หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560

การทำศึกครั้งความทุกข์เกิดขึ้นทั้งวันทั้งคืนเลย เพราะความอยากเกิดทีไรก็ทุกข์ทุกที เห็นตรงนี้นะก็ภาวนาไปเรื่อยๆ จนถึงพระอนาคามีได้ ตอนที่จะแจ้ง ข้ามภพข้ามชาติข้ามโลกจริงๆ จะเห็นว่าขันธ์นั่นแหละตัวทุกข์ อยากหรือไม่อยากนะ กายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์ จะเห็นเต็มบริบูรณ์อย่างนี้นะ มันจะหมดความยึดถือกายยึดถือใจ กายกับใจนี้เป็นสิ่งที่เรายึดถือเหนียวแน่นที่สุด หวงแหนที่สุด ถ้าลงกายใจนี้เราก็ไม่ยึดนะ ก็ไม่มีอะไรให้ยึดแล้วในโลกนี้ เราไม่สามารถปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจได้ เพราะเราไม่เห็นความจริงของกายของใจ งั้นตัวที่จะทำให้เราปล่อยวางได้ก็คือการได้เห็นความจริง งั้นตัวปัญญานั่นแหละ ทำให้เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น ไม่ได้เข้าไปด้วยทาน ด้วยศีล ด้วยสมาธิ พระพุทธเจ้าถึงบอก บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ถ้าเห็นความจริงของรูปนามแล้ว มันจะหมดความยึดถือรูปนาม หมดความยึดถือขันธ์ ๕ ก็ไม่ยึดแล้ว มีแต่ทุกข์จะยึดทำไม พวกเราสติปัญญายังไม่พอ เรายังเห็นผิดอยู่ เรายังไม่เห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ยังไม่เห็นว่าอายตนะ ๖ เป็นทุกข์ ไม่เห็นว่ากายนี้ใจนี้ รูปนามนี้เป็นทุกข์ เราเห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง เห็นอย่างนี้ไหม ร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง เห็นไหมว่า จิตใจนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง รู้สึกไหม เนี่ยคนที่ภาวนาไม่มากนะจะเห็นอย่างนั้น หรือคนทั่วๆไปที่ไม่ได้ภาวนาก็เห็นร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง ถ้าวันใดปัญญาแก่รอบ เห็นความจริงว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ จิตจะหมดความยึดถือในตัวกายนี้ ตาหูจมูกลิ้นกายนี้ไม่ยึดถือแล้ว เนี่ยก็เลยจะไม่ยึดถือในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่สัมผัสทางกายด้วย เมื่อไม่ยึดในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะ ไม่ยึดในตาหูจมูกลิ้นกาย ความยินดีในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ความยินดีในตาหูจมูกลิ้นกาย ก็ไม่มี ความยินร้ายในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ตาหูจมูกลิ้นกาย ก็ไม่มี จิตไม่ยินดีไม่ยินร้าย จิตพ้นจากกามและปฏิฆะโดยอัตโนมัติ งั้นที่เป็นพระอนาคามีกันนะ เพราะท่านแจ้งแล้ว หมดความยึดถือในตัวรูปธรรม ในตัวกายนี้ ถัดจากนั้นจะไปยึดอยู่ที่จิตอันเดียวแล้ว ต้องภาวนากัน นิพพานอยู่ฟากตาย ต้องสู้ตาย งั้นไม่มีทางเลย เห็นว่าจิตเป็นตัวทุกข์เนี่ย ยิ่งภาวนามากๆนะ จิตยิ่งเป็นตัวสุข ยิ่งสุขโดดเด่นเด่นดวงอยู่ทั้งวันทั้งคืน มีแต่ความสุข ต้องสติปัญญาแก่รอบจริงๆ ถึงจะเห็นเลย จิตนี้เอาเป็นที่พี่งที่อาศัยไม่ได้ มีแต่ทุกข์ กายนี้ก็มีแต่ทุกข์ จิตนี้ก็มีแต่ทุกข์ เพียงแต่บางทีก็ทุกข์มาก บางทีก็ทุกข์น้อย นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ถ้าสติปัญญาไม่พอ เวลาทุกข์มากก็ว่าทุกข์ เวลาทุกข์น้อยก็ว่าสุข ทุกข์กับสุขเลยเป็นของสัมพัทธ์ สิ่งสัมพัทธ์ เปรียบเทียบเอา ถ้าตัวสภาวะแท้ๆ มันก็คือตัวทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ทีนี้ทำยังไงเราจะเห็นความจริงของธาตุขันธ์อายตนะ รูปนามกายใจได้ เรียกมีหลายชื่อ เป็นธาตุเป็นขันธ์ เป็นอายตนะ เป็นรูปเป็นนาม เป็นกายเป็นใจ จริงๆย่อลงมาก็คือรูปธรรม กับนามธรรมทั้งหมดเลย ทำอย่างไรเราจึงจะเห็นความจริงอันนี้ได้ พระพุทธเจ้าสอนวิธีที่จะเห็นความจริง ชื่อว่าวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ปัสสนะ แปลว่าการเห็น วิ คือเห็นแจ้งเห็นจริงเห็นถูกต้อง งั้นเราต้องมาเรียน ถ้าเราอยากเข้าสู่ความพ้นทุกข์นะ จนจิตหมดความยึดถือในรูปนาม ไม่หยิบฉวยเอากองทุกข์ขึ้นมา ตัวกายตัวใจเรานี่แหละ รูปนามนี่แหละ ท่านจัดอยู่ในกองทุกข์ ท่านสรุปเลยว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา โดยสรุป ตัวขันธ์ ๕ นั่นแหละตัวทุกข์ ถ้าเราเห็นตรงนี้นะ ความอยากจะไม่มี เห็นทุกข์เมื่อไหร่ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น อย่างถ้าเราเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์อย่างเดียวเลย ทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้น ความอยากจะให้กายเป็นสุขไม่เกิดขึ้น ความอยากจะให้ใจเป็นสุขไม่เกิดขึ้น เพราะรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ เป็นความอยากที่ไร้เดียงสา เพราะมันเป็นตัวทุกข์ จะไปอยากให้มันสุขได้ยังไง ความอยากจะให้กายให้ใจพ้นทุกข์ก็ไม่มี เพราะมันเป็นตัวทุกข์มันจะพ้นตัวของมันได้อย่างไร งั้นถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งนะ ความอยากจะไม่มี เป็นอันละสมุทัยเด็ดขาดเลย ทันทีที่รู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็ละสมุทัยเด็ดขาดในขณะนั้นเลย ทันทีที่รู้สมุทัยเด็ดขาด ก็แจ้งพระนิพพานในขณะนั้นเลย ทันทีที่แจ้งพระนิพพานในขณะนั้นนะ อริยมรรค โดยเฉพาะอรหัตมรรคก็จะเกิดขึ้นในขณะนั้นเลย เพราะงั้น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั้น หน้าที่ต่อ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ๔ อย่าง หน้าที่ต่อทุกข์ คือการรู้ หน้าที่ต่อสมุทัยคือการละ หน้าที่ต่อนิโรธหรือนิพพาน คือการทำให้แจ้ง หน้าที่ต่อมรรค ทำให้เจริญ เราทำหน้าที่ทั้ง ๔ นี้เสร็จในขณะจิตเดียว ในขณะจิตเดียวนะ ไม่สองขณะจิต นี่เป็นความอัศจรรย์ของธรรมะ ตอนที่ทำวิปัสสนานั้น ทำกันแรมเดือนแรมปี หลายปี กว่าใจจะหายโง่ ใจเราสะสมความรู้ผิดความเข้าใจผิดมาตลอด ว่าตัวเรามีจริงๆ กายนี้เป็นตัวเรา ใจนี้เป็นตัวเรา เรามาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มาเรียนรู้ความจริงของกายของใจ เรียนกันหลายปีนะ กว่ามันจะเห็นแจ้ง ว่ากายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ จิตนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ เห็นแจ้งเมื่อไหร่เค้าหมดความยึดถือของเค้าเอง ไม่ต้องไปหาทางช่วยให้หมดความยึดถือ ไม่ต้องน้อมจิตให้ปล่อยวาง จิตจะปล่อยวางเอง ไม่มีใครทำจิตให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ จิตจะเป็นของมันเอง ถ้าปัญญาแก่รอบแล้ว เค้าวางของเค้าเอง ปัญญาก็คือการเห็นความจริงของกายของใจ ของรูปของนามนั่นเอง ความจริงของกายของใจ ของรูปของนาม คือไตรลักษณ์ ไม่ใช่ปฏิกูลอสุภะอะไรนะ คือเรื่องไตรลักษณ์เท่านั้นเอง ความจริงของกายของใจนี้ ร่างกายนี้ จิตใจนี้ ไม่เที่ยง ร่างกายนี้ จิตใจนี้ ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ร่างกายนี้ จิตใจนี้ ไม่ใช่สิ่งที่บังคับได้ เป็นไปตามเหตุ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ นี่แหละคำว่าอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจ ถ้าเห็นตรงนี้ได้ ก็เรียกว่ามีปัญญา พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนแค่ตรงนี้นะ ท่านชี้มาเป็นลำดับเลยนะ ว่ามันทุกข์ขึ้นมาเพราะว่าขันธ์นั่นแหละเป็นตัวทุกข์ ยิ่งถ้าเราหยิบฉวยขันธ์ ไปยึดถือขันธ์ขึ้นมาอีกนะ ก็เท่ากับไปเอาความทุกข์มาใส่จิตใจตนเอง เราเอาความทุกข์มาใส่ใจตนเอง เราไปยึดถือขันธ์ เพราะเราไม่เห็นความจริงของขันธ์ ว่าไม่ใช่ของดีของวิเศษ ถ้าเราเห็นความจริงของขันธ์ ว่าไม่ใช่ของดีของวิเศษ จิตจะไม่ไปยึดถือขันธ์ขึ้นมา เหมือนเด็กๆ บางคนเด็กเล็กๆ เห็นถ่านไฟแดงๆ สวยดี ผู้ใหญ่คอยเตือน อย่าไปเล่นไฟนะ อย่าไปเล่นไฟนะ มันก็ยังอยากเล่น พอเผลอนะ มันก็ไปหยิบถ่านไฟขึ้นมา พอหยิบถ่านไฟขึ้นมา มันรู้แล้วว่าร้อน ไม่ดี ตั้งแต่นั้นนะ ให้มันหยิบ มันไม่หยิบแล้ว จิตนี้ก็เหมือนเด็กนั่นแหละ ถ้ามันรู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นถ่านไฟแดงๆ เป็นตัวทุกข์ล้วนๆนะ จ้างให้ก็ไม่หยิบหรอก ไม่ยึดหรอก โยนทิ้งไม่ทันเลยนะ ถ้าปัญญาแก่รอบเมื่อไหร่นะ มันโยนความยึดถือในขันธ์ ๕ นี้ทิ้ง โยนไม่ทันเลย งั้นเราต้องมาให้เห็นความจริงของกายของใจให้ได้ พระพุทธศาสนาท่านสอนเข้ามาถึงตรงนี้ ซึ่งในที่อื่นไม่มี ในคำสอนที่อื่นไม่มีเลย วิปัสสนากรรมฐาน การที่จะมาฝึกจนเห็นความจริง ของกายของใจ ของรูปของนาม เป็นคำสอนเฉพาะของพระพุทธเจ้า ส่วนเรื่องการนั่งสมาธิ การทำทาน การรักษาศีล อะไรอย่างนี้ เค้าเรียกว่าสาธารณะกุศล ศาสนาอื่นก็มี ไม่มีศาสนานะ บางคนเค้าก็ใจบุญ ทำบุญทำทาน เค้าก็ทำของเค้า ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้าสิ่งเหล่านี้ก็มี แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านค้นพบแล้วเอามาสอน ไม่มีในที่อื่น ก็คือวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง ส่วนการทำจิตให้สงบ สมถะกรรมฐานนั้นมีมาก่อนพระพุทธเจ้าอีก งั้นถ้าเราอยากรู้จักพระพุทธศาสนาจริงๆ เราต้องเรียนรู้เรื่องวิปัสสนากรรมฐานให้ถ่องแท้ วิปัสสนากรรมฐานนี่แหละจะเป็นตัวเอาความทุกข์ออกจากใจ ถ้ารู้ความจริงของรูปของนาม ของกายของใจได้ ก็ไม่ยึดถือมัน ก็เท่ากับไม่ไปหยิบฉวยเอาความทุกข์ขึ้นมา วิปัสสนากรรมฐาน ปัสสนะ แปลว่าการเห็น วิ แปลว่าแจ้ง เห็นแจ้งเห็นจริงเห็นถูก เห็นไตรลักษณ์นั่นเอง เห็นว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น