วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560
ทำไมจึงต้องอ้อมไปหานิพพานโดยผ่านทาง การรู้ทุกข์ หรือ รูปนามเราจะปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่มรรคผลนิพพาน ทำไม เราไม่กำหนดรู้ความว่างหรือมหาสุญญตาโดยตรง ล่ะครับ ทำไมจึงต้องอ้อมไปหานิพพานโดยผ่านทาง การรู้ทุกข์หรือรูปนาม ตอบ นิพพานไม่ใช่โลกอีกอันหนึ่งที่ว่างๆ และไม่มี อะไรเลย แต่นิพพานคือความดับตัณหาหรือวิราคะ และคือความดับของความปรุงแต่ง (รูปนาม) หรือ วิสังขาร ดังนั้นถ้าจู่ๆ เราดูเข้าไปที่ความว่าง เราจะหลงเพ่งช่องว่าง หรือเพ่งความไม่มีอะไรเลย นิพพานชนิดนั้นเรียกได้ว่านิพพานพรหม ไม่ใช่นิพพานพุทธ หนทางปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าพาดำเนินจึงต้องรู้ทุกข์ คือรู้ความปรุงแต่งหรือรูปนาม จนเข้าใจรูปนามตามความเป็นจริงจึงหมดตัณหา เมื่อใดหมดตัณหา เมื่อนั้นธรรมที่ปราศจากตัณหาและปราศจากความปรุงแต่งก็จะปรากฏออก มาให้รู้ได้ด้วยใจ สภาวะใดยังมีตัณหา และสภาวะใดยังมีรูปนาม สภาวะนั้นไม่ใช่นิพพาน ตัวตนและสมมติบัญญัติทั้งหลายคือภาพลวงตาที่ตั้งซ้อนอยู่กับรูปนาม เมื่อเข้าใจรูปนาม ตามความเป็นจริงภาพลวงตาก็หายไป เมื่อเห็นแจ้งอย่างนี้ความยึดถือรูปนามก็ดับไป เมื่อจิตปล่อย วางรูปนามหมดความดิ้นรนแส่ส่ายเพราะความหิว ในอารมณ์ นิพพานคือความดับ แห่งตัณหาก็ปรากฏ ขึ้น เรียกว่ากิเลสนิพพานหรือสอุปาทิเสสนิพพาน เมื่อรูปนามนี้ดำรงสืบต่อจนหมดวิบากที่ส่งผลให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่แล้ว รูปนามนั้นก็ดับไปเหมือนไฟหมดเชื้อ เรียกว่าขันธนิพพาน หรือ อนุปาทิเสสนิพพาน จะเห็นได้ว่านิพพานไม่ได้ปรากฏออกมาเพราะการแสวงหานิพพาน แต่ปรากฏเพราะการปล่อยวางความยึดถือในรูปนามเสียได้ ถาม เมื่อเราปฏิบัติมากเข้า สภาวะของสติปัญญา และจิตใจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหมครับ ตอบ เปลี่ยน แต่เขาเปลี่ยนของเขาเอง ไม่ใช่เราไป บังคับให้เขาเปลี่ยนได้ อาตมาจะยกตัวอย่างให้ฟัง สติเบื้องต้นจะเกิดน้อย นานๆจะเกิดครั้งหนึ่ง แต่เมื่อหมั่นตามรู้กายตามรู้ใจเนืองๆ จนจิตรู้จักสภาวธรรมได้มากและแม่นยำแล้ว สติก็จะเกิดเร็วขึ้น ความเผลอก็จะสั้นลงเรื่อยๆ และสตินั้นเบื้องต้นรู้ได้แต่อารมณ์หยาบๆ เบื้องกลางรู้อารมณ์ ได้ละเอียดขึ้น เบื้องปลายรู้ได้ทุกอย่าง ปัญญาเบื้องต้นรู้สภาวะหรือรูปนามเบื้องกลาง รู้ลักษณะหรือไตรลักษณ์ เบื้องสูงรู้อริยสัจจ์ สูงสุดรู้นิพพาน จิตเบื้องต้นคลุกรวมอยู่กับอารมณ์ (จมอยู่กับรูปนาม รู้รูปนามอย่างมีส่วนได้เสีย) เบื้องกลางถอดถอนตนเองขึ้นเอง เริ่มจากการถอดถอน บ้างรวมบ้าง จนไม่รวมเข้ากับรูปนามเลย และเหมือนลอยอยู่กลางความว่าง ถึงจุดนี้ผู้ปฏิบัติอาจจะสงสัยว่าแล้วควรจะให้รู้ที่ใด ระหว่างจิต อารมณ์ และความว่าง จึงเที่ยวค้นคว้าหาทางเดินต่อไป เพราะพอรู้รูปนามก็ทุกข์ พอรู้จิตก็ว่างไม่มีอะไรเหมือนโง่อยู่เฉยๆ (การเพียรรู้รูปนามหรือจิต ก็ยังมีการกระทำหรือกรรมที่เรียกว่าปุญญาภิ-สังขาร) พอจะรู้ความว่างก็ยังต้องส่งใจออกไปรู้ (ว่างชนิดนี้จึงเป็นว่างที่รู้ด้วยอำนาจบงการของตัณหา ยังมีอาเนญชาภิสังขาร ผู้ปฏิบัติอย่างไม่รอบคอบและมีปัญญาไม่พอ จิตจะแล่นไปยึดเอาความว่างคือ "ความไม่มีอะไร" มาแทนขันธ์ เพราะคิดว่าความว่างคือนิพพาน ที่จริงนั่นเป็นอารมณ์อรูปไม่ใช่นิพพาน) เมื่อเจริญสติมากเข้าจนจิตเข้าใจอริยสัจจ์แจ่มแจ้ง คือรู้ว่า "รูปนามหรือขันธ์นั่นแหละคือทุกข์ แต่ถ้าสิ้นตัณหาคือหมดอยากหมดยึดขันธ์ จิตก็หลุดพ้นจากกองขันธ์ ก็คือพ้นทุกข์" เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจ์อย่างนี้แล้ว จิตก็ถอดถอนหลุดพ้นออกจากกองทุกข์คือขันธ์ และพ้นจากการกระทบกระทั่งของกิเลส ทุกข์หรือขันธ์ก็ยังคงมีอยู่เพราะวิบากยังให้ผลอยู่ แต่ใจพ้นทุกข์ลอยอยู่เหนือกองทุกข์เพราะสิ้นตัณหาอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตไว้กับขันธ์ ความสิ้นตัณหานี่แหละคือนิพพานเป็นสภาพที่พ้นทุกข์ (ขันธ์) พ้นกิเลส โดยไม่ต้องส่งจิตเข้าไปหานิพพานในความว่างที่ไหนเลย ถึงจุดนั้นจะเห็นชัดว่าสภาวธรรมทั้งปวงคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นเพียงอารมณ์ที่ปรากฏเท่านั้น ไม่มีเจ้าของผู้ครอบครองแต่อย่างใดเลย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น