว ตรงโคตรภูญาณที่จิตข้ามโคตร ข้ามจากปุถุชนมาเป็นพระอริยะ ข้ามตรงนี้มันทิ้งหมดเลยนะ มันทิ้งกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ ทิ้งหมดเลย ข้ามมาสู่อริยภูมิ โลกุตรภูมิ ข้ามเอง พวกเราก็มีหน้าที่ภาวนาให้มันพอเท่านั้นแหละนะ ถ้ามันพอเมื่อไหร่มันก็ข้ามโคตรไป เปลี่ยนสกุลไม่ใช่นามสกุลเดิม โดยสมมุติบัญญัติก็เป็นนามสกุลเดิม โดยปรมัตถ์แท้ๆก็ไม่ใช่แล้ว ก็มาเป็นลูกพระพุทธเจ้า
สุดท้าย พากเพียรแทบล้มแทบตายก็พบว่าดีก็ชั่วคราว สุขก็ชั่วคราว สงบก็ชั่วคราวจิตผู้รู้ก็ชั่วคราว อะไรๆก็ชั่วคราวหมดเลย ไม่เห็นมีตรงไหนเลยที่มันจะถาวรได้จิตยอมรับความจริงตรงนี้ได้ จิตก็หมดแรงดิ้นนะจะดิ้นไปทำไมล่ะ ดิ้นหาดี หาสุข หาสงบ ดิ้นยังไงก็ไม่มีมีก็มีชั่วคราวเดี๋ยวก็หายไปอีก นี่จิตจะหยุดแรงดิ้น หมดแรงดิ้นจิตที่แรงดิ้นเพราะว่าดิ้นมาสุดขีดแล้วนะ สติก็สุดขีดแล้ว สมาธิก็สุดขีดแล้ว ปัญญาก็สุดขีดแล้ว
สติสุดขีดก็คือ ไม่เจตนาจะรู้ ก็รู้..รู้..รู้ทั้งวันเลย รู้ทั้งคืนด้วย
สมาธิก็จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้อยู่อย่างนี้ ไม่เป็นผู้หลงนะ
อย่างมากก็หลงแว๊บๆ ก็กลับมาเป็นผู้รู้อย่างรวดเร็ว
จะทำสมาธิให้มากกว่านี้ก็ไม่รู้จะทำยังไง จะทำสติให้มากกว่านี้ก็ไม่รู้จะทำยังไง
จะเจริญปัญญาให้มากกว่านี้ก็ไม่รู้จะทำยังไงนะ มันจนมุมไปหมดเลย
คือ สติก็ทำมาจนไม่รู้จะทำยังไงแล้ว สมาธิก็ทำจนไม่รู้จะทำยังไง
ปัญญาก็ไม่รู้จะพลิกแพลงไปพิจารณาอะไรอีกต่อไปแล้ว
เนี่ยจิตถ้าภาวนามาสุดขีดนะมันจะเข้ามาสู่ภาวะแห่งความจนมุม
มันจะหยุดแรงดิ้น มันจะหมดความอยากว่าทำยังไงจะพ้นทุกข์ได้
ทำยังไงจะสุขถาวร ทำยังไงจะดีถาวร ทำยังไงจะสงบถาวร
เพราะมันดิ้นมาจนสุดฤทธิ์สุดเดชแล้ว ก็ไม่รู้จะทำยังไง ทำไม่ได้สักที
พอจิตหมดแรงดิ้นนะ จิตก็สักว่ารู้ว่าเห็น ตรงนี้แหละสักว่ารู้ว่าเห็นขึ้นมา
อย่างที่พวกเราพูดว่าสักว่ารู้ว่าเห็น ไม่จริงหรอก ไม่ยอมสักว่ารู้ว่าเห็นหรอก
มีแต่ว่าทำยังไงจะดีกว่านี้อีก ทำยังไงดี ทำยังไงจะดี ทำยังไงจะถูก
รู้สึกไหมแต่ละวัน นักปฏิบัติตื่นนอนก็คิดวันนี้จะทำยังไงดี
คิดอย่างนี้แหละนะ จนกระทั่งมันสุดสติสุดปัญญา ทำยังไงมันก็ดีกว่านี้ไปไม่ได้แล้ว
ยอมรับสภาพมัน จิตหมดแรงดิ้น จิตหมดความปรุงแต่ง หมดแรงดิ้นรน
พอจิตไม่มีความปรุงแต่ง ไม่มีความดิ้นรน อยู่ตรงนี้ช่วงหนึ่งนะ
พอจิตหมดแรงดิ้นก็ไม่ปรุง อะไรเกิดขึ้นก็แค่รู้ อะไรเกิดขึ้นก็แค่รู้ ไม่ปรุงต่อ
จิตก็เรียกว่าจิตเข้าถึงความเป็นอนุโลม
อนุโลมญาณ หมายถึงว่าอะไรเกิดขึ้นก็คล้อยตามมันไป
คล้อยตามนี่ไม่ใชหลงตามมันไป ก็แค่เห็นนะ เออ ก็มีขึ้นมา เออ หายไป ก็แค่นั้นเองนะ
ไม่ต่อต้าน ไม่หลงตามไป ยอมรับ มันมาก็มา มันไปก็ไป
นี่จิตมีอุเบกขาอย่างแท้จริงเลยนะ คล้อยตามทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เห็นแต่ความจริง
ทุกอย่างมาแล้วก็ไปมาแล้วก็ไป นี่จิตเห็นอยู่แค่นี้เอง
นี่ถ้าจิต สติ สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา บุญบารมีอะไรแก่รอบแล้วนะ
จิตหยุดความปรุงแต่งแล้วมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ
รวมเอง ทำไมมันรวมเข้าอัปปนาสมาธิได้เอง เพราะว่าจิตไม่ไหลไปตามกาม ฌานมันจะเกิดเอง
โดยธรรมชาติของจิตนี่ต้องเวียนอยู่ในภพ ภพที่จิตเวียนอยู่ได้มี ๓ ภพเท่านั้น
หนึ่ง กามาวจรภพ ภพที่เวียนไปในกาม
คือหาอารมณ์เพลิดเพลินไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพลินไปเรื่อย
พวกเราจิตหมุนอยู่ติ้วๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย นึกออกไหม
อันนี้แหละเรียกว่ากามภพ เรียกให้เต็มยศนะเรียก กามาวจรภูมิ ใจก็ไปเวียนอย่างนี้
ถ้าหลุดออกจากกามภพนะ ก็เข้าไป รูปภพ หรือว่า รูปภูมิ
ก็คือเข้าไปสงบอยู่กับการรู้รูป เช่นรู้ลมหายใจ แล้วจิตไม่เอาแล้วโลกข้างนอก
อารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่เห็นจะมีสาระอะไร จิตมารวมลงที่อารมณ์ภายในอันเดียว
อาจจะมารู้ลมหายใจอยู่อันเดียว รู้ร่างกายอยู่อันเดียว มาเพ่งรูปอยู่อันเดียว
เพ่งดวงกสิณ ดวงนิมิตอยู่อันเดียว จิตเพ่งรูปอยู่เรียกว่ารูปภูมิ
ถ้าจิตไม่อยู่ในกามภูมิ ไม่อยู่ในรูปภูมิ จิตก็ต้องเข้า อรูปภูมิ
ทิ้งรูปไปแล้วไปอยู่กับนามธรรม เช่นไปอยู่กับความว่าง จิตอยู่ในความว่าง อยู่กับความไม่มีอะไรเลยเพราะงั้นที่เค้าสอนภาวนา บางคนสอนภาวนาให้ไปอยู่ในความว่าง อันนั้นเพี้ยนนะ ไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า มันก็เป็นอรูปภูมิ เป็นภูมิอีกภูมิหนึ่ง เป็นภพอีกภพหนึ่งเท่านั้นเอง
งั้นถ้าสติปัญญาเราพอนะ เรารู้เลยจิตมันแส่ส่ายออกทางตาหูจมูกลิ้นกายมีแต่ทุกข์
จิตไม่แส่ส่าย พอจิตไม่แส่ส่ายจิตก็หลุดออกจากกามภูมิ เข้ารูปภูมิหรืออรูปภูมิ เข้าเองเลย
เพราะงั้นพวกเราหัดเจริญสติไปเรื่อย พอศีลสมาธิปัญญา สติสมาธิปัญญาแก่รอบนะ
จิตจะหมดความหลงไหลรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งหลายมาดึงดูดจิตไหลไปไม่ได้แล้ว
อย่างน้อยก็ชั่วขณะ ชั่วขณะเท่านั้นแหละ
ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ
เพราะงั้นถึงเราจะเจริญสติเจริญปัญญาโดยเข้าฌานไม่เป็น
ถึงนาทีสุดท้ายที่จะเกิดอริยมรรคอริยผลในทุกขั้นตอน
ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรคเนี่ย จิตจะเข้าฌานของเค้าเอง
ยกเว้นคนซึ่งเดินปัญญาอยู่ในฌาน เวลาที่จะเกิดอริยมรรคไม่ต้องถอยออกมาอยู่ในโลกก่อนนะ
ไม่ต้องกลับมาอยู่กามภูมิก่อนนะ จิตเค้าจะตัดอยู่ข้างในได้เลย นี่เป็นพวกหนึ่ง
แต่รวมความก็คืออริยมรรคไม่เกิดอยู่ในจิตที่อยู่ในกามอย่างพวกเรา
อริยมรรคจะต้องเกิดอยู่ในรูปภูมิหรืออรูปภูมินะ จะเกิดอยู่ตรงนั้น ไปล้างกันตรงนั้น
จิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะ
ไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เอง เพราะมันไม่แส่ส่ายออกไปที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ
ไม่แส่ส่ายไปในความคิด ก็หยุดลงที่จิตดวงเดียว สติหยั่งลงที่จิต จิตตั้งมั่นอยู่ที่จิต
เพราะงั้นสมาธินี่เต็มสมบูรณ์แล้ว ตั้งมั่นอยู่ที่จิต สติสมบูรณ์แล้ว ระลึกอยู่ที่จิต
ปัญญาสมบูรณ์แล้ว เห็นความเป็นจริงทุกสิ่งที่อย่างที่เคลื่อนไหวอยู่ในจิตนะ
ตรงนี้แหละจิตจะไหวตัวขึ้นมาสองสามขณะ คือปรุงขึ้นมานะแต่ไม่รู้ว่าคิดอะไร
ไม่รู้ว่าปรุงอะไร มีความปรุงแต่งเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ว่าปรุงอะไร
จะเห็นแต่ว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดับไป จะเห็นอย่างนี้เอง เห็นเอง
ถัดจากนั้นนะจิตจะรู้เลยมันไม่มีสาระอะไร จิตมันจืดนะ มันไม่เอาอีกแล้ว
ก็แค่เห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้น พอเห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้นสองสามขณะ
ความเห็นกลางอย่างแท้จริงเลย รู้อย่างเป็นกลางอย่างแท้จริงไม่ปรุงต่อนะ จิตจะวาง
พอมันวางแล้วมันจะทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ วางจิตแล้วทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้
ธาตุรู้ก็จิตนั่นแหละ มันเป็นจิตอีกอย่างหนึ่ง
พอจิตดวงเก่ามันดับไป จิตที่อยู่ในภพภูมิต่างๆมันดับไป
มันทวนกระแสเข้าหาจิตที่เหนือภพเหนือภูมิ ทวนกระแสเข้ามา
ขณะที่มันปล่อยวางจิตดวงเดิมนะ แล้วก็ทวนเข้ามาแต่ยังไม่ถึงธาตุรู้นะ คาบลูกคาบดอก
ไม่ได้เกาะขันธ์แล้วนะ แต่ก็ยังเข้ามาไม่ถึงตัวธาตุรู้ ไม่ถึงอมตะธาตุอมตะธรรม ไม่ถึงพระนิพพาน
ธาตุรู้ไม่ใช่พระนิพพานนะ แต่ธาตุรู้ไปเห็นพระนิพพาน ต้องแยกให้ออก
มันยังทวนไม่ถึงธาตุรู้ ไม่ใช่ปุถุชน ไม่ใช่พระอริยะ
ทำไมไม่ใช่ปุถุชน เพราะมันปล่อยขันธ์แล้ว ขันธ์สุดท้ายที่มันปล่อยก็คือจิต
ไม่ใช่พระอริยะ เพราะยังไม่เข้ามาถึงธาตุรู้ ไม่เข้าถึงพระนิพพาน
ตัวธาตุรู้นั่นแหละเป็นตัวไปเห็นพระนิพพาน
ตรงนี้นะเรียกว่าโคตรภูญาณ ญาณข้ามโคตร มีปัญญาข้ามโคตร
ข้ามโคตรจากโคตรไหนมาสู่โคตรไหน? จากโคตรของปุถุชนมาสู่โคตรของอริยชน
เพราะงั้นบรรลุมรรคผลแล้วเปลี่ยนโคตรนะ ข้ามจากสกุลของปุถุชน ข้ามมาสู่อริยวงศ์อริยโคตร
เรียกญาณข้ามโคตร ไม่ใช่ปุถุชนนะ กำลังข้ามอยู่ ไม่ใช่พระอริยะ
มีอยู่ขณะจิตเดียวแหละที่คาบลูกคาบดอกประหลาดอยู่อย่างนี้
ข้ามมา ทวนเข้ามาถึงจิตแท้ ถึงธาตุรู้แท้ๆ ธรรมธาตุ
ตัวนี้อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น อาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตอยู่ถูกอริยมรรคแหวกออกทำลายออก
ก็ล้างกิเลส ล้างในพริบตาเดียว ในขณะเดียว วับเดียวเลย ขาดเลย
มันคล้ายๆเปิดสวิตซ์ไฟ ปั๊บ สว่างวุ๊บเดียวความมืดหายไปเลย ในพริบตานั้นเลย
จากนั้นนะจะเห็นพระนิพพานอีกสองสามขณะ เห็นไม่เท่ากันหรอก บางคนเห็นสองขณะ บางคนเห็นสามขณะถ้าพวกอินทรีย์กล้ามากๆก็เห็นสามขณะ พวกอินทรีย์ยังไม่กล้ามากก็เห็นสองขณะนะ
งั้นพระอริยะในภูมิธรรมอันเดียวกันระดับเดียวกัน ความรู้ความเข้าใจไม่เท่ากัน ความแตกฉานอะไรนี้ไม่เท่ากันเห็นพระนิพพานแล้วก็รู้ว่านิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตา
นิพพานไม่เคยหายไปไหน อยู่ต่อหน้าต่อตานี่แหละ แต่โง่เองไม่เห็น
ทำไมไม่เห็น? มัวแต่เห็นแต่กาม มัวแต่เห็นรูปภพ มัวแต่เห็นอรูปภพ
จิตไม่รู้จักปล่อย ตรงที่เค้าปล่อยน่ะเค้าข้าม เค้าทิ้งแล้ว
ตรงโคตรภูญาณที่จิตข้ามโคตร ข้ามจากปุถุชนมาเป็นพระอริยะ ข้ามตรงนี้มันทิ้งหมดเลยนะ
มันทิ้งกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ ทิ้งหมดเลย ข้ามมาสู่อริยภูมิ โลกุตรภูมิ ข้ามเอง
พวกเราก็มีหน้าที่ภาวนาให้มันพอเท่านั้นแหละนะ ถ้ามันพอเมื่อไหร่มันก็ข้ามโคตรไป
เปลี่ยนสกุลไม่ใช่นามสกุลเดิม โดยสมมุติบัญญัติก็เป็นนามสกุลเดิม
โดยปรมัตถ์แท้ๆก็ไม่ใช่แล้ว ก็มาเป็นลูกพระพุทธเจ้า
วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
หน้าที่เราต้องฝึกสติให้เร็วขึ้น เร็ว เร็วมากขึ้นๆ จนใจไหว...แว้บ.รู้ทัน. ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ว่าไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ เพราะงั้นถึงเราจะเจริญสติเจริญปัญญาโดยเข้าฌานไม่เป็น ถึงนาทีสุดท้ายที่จะเกิดอริยมรรคอริยผลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรคเนี่ย จิตจะเข้าฌานของเค้าเอง ยกเว้นคนซึ่งเดินปัญญาอยู่ในฌาน เวลาที่จะเกิดอริยมรรคไม่ต้องถอยออกมาอยู่ในโลกก่อนนะ ไม่ต้องกลับมาอยู่กามภูมิก่อนนะ จิตเค้าจะตัดอยู่ข้างในได้เลย นี่เป็นพวกหนึ่ง แต่รวมความก็คืออริยมรรคไม่เกิดอยู่ในจิตที่อยู่ในกามอย่างพวกเรา อริยมรรคจะต้องเกิดอยู่ในรูปภูมิหรืออรูปภูมินะ จะเกิดอยู่ตรงนั้น ไปล้างกันตรงนั้น จิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะ ไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เอง เพราะมันไม่แส่ส่ายออกไปที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ไม่แส่ส่ายไปในความคิด ก็หยุดลงที่จิตดวงเดียว สติหยั่งลงที่จิต จิตตั้งมั่นอยู่ที่จิต เพราะงั้นสมาธินี่เต็มสมบูรณ์แล้ว ตั้งมั่นอยู่ที่จิต สติสมบูรณ์แล้ว ระลึกอยู่ที่จิต ปัญญาสมบูรณ์แล้ว เห็นความเป็นจริงทุกสิ่งที่อย่างที่เคลื่อนไหวอยู่ในจิตนะ ตรงนี้แหละจิตจะไหวตัวขึ้นมาสองสามขณะ คือปรุงขึ้นมานะแต่ไม่รู้ว่าคิดอะไร ไม่รู้ว่าปรุงอะไร มีความปรุงแต่งเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ว่าปรุงอะไร จะเห็นแต่ว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดับไป จะเห็นอย่างนี้เอง เห็นเอง ถัดจากนั้นนะจิตจะรู้เลยมันไม่มีสาระอะไร จิตมันจืดนะ มันไม่เอาอีกแล้ว ก็แค่เห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้น พอเห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้นสองสามขณะ ความเห็นกลางอย่างแท้จริงเลย รู้อย่างเป็นกลางอย่างแท้จริงไม่ปรุงต่อนะ จิตจะวาง พอมันวางแล้วมันจะทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ วางจิตแล้วทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ ธาตุรู้ก็จิตนั่นแหละ มันเป็นจิตอีกอย่างหนึ่ง พอจิตดวงเก่ามันดับไป จิตที่อยู่ในภพภูมิต่างๆมันดับไป มันทวนกระแสเข้าหาจิตที่เหนือภพเหนือภูมิ ทวนกระแสเข้ามา ขณะที่มันปล่อยวางจิตดวงเดิมนะ แล้วก็ทวนเข้ามาแต่ยังไม่ถึงธาตุรู้นะ คาบลูกคาบดอก ไม่ได้เกาะขันธ์แล้วนะ แต่ก็ยังเข้ามาไม่ถึงตัวธาตุรู้ ไม่ถึงอมตะธาตุอมตะธรรม ไม่ถึงพระนิพพาน ธาตุรู้ไม่ใช่พระนิพพานนะ แต่ธาตุรู้ไปเห็นพระนิพพาน ต้องแยกให้ออก มันยังทวนไม่ถึงธาตุรู้ ไม่ใช่ปุถุชน ไม่ใช่พระอริยะ ทำไมไม่ใช่ปุถุชน เพราะมันปล่อยขันธ์แล้ว ขันธ์สุดท้ายที่มันปล่อยก็คือจิต ไม่ใช่พระอริยะ เพราะยังไม่เข้ามาถึงธาตุรู้ ไม่เข้าถึงพระนิพพาน ตัวธาตุรู้นั่นแหละเป็นตัวไปเห็นพระนิพพาน ตรงนี้นะเรียกว่าโคตรภูญาณ ญาณข้ามโคตร มีปัญญาข้ามโคตร ข้ามโคตรจากโคตรไหนมาสู่โคตรไหน? จากโคตรของปุถุชนมาสู่โคตรของอริยชน เพราะงั้นบรรลุมรรคผลแล้วเปลี่ยนโคตรนะ ข้ามจากสกุลของปุถุชน ข้ามมาสู่อริยวงศ์อริยโคตร เรียกญาณข้ามโคตร ไม่ใช่ปุถุชนนะ กำลังข้ามอยู่ ไม่ใช่พระอริยะ มีอยู่ขณะจิตเดียวแหละที่คาบลูกคาบดอกประหลาดอยู่อย่างนี้ ข้ามมา ทวนเข้ามาถึงจิตแท้ ถึงธาตุรู้แท้ๆ ธรรมธาตุ ตัวนี้อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น อาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตอยู่ถูกอริยมรรคแหวกออกทำลายออก ก็ล้างกิเลส ล้างในพริบตาเดียว ในขณะเดียว วับเดียวเลย ขาดเลย มันคล้ายๆเปิดสวิตซ์ไฟ ปั๊บ สว่างวุ๊บเดียวความมืดหายไปเลย ในพริบตานั้นเลย จากนั้นนะจะเห็นพระนิพพานอีกสองสามขณะ เห็นไม่เท่ากันหรอก บางคนเห็นสองขณะ บางคนเห็นสามขณะถ้าพวกอินทรีย์กล้ามากๆก็เห็นสามขณะ พวกอินทรีย์ยังไม่กล้ามากก็เห็นสองขณะนะ งั้นพระอริยะในภูมิธรรมอันเดียวกันระดับเดียวกัน ความรู้ความเข้าใจไม่เท่ากัน ความแตกฉานอะไรนี้ไม่เท่ากันเห็นพระนิพพานแล้วก็รู้ว่านิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตา นิพพานไม่เคยหายไปไหน อยู่ต่อหน้าต่อตานี่แหละ แต่โง่เองไม่เห็น ทำไมไม่เห็น? มัวแต่เห็นแต่กาม มัวแต่เห็นรูปภพ มัวแต่เห็นอรูปภพ จิตไม่รู้จักปล่อย ตรงที่เค้าปล่อยน่ะเค้าข้าม เค้าทิ้งแล้ว ตรงโคตรภูญาณที่จิตข้ามโคตร ข้ามจากปุถุชนมาเป็นพระอริยะ ข้ามตรงนี้มันทิ้งหมดเลยนะ มันทิ้งกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ ทิ้งหมดเลย ข้ามมาสู่อริยภูมิ โลกุตรภูมิ ข้ามเอง พวกเราก็มีหน้าที่ภาวนาให้มันพอเท่านั้นแหละนะ ถ้ามันพอเมื่อไหร่มันก็ข้ามโคตรไป เปลี่ยนสกุลไม่ใช่นามสกุลเดิม โดยสมมุติบัญญัติก็เป็นนามสกุลเดิม โดยปรมัตถ์แท้ๆก็ไม่ใช่แล้ว ก็มาเป็นลูกพระพุทธเจ้า หมดการดิ้นรนของจิต หมดความปรุงแต่งของจิต จิตจะค่อยๆ ปรุงน้อยลงๆ ถึงจุดหนึ่งหยุดปั๊บลงไป ตรงหยุดปั๊บลงไปนี่จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิโดยสมาธิโดยอัตโนมัติเลย เมื่อรวมเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว ตรงนี้จะไม่คิดไม่นึกอะไรแล้ว จะเห็นสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) เกิดดับขึ้นภายใน ๒-๓ ขณะ ใจนี้สักว่ารู้สักว่าเห็นอย่างแท้จริง ไม่มีกระทั่งความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ สักนิดเดียวเลย ถัดจากนั้น จิตจะวางการรู้สภาวะทบทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ พอทวนกระแสเข้าถึงธาตุรู้แล้วอริยมรรคจะแหวกอาสวะกิเลสทั้งหลายหรือสังโยชน์ทั้งหลาย อาสวะที่ห่อหุ้มจิตอยู่ สังโยชน์ที่แทรกอยู่ในจิตจะถูกทำลายออกไป ตรงกระบวนการทำลายล้างนี่ ๑ ขณะเท่านั้น พอขาดสะบั้นลงแล้ว ตรงนี้เราจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ตรงนี้เป็นผลแล้ว เป็นโลกุตรผลนะ ตรงที่เกิดอริยมรรคเรียกว่าโลกุตตรเหตุ มรรคเป็นเหตุ ผลเป็นผล ตรงที่เห็นเป็นผลนี่จะเห็นไม่เท่ากัน พวกที่สติปัญญาแก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๓ ครั้ง ๓ ขณะ พวกที่ยังไม่แก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะ ถัดจากนั้นจิตจะถอยออกมากลับสู่โลกภายนอกนี้ พอกลับมาสู่โลกภายนอก มันจะทวนกลับเข้าไปพิจารณาใหม่ว่าเมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น มันจะรู้เลยว่ากิเลสตัวไหนหายไปแล้ว กิเลสตัวไหนยังเหลืออยู่ รู้ว่ายังมีงานต้องทำอีก แต่ถ้าตัดครั้งที่สี่เป็นพระอรหันต์นะ มันทวนวับเข้าไป มันจะเห็นนิพพานชัดเจนเลย ไม่มีกิเลสอะไรให้ต้องลดละอีกแล้ว มันไม่มีกิเลสเหลือ จะเห็นนิพพานล้วนๆ เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เราต้องเชื่อพ่อแม่ เราต้องรู้กายรู้ใจของเราไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราจะได้มรดกของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้หอบเอานิพพานแล้วหายไปไหน นิพพานยังอยู่เต็มโลกเต็มบริบูรณ์อยู่นี่แหละ คนมีบุญวาสนามีปัญญาแก่รอบ เจริญวิปัสสนาแก่รอบแล้วก็จะได้รับ นี่รางวัลสูงสุดของชีวิตอยู่ตรงนี้ ชีวิตที่เหลือเป็นชีวิตที่อิสระโปร่งเบา ปราศจากความอยาก ความยึดและความดิ้นรนปรุงแต่ง ไม่มีความทุกข์หรือสิ่งใดครอบงำจิตได้อีกแล้ว ถ้าสติปัญญาเราพอนะ เรารู้เลยจิตมันแส่ส่ายออกทางตาหูจมูกลิ้นกายมีแต่ทุกข์จิตไม่แส่ส่าย พอจิตไม่แส่ส่ายจิตก็หลุดออกจากกามภูมิ เข้ารูปภูมิหรืออรูปภูมิ เข้าเองเลยเพราะงั้นพวกเราหัดเจริญสติไปเรื่อย พอศีลสมาธิปัญญา สติสมาธิปัญญาแก่รอบนะจิตจะหมดความหลงไหลรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งหลายมาดึงดูดจิตไหลไปไม่ได้แล้ว อย่างน้อยก็ชั่วขณะ ชั่วขณะเท่านั้นแหละ ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ เพราะงั้นถึงเราจะเจริญสติเจริญปัญญาโดยเข้าฌานไม่เป็น ถึงนาทีสุดท้ายที่จะเกิดอริยมรรคอริยผลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรคเนี่ย จิตจะเข้าฌานของเค้าเอง ยกเว้นคนซึ่งเดินปัญญาอยู่ในฌาน เวลาที่จะเกิดอริยมรรคไม่ต้องถอยออกมาอยู่ในโลกก่อนนะ ไม่ต้องกลับมาอยู่กามภูมิก่อนนะ จิตเค้าจะตัดอยู่ข้างในได้เลย นี่เป็นพวกหนึ่ง แต่รวมความก็คืออริยมรรคไม่เกิดอยู่ในจิตที่อยู่ในกามอย่างพวกเรา อริยมรรคจะต้องเกิดอยู่ในรูปภูมิหรืออรูปภูมินะ จะเกิดอยู่ตรงนั้น ไปล้างกันตรงนั้นจิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เอง พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้ สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะ ไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เองเพราะมันไม่แส่ส่ายไปที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่แส่ส่ายไปในความคิด ก็หยุดตรงที่จิตดวงเดียว สติหยั่งลงที่จิต จิตตั้งมั่นอยู่ที่จิต เพราะฉะนั้นสมาธิเนี่ยเต็มสมบูรณ์แล้ว ตั้งมั่นอยู่ที่จิต สติสมบูรณ์แล้ว ระลึกอยู่ที่จิต ปัญญาสมบูรณ์แล้ว เห็นความเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างที่เคลื่อนไหวอยู่ในจิต ตรงนี้แหละ จิตจะไหวตัวขึ้นมา สองสามขณะ คือปรุงขึ้นมานะ แต่ไม่รู้ว่าคิดอะไร ไม่รู้ว่าปรุงอะไร มีความปรุงแต่งเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ว่าปรุงอะไร จะเห็นว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น แล้วสิ่งนั้นดับไป จะเห็นอย่างนี้เอง เห็นเอง ถัดจากนั้นจิตจะรู้เลย มันไม่มีสาระนะ จิตมันจืดนะ มันไม่เอาอีกแล้ว ก็แค่เห็นความปรุงภายในจิตเกิดขึ้น พอเห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้น 2 – 3 ขณะ นะ ความเป็นกลางอย่างแท้จริงเลย รู้อย่างเป็นกลางอย่างแท้จริง ไม่ปรุงต่อนะ จิตจะวาง พอมันวางแล้วมันจะทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ วางจิตแล้วทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ ธาตุรู้ก็จิตนั่นแหละ แต่เป็นจิตอีกอย่างหนึ่ง จิตดวงเก่าดับไป จิตที่อยู่ในภพภูมิต่างๆดับไป จะทวนกระแสเข้าหาจิตที่อยู่เหนือภพเหนือภูมิ ทวนกระแสเข้ามา ขณะที่มันปล่อยวางจิตดวงเดิมนะ แล้วก็ทวนเข้ามาแต่ยังไม่ถึงธาตุรู้ คาบลูกคาบดอก ยังเกาะอยู่ในขันธ์ แล้วก็ไม่ได้เกาะขันธ์แล้ว คือ ไม่ได้เกาะอยู่ที่จิต แต่ก็ยังเข้ามาไม่ถึงตัวธาตุรู้ ไม่ถึงอมตธาตุอมตธรรม ไม่ถึงพระนิพพาน ธาตุรู้ไม่ใช่พระนิพพานนะ แต่ธาตุรู้ไปเห็นพระนิพพาน นี้ต้องแยกให้ออก มันยังทวนเข้ามาไม่ถึงธาตุรู้ ไม่ใช่ปุถุชน ไม่ใช่พระอริยะ ทำไมไม่ใช่ปุถุชน เพราะมันปล่อยขันธ์แล้ว ขันธ์สุดท้ายที่มันปล่อยก็คือจิตนะ ไม่ใช่พระอริยะเพราะยังไม่เข้ามาถึงธาตุรู้ ไม่เข้าถึงพระนิพพาน ตัวธาตุรู้นั้นแหละเป็นตัวไปเห็นพระนิพพาน ตรงนี้เรียกว่า โคตรภูญาณ ญาณข้ามโคตร มีปัญญาข้ามโคตร ข้ามโคตร ข้ามจากโคตรไหนไปสู่โคตรไหน จากโคตรของปุถุชนมาสู่โคตรของอริยชน เพราะฉะนั้นบรรลุมรรคผลแล้วนะ เปลี่ยนโคตรนะ อันนี้ข้ามจากสกุลของปุถุชนนะ ข้ามมาสู่อริยวงศ์ อริยโคตร เรียกว่า ญาณข้ามโคตร ไม่ใช่ปุถุชนนะ กำลังข้ามอยู่ ไม่ใช่พระอริยะ มีอยู่ขณะจิตเดียวแหละ ที่คาบลูกคาบดอกประหลาดอยู่อย่างนี้นะ ข้ามเข้ามา ทวนเข้ามาถึงจิตแท้ ถึงธาตุ วิญญาณธาตุ ธาตุรู้แท้ๆแล้ว ธรรมธาตุ ตัวนี้แหละ อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น
หน้าที่เราต้องฝึกสติให้เร็วขึ้น เร็ว เร็วมากขึ้นๆ จนใจไหว...แว้บ.รู้ทัน.
ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ว่าไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ
เพราะงั้นถึงเราจะเจริญสติเจริญปัญญาโดยเข้าฌานไม่เป็น
ถึงนาทีสุดท้ายที่จะเกิดอริยมรรคอริยผลในทุกขั้นตอน
ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรคเนี่ย จิตจะเข้าฌานของเค้าเอง
ยกเว้นคนซึ่งเดินปัญญาอยู่ในฌาน เวลาที่จะเกิดอริยมรรคไม่ต้องถอยออกมาอยู่ในโลกก่อนนะ
ไม่ต้องกลับมาอยู่กามภูมิก่อนนะ จิตเค้าจะตัดอยู่ข้างในได้เลย นี่เป็นพวกหนึ่ง
แต่รวมความก็คืออริยมรรคไม่เกิดอยู่ในจิตที่อยู่ในกามอย่างพวกเรา
อริยมรรคจะต้องเกิดอยู่ในรูปภูมิหรืออรูปภูมินะ จะเกิดอยู่ตรงนั้น ไปล้างกันตรงนั้น
จิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะ
ไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เอง เพราะมันไม่แส่ส่ายออกไปที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ
ไม่แส่ส่ายไปในความคิด ก็หยุดลงที่จิตดวงเดียว สติหยั่งลงที่จิต จิตตั้งมั่นอยู่ที่จิต
เพราะงั้นสมาธินี่เต็มสมบูรณ์แล้ว ตั้งมั่นอยู่ที่จิต สติสมบูรณ์แล้ว ระลึกอยู่ที่จิต
ปัญญาสมบูรณ์แล้ว เห็นความเป็นจริงทุกสิ่งที่อย่างที่เคลื่อนไหวอยู่ในจิตนะ
ตรงนี้แหละจิตจะไหวตัวขึ้นมาสองสามขณะ คือปรุงขึ้นมานะแต่ไม่รู้ว่าคิดอะไร
ไม่รู้ว่าปรุงอะไร มีความปรุงแต่งเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ว่าปรุงอะไร
จะเห็นแต่ว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดับไป จะเห็นอย่างนี้เอง เห็นเอง
ถัดจากนั้นนะจิตจะรู้เลยมันไม่มีสาระอะไร จิตมันจืดนะ มันไม่เอาอีกแล้ว
ก็แค่เห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้น พอเห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้นสองสามขณะ
ความเห็นกลางอย่างแท้จริงเลย รู้อย่างเป็นกลางอย่างแท้จริงไม่ปรุงต่อนะ จิตจะวาง
พอมันวางแล้วมันจะทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ วางจิตแล้วทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้
ธาตุรู้ก็จิตนั่นแหละ มันเป็นจิตอีกอย่างหนึ่ง
พอจิตดวงเก่ามันดับไป จิตที่อยู่ในภพภูมิต่างๆมันดับไป
มันทวนกระแสเข้าหาจิตที่เหนือภพเหนือภูมิ ทวนกระแสเข้ามา
ขณะที่มันปล่อยวางจิตดวงเดิมนะ แล้วก็ทวนเข้ามาแต่ยังไม่ถึงธาตุรู้นะ คาบลูกคาบดอก
ไม่ได้เกาะขันธ์แล้วนะ แต่ก็ยังเข้ามาไม่ถึงตัวธาตุรู้ ไม่ถึงอมตะธาตุอมตะธรรม ไม่ถึงพระนิพพาน
ธาตุรู้ไม่ใช่พระนิพพานนะ แต่ธาตุรู้ไปเห็นพระนิพพาน ต้องแยกให้ออก
มันยังทวนไม่ถึงธาตุรู้ ไม่ใช่ปุถุชน ไม่ใช่พระอริยะ
ทำไมไม่ใช่ปุถุชน เพราะมันปล่อยขันธ์แล้ว ขันธ์สุดท้ายที่มันปล่อยก็คือจิต
ไม่ใช่พระอริยะ เพราะยังไม่เข้ามาถึงธาตุรู้ ไม่เข้าถึงพระนิพพาน
ตัวธาตุรู้นั่นแหละเป็นตัวไปเห็นพระนิพพาน
ตรงนี้นะเรียกว่าโคตรภูญาณ ญาณข้ามโคตร มีปัญญาข้ามโคตร
ข้ามโคตรจากโคตรไหนมาสู่โคตรไหน? จากโคตรของปุถุชนมาสู่โคตรของอริยชน
เพราะงั้นบรรลุมรรคผลแล้วเปลี่ยนโคตรนะ ข้ามจากสกุลของปุถุชน ข้ามมาสู่อริยวงศ์อริยโคตร
เรียกญาณข้ามโคตร ไม่ใช่ปุถุชนนะ กำลังข้ามอยู่ ไม่ใช่พระอริยะ
มีอยู่ขณะจิตเดียวแหละที่คาบลูกคาบดอกประหลาดอยู่อย่างนี้
ข้ามมา ทวนเข้ามาถึงจิตแท้ ถึงธาตุรู้แท้ๆ ธรรมธาตุ
ตัวนี้อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น อาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตอยู่ถูกอริยมรรคแหวกออกทำลายออก
ก็ล้างกิเลส ล้างในพริบตาเดียว ในขณะเดียว วับเดียวเลย ขาดเลย
มันคล้ายๆเปิดสวิตซ์ไฟ ปั๊บ สว่างวุ๊บเดียวความมืดหายไปเลย ในพริบตานั้นเลย
จากนั้นนะจะเห็นพระนิพพานอีกสองสามขณะ เห็นไม่เท่ากันหรอก บางคนเห็นสองขณะ บางคนเห็นสามขณะถ้าพวกอินทรีย์กล้ามากๆก็เห็นสามขณะ พวกอินทรีย์ยังไม่กล้ามากก็เห็นสองขณะนะ
งั้นพระอริยะในภูมิธรรมอันเดียวกันระดับเดียวกัน ความรู้ความเข้าใจไม่เท่ากัน ความแตกฉานอะไรนี้ไม่เท่ากันเห็นพระนิพพานแล้วก็รู้ว่านิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตา
นิพพานไม่เคยหายไปไหน อยู่ต่อหน้าต่อตานี่แหละ แต่โง่เองไม่เห็น
ทำไมไม่เห็น? มัวแต่เห็นแต่กาม มัวแต่เห็นรูปภพ มัวแต่เห็นอรูปภพ
จิตไม่รู้จักปล่อย ตรงที่เค้าปล่อยน่ะเค้าข้าม เค้าทิ้งแล้ว
ตรงโคตรภูญาณที่จิตข้ามโคตร ข้ามจากปุถุชนมาเป็นพระอริยะ ข้ามตรงนี้มันทิ้งหมดเลยนะ
มันทิ้งกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ ทิ้งหมดเลย ข้ามมาสู่อริยภูมิ โลกุตรภูมิ ข้ามเอง
พวกเราก็มีหน้าที่ภาวนาให้มันพอเท่านั้นแหละนะ ถ้ามันพอเมื่อไหร่มันก็ข้ามโคตรไป
เปลี่ยนสกุลไม่ใช่นามสกุลเดิม โดยสมมุติบัญญัติก็เป็นนามสกุลเดิม
โดยปรมัตถ์แท้ๆก็ไม่ใช่แล้ว ก็มาเป็นลูกพระพุทธเจ้า
หมดการดิ้นรนของจิต หมดความปรุงแต่งของจิต จิตจะค่อยๆ ปรุงน้อยลงๆ ถึงจุดหนึ่งหยุดปั๊บลงไป
ตรงหยุดปั๊บลงไปนี่จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิโดยสมาธิโดยอัตโนมัติเลย เมื่อรวมเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว ตรงนี้จะไม่คิดไม่นึกอะไรแล้ว จะเห็นสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) เกิดดับขึ้นภายใน ๒-๓ ขณะ ใจนี้สักว่ารู้สักว่าเห็นอย่างแท้จริง ไม่มีกระทั่งความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ สักนิดเดียวเลย ถัดจากนั้น จิตจะวางการรู้สภาวะทบทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ พอทวนกระแสเข้าถึงธาตุรู้แล้วอริยมรรคจะแหวกอาสวะกิเลสทั้งหลายหรือสังโยชน์ทั้งหลาย อาสวะที่ห่อหุ้มจิตอยู่ สังโยชน์ที่แทรกอยู่ในจิตจะถูกทำลายออกไป
ตรงกระบวนการทำลายล้างนี่ ๑ ขณะเท่านั้น พอขาดสะบั้นลงแล้ว ตรงนี้เราจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ตรงนี้เป็นผลแล้ว เป็นโลกุตรผลนะ ตรงที่เกิดอริยมรรคเรียกว่าโลกุตตรเหตุ มรรคเป็นเหตุ ผลเป็นผล ตรงที่เห็นเป็นผลนี่จะเห็นไม่เท่ากัน พวกที่สติปัญญาแก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๓ ครั้ง ๓ ขณะ พวกที่ยังไม่แก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะ
ถัดจากนั้นจิตจะถอยออกมากลับสู่โลกภายนอกนี้ พอกลับมาสู่โลกภายนอก มันจะทวนกลับเข้าไปพิจารณาใหม่ว่าเมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น มันจะรู้เลยว่ากิเลสตัวไหนหายไปแล้ว กิเลสตัวไหนยังเหลืออยู่ รู้ว่ายังมีงานต้องทำอีก แต่ถ้าตัดครั้งที่สี่เป็นพระอรหันต์นะ มันทวนวับเข้าไป มันจะเห็นนิพพานชัดเจนเลย ไม่มีกิเลสอะไรให้ต้องลดละอีกแล้ว มันไม่มีกิเลสเหลือ จะเห็นนิพพานล้วนๆ
เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เราต้องเชื่อพ่อแม่ เราต้องรู้กายรู้ใจของเราไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราจะได้มรดกของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้หอบเอานิพพานแล้วหายไปไหน นิพพานยังอยู่เต็มโลกเต็มบริบูรณ์อยู่นี่แหละ คนมีบุญวาสนามีปัญญาแก่รอบ เจริญวิปัสสนาแก่รอบแล้วก็จะได้รับ นี่รางวัลสูงสุดของชีวิตอยู่ตรงนี้ ชีวิตที่เหลือเป็นชีวิตที่อิสระโปร่งเบา ปราศจากความอยาก ความยึดและความดิ้นรนปรุงแต่ง ไม่มีความทุกข์หรือสิ่งใดครอบงำจิตได้อีกแล้ว
ถ้าสติปัญญาเราพอนะ เรารู้เลยจิตมันแส่ส่ายออกทางตาหูจมูกลิ้นกายมีแต่ทุกข์จิตไม่แส่ส่าย พอจิตไม่แส่ส่ายจิตก็หลุดออกจากกามภูมิ เข้ารูปภูมิหรืออรูปภูมิ เข้าเองเลยเพราะงั้นพวกเราหัดเจริญสติไปเรื่อย พอศีลสมาธิปัญญา สติสมาธิปัญญาแก่รอบนะจิตจะหมดความหลงไหลรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งหลายมาดึงดูดจิตไหลไปไม่ได้แล้ว
อย่างน้อยก็ชั่วขณะ ชั่วขณะเท่านั้นแหละ
ถ้าจิตมันตั้งมั่นรู้ไหลออกไปแล้วทุกข์ ก็ตั้งเด่นดวงอยู่ จิตก็เข้าฌานอัตโนมัติ
เพราะงั้นถึงเราจะเจริญสติเจริญปัญญาโดยเข้าฌานไม่เป็น
ถึงนาทีสุดท้ายที่จะเกิดอริยมรรคอริยผลในทุกขั้นตอน
ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรคเนี่ย จิตจะเข้าฌานของเค้าเอง
ยกเว้นคนซึ่งเดินปัญญาอยู่ในฌาน เวลาที่จะเกิดอริยมรรคไม่ต้องถอยออกมาอยู่ในโลกก่อนนะ
ไม่ต้องกลับมาอยู่กามภูมิก่อนนะ จิตเค้าจะตัดอยู่ข้างในได้เลย นี่เป็นพวกหนึ่ง
แต่รวมความก็คืออริยมรรคไม่เกิดอยู่ในจิตที่อยู่ในกามอย่างพวกเรา
อริยมรรคจะต้องเกิดอยู่ในรูปภูมิหรืออรูปภูมินะ จะเกิดอยู่ตรงนั้น ไปล้างกันตรงนั้นจิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เอง
พอจิตเข้าฌานแล้วคราวนี้ สติระลึกรู้อยู่ที่จิตนะ ไม่ได้เจตนาระลึก มันรู้เองเพราะมันไม่แส่ส่ายไปที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่แส่ส่ายไปในความคิด ก็หยุดตรงที่จิตดวงเดียว สติหยั่งลงที่จิต จิตตั้งมั่นอยู่ที่จิต เพราะฉะนั้นสมาธิเนี่ยเต็มสมบูรณ์แล้ว ตั้งมั่นอยู่ที่จิต สติสมบูรณ์แล้ว ระลึกอยู่ที่จิต ปัญญาสมบูรณ์แล้ว เห็นความเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างที่เคลื่อนไหวอยู่ในจิต
ตรงนี้แหละ จิตจะไหวตัวขึ้นมา สองสามขณะ คือปรุงขึ้นมานะ แต่ไม่รู้ว่าคิดอะไร ไม่รู้ว่าปรุงอะไร มีความปรุงแต่งเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ว่าปรุงอะไร จะเห็นว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น แล้วสิ่งนั้นดับไป จะเห็นอย่างนี้เอง เห็นเอง
ถัดจากนั้นจิตจะรู้เลย มันไม่มีสาระนะ จิตมันจืดนะ มันไม่เอาอีกแล้ว ก็แค่เห็นความปรุงภายในจิตเกิดขึ้น พอเห็นความปรุงภายในจิตผุดขึ้น 2 – 3 ขณะ นะ ความเป็นกลางอย่างแท้จริงเลย รู้อย่างเป็นกลางอย่างแท้จริง ไม่ปรุงต่อนะ จิตจะวาง พอมันวางแล้วมันจะทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ วางจิตแล้วทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ ธาตุรู้ก็จิตนั่นแหละ แต่เป็นจิตอีกอย่างหนึ่ง จิตดวงเก่าดับไป จิตที่อยู่ในภพภูมิต่างๆดับไป จะทวนกระแสเข้าหาจิตที่อยู่เหนือภพเหนือภูมิ ทวนกระแสเข้ามา
ขณะที่มันปล่อยวางจิตดวงเดิมนะ แล้วก็ทวนเข้ามาแต่ยังไม่ถึงธาตุรู้ คาบลูกคาบดอก ยังเกาะอยู่ในขันธ์ แล้วก็ไม่ได้เกาะขันธ์แล้ว คือ ไม่ได้เกาะอยู่ที่จิต แต่ก็ยังเข้ามาไม่ถึงตัวธาตุรู้ ไม่ถึงอมตธาตุอมตธรรม ไม่ถึงพระนิพพาน ธาตุรู้ไม่ใช่พระนิพพานนะ แต่ธาตุรู้ไปเห็นพระนิพพาน นี้ต้องแยกให้ออก มันยังทวนเข้ามาไม่ถึงธาตุรู้ ไม่ใช่ปุถุชน ไม่ใช่พระอริยะ ทำไมไม่ใช่ปุถุชน เพราะมันปล่อยขันธ์แล้ว ขันธ์สุดท้ายที่มันปล่อยก็คือจิตนะ ไม่ใช่พระอริยะเพราะยังไม่เข้ามาถึงธาตุรู้ ไม่เข้าถึงพระนิพพาน ตัวธาตุรู้นั้นแหละเป็นตัวไปเห็นพระนิพพาน ตรงนี้เรียกว่า โคตรภูญาณ ญาณข้ามโคตร มีปัญญาข้ามโคตร
ข้ามโคตร ข้ามจากโคตรไหนไปสู่โคตรไหน จากโคตรของปุถุชนมาสู่โคตรของอริยชน เพราะฉะนั้นบรรลุมรรคผลแล้วนะ เปลี่ยนโคตรนะ อันนี้ข้ามจากสกุลของปุถุชนนะ ข้ามมาสู่อริยวงศ์ อริยโคตร เรียกว่า ญาณข้ามโคตร ไม่ใช่ปุถุชนนะ กำลังข้ามอยู่ ไม่ใช่พระอริยะ มีอยู่ขณะจิตเดียวแหละ ที่คาบลูกคาบดอกประหลาดอยู่อย่างนี้นะ ข้ามเข้ามา ทวนเข้ามาถึงจิตแท้ ถึงธาตุ วิญญาณธาตุ ธาตุรู้แท้ๆแล้ว ธรรมธาตุ ตัวนี้แหละ อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)