หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การไม่หวนกลับจิตของเรามันทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่เคยหยุดพักเลย ปรุงแต่ง คิดนึกปรุงแต่ง ปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงสุข ปรุงทุกข์ มันปรุงทั้งวันทั้งคืน ทันทีที่จิตปรุงแต่งอะไรขึ้นมา จิตก็มีความทุกข์ขึ้นมาทุกที ทะเลภพนี้เป็นทะเลที่ไม่ใช่หมุนวนแล้ว มีลักษณะอีกชนิดหนึ่ง เป็นทะเลที่น้ำเชี่ยว มันพัดพาเราจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่งตลอดเวลาเลย จิตเราจะเปลี่ยนภพตลอดเวลานะ จากภพอันนึงไปสู่ภพอีกอันนึง จากภพหนึ่งไปสู่ภพอีกอันหนึ่ง เราจะเวียนตายเวียนเกิดไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายใดๆในสังสารวัฏนี้ แม้กระทั่งในชีวิตเดียวของเราขณะนี้ จิตของเราก็เปลี่ยนภพย่อยๆ อยู่ในใจตลอดเวลา เดี๋ยวเราก็เป็นคนดี เดี๋ยวเราก็เป็นคนร้าย เดี๋ยวเราเป็นนักปฏิบัติ เดี๋ยวเราเป็นจอมเจ้าเล่ห์แสนกล เดี๋ยวเราเป็นคนเมตตา เดี๋ยวเราเป็นคนขี้โมโห จิตใจเราเปลี่ยนภพอยู่ตลอดเวลา เวลาเราโมโหทีนะ เราก็เป็นสัตว์นรกที เพราะมันเป็นโทสะ เวลาเราโลภขึ้นมาทีนะ เราก็เป็นเปรตทีนึง เวลาเรายึดถือในความคิดความเห็น เราก็ไปอยู่ในภพของอสุรกายทีนึง เวลาเราใจลอยไป เผลอไป เหม่อไป เราไปภพของเดรัจฉาน ถ้าเราเป็นคนมีศีลมีธรรมนะ เราก็ไปภพมนุษย์ ถ้าเราเป็นคนที่มีหิริโอตตัปปะ ละอายบาป กลัวผลของบาป เราก็ไปภพของเทวดา ถ้าเรามีใจสงบ มีใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว เราก็ไปภพของพรหม จิตใจของเราหมุนเวียนอยู่ตามภพต่างๆ ภพทั้งหมดเป็นทุกข์ทั้งหมดนะ ไม่มีนะภพที่ไม่ทุกข์ ถึงเป็นพรหมเป็นเทวดาก็มีความทุกข์ ทุกข์แบบเทวดา ทุกข์แบบพรหม ไม่ว่าภพอะไรก็ลำบากหมดเลย มีแต่ความทุกข์ล้วนๆ เลย นี่ถ้าสติปัญญาของเราแก่กล้าไม่พอ เราจะมองไม่ออก การจะข้ามทะเลน้ำเชี่ยวอันนี้ได้ มีทางเดียว ต้องละอวิชชาได้ เพราะฉะนั้นการข้ามภพ กับการละอวิชชานี้จะควบกันไป เป็นเรื่องของพระอรหันต์ที่จะเห็น ทะเลของอวิชชานี้ไม่เหมือนทะเลของทิฏฐิที่เป็นทะเลกว้างไม่มีขอบมีเขต หาฝั่งไม่เจอ ไม่เหมือนทะเลกามที่เป็นทะเลน้ำวน ไม่เหมือนทะเลภพที่เป็นทะเลน้ำเชี่ยว ทะเลของอวิชชาเป็นทะเลน้ำตื้น คลื่นลมสงบ แต่หมอกลง เป็นทะเลหมอกนะ เพราะฉะนั้นเราว่ายน้ำมาจนถึงริมฝั่งแล้ว ขึ้นฝั่งไม่ได้หรอก ว่ายไปว่ายมานะมันหลุดออกไปทะเลลึกได้อีกนะ เพราะฉะนั้นอย่างปุถุชนหลายคนนะ ที่คิดจะสู้อวิชชา ไม่ได้กินหรอก แป๊ปเดียวก็กลับไปมีทิฏฐิอย่างเดิม อย่างถ้าเราไม่ใช่พระอนาคานะ จะมาริหาญสู้อวิชชา มวยคนละชั้นนะ แป๊ปเดียวก็หลงกามไปอีกแล้ว หลงในกาม หลงในทิฏฐิอีกแล้ว ถ้าไม่ใช่พระอนาคานะ ทีนี้เราจะละอวิชชา ทะเลน้ำตื้นหรือทะเลหมอกนี้ได้ต้องมีวิชชา คือรู้แจ้งอริยสัจจ์ก่อน การรู้แจ้งอริยสัจจ์นี้ทำให้เราขึ้นฝั่งได้ ถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ได้นะ จะขึ้นฝั่งไม่ได้ พระไตรปิฎกสอนไว้ว่า ตราบใดที่ไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ยังข้ามภพไม่ได้ ยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ เพราะฉะนั้นการเรียนธรรมะนะ ต้องรู้แจ้งอริยสัจจ์ถึงจะข้ามภพข้ามชาติได้ ข้ามทุกข์ได้ ถ้ารู้แจ้งอริยสัจจ์ซะอย่างเดียว ทิฏฐิก็ไม่มี กามก็ไม่มีนะ ภพก็ไม่มี อวิชชาก็ไม่มี การรู้แจ้งอริยสัจจ์ตัวที่ ๑ เรียกว่า ทุกขสัจจ์ ทุกขสัจจ์คืออะไร คือกายกับใจนี้เอง เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติ ตั้งแต่เบื้องต้นเลย จนสุดท้ายมีแต่การรู้กายรู้ใจตนเอง รู้ลงมาเรื่อยๆ กายของเราเป็นยังไง รู้สึกไว้ จิตใจของเราเป็นยังไง คอยรู้สึกไว้ อย่าลืมกาย อย่าลืมใจ ถ้าลืมกายลืมใจเรียกว่าขาดสติ แต่ก็ห้ามเพ่งกายเพ่งใจ ให้รู้กายรู้ใจ ไม่ได้ให้เพ่งกายเพ่งใจ ไม่ได้ให้กำหนดกายกำหนดใจ คนละเรื่องเลยนะ รุ่นหลังๆ นี้ชอบกำหนดนะ กำหนดเป็นสมถะ กำหนดลงไป จิตจะไปแน่วไปนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว บังคับให้อยู่ในอารมณ์อันเดียว ถ้าบังคับไม่เป็น หรือบังคับแบบฝืนใจ ก็จะหนักๆขึ้นมา แน่นๆ แข็งๆ ทื่อๆ เครียดๆ ขึ้นมา ถ้าน้อมใจเก่ง จะสงบ จะสบาย จะโปร่ง โล่ง เบานะ จะเป็นสมาธิไปอีกแบบนึง แต่ส่วนใหญ่ที่พวกเราทำจะเป็นมิจฉาสมาธิแท้ๆ เลย เป็นสมาธิที่หนักๆ แข็งๆ ตัวก็เกร็งๆ กายก็เกร็งๆ ใจก็เกร็งๆ ใช้ไม่ได้จริงนะ เราคอยรู้สึกนะ คอยรู้ รู้ลงมาในกาย รู้ลงมาในใจ ร่างกายของเราเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจของเราเคลื่อนไหวเราคอยรู้สึก แต่อย่าไปเพ่งให้นิ่ง ไม่ใช่คอยบังคับกายให้นิ่ง จะเดินก็เดินไม่เหมือนคนธรรมดา คล้ายๆ ผีดิบนะ เดินต้องตัวทื่อๆ อย่างนั้นใช้ไม่ได้นะ จิตใจก็อย่าไปข่มให้มันซึมกะทือซื่อบื้ออยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน เราต้องการเห็นความจริงของกายของใจ เพราะฉะนั้นอย่าไปบังคับมัน แต่คอยดูมันไป แต่ถ้ามันจะเอากายเอาใจไปทำผิดศีลห้าไม่เอานะ ตรงนี้ต้องฝืนใจ ศีลห้านี้มาตรฐานปราการขั้นสุดท้ายแล้ว มาตรฐานของเราเลย ถ้าขาดศีลห้าเราไม่ใช่มนุษย์แล้ว ต้องระมัดระวังนะ ขนาดพระโพธิสัตว์ยังตกนรกได้เลย นับประสาอะไรกับพวกเราจะไม่ตก ยังเชื่อใจตัวเองไม่ได้นะ อย่าประมาทกิเลสนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น